Wednesday, March 14, 2007

เตาพลังงานแสงอาทิตย์

เตาพลังงานแสงอาทิตย์ 4 อิน 1 ไอเดียสามสาวเมืองพะเยา

"พวกเราเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงอื่นมีราคาแพง ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานฟรีที่ทุกครัวเรือนควรสนใจและนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จึงสร้างเตาพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์นี้ขึ้นมา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แปลงความร้อนในการประกอบอาหาร ใช้หลักการทางฟิสิกส์คือการสะท้อนแสง ฉนวนดูดความร้อน และการกักเก็บความร้อนในรูปภาวะเรือนกระจก"

แนวคิดของสามสาว น.ส.จุฑามาศ ใจญาน น.ส.เจนจิรา เมืองซื่อ และน.ส.จิราภา ใจตุ้ย นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนพะเยาวิทยาคม จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแกนนำของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการจัดทำ "เตาพลังงานทดแทน 4 in 1" เพื่อสร้างเตาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากวัสดุที่หาง่าย สำหรับใช้ทั้งอบ ต้ม ปิ้ง ย่างในเตาเดียวกัน

เตาพลังงานที่ว่านี้มีสองชั้น ชั้นในสร้างจากสแตนเลส ชั้นนอกสร้างจากไม้อัด มีกระจกเงาสี่แผ่นทำหน้าที่สะท้อนแสงแดดเข้าสู่เตา มีฉนวนทำจากแกลบดำนำมาผสมกาวอัดแท่งบรรจุระหว่างเตาชั้นในและเตาชั้นนอก มีกระจกใสปิดด้านบนของเตา ส่วนฐานติดล้อเพื่อให้เคลื่อนย้ายง่าย

เมื่อประกอบเตาเสร็จแล้ว เด็กๆ ได้ทดลองใช้เตา โดยขั้นแรกวัดและบันทึกอุณหภูมิของฉนวนกันความร้อนในช่วงกลางวัน วันละ 5 นาที เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน พบว่าแกลบดำดูดความร้อนได้ดีกว่าแกลบสดและขุยมะพร้าว

จากนั้นทดลองนำเอาเตาดังกล่าวมาอบ ต้ม ปิ้ง ย่างอาหารแต่ละชนิดในช่วงเวลากลางวัน รวมทั้งวัดอุณหภูมิสูงสุดในการอบ ต้ม ปิ้ง ย่างอาหารแต่ละชนิดในเตาเดียวกัน พบว่าเวลาในการอบ ต้ม ปิ้ง ย่างของอาหารแต่ละชนิดที่หนักเท่ากันจะใช้เวลาไม่เท่ากัน วัตถุที่มีขนาดใหญ่และเป็นชิ้นเดียวจะใช้เวลานานกว่าวัตถุที่มีขนาดเล็ก

หลังจากนั้นทดลองอบ ต้ม ปิ้ง ย่าง โดยใช้พลังงานจากก๊าซหุงต้ม จากพลังงงานไฟฟ้า และจากเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 1 ปี ผลการเปรียบเทียบพบว่าในระยะเวลา 1 ปี เตาที่ใช้พลังงานจากก๊าซหุงต้มต้องเสียค่าพลังงาน 3,120 บาท จากพลังงานไฟฟ้าต้องเสียค่าพลังงาน 3,312 บาท และจากเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 เสียค่าพลังงานเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 นั้นประหยัดจริงๆ

"หากจะนำเตาที่พวกเราทำขึ้นไปใช้ตามครัวเรือนก็สามารถทำได้ เพราะเราใช้วัสดุหาง่ายที่มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว แต่มีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือในการประกอบอาหารนั้น ภาชนะที่ใช้รองอาหารจะต้องเป็นโลหะหรือพลาสติกทนร้อน ตรงฐานเตาและตัวเตาด้านนอกควรใช้โลหะเพื่อความทนทาน ควรติดตั้งเตาตามดวงอาทิตย์และสร้างที่วางอาหารตรงกลางให้ปรับขนนานกับพื้นเสมอไม่ว่าตัวเตาจะหมุนไปทิศทางใด ส่วนแผ่นกระจกเงาระนาบที่ด้านบนนั้นควรทำเป็นรูปพีระมิดหรือทรงหน้าจั่ว เพื่อไม่ให้น้ำที่เกิดจากการควบแน่นตกลงบนอาหาร และเจาะรูด้านข้างใส่ท่อระบายน้ำทิ้งภายในเตาด้วย" สามสาวกล่าว

การทำโครงงานของนักเรียนกลุ่มนี้ สอดคล้องกับแนวทางของ สสวท. ที่ส่งเสริมให้สถานศึกษาทั่วประเทศจัดกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ให้นักเรียน เพราะนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ตรงในกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ทุกขั้นตอน มีโอกาสฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และจะช่วยพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ให้นักเรียนด้วย เช่น การเป็นคนช่างสังเกต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง มีวินัยและซื่อสัตย์ในการทำงาน ละเอียดรอบคอบ มีความรับผิดชอบ ยอมรับฟังคำติชมและความคิดเห็นของผู้อื่น มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและการกระทำกิจกรรรมอื่นๆ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you02140350&day=2007/03/14§ionid=0311

No comments: