Thursday, March 8, 2007

เด็กไทยร่วมทดลองสภาพไร้น้ำหนัก

เด็กไทยร่วมทดลองสภาพไร้น้ำหนักขึ้นเครื่องบินญี่ปุ่นทดสอบยากระจายตัว

สองพี่น้องนักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และเซนต์จอห์น ได้รับคัดเลือกจากญี่ปุ่นให้ร่วมโครงการทดลองวิทยาศาสตร์ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เตรียมขึ้นบินทดสอบการกระจายตัวของยาในสภาพไร้น้ำหนัก

โครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจกซา (JAXA) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเปิดให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และนักวิจัยส่งโครงร่างการทดลองเข้าประกวด โดยผู้ชนะเลิศจะได้เข้าร่วมทดลองโครงงานในสภาวะไร้น้ำหนักบนเครื่องบินขององค์การแจกซาด้วย

ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธ์วดี ผู้อำนวยการโครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยที่ชนะเลิศ คือ โครงการทดลองการแพร่กระจายของเม็ดยาในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งเสนอโดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษาชั้นปี 4 จากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล และ ด.ญ.สรัลภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ จากโรงเรียนเซนต์จอนด์ อินเตอร์ คอมเมิร์ช

โครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 7 โครงการที่เข้าร่วมการประกวด อาทิ โครงการดูการแพร่กระจายความร้อนในของเหลว การแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การศึกษาลักษณะการหุบของใบไมยราบในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เป็นต้น โดยทั้ง 7 โครงการเป็นงานวิจัยที่คิดโดยนักศึกษา และมีนักวิจัยเป็นผู้ช่วย ตลอดจนได้รับคำปรึกษาจากนักวิจัยจากองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่นในการทำการทดลองดังกล่าว

ผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้งสองจะได้ร่วมทำการทดลองแตกตัวของยาในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบิน ซึ่งจะขึ้นปฏิบัติการบินระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคมนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสร้างสภาพไร้น้ำหนักนั้น เครื่องบินจะทำการบินขึ้นในลักษณะพาราโบลา 10 รอบ ซึ่งคล้ายกับการนั่งรถไฟฟ้าเหาะขึ้นลง ส่งผลให้เกิดสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือไมโครกราวิตี้ รอบละประมาณ 20 วินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก นักศึกษาจึงต้องทำการทดลองอย่างรวดเร็ว

ในการทดลอง นักศึกษาได้เตรียมหลอดทดลองใส่น้ำไว้ครึ่งหนึ่ง บนปากหลอดมีเม็ดยาวางอยู่ และเมื่อเกิดสภาพไร้น้ำหนัก ผู้ทดลองจะกดกระบอกยาส่งเม็ดยาเข้าไปในหลอดทดลองเพื่อกันไม่ให้น้ำลอยออกมาจากหลอด นักวิทย์รุ่นเยาว์ยังได้เตรียมกล้องวิดีโอความละเอียดสูงบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเม็ดยาในหลอดทดลองตลอด 1 ชั่วโมงที่ทำการบิน

สวทช.ยังมีโครงการวิจัยในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงร่วมกับประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะเปิดรับโครงการวิจัยในห้องทดลองที่อยู่ลึกจากพื้นดิน 100 เมตร ในลักษณะของลิฟต์ หรือท่อ ที่เจาะลงไปในพื้นโลก ซึ่งสถานีทดลองดังกล่าวมีอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีระยะเวลาการทดลองสั้นๆ เพียง 4.5 วินาทีเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: