หุ่นยนต์ทหาร (กำลังจะมาแล้ว) มาแล้ว
เราเห็นกันในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แอ็กชันดังเช่น ชุด Star Wars ชุด The Terminator และ I, Robot เราสนุก ตื่นเต้น กับการได้ชมบทบาทของหุ่นยนต์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นทหารฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายอธรรม แต่เรายังสนุกอยู่หรือไม่ ถ้ามีการนำหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธสงครามจริง เข้าประจำการ?
คำถามแรก แล้วจะมีการนำหุ่นยนต์ทหารเข้าประจำการจริงหรือไม่?
ถ้าคุณผู้อ่านคิดว่า ไม่! คุณผู้อ่านก็คิดผิด เพราะมาถึงขณะนี้ (เดือนมีนาคม 2007) มีอยู่อย่างน้อย 2 ประเทศ ที่ได้ลงทุนงบประมาณให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร จนกระทั่งพร้อมแล้วที่จะออกปฏิบัติการดังเช่นทหารมนุษย์จริงๆ คือ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
ประเทศที่ก้าวหน้ามากที่สุดในการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร เพื่อออกปฏิบัติการในสถานการณ์สงครามจริง คือ สหรัฐอเมริกา เพราะได้พัฒนาหุ่นยนต์ทหารถึงขั้นได้รับการอนุมัติจากทางการทหารสหรัฐให้นำหุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการจริงในประเทศอิรัก ภายในปี 2007 นี้ ส่วนอีกประเทศหนึ่ง คือ เกาหลีใต้ ที่ก็ได้พัฒนาหุ่นยนต์ทหาร ถึงขึ้นมีแผนจะนำกองทัพหุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการจริง หลังปี 2008
หุ่นยนต์ทหารของสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกส่งออกปฏิบัติการจริงในประเทศอิรัก เป็นหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธจริง พัฒนาจากหุ่นยนต์แบบมีชื่อ เรียกว่า “Sword” (ซอร์ด แปลว่า มีดหรือดาบ) ของบริษัท ฟอสเตอร์-มิลเลอร์ (Foster-Miller) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ ติดอาวุธร้ายแรง หรืออาวุธอย่างอื่น ตามแต่สถานการณ์เหมาะสม มีลักษณะโดยทั่วๆ ไปคล้ายรถถังขนาดไม่ใหญ่นัก มีล้อเป็นสายพานแบบรถถัง ด้านบนเป็นระบบการไล่ล่าเป้าหมาย ประกอบด้วยกล้องและระบบการรักษาความปลอดภัยแล้วก็อาวุธ
การออกปฏิบัติการจริงของหุ่นยนต์ทหารอเมริกา จะทำงานคู่กับระบบติดตาม ควบคุมและสั่งการหุ่นยนต์ เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบแล็บท็อป มีทหารอเมริกันที่ติดตามสภาพการณ์ต่างๆ รอบหุ่นยนต์ทหาร และควบคุมสั่งการ หุ่นยนต์ทหารได้อีกต่อหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกคำสั่งผ่านทางแล็บท็อปคอมพิวเตอร์ ให้หุ่นยนต์ทหารเริ่มใช้อาวุธ
เป้าหมายการปฏิบัติการของหุ่นยนต์ทหารอเมริกันในอิรักก็คือ ให้หุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการป้องกัน ต่อสู้ และปราบปรามฝ่ายก่อการร้ายในอิรักแทนทหารจริงๆ
สำหรับประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนกันยายน 2006 ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธตัวแรกของเกาหลีใต้ ชื่อ SGR-A1 เป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท ซัมซุง เทควิน (Samsung Techwin Co.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกาหลี (Koren University) ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณของรัฐบาลเกาหลีใต้
หุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ SGR-A1 เป็นหุ่นยนต์ที่ด้อยกว่าของสหรัฐอเมริกา ตรงที่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ก้าวหน้ามากในระบบการเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้บุกรุก แล้วก็สามารถติดอาวุธร้ายแรง เช่น อาวุธสงคราม หรืออาวุธแบบอื่นๆ ที่ใช้เตือน ใช้ทำให้บาดเจ็บด้วยกระสุนลูกยาวหรือแก๊สน้ำตา
รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นทั้งทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อใช้ประจำทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยตามชายแดน ติดกับประเทศเกาหลีเหนือ ชายฝั่งทะเล สถานที่สำคัญของประเทศ ดังเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน ท่อส่งน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางด้านการทหาร และความมั่นคง ดังเช่น ฐานที่ตั้งกองทัพ ระบบเรดาห์ และสนามบิน
หุ่นยนต์ทหารของเกาหลีใต้รุ่นแรกเปิดตัวเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ไฮ-เทค มี (ตา) กล้องเห็นได้ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน (ด้วยกล้องอินฟาเรด) สามารถเฝ้าระวังและติดตามผู้บุกรุกภายในรัศมีได้ถึง 4 กิโลเมตร สำหรับเวลากลางวัน และ 2 กิโลเมตร เวลากลางคืน
ในการปฏิบัติการจริงของหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ หุ่นยนต์มีระบบเสียง เตือนผู้บุกรุกหรือผู้ต้องสงสัยก่อน ให้แสดงตนว่า ไม่ใช่ศัตรูโดยรหัสเป็นคำพูด หรือการแสดงออกดังเช่น ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง หรือยกอาวุธ เช่น ปืนยาว ขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อแสดงตนว่า ไม่ขัดขืน ยอมแพ้หรือเป็นฝ่ายเดียวกัน
ถ้าผู้บุกรุกส่งหรือแสดงสัญญาณผิด หรือไม่ตอบอะไรเลย หุ่นยนต์ก็จะลงมือทันที ด้วยการใช้อาวุธ
ข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างหุ่นยนต์เกาหลีใต้กับของอเมริกา คือ ของเกาหลีใต้ไม่มีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กประจำหุ่นยนต์ทหาร ดังเช่นกรณีของหุ่นยนต์ทหารอเมริกัน แต่ฝ่ายผู้พัฒนาหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ ชี้แจงว่า การทำงานของหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ ก็คล้ายๆกับของอเมริกา คือ หุ่นยนต์ทหารจะลงมือใช้อาวุธก็ต่อเมื่อ ได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมที่เป็นมนุษย์อยู่ในห้องควบคุม
เหตุผลของการพัฒนาหุ่นยนต์ทหารเพื่อออกปฏิบัติการจริงของสหรัฐอเมริกา กับเกาหลีใต้แตกต่างกันค่อนข้างมาก
เหตุผลหลักของสหรัฐอเมริกา ก็เพื่อต้องการลดความสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนของสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรในอิรักเป็นสำคัญ แต่เหตุผลของเกาหลีใต้ ที่สำคัญมาจากสภาพการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มประชากรของเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก จึงเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อประจำการที่พรมแดนติดกับประเทศคู้ปรับ คือ เกาหลีเหนือ
แล้วปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก เป็นอย่างไร?
โดยทั่วๆ ไป ก็ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่า หุ่นยนต์ทหารจะปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้จริง
ส่วนของเกาหลีใต้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่า หุ่นยนต์ทหารจะปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้จริง
แถมโอกาสที่หุ่นยนต์ทหารของทั้งสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ จะเกิดความผิดเพี้ยนทำร้ายทุกคนที่อยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือไม่ ก็เกิดขึ้นได้
แล้วคุณผู้อ่านหละครับ คิดอย่างไร?
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment