Friday, March 9, 2007

วิทยาศาสตร์ไทย ไป "ยูเอ็น"


วิทยาศาสตร์ไทย ไป "ยูเอ็น" เปิดแสดงกลางกรุงเวียนนา

หลังจากประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศเปิดตัวดาวเทียมดวงแรกของไทย "ธีออส" หรือ Thailand Earth Observation Systems ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astruim) อยู่ระหว่างการสร้างและทดลองเพื่อยิงขึ้นสู่อวกาศนั้น

ระดับของประเทศไทยในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดูจะ "อัพเกรด" ขึ้นมาทันตาเห็นเพราะนอกจากมีโอกาสไปเปิดแสดงนิทรรศการเรื่องของธีออส ถึงสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ประเทสออสเตรียแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นักวิชาการจากประเทศไทยได้กระทบไหล่นักวิชาการจากนานาชาติอีกด้วย เพราะระหว่างที่ไปจัดนิทรรศการนั้น เป็นวาระที่นักวิทยาศาสตร์นานาชาติกำลังมีการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการ หรือ COPUOS ครั้งที่ 44

รายการนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทย โดย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงนำคณะนักวิชาการไทยไปเพียบ อาทิ ดร.พินัย ณ นคร ที่ปรึกษารัฐมนตรี, ดร.ธงชัย จารุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, นายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการสำนักปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.), นายมานิตย์ ซ้อนสุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ, ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และ ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

วันจัดแสดงนิทรรศการอยู่ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ในวันเปิดงานนั้น ผลงานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ของไทยได้รับความสนใจให้จัดแสดงที่บริเวณ Rotunda ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางภายในตึกยูเอ็น เป็นบริเวณที่ใครต่อใครต้องเดินผ่านเลยทีเดียว เรื่องราวที่นำเสนอในนิทรรศการเป็นหัวข้อต่างๆ ทั้งเรื่องของธีออส ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย เรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการจัดการเรื่องของน้ำ ป่า การทำเกษตรในประเทศไทย ฯลฯ

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พูดถึงโอกาสสำคัญนี้ว่า การได้ไปจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่ศูนย์สหประชาชาติ กรุงเวียนนา ถือว่ามีความสำคัญและเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เปิดตัวเช่นนี้ในวงการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก เพราะที่ศูนย์สหประชาชาติกำลังมีการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการ จึงถือโอกาสนี้มาแสดงถึงผลงานของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

"คือการที่เราจะมีดาวเทียมธีออสเป็นของเราเอง ซึ่งจะใช้ในการสำรวจดูทรัพยากรต่างๆ แล้วเอามาใช้ในเรื่องที่จะจัดการ เช่น เรื่องของน้ำ ป่า เรื่องการมีอันตรายต่างๆ เช่น ไฟป่า หรือเรื่องของการเกษตร จึงถือโอกาสมาเปิดตัวกับบรรดาผู้ที่สนใจจากหลายๆ ประเทศ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะมีทั้งเอกอัครราชทูตจากประทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชีย และผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศที่มาประชุมอยู่ด้วยก็ได้เข้ามาซักถามและมาแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราเพิ่มขึ้น"

รัฐมนตรียงยุทธบอกว่า โอกาสนี้ทางไทยได้พูดคุยกับนายอันโตนิโอ มาเรีย คอสต้า รองผู้อำนวยการของยูเอ็นนี้ เป็นผู้ซึ่งมีความสำคัญในการดูแลเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ และนายเซอร์จิโอ กัมมาโช ลารา ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้โดยเฉพาะ ว่าไทยและยูเอ็นจะมีความร่วมมือกันอย่างไรหากดาวเทียมดวงแรกของไทยสร้างเสร็จเรียบร้อยและยิงขึ้นสู่อวกาศ

"ทางสหประชาชาติเองอยากจะได้ความร่วมมือจากเรา โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในย่านต่างๆ ในโลกนี้ เราเองบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ และเขายังได้ขอความร่วมมือ ขอข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งต่อไปเราสามารถหาได้จากดาวเทียมของเรา เราเองก็ไม่ขัดข้องให้ความร่วมมือได้ และจะมีการเซ็นสัญญากันต่อไป"

"ข้อมูลบางอย่างเราสามารถที่จะให้เพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก การร่วมมือกับประชาคมโลก แต่ข้อมูลบางอย่างเราอาจจะขาย หรือตกลงขายในราคามิตรภาพไม่แพงนัก อันนี้เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของเราเองด้วย เพราะต่อไปเราก็ต้องมีภาระ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี"

"เรามาจัดนิทรรศการที่นี่เพราะเรามีโอกาส เนื่องจากประชาคมมาประชุมกันที่นี่พอดี และมีคนไทย อย่าง
คุณสุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ มีโอกาสไปเป็นคณะอนุกรรมการคนต่อไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เราจะได้มีเสียงใน
ยูเอ็นมากขึ้น ถือว่านี่เป็นจุดที่ดีมาก และนิทรรศการนี้จะทำให้ทุกคนในวงการรู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน มีดีอย่างไร" เสียงตบท้ายจากรัฐมนตรี ฤกษ์งามยามดีมาถึง และพิธีเปิดนิทรรศการก็เริ่มขึ้น ดร.มาซลัน อัธมัน จากมาเลเซีย ในฐานะตัวแทนของ COPUOS และเป็นประธานคณะกรรมการสำรวจด้วยดาวเทียม กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทย ว่า ขอแสดงความยินดีอย่างมากที่ประเทศไทยจะได้เข้าร่วมในกลุ่มประเทศจำนวนน้อยที่จะมีดาวเทียมสำรวจโลกในแง่มุมต่างๆ เป็นของตัวเอง

"เพราะที่เป็นอยู่เวลานี้มีจำนวนประเทศแค่ 6-7 ประเทศเท่านั้นที่ทำเช่นนี้ได้ และประเทศไทยก็เป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งที่จริงแล้วองค์การนี้มีมาแล้ว 50 ปี แต่ไทยเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกได้เมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เอง ดีใจที่สมาชิกสามารถร่วมมือกันได้อย่างดีในการมีดาวเทียมเข้ามาร่วมช่วยเหลือโลกของเรา" ดร.มาซลันกล่าว

สิ่งที่ ดร.มาซลันเน้นอย่างมากในเรื่องการมีดาวเทียมใช้ในโลกนี้ คือ เรื่องของการจัดการกับภัยพิบัติ ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องแรกที่สหประชาชาติต้องให้ความร่วมมือ

"ภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่โตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสร้างความเสียหายอย่างหนัก ไม่ว่าเรื่องของสึนามิ ที่เราสามารถใช้ดาวเทียมถ่ายให้เห็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือเรื่องของไฟป่าก็ได้ เป็นเรื่องที่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างนอกจากถ่ายภาพทางอวกาศแล้ว ต้องไปประสานกับภาคพื้นดินด้วย เช่นเรื่องไข้หวัดนก หรือเรื่องโรคของพืช เรื่องต่างๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลภาคพื้นดินประกอบด้วย ทั้งหมดนี้หวังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากไทยในการส่งข้อมูลให้"

เสียงปรบมือดังกึกก้องเมื่อ ดร.มาซลัน จบสุนทรพจน์ ขณะที่บรรดาผู้สนใจเรื่องราวของประเทศไทยต่างเข้ามาจับไม้จับมือแสดงความยินดีกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกิดบรรยากาศของการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง

ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อธิบายเพิ่มเติม

การประชุมความร่วมมือทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้น ว่า เมื่อนักวิชาการทราบเรื่องดาวเทียมของไทยต่างแสดงความยินดี และเวลานี้มีประเทศต่างๆ ให้ความสนใจบอกจะซื้อข้อมูลดาวเทียมจากไทยเป็นสิบประเทศแล้ว

สำหรับการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในสองอนุกรรมการของคณะกรรมการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ หรือโคปุส (COPUOS) นั้นได้พูดถึงเรื่องต่างๆ มากมาย มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ในทางสันติ อีกเรื่องคือทางด้านกฎหมายทางอวกาศ ซึ่งเรื่องกฎหมายอวกาศมีคนสนใจมาก

"อย่างตอนนี้ในหลายประเทศเป็นกังวลว่าจีนส่งจรวดขึ้นไปยิงดาวเทียมของเขาทิ้งเพราะหมดอายุการใช้งานแล้ว ทำให้เกิดเหมือนกับขยะอวกาศออกมาจำนวนมาก เป็นพันๆ ชิ้น ในหลายประเทศก็กลัวว่าระดับความสูงประมาณ 800-1,000 กิโลเมตรนั้น ซึ่งดาวเทียมถ่ายภาพและดาวเทียมสำรวจของประเทศต่างๆโคจรอยู่ในระดับนี้จะเกิดความเสียหายไปด้วย และเมื่อดาวเทียมของจีนถูกจรวดยิงแตกเป็นชิ้นๆ ชิ้นส่วนเหล่านั้นก็ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ดีไม่ดีอาจจะไปชนกับดาวเทียมดวงอื่นๆ เกิดความเสียหายขึ้น"

ดร.สุวิทย์บอกว่า ดังนั้น จึงมีการร่างคำแนะนำในกรณีที่ดาวเทียมหมดอายุแล้วว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการยิงอย่างนี้ขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม ดร.สุวิทย์บอกด้วยว่า ทางจีนได้บอกว่าเขาเองก็ระมัดระวังเรื่องนี้ ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นมา

"สิ่งที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ มีโครงการชื่อ สไปเดอร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือพวกที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ และเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตราย ปีที่แล้วเพียงแต่ตั้งขึ้นมายังไม่ได้ทำงาน แต่ปีนี้เขาจะเริ่มทำงาน โดยมีสำนักงานใหญ่ คือ ยูเอ็น ออฟฟิศ ออฟ เอาท์เตอร์ สเปซ อยู่ที่เวียนนา เป็นเจ้าของเรื่อง ตอนนี้กำลังหาเงินช่วยอยู่ และยังมีออฟฟิศอีก 2 แห่ง ในยุโรปอยู่ที่กรุงบอนน์ เมืองหลวงเก่าของเยอรมนี และที่ปักกิ่ง ประเทศจีน"

"อีกเรื่องที่กลัวกัน คือการมีอาวุธในอวกาศ เพราะว่าที่จริงแล้วมันทำได้ อินเดียทำได้ คือเมื่อส่งปรมาณูไปซุกซ่อนในดาวเทียม วันดีคืนดีก็สามารถปล่อยลงมาสู่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ เขากลัวกัน เขาบอกว่าเรื่องแบบนี้ห้ามเด็ดขาด ซึ่งหลายประเทศในที่ประชุมก็บอกว่าไม่ได้ทำ เพราะเป็นอันตรายต่อโลก"

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ ดร.สุวิทย์เปิดเผย คือ การจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยอวกาศ" หรืออินเตอร์เนชั่นแนล สเปซ ยูนิเวอร์ซิตี้ (International Space University) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เมือง Strasbourg ในฝรั่งเศส

"ที่นี่เขามีการเรียนถึงปริญญาโท และมี Summer School แต่ที่เมืองไทยยังไม่จัด เพราะค่าใช้จ่ายสูง เราเคยคิดจะทำเหมือนกันโดยเคยติดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่เทเลคอมฯให้เขาสนับสนุน แต่เขาบอกเขามีโปรเจ็คต์เยอะ ตอนนี้มีนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยอวกาศ 2,400 คนแล้ว ซึ่งคนที่มาเรียนไม่ใช่เรียนเพื่อทำดาวเทียม อาจเป็นนักกฎหมายก็ได้ นักบริหารก็ได้"

ส่วนประเทศไทยนั้น ในการประชุมดังกล่าว ดร.สุวิทย์เล่าว่า ได้รายงานไปว่าไทยทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะ เรื่องดาวเทียมธีออส เพราะธีออสไม่ได้ใช้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่คงใช้รอบโลก ถ้าประเทศไหนเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ก็ต้องให้ภาพและให้ข้อมูลฟรีเพื่อช่วยเหลือสหประชาชาติ

"เรื่องกฎหมายอวกาศก็สำคัญ เพราะมันมีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการใช้อวกาศในทางสันติ เช่น ดวงจันทร์ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติ ห้ามประเทศหนึ่งประเทศใดเอาเป็นอาณานิคมแบบสมัยก่อน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะไปสำรวจได้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยก็มีสนธิสัญญาว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดส่งดาวเทียมหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นไปบนอวกาศ ถ้าตกไปสู่ประเทศไหนต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นสมาชิกกฎหมายอวกาศ ซึ่งมี 5 ข้อ และไทยเป็นสมาชิกหรือภาคียะ 2 ข้อ อีก 3 ข้อกำลังพิจารณาอยู่"

งานนิทรรศการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจากเมืองไทยที่ไปเปิดแสดงยังกรุงเวียนนา ใช้เวลาจัดแสดงอยู่นานหลายสิบวัน ส่งผลให้คนชาติอื่นที่ไม่รู้จักประเทศไทยได้รู้จัก คนที่ไม่เคยมาเมืองไทยก็อยากมา และที่สำคัญ จากนี้ไปประเทศไทยกำลังพยายามจะสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับคนไทยของเราเอง อาจจะไม่ใช่แค่ "ธีออส" ที่กำลังเป็นพระเอกในขณะนี้ แต่อาจมีมากกว่านั้นตามมาอีก เพราะอนาคตข้างหน้าองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย เพื่อสร้างรากฐานสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01090350&day=2007/03/09§ionid=0131

No comments: