Tuesday, March 20, 2007

จมูกเซ็นเซอร์

นาโนเทคพัฒนาจมูกเซ็นเซอร์ดมสารสมุนไพรพิสูจน์ความบริสุทธิ์

นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พัฒนาระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไว้ดมกลิ่น แยกกลิ่นจากสารสกัดสมุนไพรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา วัดค่าแม่นยำกว่าจมูกคน

นายรุ่งโรจน์ เทาลานนท์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยว่า นาโนเทคได้เริ่มต้นพัฒนาเครื่องมือเพื่อทดสอบวัดกลิ่น หรืออิเล็กทรอนิกส์ก๊าซเซ็นเซอร์ เพื่อใช้กับงานด้านต่างๆ อาทิ ใช้จำแนกระดับความสดของเนื้อสัตว์ และวัดความสุกของผลไม้ ด้วยความแม่นยำในการแยกแยะกลิ่นในรูปแบบของจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ที่เลียนแบบการทำงานของจมูกมนุษย์

ล่าสุดได้พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครคอนโทรเลอร์เพื่อใช้ทดสอบวัดกลิ่นสารยูจินอลและเมทานอล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของสารสกัดสมุนไพรที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ และธุรกิจสปา

“จมูกอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่สามารถนำมาช่วยตรวจสอบคุณภาพของพืชสมุนไพรก่อนนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ เบื้องต้นได้ทดลองใช้จำแนกกลิ่นสมุนไพร ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมถึงธุรกิจสปา” นักวิจัย กล่าว

สมุนไพรแต่ละชนิดให้กลิ่นที่มีความเข้มข้นต่างกัน จึงต้องอาศัยเครื่องมือวัดเพื่อทดสอบคุณภาพ ความบริสุทธิ์ ความแรง ความเข้มข้นของกลิ่นและช่วงเวลาเก็บรักษากลิ่น โดยเฉพาะสารยูจินอลที่เป็นองค์ประกอบของสารสมุนไพรและสารเมทานอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทางเคมี

นักวิจัย กล่าวว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุปกรณ์จำลองรูปแบบการรับรู้กลิ่นของมนุษย์ โดยอาศัยการวิเคราะห์หาสัญญาณก๊าซและตรวจสอบวัดกลิ่นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ซึ่งช่วยให้การวัดมีความแม่นยำ โดยเก็บข้อมูลที่ได้จากระดับความเข้มข้น และความแตกต่างของสัญญาณไฟฟ้า แล้วนำมาประมวลผลวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

"เซ็นเซอร์สามารถบ่งบอกความต้านทานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปเมื่อดูดซับสารเคมีที่ระเหยออกมา ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาจำแนกกลิ่นโดยซอฟต์แวร์ช่วยในการวิเคราะห์" นักวิจัย กล่าว

ข้อดีของการใช้งานจมูกอิเล็กทรอนิกส์คือ สามารถวัดค่าของกลิ่นได้อย่างแม่นยำ มีความเสถียรในการวัดสูง ทำให้สามารถควบคุมความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ปริมาณ และความเข้มข้นของสารที่ใช้

สำหรับก้าวต่อไปของการวิจัยคือพัฒนาก๊าซเซ็นเซอร์ให้ครอบคลุมกับงานให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการทดสอบ ตลอดจนเก็บรวบรวมข้อมูลกลิ่นแต่ละชนิดเพื่อนำมาจำลองแบบการดมกลิ่นของจมูกมนุษย์ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: