Wednesday, March 14, 2007

จุฬาฯ ผ่าตัดตา

จุฬาฯ ผ่าตัดตา ถ่ายสดข้ามโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวโครงการ “การแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย” (World's 1 st Tripartite live surgery Transmission 3D-HD Broadband Telemedicine in Ophthalmology) ครั้งแรกของโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.อดิศรกล่าวว่า การพัฒนาระบบเทเลเมดิซีนเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก สามารถเข้าไปเรียนได้ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะวิทยาเขตของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ รพ.ศูนย์ชลบุรี และ รพ.ศูนย์การแพทย์อภัยภูเบศร จ.จันทบุรี ที่จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการเรียนการสอนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สำหรับ “โครงการการแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย” ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับวิทยาลัยการแพทย์อาซาฮิกาวา ประเทศญี่ปุ่น และศูนย์จักษุแห่ง ชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

“เรามองว่าการนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลเฉพาะ แต่การทำเทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือการแพทย์ทางไกลจะได้ผลในวงกว้างกว่า เพราะเป็นการสาธิต หรือทำการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว แต่สามารถถ่ายทอดไปสู่คนทั่วโลกได้ และยังเป็นการถ่ายทอดในเวลาเดียวกัน เป็นแบบเรียลไทม์ด้วย” รศ.นพ.อดิศรกล่าว และครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดการผ่าตัดจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในเวลาเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า 3 ดีเอชดี บรอดแบนด์ ที่ถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงในระบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการถ่ายทอดระบบนี้ ที่ผ่านมาในระบบเทเลเมดิซีนจะถ่ายทอดในระบบแค่ 2 มิติ ไม่เห็นภาพเชิงลึก

ด้าน ผศ.นพ.พรณรงค์ โชติวรรณ หัวหน้าหน่วยคอมพิวเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบการถ่ายทอดการผ่าตัดทางไกล ด้วยเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ ใช้เครือข่ายที่มีความเร็วสูงพิเศษถึง 45 ล้านบิทต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วสูงมาก เพราะที่ผ่านมา การถ่ายทอดทางไกลผ่านระบบเทเลเมดิซีนจะใช้ความเร็วเพียง 1 ล้านบิทต่อวินาที และการถ่ายทอดครั้งนี้ทำจากห้องผ่าตัดของแผนกจักษุ รพ.จุฬาฯ ส่งไปยังเครือข่ายไทยสาร ของเนคเทค จากนั้นส่งสัญญาณไปยังวิทยาลัยการแพทย์อาซาฮิกาวา เกาะฮอกไกโด ของญี่ปุ่น และจากญี่ปุ่นส่งสัญญาณต่อไปสิงคโปร์ ซึ่งยังไม่เคยมีการใช้เทคโนโลยีนี้ที่ไหนมาก่อนในโลก
ขณะที่ นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ ผอ. โครงการการแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผ่าตัดด้านจักษุวิทยา ที่ต้องอาศัยภาพ 3 มิติเชิงลึกมากกว่าการผ่าตัดอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในต่างจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ การมีระบบนี้จะช่วยให้แพทย์ในชนบทสามารถปรึกษาการรักษา ผ่าตัดกับอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยได้ รวมทั้งประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์ในการเรียนการสอน และในอนาคตหากมีการนำเทคโนโลยีในลักษณะนี้มาใช้มากขึ้น ก็จะทำให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง

สำหรับการผ่าตัดทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผ่าตัดผู้ป่วยจำนวน 5 คน เป็นการผ่าตัดสลาย ต้อกระจก 1 คน ผ่าตัดสลายต้อกระจกและผ่าตัดวุ้นตา 1 คน ผ่าตัดต้อเนื้อและป้องกันการเป็นซ้ำ โดยใช้เยื่อหุ้มรกร่วมกับกาวชีวภาพ 1 คน ผ่าตัดรักษารูที่จอประสาทตา 1 คน และผ่าตัดรักษาต้อหิน 1 คน โดยในการผ่าตัดแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ในห้องประชุมของ รพ.จุฬาฯ และ แพทย์ นักศึกษาแพทย์ ในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น สามารถที่จะเห็นภาพการผ่าตัดไปพร้อมกัน รวมทั้ง สามารถซักถามผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ได้ในระหว่างการผ่าตัดด้วย

ที่มา: http://www.thairath.co.th/
Link: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=40046

No comments: