Friday, March 9, 2007

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" แห่งแรกปี'63

หวั่นวัฒนธรรมแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" แห่งแรกปี'63

สภาอาจารย์ มธ. เปิดเวทีถกแผนพลังงานไทย สนพ.เผยอัตราการใช้พลังงานถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร่วมกับ ปส. ย้ำเป็นเรื่องสำคัญต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ได้แห่งแรกในปี 2563 ตามพีดีพี ด้านผู้แทน ปส.บอกปัดอาจไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่หวัง ขณะที่นักวิชาการพลังงานตั้ง 2 ข้อสังเกต “วัฒนธรรมไทยเป็นปัญหา” อาจได้สนามบินสุวรรณภูมิแห่งที่ 2 มาประจานความล้มเหลว แนะการกำจัดซากโรงงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แก้กันไม่ตกสักที อย่าง "พลังงาน" ที่ไม่ว่าจะหยิบยกมาคุยเมื่อใดก็ต้องเป็น "เรื่อง" แทบทุกครั้งไป โดยเฉพาะกับ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยในการเสวนาสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ประเด็น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและคนวงในแวดวงพลังงานต่างระดมสมองร่วมกันอย่างหนักหน่วง

เริ่มจาก นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวจุดประเด็นว่า ทุกวันนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกขณะ แปรผันตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึงจำนวนประชากรและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นเป็นงามตามตัว โดยค่าเฉลี่ยอัตราการใช้ไฟฟ้าของไทยจะมีปริมาณสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 1.1-1.2% ทุกปี ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ ก็เป็นโครงการสำคัญที่จะฉุดยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศให้สูงขึ้นไปอีก

นายวีระพล กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีการพูดคุยกันถึงการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจากการเกิดวิกฤติพลังงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้หลายประเทศหันมาสนใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งหากประเทศไทยสนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่วันนี้ สนพ.ก็จะเริ่มหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เพื่อวางแผนให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทันตามที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ไว้ โดยเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรประเทศไทยจึงจะได้เริ่มต้นในเรื่องนี้กันเสียที

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อใช้เป็นแหล่งไฟฟ้าราว 5% ของความต้องการทั้งหมด ขณะที่ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยยังจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก 2,000 เมกะวัตต์ หรือมีส่วนแบ่งพลังงานราว 9% ของทั้งหมดด้วย โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการสรรหาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งหากรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานแล้ว ก็จะทำให้ได้ต้นทุนไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำที่สุดคือ 2.08 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.11 บาท/หน่วย และจากพลังงานแสงอาทิตย์ 20.20 บาท/หน่วย
ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศ อย่าง ปส. ได้ส่งผู้แทนคือ ดร.กนกรัตน์ ตียพันธ์ มาร่วมให้ข้อมูลว่า การบรรจุการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงในแผนพลังงานของประเทศในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ในด้านพลังงานครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงก็จะมีค่าใช้จ่ายในระยะแรกจำนวนมากอย่างแน่นอน ทว่า ในระยะยาวพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุด และยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาไม่มาก ส่วนการจะก่อสร้างจริงในประเทศนั้นยังต้องดูทิศทางนโยบายต่อไป

“ถามว่าเรามีศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเปล่า เวลานี้ ที่สำนักงานฯ ก็เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งมีเครื่องเดียวในประเทศ และเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ปรมาณูวิจัย ดังนั้นหากจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทาง กฟผ.ก็จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง กฟผ.ต้องเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลในการเดินเครื่องฯ ทางฝ่ายเราก็มีหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำให้มีขึ้นได้ในเร็ววันได้ ส่วนที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ก็เชื่อว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพลังงานนิวเคลียร์อาจไม่ได้บรรจุในแผนอีก ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน” ดร.กนกรัตน์ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ นักวิชาการจากบัณฑิตร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็นว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้อีกต่อไป แต่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงคือ “วัฒนธรรมของสังคมไทย” ที่มีความประนีประนอมกันมาก จนอาจทำให้ระบบมาตรฐานและความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้ไม่เป็นที่ยอมรับของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมาก ซึ่งแม้ว่าจะได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยบริษัทชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาจนแล้วเสร็จ แต่ไอเออีเอก็ไม่อนุญาตให้เปิดใช้งานได้ ส่วนในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่น กรณีการรั่วไหลของโคบอลต์-60 ที่ใช้ในการแพทย์เมื่อหลายปีก่อน

“หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นจริงในประเทศไทยภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้ ก็อาจเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้น เป็น “สนามบินสุวรรณภูมิแห่งที่ 2” ก็ได้ เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความยากกว่าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินับ 10 -20 เท่า” ผศ.ดร.จำนง กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.จำนงยังได้ระบุถึงอีกปัญหนึ่งว่าคือ การกำจัดกากเชื้อเพลิง และซากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะทำให้เกิดซากโรงงานนับหมื่นๆ ตันที่ยากแก่การกำจัดทำลาย โดยหากจัดการอย่างไม่รัดกุมแล้ว ก็อาจมีปัญหากากกัมมันตภาพรังสีเล็ดลอดออกสู่ระบบนิเวศ จนมีผลต่อโครงสร้างระดับพันธุกรรมในสัตว์และพืชในบริเวณนั้นจากรุ่นสู่รุ่น อันจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดตามมา

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000027648

No comments: