Tuesday, March 20, 2007

เทคโนโลยีปกป้องโลก


8 เทคโนโลยีปกป้องโลก จากใต้ทะเลลึกถึงบนท้องฟ้า!

ท่ามกลางสารพัดวิกฤตทางธรรมชาติที่รุมเร้าโลกสีเขียวที่มีสีหม่นคล้ำขึ้นทุกวัน สำหรับบางคนอาจมองเห็นแต่ปัญหา แต่บางคนกลับมองเห็นโอกาสและทางแก้ไข ทั้งเพื่อช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง "ทำเงิน" ไปด้วยพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่กำลังคิดค้น 8 เทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่เพื่อปกป้องโลก ดังต่อไปนี้!

1. ปั๊มเชื้อเพลิงประจำบ้าน
ในอนาคตพลังงานสะอาดจาก "เซลล์เชื้อเพลิง" จะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์แทนที่น้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษตกค้างสู่สภาพแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน

นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย กำลังพัฒนาต้นแบบ "ปั๊มจ่ายเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน" สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดพอเหมาะกับการติดตั้งเอาไว้ใช้ตามบ้านพัก

ปั๊มดังกล่าวมีขนาดพอๆ กับตู้เสื้อผ้า ตัวปั๊มเชื่อมต่อกับแผงพลังงานสุริยะ (โซลาร์เซลล์) ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาโรงรถ หรือ หลังคาบ้านก็ได้ ทำให้มันมีไฟฟ้าไว้ใช้เดินเครื่องได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากสายส่ง

ในแต่ละวัน ปั๊มรุ่นนี้สามารถผลิตเชื้อเพลิงป้อนให้รถวิ่งไปได้ไกล 160 กิโลเมตรต่อการเติมเต็มถัง 1 ครั้ง คาดว่าจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์นำออกวางตลาดได้จริงภายใน 2 ปี

2. โครงข่าย"เซ็นเซอร์"เตือนภัย

บริษัทเอ็นสโค รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เรียกสิ่งประดิษฐ์รุ่นนี้ของตนเอง ว่า โครงข่ายเซ็นเซอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม หมายถึงชุดเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กพอๆ กับลูกวอลเลย์บอล ซึ่งแต่ละชิ้นร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นทางยาว

นำไปติดตั้งได้ทั้งใต้ทะเล ใต้มหาสมุทร ใต้ดิน ไปจนถึงปล่อยให้ลอยอยู่บนฟ้า คอยทำหน้าที่คอยตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว

จากนั้นส่งสัญญาณเตือนกลับมายังสถานีบนพื้นโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ อากาศ ชั้นบรรยากาศ ฯลฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันท่วงที เช่น พายุใหญ่ หรือมลพิษแพร่กระจายในน้ำ ขณะนี้เอ็นสโค อยู่ระหว่างการทดลองผลิตเซ็นเซอร์ติดตั้งในอากาศ ซึ่งใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน

3. "ต้นไม้"กิน"สารพิษ"

"Phytoremedication" เป็นศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้การปลูกพืช แก้ไขปัญหาขยะพิษทั้งหลาย

เทคนิคนี้อาจนับเป็น "ของเก่า" แต่ล่าสุด คณะนักวิทยาศาสตร์ประเทศอังกฤษ กำลังใช้กระบวนการ "ตัดต่อทางพันธุกรรม" หรือ "จีเอ็มโอ" สร้างต้นไม้เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติสายพันธุ์ใหม่

ซึ่ง "ราก" ของพวกมันสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีคุณสมบัติดูดซับ-ย่อยสลายสารพิษที่สะสมอยู่ในดินได้หลายชนิด รวมถึง "อาร์ดีเอ็กซ์" สารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในอุตสากรรมหลายประเภทและกิจกรรมของกองทัพ

อย่าแปลกใจถ้าในวันข้างหน้า เราอาจเห็นการปลูกป่าไม้ขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งค่ายทหารและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินในบริเวณนั้นๆ

4. สลายพิษกากนิวเคลียร์

ท่ามกลางปัญหาวิกฤต "โลกร้อน" ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมากขึ้นทุกขณะ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กลายเป็นทางเลือกสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อย ในฐานะที่มีศักยภาพในการผลิพลังงานจำนวนมหาศาล แต่ไม่ก่อให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" เหมือนกับโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของโรงงานนิวเคลียร์ คือ ความวิตกด้านความปลอดภัยและการจัดการกับกากกัมมันตรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลูโตเนียม ซึ่งล้วนแต่มีอันตรายร้ายแรง

ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาตร์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า "ยูเร็กซ์" ใช้ปฏิกิริยาทางเคมีเข้าไปแปรสภาพกากกัมมันตรังสีให้มีสถานะ "เป็นกลาง" และนำไปฝังไว้ใต้ดิน ด้วยวิธีการนี้ รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่านอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำให้ผู้ก่อการร้ายนำกากกัมมันตรังสีไปใช้ก่อวินาศกรรมไม่ได้อีกด้วย

5. หุ่นยนต์สำรวจทะเลลึก
การสำรวจ "ทะเลลึก" ก็ไม่ต่างอะไรกับการสำรวจดาวดวงอื่น มีนักวิทยาศาสตร์และภาคเอกชนหลายสถาบันทั่วโลก พยายามส่งหุ่นยนต์ลงไปสำรวจเก็บข้อมูลใต้ทะเล ทั้งเพื่อใช้ในงานวิชาการและค้นหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ แต่คุณภาพของหุ่นยนต์ปัจจุบันก็ยังไม่ดีพอ และขาด "ปัญญาประดิษฐ์" สำหรับควบคุมการทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจทะเลลึกนั้นมีราคาแพงมาก

ล่าสุด ที่ประเทศออสเตรเลีย มีการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติรุ่นใหม่ "สตาร์บั๊ก" วัตถุประสงค์เพื่อใช้สำรวจคุณภาพน้ำทะเล ทำแผนที่ถิ่นฐานของปลา และตรวจสอบภัยคุกคามต่อแนวปะการัง "สตาร์บั๊ก" มีขนาดยาว 4 ฟุต มีระบบการทำงานอัตโนมัติร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้นทุนการผลิตต่อ 1 ลำ ถือว่าคุ้มค่า ตกอยู่ประมาณ 24,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 864,000 บาท

6. "คลื่นเสียง"กรองน้ำ

ระบบ "คลื่นเสียงกรองน้ำ" (Sonic Water Purifier) เป็นทางออกใหม่ในการกำจัด "สารพิษ" ออกจากน้ำ

นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการยิงคลื่นเสียง "อัลตราซาวด์" ลงไปในน้ำปนเปื้อนมลพิษ เพื่อเขย่าหรือระเบิด "พันธะคาร์บอนด์" ของบรรดาสารพิษให้แยกตัวออกจากน้ำ วิธีการนี้มีชื่อว่า "โซโนไลซิส"

ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นเครื่องกรองน้ำด้วยคลื่นเสียงเช่นนี้ในรูปแบบอุปกรณ์พกพาสะดวก นำไปติดตั้งใช้งานได้ง่ายตามเขตทุรกันดาร ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำบริสุทธิ์ดื่มกิน และยังนำไปใช้เป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสียในโรงงานได้ด้วย

7. พิทักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ณ วันนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเมิน ว่ามีพืชและสัตว์ ที่เข้าข่าย "ใกล้สูญพันธุ์" หมดไปจากโลกอยู่ไม่ต่ำกว่า 16,000 สายพันธุ์
เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถช่วยหยุดยั้งแนวโน้มดังกล่าวได้ อาทิ เทคโนโลยีโคลนนิ่ง หรือ สร้างสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาใหม่ด้วยกระบวนการคัดลอกพันธุกรรม

นอกจากนั้น ความก้าวหน้าของนวัตกรรม "อาร์เอฟไอดี" "จีพีเอส" รวมทั้งเครือข่าย "อินเตอร์เน็ต" ก็เข้ามาช่วยวางแผนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้เช่นกัน โดยแนวทางหนึ่งที่กลุ่มนักอนุรักษ์คิดไว้ก็คือ ติด "แท็ก" หรือติดป้ายส่งสัญญาณวิทยุอาร์เอฟไอดี และเซ็นเซอร์บอกตำแหน่งบนโลกผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) ให้กับสัตว์ใกล้สูญพันธ์ พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหวของมันผ่านเว็บไซต์เพื่อที่จะได้วางแผนสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างสะดวกและตรงจุดยิ่งขึ้น

8. สายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ
ทีมวิศวกรบริษัทแปซิฟิกก๊าซ แอนด์ อิเล็กทริก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซุ่มพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า "สายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ"
สายส่งแห่งอนาคตนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับสายส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ต
โดยสามารถเชื่อมต่อเพื่อรับ-ส่ง พลังงานจากแหล่งต่างๆ ได้ภายในสายส่งเส้นเดียวกัน เช่น พลังงานจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล ไฟฟ้าพลังลม ไฟฟ้าพลังคลื่น และยังช่วยตรวจสอบได้ด้วยว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านกินไฟมากแค่ไหน สมควรเปลี่ยนหรือไม่

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่มีการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า และเกิดใช้ไฟไม่หมด ก็สามารถเสียบปลั๊กส่งไฟที่เหลือจากตัวรถกลับไปยังสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะได้ เพื่อนำพลังงานไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

No comments: