Thursday, March 15, 2007
สุริยุปราคา
เตรียมรับอรุณกับ “สุริยุปราคา” 19 มี.ค.นี้
สมาคมดาราศาสตร์ไทย/ผู้จัดการออนไลน์- เช้าวันจันทร์ที่ 19 มี.ค. ขณะที่ทุกคนต่างรีบเร่งไปทำงาน หลายพื้นที่ทั่วไทยจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” ที่ชาวเชียงใหม่จะเห็นตะวันแหว่งไปช่วงสั้นๆ สูงสุด 28% ขณะที่ชาวกรุงดวงอาทิตย์ถูกบดบังได้ 16% ส่วนชาวใต้ตั้งแต่สงขลาลงไปจะไม่สามารถรับชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้
ช่วงเช้าของวันที่ 19 มี.ค.นี้จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” บางส่วน ที่เกิดจากการโคจรของดวงจันทร์มาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ และเกิดทอดเงามัวทอดลงมายังพื้นโลกทำให้เห็นว่าบางส่วนของดวงอาทิตย์แหว่งไป แต่หากเงามืดทอดมายังโลกจะทำให้เราเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง
นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยให้ข้อมูลว่า อุปราคาดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศในตอนกลางและตอนเหนือของเอเชียเกือบทั้งหมด รวมทั้งบางส่วนของอะลาสกาและทะเลอาร์กติกสามารถสังเกตเห็นได้ สำหรับประเทศไทยโดยรวมแล้วจะเกิดปรากฏการณ์ในช่วงเวลาประมาณ 7.38 น.
จุดที่จะเริ่มเห็นคราสเข้าบดบังดวงอาทิตย์เป็นที่แรกนั้น นายวรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่าอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนบริเวณสุดท้ายของโลกที่จะได้เห็นสุริยคราสบางส่วนคือแถบอะลาสกาและในทะเลอาร์กติก ส่วนบริเวณที่เห็นคราสบดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดคือบริเวณประเทศรัสเซียที่จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังถึง 88% ส่วนประเทศที่ไม่เห็นสุริยุปราคาครั้งนี้คือประเทศที่อยู่ในแถบละติจูดทางใต้ของไทยลงไป เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งบางส่วนของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยแต่ละพื้นที่ก็จะเห็นการเกิดคราสได้ต่างกัน เช่น ที่กรุงเทพฯ จะเห็นคราสเริ่มเกิดเวลา 7.48 น. และจะเห็นคราสบังลึกที่สุด 16% เวลา 8.21 น. ด้วยมุมเงย 28 องศา ในทางทิศตะวันออก โดยคราสจะสิ้นสุดเวลา 8.57 น. ส่วนตะวันออกสุดของประเทศที่ จ.อุบลราชธานี จะเห็นคราสเริ่มเวลา 7.52 น. และเห็นคราสบังลึกที่สุด 15% เวลา 8.26 น. และสิ้นสุดคราสที่เวลา 9.02 น. ขณะที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เห็นคราสบังได้ลึกนั้น คราสจะเริ่มเวลา 7.45 น. และบังลึกที่สุด 28% เวลา 8.29 น. โดยสิ้นสุดการเกิดคราสเวลา 9.15 น. ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ตั้งแต่ จ.สงขลา ลงไปนั้นจะไม่เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนนี้
วิธีการดูสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัยนั้นมีหลายวิธี โดยนายวรเชษฐ์ได้แนะนำให้ใช้กระดาษเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสประมาณ 1 เซนติเมตรแล้วประกบติดกับกระจกเงา จากนั้นใช้กระจกเงาดังกล่าวสะท้อนภาพดวงอาทิตย์ให้ไปตกบนฉากรับภาพ และจะเห็นเป็นภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อเกิดสุริยคราสภาพบนฉากก็จะแหว่งไปตามเกิดคราส
วิธีดังกล่าวเมื่อเทียบกับการดูสุริยุปราคาด้วยกล้องรูเข็มแล้ว นายวรเชษฐ์อธิบายว่าจะให้ภาพที่สว่างกว่าภาพจากกล้องรูเข็ม เพราะแสงที่ผ่านเข้าไปในกล้องรูเข็มนั้นไม่มาก เมื่อฉากรับภาพยิ่งห่างความสว่างของภาพก็ยิ่งลด และการใช้กระจกสะท้อนภาพนั้นมีช่องรับแสงที่ใหญ่ ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ผ่านได้มาก ภาพจึงสว่างมากขึ้นและส่องไปยังฉากรับภาพไกลๆ ได้ ซึ่งการที่ฉากรับภาพยิ่งไกลนั้นจะทำให้ภาพที่เห็นใหญ่มากขึ้น
ทางด้าน น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่ารู้สึกเป็นห่วงกับเรื่องการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยของทุกคน เพราะเกรงว่าหลายคนจะดูสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าและใช้วัสดุที่ไม่ดีต่อสายตา โดยได้ห้ามอย่างเด็ดขาดว่าห้ามดูด้วยตาเปล่าหรือสวมแว่นกันแดดดูสุริยุปราคาอย่างเด็ดขาด และแว่นตาซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เคยใช้ดูสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 2538 ก็อาจเสื่อมคุณภาพแล้วและไม่สามารถนำมาใช้ดูปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้
“สุริยุปราคาครั้งนี้แหว่งแค่ 16% ซึ่งอันตรายมาก ถ้าไม่ระวัง หากดูด้วยฟิล์มเอ็กซ์เรย์ก็ดูได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องซ้อนกันหลายๆ ชั้น และดูได้ 2-3 นาทีก็ต้องละสายตา” น.ส.ประพีร์กล่าว พร้อมทั้งเผยว่าทางสมาคมฯ ยังไม่กำหนดว่าจะกิจกรรมหรือไม่และที่ใด เนื่องจากทางสมาคมกำลังมีภาระเรื่องการดูแลนักเรียนในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก
ขณะที่ ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยว่ามลภาวะทางอากาศที่ปกคลุมเชียงใหม่อยู่ขณะนี้กลับเป็นผลดีต่อการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพราะจะช่วยกรองให้แสงอาทิตย์ไม่สว่างมาก อีกทั้งที่ จ.เชียงใหม่ยังดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ดีที่สุด และจะจัดกิจกรรมตั้งกล้องดูสุริยุปราคาขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนวิธีการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยนั้น ดร.ศรันย์ไม่กังวลเท่านักโดยให้เหตุผลว่าธรรมชาติของคนจะกระพริบตาเมื่อแสบตาอยู่แล้ว และก็ไม่มีใครที่สามารถจ้องดวงอาทิตย์ได้นานๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในดูควรจะมีแผ่นฟิลเตอร์ (Filter) ช่วยกรองแสง หรืออาจจะใช้กระจกที่ช่างเชื่อมโลหะใช้แสงกรอง โดยกระจกดังกล่าวต้องมีค่า Neutral Density เท่ากับ 5 ซึ่งแสงจะผ่านได้ 0.01% และหากส่องกับหลอดไส้จะเห็นเพียงไส้แดงๆ แต่หากเป็นกระจกที่ส่องแล้วเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ไม่สามารถใช้ได้ และที่ต้องระวังคือห้ามใช้กล้องส่องทางไกลดูสุริยุปราคาเพราะเลนส์กล้องจะรวมแสงมาทำลายตาให้ตาบอดได้
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000030278
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment