เตือนภัยพายุฤดูร้อน & พายุลูกเห็บ
ในช่วงฤดูร้อนอย่างนี้ เด็กๆ คงจะชอบใจเพราะปิดเทอมยาว และหลายท่านอาจจะมีแผนไปพักผ่อนตากอากาศในสถานที่สุดโปรด แต่ระยะเวลานี้เองที่เราควรหูไว คอยฟังคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับ “พายุฤดูร้อน” ทำนองนี้เอาไว้ให้ดี
“ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันนี้ซึ่งจะทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้...”
ความหมายง่ายๆ ก็คือ ในระหว่างที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าวอยู่นั้น ถ้าบังเอิญอากาศเย็นซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา เรียกว่า ความกดอากาศสูง (หรือมวลอากาศเย็น) จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ก็จะทำให้มีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดจากจีนเข้าสู่บ้านเรา และเนื่องจากภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนอยู่ใกล้กับจีนมากกว่าภาคอื่นๆ ดังนั้นบริเวณทั้งสองนี้จึงรับเอาลมแห้งและเย็นนี้ไปก่อนบริเวณอื่น
เนื่องจาก “อากาศผู้รุกราน” จากจีนซึ่งแห้งและเย็นมีลักษณะต่างจาก “อากาศเจ้าบ้าน” ซึ่งร้อนและชื้นอย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงและฉับพลัน อากาศเย็น (ผู้รุกราน) ซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น (เจ้าบ้าน) จะจมลงต่ำและผลักดันให้อากาศร้อนและชื้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่เนื่องจากบรรยากาศชั้นโทรโฟสเฟียร์ (troposphere) ซึ่งเป็นชั้นล่างสุดติดผิวโลกนั้นเคารพกฎ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ดังนั้นไอความชื้นที่พุ่งสูงขึ้นไปก้จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และเมื่อหยดน้ำก่อม็อบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นเมฆก้อนขนาดมหึมาที่เรียกว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus)
เมฆฝนฟ้าคะนองนี้เปรียบเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลอย่างมหาศาล เพราะถ้าเกิดที่ไหนก็มั่นใจได้เลยว่าพายุ + ฝนตกหนัก + ฟ้าร้อง + ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร แถมเผลอๆ อาจจะมีลูกเห็บผสมมาด้วย เพราะเจ้าเมฆชนิดนี้ผูกขาดสัมปทานผู้ผลิตและจำหน่ายลูกเห็บแต่เพียงผู้เดียว!
ส่วนใกล้ๆ พื้นดินนั้น อากาศจะยกตัวขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้อากาศบริเวณข้างเคียงไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นพายุซึ่งอาจพัดเร็วถึง 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เคยปรากฏมาแล้ว
สภาพลมฟ้าอากาศทั้งหมดที่ว่ามานี้คืออาการของ พายุฤดูร้อน นั่นเอง (และหากมีลูกเห็บ ก็จะเรียกว่า พายุลูกเห็บ)
ก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะมีสัญญาณบอกเหตุอะไรบ้าง
อากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะร้อนอบอ้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยลมค่อนข้างสงบ (ใบไม้ไม่ค่อยกระดิก) แต่ถ้าแหงนดูท้องฟ้าจะมืดมัว ทัศนวิสัยไม่ดีและมีเมฆทวีขึ้น
ต่อมาเมื่อถึงช่วงโหมโรง ลมจะพัดแรงในทิศใดทิศหนึ่ง และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว พอท้องฟ้ามีเมฆเต็ม ก็จะเห็นฟ้าแลบและฟ้าคะนองในระยะไกล
เมื่อถึงช่วงรุนแรงสุด ทั้งพายุ ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า (และลูกเห็บ) ก็จะกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์แบบรวมมิตร ซึ่งโดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และถล่มในพื้นที่แคบๆ ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว อากาศจะเย็นลงเพราะฝนตก และท้องฟ้าจะสุดแสนสดใส
คุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อต้องเสี่ยงภัยพายุฤดูร้อน?
• ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของบ้านให้แข็งแรงและอยู่ในสภาพเรียบร้อย เนื่องจากพายุฤดูร้อนมีกำลังแรงซึ่งอาจพัดหลังคา หรือส่วนต่างๆ ที่ยึดกับตัวบ้านไม่แน่น ปลิวประเด็นออกไป ส่วนลูกเห็บก็สามารถทำให้หลังคามุงสังกะสีทะลุได้
• ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง
- ห้ามหลบใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นอันขาด เพราะฟ้าผ่ามีโอกาสผ่าลงจุดที่อยู่สูงมากกว่าที่อื่นซึ่งอยู่ต่ำกว่า หากคุณอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วฟ้าผ่าต้นไม้นั้น คุณก็จะเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าที่วิ่งผ่านมาทางลำต้นของต้นไม้
- คุณควรหาที่หลบที่ปลอดภัยจากลมพายุ ฟ้าผ่า และลูกเห็บ เช่น หลบในอาคารหรือในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคารและอย่าแตะตัวถังรถเป็นอันขาด เพราะหากฟ้าผ่าอาคารหรือตัวรถก็จะเสี่ยงอันตรายเช่นกัน
เมื่อรู้จักฤทธิ์เดชของพายุฤดูร้อน และวิธีป้องกันตัวเองอย่างนี้แล้ว ก็หวังว่าทุกท่านคงจะอยู่รอดปลอดภัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment