ม.มหิดลใช้วิทยุดาวเทียมศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพครั้งแรกในโลก
ม.มหิดล ใช้เทคนิควิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม Satellite-telemetry ศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพครั้งแรกในโลก
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2550 ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งทำงานวิจัยโรคไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับทุนจากศูนย์ควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) เพื่อทำการศึกษาวิจัยไข้หวัดนกแบบบูรณาการในหัวข้อ “Avian Influenza Surveillance in Thailand - Studies at Human-Animal Interface”
การวิจัยนี้จะทำการศึกษา เฝ้าระวังการติดต่อของไข้หวัดนกในนกอพยพ, การติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์, สัตว์สู่คน และการเฝ้าระวังการติดต่อจากคนสู่คน จึงทำให้โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ Westat Research Company สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 โครงการย่อยคือ โครงการย่อยที่ 1 การศึกษาการระบาด และการติดต่อของไข้หวัดนกจากนกอพยพสู่สัตว์พื้นเมือง ได้แก่สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข และแมว โดยมี รศ.นส.พ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการย่อยที่ 2 ทำการศึกษาการติดต่อของไข้หวัดนกจากสัตว์สู่คน, การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจากคนสู่คน และการค้นหาสาเหตุของโรคปอดบวมในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาดของไข้หวัดนก โดยมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าโครงการ และโครงการย่อยที่ 3 การติดตามวิวัฒนาการ และการกลายพันธุ์ของเชื้อ ที่อาจกลายเป็นเชื้อที่ก่อการระบาดไปทั่วโลก โดยมี รศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหัวหน้าโครงการ
สำหรับโครงการนี้ได้เริ่มเตรียมการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 โดยขณะนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมโครงการวิจัย ได้เริ่มทำการศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพ โดยการสำรวจ และเก็บตัวอย่างจากนกอพยพในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และในตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบึงบอระเพ็ด
นอกจากนี้ ทางโครงการวิจัยยังได้เชิญ Dr.Adrian H. Farmer ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาจาก Fort Collins Science Center, U.S. Geological Science ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการใช้วิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม Satellite-telemetry ติดตามเส้นทางบินของนกอพยพในอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้มาเป็นเวลา 15 ปี มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ และทำการติดวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม ในนกอพยพจำนวน 6 ตัว ในจังหวัดนครปฐม และนครสวรรค์ เพื่อเฝ้าดูเส้นทางบินของนกดังกล่าว และติดตามเป็นเวลา 3 ปี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของเส้นทางบินกับพื้นที่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการนำเทคนิค Satellite-telemetry มาใช้ในการศึกษาไข้หวัดนกเป็นครั้งแรกในโลก
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment