21 มี.ค. “วันอิควินอกซ์” กลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง
เพราะโลกเอียง...เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์มากมายบนโลกนี้ เช่นเดียวกับ “วันอิควินอกซ์” ที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง ก็เป็นผลมาจากแกนโลกเอียง และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนฤดูกาลด้วย โดยตลอดทั้งปีจะมีวันดังกล่าวเกิดขึ้น 2 วัน คือวันที่เปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วงและวันที่เปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิ
“วันอิควินอกซ์” (equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีและเป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง โดยตลอดปีนั้นจะมีวันอิควินอกซ์เกิดขึ้น 2 วัน คือ “เวอร์นัล อิควินอกซ์” (vernal equinox) หรือ “วสันตวิษุวัต” ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. และอีกวันคือ “ออทัมนัล อิควินอกซ์” (autumnal equinox) หรือ “ศารทวิษุวัต” ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.
ทั้งนี้ นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย อธิบายว่าวันอิควินอกซ์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันพอดี เพราะแกนหมุนของโลกไม่ได้ตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เอียงทำมุม 23.5 องศา ซึ่งการเอียงของแกนโลกนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฤดูกาลที่มีทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยฤดูร้อนของทางซีกโลกเหนือนั้นขั้วเหนือของโลกจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ และเมื่อถึงฤดูหนาวขั้วเหนือจะหันออกจากดวงอาทิตย์
นายวรเชษฐ์กล่าวว่า 1 ปีมีวันอิควินอกซ์ 2 วัน คือประมาณวันที่ 20-21 มี.ค. และประมาณวันที่ 22-23 ก.ย. โดยต้องคำนวณหาวันที่แน่นอนในแต่ละปี สำหรับปี 2550 มีวันอิควินอกซ์ในวันที่ 21 มี.ค.และ 23 ก.ย. และโดยปกติในซีกโลกเหนือจะพูดถึงวันอิควินอกซ์ในเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนฤดูกาล แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
สำหรับความแตกต่างของวันอิควินอกซ์ระหว่างเดือน มี.ค.กับเดือน ก.ย.นายวรเชษฐ์อธิบายว่า เป็นความแตกต่างของตำแหน่งดวงอาทิตย์ ในเดือน มี.ค.นั้นดวงอาทิตย์จะปัดจากซีกฟ้าใต้ขึ้นมายังซีกฟ้าเหนือ ซึ่งในซีกโลกเหนือถือเป็นสัญลักษณ์ของวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ส่วนเดือน ก.ย.ดวงอาทิตย์จะปัดจากซีกฟ้าเหนือลงซีกฟ้าใต้ และซีกโลกเหนือถือเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง
“ในหน้าร้อนดวงอาทิตย์ขึ้นเยื้องไปทางทิศเหนือและตกเยื้องไปทางทิศเหนือเช่นกัน ส่วนหน้าหนาวนั้นขั้วเหนือหันออกจากดวงอาทิตย์ก็จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเยื้องไปทางทิศใต้ การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้มีผลให้ความยาวของวันต่างกัน หน้าร้อนกลางวันจะยาวกว่ากลางคืนเพราะดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนหน้าหนาวกลางวันสั้นกว่ากลางคืนเพราะดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว” นายวรเชษฐ์กล่าว
อย่างไรก็ดี นายวรเชษฐ์กล่าวว่าในทางทฤษฎีวันอิควินอกซ์เป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน แต่ในธรรมชาตินั้นโลกมีชั้นบรรยากาศที่หักเหแสงอาทิตย์ โดยชั้นบรรยากาศจะหักเหแสงทำให้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้ากว่าปกติ จึงทำให้เราเห็นกลางวันยาวกว่ากลางคืนเล็กน้อย ซึ่งหากโลกเราไม่มีชั้นบรรยากาศในวันอิควินอกซ์เราก็จะเห็นกลางวันยาวเท่ากับกลางคืนพอดี
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000032409
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment