Wednesday, March 7, 2007

.วิทย์ชูไบโอเทคดึงนักลงทุน

ก.วิทย์ชูไบโอเทคดึงนักลงทุนต่างชาติ

ศูนย์ไบโอเทคชูวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรและการแพทย์ จูงใจนักศึกษาเอ็มบีเอจากสหรัฐเลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่ศึกษาธุรกิจชีวภาพ หวังข้อมูลช่วยให้เห็นถึงมุมมองต่างชาติ และโชว์ศักยภาพดึงโครงการลงทุนจากนอก

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้ง ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภสพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายในการประชุมหัวข้อ “เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ชีวภาพในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน” ให้แก่นักศึกษาปริญญาโท (เอ็มบีเอ) จำนวน 20 คน จากมหาวิทยาลัยโลโยลา แมรี เมานท์ (Loyola Mary Mount University) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ศ.ดร.มรกต กล่าวว่า นักศึกษากลุ่มนี้มีแผนงานที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศอินเดีย โดยให้ความสนใจในเรื่องการวิจัยด้านไบโอดีเซลกับความคุ้มค่าทางธุรกิจ แต่ก่อนจะเดินทางไปอินเดีย ได้แวะประเทศไทยเพื่อรับฟังความก้าวหน้าเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย และคาดหวังในการทัศนศึกษาครั้งต่อไป นักศึกษาเอ็มบีเอเหล่านี้จะเลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่ศึกษาแทนอินเดียและจีนการประชุมนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในไทย เพื่อแสดงศักยภาพของงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย รวมถึงการบริหารจัดการและกลยุทธ์ด้านการวิจัยของประเทศไทย

“งานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในต่างประเทศ เนื่องจากงานวิจัยที่ไทยทำจะเน้นไปที่ความต้องการพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก เช่น การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ด้านการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์ข้าว งานวิจัยกุ้ง การศึกษาด้านพลังงาน การบำบัดน้ำเสียด้วยแก๊สชีวภาพ ต่างจากงานวิจัยในต่างประเทศที่เน้นการพัฒนายาระบบนำส่งยา และชีววิทยาศาสตร์” ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าว

นอกจากประเทศไทยจะมีงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพที่โดดเด่นแล้ว ด้านการแพทย์ก็ยังน่าสนใจ โดยโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพตลอดจนงานวิจัยระดับคลินิกเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ที่ทดลองกันอย่างกว้างขวางในประเทศโดยเชื่อว่าประเทศไทยเป็นสถานศึกษาดูงานในครั้งต่อไป

การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะช่วยจุดประกายให้ต่างชาติรับรู้ถึงศักยภาพงานวิจัยของประเทศไทย เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ด้านธุรกิจชีวภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกเหนือจากประเทศอินเดียและจีน ที่มีประชากรประมาณ 1.2 พันล้านคน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจเนื่องจากคุ้มค่าต่อการลงทุน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: