ดาวเทียม...ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์ (ตอนจบ)
โดยสรุปแล้ว การใช้ดาวเทียมเพื่อประโยชน์ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมนั้น ก่อให้เกิดผลหลายประการ ทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ
ผลในด้านบวก
- ด้านธุรกิจ การที่ดาวเทียมช่วยย่อโลกให้เล็กลง ทำให้เกิดการสื่อสารไร้พรหมแดน ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ช่วยให้การติดต่อไม่ขาดตอน
- ความสัมพันธ์ แม้ผู้คนจะอยู่ห่างไกล หรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ก็สามารถสื่อสารกันได้ ทั้งทางโทรศัพท์ เพจจิง หรืออินเตอร์เน็ต
- ด้านความปลอดภัย การที่ดาวเทียมสามารถช่วยให้การสื่อสารไม่ขาดตอน ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกันได้แม้ระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมทั้งระบบ GPS ยังเข้ามาช่วยในเรื่องของการติดตามผลการเดินทางได้ทุกสภาวะด้วย
- ด้านความสะดวกสบายและความประหยัด ระบบ GPS ช่วยให้คนเดินทางสามารถเลือกเส้นทางได้อย่างรวดเร็วและประหยัด เนื่องจากจะช่วยเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด ในขณะที่ระบบขนส่งขนาดใหญ่ก็สามารถใช้ GPS ในการช่วยควบคุมความเร็ว ซึ่งจะเกิดข้อดีทั้งด้านความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน
ผลด้านลบ
การย่อโลกให้เล็กลงด้วยการสื่อสารผ่านดาวเทียมนั้น แม้จะเกิดผลดีในแง่ของความสะดวกสบายในการสื่อสาร แต่ในมุมกลับ การสื่อสารนี้ก็เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อ เนื่องจากอุปกรณ์บางชนิดมีราคาสูง ทำให้ผู้คนอีกมากมายในโลกที่ขาดโอกาส และเกิดช่องว่างทางสังคมที่ห่างขึ้นเรื่อยๆ
แม้ระบบ GPS จะช่วยในเรื่องของการติดตามคนที่ต้องการ แต่ในบางกรณี บุคคลที่ต้องการความเป็นส่วนตัวอาจจะต้องเสียความเป็นส่วนตัวไป เพราะถูกติดตามด้วยอุปกรณ์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่
ผลกระทบ และการใช้ดาวเทียมเพื่อประโยชน์ด้านวิทยุและโทรทัศน์
ก่อนหน้าที่จะมีการใช้ดาวเทียม การส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ทำได้เพียงในอาณาบริเวณที่จำกัด เช่น ในอดีต สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ซึ่งส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุ ก็จะส่งสัญญาณให้ผู้รับชมได้ในบริเวณกรุงเทพฯ และภาคกลางไม่กี่จังหวัดเท่านั้น เช่น เชียงใหม่ ประชาชนไม่สามารถรับสัญญาณจากช่อง 7 ได้ จึงจะได้ชมรายการของสถานีโทรทัศน์ช่าง 7 เมื่อมีการส่งเทปบันทึกภาพไปแพร่ภาพซ้ำในวันต่อๆ ไป ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ช่อง 8 ซึ่งมีแม่ข่ายที่ จ.ลำปาง แต่ต่อมาเมื่อมีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ช่อง 7 ผ่านดาวเทียมตั้งแต่ พ.ศ.2522 ก็สามารถส่งสัญญาณการออกอากาศของโทรทัศน์ช่อง 7 ไปได้ทั่วประเทศ ให้ประชาชนสามารถรับชมได้พร้อมกัน
ทางด้านผู้ประกอบการในธุรกิจโทรทัศน์เคเบิลทีวี ก็มีการนำดาวเทียมไทยคมมาใช้เสริมระบบการออกอากาศ เพื่อใช้ทวนสัญญาณไปยังสถานีเครือข่ายภูมิภาค เพื่อทำการออกอากาศซ้ำเช่นเดียวกับโทรทัศน์ระบบ VHF แต่เคเบิลทีวีได้ประกาศว่าจะดำเนินการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ในระบบโดยตรงสู่บ้านเรือน เนื่องจากเหตุผลที่ว่าคุณสมบัติของเทคโนโลยีใหม่ในระบบโดยตรงสู่บ้านเรือนสามารถส่งสัญญาณได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยประหยัดการลงทุนจัดตั้งสถานีเครือข่ายแห่งใหม่ และเนื่องจากเหตุผลทางเทคนิคเกี่ยวกับความคมชัดของสัญญาณเพราะเป็นการรับสัญญาณโดยตรงจากดาวเทียม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวียังเชื่อว่าตลาดของ “ชุดอุปกรณ์รับสัญญาณโดยตรงจากดาวเทียม” จะสามารถเกิดความนิยมได้ และแนวโน้มของธุรกิจโทรทัศน์ในประเทศไทยในอนาคตจะเน้นไปที่การมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชมตามเงื่อนไขของหลักการตลาดสมัยใหม่ การสร้างความพึงพอใจจะอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอรายการโทรทัศน์ที่มี “คุณภาพ” และรายการโทรทัศน์ที่ตอบสนองรสนิยมขิงผู้ชมได้ตรงที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ทั้งในโทรทัศน์ระบบ VHF และเคเบิลทีวีด้วยกันเอง และระหว่างโทรทัศน์ทั้งสองระบบ เพื่อมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชม
การแข่งขันที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโทรทัศน์จะมีการเติบโต และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลก
ในปัจจุบัน (พ.ศ.2549) การส่งสัญญาณโทรทัศน์ของรายการประเภทบอกรับสมาชิก หรือที่นิยมเรียกกันว่าเคเบิลทีวี ก็ได้มีการส่งผ่านระบบดาวเทียมโดยตรง หรือที่เรียกว่าระบบ Direct-to-Home (DTH) โดยใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดเล็กกันอย่างแพร่หลายเป็นการทั่วไปแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปได้ในพื้นที่กว้างไกล โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมากในการสร้างเครือข่ายแบบมีสาย เช่น ในกรณีของการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของบริษัท ยูบีซี เคเบิลทีวี จำกัด ไปสู่สมาชิกที่มีกล่องรับสัญญาณ และยังสามารถให้บริการในระบบเลือกชมเฉพาะรายการที่ต้องเสียค่าบริการเป็นพิเศษ หรือ Pay per view ได้ด้วย
นอกจากนั้น เครือข่ายดาวเทียมยังสามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์จากต่างประเทศ เช่น สัญญาณจาก CNN, BBC ฯลฯ ไปถึงผู้ชมทั่วโลกที่มีจานรับสัญญาณดาวเทียมได้ในเวลาเดียวกันด้วย เช่นเดียวกับเครือข่ายวิทยุ โดยเฉพาะในระบบวิทยุ FM ที่การส่งสัญญาณไม่สามารถไปได้ไกลมากนัก จนกระทั่งมีการใช้การถ่ายทอดสัญญาณวิทยุผ่านดาวเทียม ก็ทำให้ผู้ฟังในต่างจังหวัดสามารถรับสัญญาณวิทยุ FM จากกรุงเทพฯ ได้ในเวลาพร้อมกันทั่วประเทศ
ใน 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ผู้รับสัญญาณสามารถใช้โทรทัศน์และวิทยุปกติในการรับสัญญาณ เนื่องจากไม่ได้เป็นการรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตง แต่ผู้ให้บริการจะรับหน้าที่ในการรับสัญญาณจากดาวเทียม ก่อนจะแปลงเป็นสัญญาณคลื่นวิทยุสำหรับเครื่องรับปกติเอง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้รับสัญญาณอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดารจนเครื่องรับปกติไม่สามารถติดตัวไปในทุกหนทุกแห่งกาสามารถเลื่อซื้อเครื่องรับสัญญาณที่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรงได้ด้วย
นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการนำดาวเทียมเข้ามาใช้กับกิจการวิทยุ ด้วยการเปิดส่งสัญญาณวิทยุแบบบอกรับสมาชิกผ่านดาวเทียม โดยผู้ชมที่ชำระค่าสมาชิกแล้วจะได้รับอุปกรณ์ที่สามารถใช้รับสัญญาณวิทยุผ่านดาวเทียมได้ ส่วนในหระเทศไทยน่าจะเกิดวิทยุดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกขึ้นได้ภายในอีกไม่เกิน 5 ปี ด้วยจุดเด่นที่ไม่มีโฆษณา และมีสถานีให้เลือกมาก
ผลในด้านบวก
- การใช้ดาวเทียมเพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุ ช่วยให้ประชาชนอยู่ห่างไกล หรือในพื้นที่ทุรกันดาร สามารถรับข่าวสารได้เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ รวมทั้งผู้ที่อยู่ระหว่างพักร้อน หรือเดินทางไปเที่ยวในบางสถานที่ เช่น ภูเขา เกาะ ก็ยังสามารถรับฟัง รับชมโทรทัศน์หรือวิทยุได้
- โทรทัศน์และวิทยุจากต่างประเทศ สามารถกระจายเข้าไปเผยแพร่ในประเทศอื่น นอกเหนือจากประเทศของตัวเองได้ เป็นการถ่ายทอดข่าวสาร และเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น
ผลในด้านลบ
- หากไม่ได้รับการควบคุมที่ดี การถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุผ่านดาวเทียมอาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านวัฒนธรรม เช่น วัยรุ่นได้รับชมภาพยนตร์ที่มีวัฒนธรรมผิดแปลกไปจากต่างประเทศ จนอาจเกิดการเลียนแบบ ทำให้เกิดการทดแทนของวัฒนธรรม ที่บางครั้งอาจจะเกิดผลเสีย หรือมีการส่งภาพที่ไม่พึงประสงค์โดยไม่สามารถควบคุม เช่น ภาพยนตร์เรตต้องห้ามสำหรับเยาวชน
- เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่าย เนื่องจากควบคุมพื้นที่ออกอากาศได้ยาก และอุปกรณ์การรับสัญญาณอาจจะทำปลอมได้โดยผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment