แง่คิดปรัชญาจากนักดาราศาสตร์
ในงานเสวนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" โครงการให้ความรู้แก่สาธารณชน ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์อาวุโส นักปรัชญา และไม่นานมานี้ยังได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาร่วมให้ข้อคิดและเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ศ.ดร.ระวี เล่าว่า อุปกรณ์ดูดาวสมัยนั้นทำขึ้นมาเอง ตั้งแต่นำกระจกมาฝนให้เป็นรูปโค้งเว้าสำหรับใช้ดูดาว โดยมีอาจารย์ที่เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในสมัยนั้นเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ หลังจากที่ฝนจนได้ขนาดแล้วได้รู้จักกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวชิคาโกจนทำสำเร็จเป็นกล้องดูดาวตัวแรกของเขา
"กระจกที่ฝนทำเลนส์เอาไปเคลือบอะลูมิเนียม และประกอบกับชิ้นส่วนจนได้กล้องขนาด 4 นิ้ว กลับมาเมืองไทย ด้วยเงินเพียง 250 เหรียญในขณะนั้นและก็ใช้ปรับปรุงเรื่อยมาสำหรับใช้ดูดาวส่วนตัว แต่ตอนนี้กล้องก็เก่ามากแล้วต้องเก็บไว้กับบ้านอย่างเดียว" นักปราชญ์ดาราศาสตร์ กล่าว
ศ.ดร.ระวี กล่าวถึงดาราศาสตร์ในปัจจุบันว่าได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักดาราศาสตร์สมัครเล่น เห็นได้จากหอดูดาวหลายแห่งที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ซึ่งหมายความว่าต้องใช้เงินทุนส่วนตัว และทำด้วยใจรัก
"นักดาราศาสตร์ไทยส่วนมากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยาเป็นพื้นฐานมาก่อน รวมถึงผู้จบจากด้านอื่น ก็มีความรักในศาสตร์นี้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะยินดีควักสตางค์ออกมาใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะเพราะว่าความชอบและความรักส่วนตัวจึงลงทุนควักเงินในกระเป๋าตัวเองออกมาซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยซื้อความสุขให้แก่ตนเอง"
อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์อาวุโส แนะนำว่า นักดาราศาสตร์กลุ่มนี้ควรศึกษาหาความรู้ หรือการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ที่ศึกษาในด้านนี้ด้วยกันก็จะเกิดประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้นไปด้วย
"ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่ควรแยกจากกัน เพราะมีความเกี่ยวเนื่องในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี หรือแม้แต่ชีววิทยา เพราะการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานความรู้จากวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น"
ศ.ดร.ระวี ได้ยกตัวอย่างการศึกษาหาความรู้ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นของญี่ปุ่นค่อนข้างรุดหน้าไปได้ไกล เพราะมีภาครัฐและเอกชนสนับสนุน เห็นได้จากญี่ปุ่นมีนิตยสาร หรือหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์วางจำหน่ายมากมาย
ท่านยังเสนอความเห็นว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์ไม่ควรเอา "โลกเป็นที่ตั้ง" และนักวิทยาศาสตร์มักใช้ความรู้ที่ได้จากโลกเป็นเกณฑ์ศึกษาดาราศาสตร์
"อย่างกรณีที่นักอวกาศนำดินจากดวงจันทร์หรือดาวอังคารกลับมาเพาะเชื้อ ก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าบนดาวดังกล่าวมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่ เพราะมาตรฐานของระบบสุริยะที่มนุษย์กำหนดขึ้นนั้นมีอยู่ว่าสิ่งมีชีวิตจะสามารถอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีน้ำ อากาศ และอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งก็หมายถึงโลกนั่นเองที่มีมาตรฐานตรงข้อกำหนดดังกล่าว" ศ.ดร.ระวี ให้แง่คิด
ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์คนล่าสุด ยังแนะนำเชิงปรัชญาด้วยว่า มนุษย์ซึ่งอยู่อาศัยต่างพื้นที่ก็มีวัฒนธรรมและความเชื่อของตัวเอง จึงไม่สามารถนำเอาความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นไปตัดสินความถูกผิดของอีกฝ่ายได้
"อย่างความเชื่อเรื่องดวงดาว ไทยเรียกว่า ดาวลูกไก่ ในต่างประเทศกลับเรียกว่า เซเว่น ซิสเตอร์ ไทยเรียกทางช้างเผือก ฝรั่งก็เรียกว่า มิลกี้เวย์ ความเชื่อด้านศาสนาและปรัชญาของมนุษย์ก็ต่างกันมาก บางคนเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกสิ่งขึ้นโดยที่ไม่กล่าวถึงที่มาของพระเจ้าว่ามาจากไหน ขณะที่ศาสนาพุทธเองจะสอนว่าทุกอย่างย่อมมีที่มาและที่ไป และมีจุดจบของมันเอง เป็นต้น" นักปราชญ์ดาราศาสตร์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment