Wednesday, March 7, 2007

มลพิษเอเชีย


"มลพิษเอเชีย" ส่งผลพายุแปซิฟิกแรงผิดปกติ

เอเอฟพี - ผลวิจัยระบุ ปริมาณมลพิษที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย มีส่วนทำให้สภาพชั้นบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิกตอนเหนือเปลี่ยนแปลง และยังอาจเป็นสาเหตุทำให้พายุฝนที่เกิดขึ้นในแถบนี้ช่วงฤดูหนาวมีความรุนแรงผิดปกติ

ผลการวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานศึกษาร่วมระหว่างคณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (NASA's Jet Propulsion Laboratory) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานติเอโก (University of California, San Diego) ตีพิมพ์ลงในวารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences) เมื่อวันที่ 5 มี.ค. โดยระบุว่า ปริมาณมลพิษที่เพิ่มสูงขึ้นมากในทวีปเอเชียช่วงหลายสิบปีผ่านมานี้ อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของปริมาณเมฆฝนแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

ตามผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมบ่งชี้ว่า ระหว่างปี 1994-2005 ปริมาณเมฆฝนแถบแปซิฟิกตอนเหนือเพิ่มสูงขึ้นราว 20-50% เมื่อเปรียบเทียบระยะ 10 ปีก่อน

คณะนักวิจัยชี้ว่า แนวโน้มดังกล่าวไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้านอื่นๆ เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลหรือปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) หากแต่ผลการจำลองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์บ่งชี้ว่า ปริมาณเมฆฝนที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากการที่ชั้นบรรยากาศแถบเอเชียมีมลพิษมากขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบทางดาวเทียมระยะยาวชี้ว่า การที่ภูมิภาคนี้ได้ขยายเขตเมืองและมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย ส่งผลกระทบทำให้ชั้นบรรยากาศเกิดการสะสมฝุ่นละอองอนุภาคซัลเฟอร์และเขม่า ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล

แม้ผลการวิจัยที่ผ่านมาจะพบแล้วว่า ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศมีอิทธิพลต่อการก่อตัวและการควบแน่นของเมฆฝน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

เหรินอี้ จาง (Renyi Zhang) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศจากมหาวิทยาลัยเทกซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) ซึ่งเป็นผู้นำทีมเขียนรายงานกล่าวว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้จึงถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ให้ข้อสรุปอันโต้แย้งมิได้ว่า มลภาวะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเส้นทางพายุเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมเตือนอีกว่าผลกระทบที่เกิดอาจแผ่วงกว้างไปยังส่วนอื่นๆในโลกด้วย เพราะพายุในแปซิฟิกจะพัดพานำเอาอนุภาคมลพิษจากเอเชียไปยังชายฝั่งตะวันตกของแคนาดา สหรัฐฯ และทั่วทั้งทวีปอเมริกา รวมไปถึงส่วนอื่นๆทั่วโลกในที่สุด

รายงานฉบับนี้แจงอีกว่า และหากอนุภาคมลพิษพัดพาไปตกยังพื้นน้ำแข็งขั้วโลก ผลลัพธ์อาจยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเขม่าซึ่งอยู่ในรูปคาร์บอนสีดำ ไปเกาะติดสะสมบนน้ำแข็งและดูดความร้อนจากแสงอาทิตย์ อาจยิ่งส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น จนส่งผลให้ระดับน้ำทะเลยิ่งเพิ่มสูงในที่สุด

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026711

No comments: