Friday, January 26, 2007

เดินหน้างานนิวเคลียร์

"ยงยุทธ" เดินหน้างานนิวเคลียร์สร้างโรงไฟฟ้า-เตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่

ยงยุทธ มอบนโยบายรังสีนิวเคลียร์ ระบุ สถาบันนิวเคลียร์ฯ รับหน้าที่วางแนวทางดึงภาคอุตสาหกรรมนำรังสีมาใช้งาน พร้อมหาแนวทางสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่ ส่วน ปส.รับบท “ผู้คุม”ตรวจสอบงานนิวเคลียร์ในประเทศ แต่พบปัญหางบประมาณ ไร้เครื่องมือทำงาน

ภายหลังตรวจเยี่ยมการทำงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ณ อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส.บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ได้มีการมอบหมายนโยบายสำคัญให้ทั้ง 2 หน่วยงานได้นำไปปรับใช้กับการดำเนินงานในหลายด้านด้วยกัน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่มอบหมายให้ สทน. รับไปดำเนินการได้แก่ ยุทธศาสตร์การใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการนำรังสีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ การใช้รังสีกับการอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอัญมณี และการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีเอกชนหลายรายได้นำไปใช้ประโยชน์บ้างแล้ว ส่วนระยะต่อไปต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาสนใจรับหน้าที่ดังกล่าวแทนภาครัฐ ซึ่งจะเหมาะสมกว่า แต่เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยการลงทุนหลายร้อยล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ต้องกำชับ สทน.ให้วางแผนการทำงานที่ชัดเจนว่าภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันได้อย่างไร

ทั้งนี้ ในส่วนของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์นี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เผยว่า ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศ เพื่อทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่น้อย และประเทศไทยไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงมากเพียงนัก ซึ่งในหลายประเทศต่างตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากแล้ว อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และโดยเฉพาะจีนที่เร็วๆ นี้จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 40 โรงทั่วประเทศ จึงเป็นประเด็นที่ประเทศไทยจะต้องหยิบมาพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยกำชับให้ สทน.และ ปส.ได้ศึกษาแนวทางและโอกาสร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้เป็นแหล่งพลังงานในอนาคต

ส่วนอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ได้มอบหมายให้แก่ สทน.คือ การหาแนวทางสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเก่าที่ ปส.บางเขน ซึ่งหมดอายุการใช้งานแล้วแต่ยังคงใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเหลือเชื้อเพลิงใช้ได้อีกราว 2 ปีเท่านั้น หากหมดแล้วก็ต้องสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม จึงสมควรที่จะมีเครื่องใหม่มาใช้งาน เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้งานเครื่องปฏิกรณ์ในการผลิตรังสีทดแทนการนำเข้า ซึ่งรังสีต่างๆ มีอายุการใช้งานสั้น หากผ่านกระบวนการตรวจสอบก่อนนำเข้านานเกินไป รังสีนั้นๆ ก็จะใช้การไม่ได้

ขณะที่นโยบายสำคัญที่มอบหมายให้ ปส.ซึ่งมีหน้าที่การกำกับ ตรวจสอบ และดูแลการใช้รังสีนิวเคลียร์ให้มีความปลอดภัยในประเทศได้ดำเนินการต่อไป ได้แก่ การกำกับตรวจสอบและเฝ้าระวังที่มีความเข้มงวดชัดเจน ทว่า เมื่อแยก สทน.ออกจาก ปส.แล้ว อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแลในส่วนนี้ส่วนใหญ่ก็ถูกโอนย้ายไปยัง สทน.ด้วย ขณะที่ ปส.เองกลับติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เอื้อต่อการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ มาทดแทน ทำให้อาจส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยในส่วนนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ชี้แจงกับสำนักงานงบประมาณได้เข้าใจปัญหาดังกล่าวด้วย

ส่วนอีกเรื่องที่ ปส.ต้องดำเนินการคือ การปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทภาคีความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติที่จะดูแลสอดส่องไม่ให้มีการค้าขายอุปกรณ์หรือวัสดุที่นำไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ภายในประเทศได้ ที่เห็นควรว่าจะต้องปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000009965

No comments: