Thursday, March 8, 2007

ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องผ่านเน็ต


ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องผ่านเน็ตความเร็วสูง ครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์

ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติ "การแพทย์ชั้นเลิศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง" (Excellent Medical Practice with Sufficiency Economy) ระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม ที่หอประชุมกองทัพเรือ โดยวันที่ 7 มีนาคม เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการการผ่าตัดส่องกล้องโรคในระบบทางเดินอาหาร (Workshop on 2nd international live demonstration workshop on therapeutic endoscopy)

โดยถ่ายทอดสดการผ่าตัดส่องกล้องโรคในระบบทางเดินอาหารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับมหาวิทยาลัยคิวชิว ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่มีความคมชัดของภาพ และสามารถสนทนาโต้ตอบกันได้เหมือนอยู่ในห้องเดียวกัน และการถ่ายทอดสดครั้งนี้ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นสอนเทคนิคให้ฝ่ายเดียว แต่ศิริราชก็ทำการผ่าตัดแล้วถ่ายทอดไปให้ที่ญี่ปุ่นดูด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯมาเปิดศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร "วีกิจ วีรานุวัตติ์" ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทางศิริราชได้ลงทุนซื้อเครื่องมือไฮเทคมาใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วย

รศ.นพ.อุดม คชินทร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และมีเทคนิคใหม่ๆ ออกมาตลอด แต่เดิมศิริราชต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเข้ามาสอนเทคนิคใหม่ๆ ให้ดูที่ศิริราช ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก การถ่ายทอดผ่านอินเตอร์เน็ตจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป และยังทำให้เห็นทั้งภาพและเสียง สามารถซักถามข้อสงสัยกันได้ตลอด ดีกว่าการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมที่มีค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งหลักล้านบาท และภาพก็ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ จากนี้ไปจะขยายเครือข่ายความรู้ออกไปสู่โรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด การรักษาโรคทางเดินอาหารด้วยการผ่าตัดส่องกล้องสะดวกกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเดิมที่เปิดหน้าท้องที่ใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างนาน มีแผลเป็นขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่จากการรักษาโรคระบบทางเดินอาหารด้วยการผ่าตัดส่องกล้องที่ศิริราชทำมาหลาย 10 รายนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 10,000-20,000 บาทต่อครั้ง

"เรื่องเทคนิคการวินิจฉัย และการรักษาบางอย่าง เราต้องเรียนรู้จากทางญี่ปุ่น เพราะที่ญี่ปุ่นจะตรวจพบมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้ในระยะเริ่มแรกเยอะมาก ดังนั้นเขาจึงมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ก้อนเนื้อที่มีความผิดปกติขนาดแค่ 1-2 มิลลิเมตรก็สามารถใช้เทคนิคการส่องกล้องในการวินิจฉัยได้ และยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดส่องกล้องด้วยการใช้ลวดไฟฟ้าไปตัดเนื้องอก หรือมะเร็งที่อยู่ในระยะเริ่มแรกออกมา โดยที่ไม่มีแผลหน้าท้องและหยุดการแพร่กระจายของโรคได้" รศ.นพ.อุดมกล่าว

รศ.นพ.อุดมระบุว่า มีหลายเรื่องที่ศิริราชได้เรียนรู้จากญี่ปุ่น เช่น เทคนิคการวินิจฉัยมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้ในระยะเริ่มแรกด้วยการใช้สีชนิดพิเศษฉีดไปบนเนื้อเยื่อที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง จากนั้นใช้กล้องรุ่นใหม่ที่สามารถปรับคลื่นแสงให้เป็นหลายสี เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ ซึ่งปกติจะใช้ด้วยการวางไว้หน้าท้อง เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง แต่ไม่สามารถมองเห็นกระเพาะอาหาร ลำไส้ได้ชัดเจน เนื่องจากอวัยวะทั้ง 2 ส่วนนี้มีลมอยู่มาก ก็มีการนำกล้องส่องมาออกแบบใหม่ด้วยการติดอัลตราซาวด์ไว้ที่ปลายสุดของกล้อง เพื่อนำไปส่องในกระเพาะอาหารและลำไส้จะได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น และจะได้ดูว่ามะเร็งร้ายได้กระจายออกไปสู่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องหรือไม่ สนใจเข้าไปชมได้ที่ www.si.mahidol.ac.th

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif07080350&day=2007/03/08§ionid=0132

No comments: