Thursday, March 8, 2007

R&D ไทยในงาน NAC2007

สวทช.เตรียมอวดผลงาน R&D ไทยในงาน NAC2007

สวทช.แถลงข่าวจัดงานประชุมประจำปี 2550 ชูธีมใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “เพิ่มความสุขและผลิตภาพประชาชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หวังให้คนไทยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เชิญผู้เชี่ยวชาญมะเร็งจากออสเตรเลียมาบรรยายพิเศษเรื่อง “การควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง” พร้อมยกตัวอย่างผลงาน ในรอบปี อาทิ ชุดตรวจอัลฟ่าธาลัสซีเมียแบบแถบ รถจักรยานยนต์สามล้อสำหรับผู้พิการ และเซลล์เชื้อเพลิงฝีมือคนไทย

วนมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว สำหรับการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) หรืองาน “NAC2007” โดยได้มีการจัดงานแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ณ ห้องโถงอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. กล่าวว่า การจัดงานประชุมประจำปี 2550 นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. ในหัวข้อ “เพิ่มความสุขและผลิตภาพประชาชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดนิทรรศการ และการประชุม

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผลงานของ สวทช. ให้แก่นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และนักธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนไทยไปประยุกต์ใช้ในภาคเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง อันจะนำไปสู่การแก้ปัญญาความยากจน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างพอเพียงของประชาชนชาวไทยต่อไป

“การวิจัยพัฒนาของ สวทช.จะเป็นการวิจัยพัฒนาจากโจทย์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยตรง จึงสอดรับกับความประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผอ.สวทช.กล่าว และยกตัวอย่างว่า

กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานแบ่งกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ การแสดงนิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย อาทิ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเหลือผู้พิการและด้อยโอกาสทางสังคมด้วยโครงการไอทีตามพระราชดำริ โครงการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่ทุรกันดาร โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนนายร้อย จปร.และ สวทช. และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามพระราชดำริ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญจากหน่วยงานประเทศไทยและจากองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ การบรรยายพิเศษ “การควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง” โดย ศ.เอียน เฟรชเชอร์ นักวิจัยดีเด่นประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาวิธีควบคุมการเกิดโรคมะเร็งในร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกที่ผู้หญิงไทยเป็นกันมาก และการบรรยายพิเศษ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการเพิ่มผลผลิต” โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการใน 7 คลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ของ สวทช. ด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข มีผลงานเช่น ชุดตรวจอัลฟ่าธาลัสซีเมียแบบแถบ (HbBart’s strip Test) ซึ่งสามารถทราบผลการตรวจโดยดูด้วยตาเปล่าและทราบผลรวดเร็ว และชุดตรวจไข้เลือดออกจากคนไข้ที่ติดเชื้อครั้งแรกและพยากรณ์การเกิดโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง,

อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง มีผลงานเช่น การนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบและผลิตระบบไฟส่องสว่างยานยนต์, อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไมโครชิพ และอิเล็กทรอนิกส์ มีผลงาน เช่น ชุดควบคุมคอมเพรสเซอร์กระแสตรง แบบไร้แปรงถ่านสำหรับเครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์สามล้อสำหรับผู้พิการ และระบบระบุตำแหน่งของเสียงรบกวนด้วยภาพ,

อุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีผลงานเช่น การนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงแบบเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (พีอีเอ็ม), อุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ มีผลงานเช่น การนำเสนอผลงานวิจัยใช้สารผสมไททาเนียมไดออกไซด์บนสิ่งทอ รวมถึงการเตรียมอนุภาคนาโนไคโตซานที่บรรจุสารยูจีนอลเพื่อประยุกต์ใช้ในการป้องกันไรฝุ่น, กลุ่มบริการและที่ปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลงานเช่น การมอบสิทธิเทคโนโลยีรากฟันเทียมแบบตัวยึดฝังในกระดูกแบบเกลียวในให้แก่ภาคเอกชนนำไปผลิตและจำหน่ายเป็นรายแรกทั้งในและต่างประเทศ

และกลุ่มชนบทและผู้ด้อยโอกาส มีผลงานเช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้แก่ชุมชนบ้านโพธิไพศาล ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร อาทิ การพัฒนาการเผาถ่านประสิทธิภาพสูงด้วยเตา 200 ลิตร การใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อการเกษตร การผลิตเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง การทำไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว การทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ และการปลูกหญ้าหวานเพื่อเพิ่มรายได้

อย่างไรก็ดี ยังมีการประชุมกลุ่มย่อยกับภาคอุตสาหกรรมตามคลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ของ สวทช. ด้วย เช่น การประชุมโต๊ะกลม “การผลิตจุลินทรีย์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร” และการสัมมนา “ผู้ประกอบการสมุนไพรพบนักวิจัยและนักเทคโนโลยี”ของศูนย์ไบโอเทค

การประชุม “การผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลอย่างยั่งยืน” และการประชุม “อนาคตของถังบรรจุก๊าซธรรมชาติจาก CNG เป็น LNG” ของศูนย์เอ็มเทค และการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาสินค้านนาโนเทคโนโลยี พร้อมการทำมาตรฐานสินค้านาโนให้ง่ายต่อการสังเกตและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคของศูนย์นาโนเทค ฯลฯ

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026872

No comments: