Thursday, August 30, 2007

วิจัยนาโนซีรัมหยุดผมร่วงมช.ศึกษาต่อยอดตำรับยาล้านนา

อาจารย์เภสัชศาสตร์ม.เชียงใหม่ วิจัยต่อยอดตำรับสมุนไพรล้านนา เป็นผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาผมร่วง เผยดึงนาโนเทคโนโลยีส่งตัวยาลงลึกใต้ผิว เพิ่มประสิทธิภาพกระตุ้นเส้นผมงอกใหม่และยับยั้งการร่วง คาดราคาจะถูกกว่าผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงในท้องตลาดเท่าตัว
รศ.ดร.จีรเดชมโนสร้อย อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นาโนซีรัมแก้ปัญหาผมร่วงและกระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผม เป็นผลงานวิจัยที่สกัดสารสำคัญจากสมุนไพรยาในตำรับยาล้านนา เช่น พริก ขิง ข่า ทองพันชั่ง และขมิ้นชัน ที่มีสรรพคุณช่วยให้ผมงอกและชะลอการร่วงของเส้นผม โดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วนำไปเก็บกักอยู่ในรูปแบบอนุภาคนาโน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์นาโนซีรัมเป็นผลงานในโครงการวิจัย"ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางช่วยให้ผมงอกและป้องกันผมร่วงที่ประกอบด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยที่เก็บในอนุภาคนาโน" ดำเนินโครงการเมื่อปี2549 วัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผมร่วงให้แก่ทุกเพศทุกวัย ปัญหาดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผมร่วงที่เป็นกรรมพันธุ์ ความเครียดและโรคของหนังศีรษะ

โครงการวิจัยได้รับทุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยนำร่อง เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และต่อยอดงานนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์นาโนซีรัมที่สกัดจากสมุนไพรเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วง ที่มีส่วนผสมของสารไมโนซิดิล (Minoxidil) ซึ่งเป็นตัวยาหลักในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ พบว่าผลิตภัณฑ์จากการวิจัยกระตุ้นให้เส้นผมงอกเร็วกว่า ปริมาณเส้นผมหนาแน่นกว่า และเกิดการระคายเคืองน้อยกว่า อีกทั้งสารสกัดที่ได้จากตำรับสมุนไพรไทย ยังราคาถูกกว่าสารไมโนซิดิลนำเข้าถึงหนึ่งเท่าตัว

"ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองในอาสาสมัคร ควบคู่กับการจัดทำแผนการตลาด เพราะโครงการวิจัยประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การผลิตเครื่องสำอางแก้ปัญหาผมร่วง ซึ่งสกัดจากสมุนไทยตำรับล้านนา และใช้เทคโนโลยีนาโนเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ กระทั่งวางจำหน่ายได้สำเร็จ ก็จะสร้างรายได้ปีละหลายล้านบาท" รศ.ดร.จีรเดช กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

สำรวจ "นวัตกรรม" ลดโลกร้อน


นอกจากประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าแล้ว เรายังมีทางเลือกในการชะลอวิกฤตจากภาวะ "โลกร้อน" ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นตอของปัญหา

เนื่องจากเราใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและคมนาคม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้และกลายเป็นตัวการภาวะโลกร้อน ดังนั้น นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงเห็นว่าหากนำของเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจะช่วยลดการใช้น้ำมัน ถ่านหินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างประสิทธิภาพ

ทั้งนี้นายวิเชียรได้ยกตัวอย่างว่าสามารถนำวัตถุดิบชีวมวลเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง หรือทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ไปเผาให้เกิดก๊าซแล้วควบแน่นเป็นของเหลวที่เรียกว่า "ไบโอออยล์" จากนั้นนำไปกลั่นให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ได้ และกระบวนการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับเศษยางเหลือทิ้งซึ่งไทยกำลังทำวิจัยอยู่

"ในประเทศเยอรมันมีการผลิตน้ำมันจากเทคโนโลยีดังกล่าวใช้บ้างแล้ว ส่วนในประเทศไทยขณะนี้กำลังศึกษาและวิจัยอยู่ คาดว่าภายใน 3-5 ปีนี้น่าจะก่อตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากชีวมวลได้"นายวิเชียร พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีกว่า สามารถนำวัตถุดิบชีวมวลไปผ่านกระบวนการเผาให้ได้ก๊าซที่เรียกว่า "แก๊สซิฟิเคชัน" แล้วนำก๊าซที่ได้ไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินได้

อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจคือไม้เทียมจากเส้นใยธรรมชาติที่ลดการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นผู้ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ น.ส.มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการโครงการไม้เทียมจากเส้นธรรมชาติ สนช. กล่าวว่า สามารถนำเส้นใยธรรมชาติไปผสมกับพลาสติกเพื่อผลิตเป็นไม้เทียมซึ่งจะช่วยลดการไช้ไม้จริงได้ และไม้เทียมยังมีข้อดีเหนือกว่าไม้จริงคือไม่ยืดไม่หดเมื่ออากาศร้อนหรือชื้น

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตไม้เทียมจากเศษไม้บดออกวางจำหน่ายแล้ว และมีนักวิจัยศึกษาการผลิตไม้เทียมจากเส้นใยใบสับปะรดผสมกับเม็ดพลาสติกซึ่งจะให้ความแข็งแรงของไม้มากกว่าไม้เทียมที่ใช้ไม้บดเป็นส่วนผสม

"ที่น่าสนใจมากอีกชนิดหนึ่งคือเส้นใยจากหญ้าแฝกซึ่งจุดประสงค์ในการปลูกหญ้าแฝกก็เพื่อรักษาหน้าดินเพียงอย่างเดียว จึงอยากสนับสนุนให้มีการนำเส้นใยจากหญ้าแฝกมาใช้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้มากทีเดียว แต่ทั้งนี้ต้องวางแผนในเรื่องการปลูกและเก็บรวบรวมวัตถุดิบอีกทีหนึ่ง" น.ส.มณฑากล่าว

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่าง "พลาสติก" ก็เป็นอีกต้นตอของปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากต้องใช้พลังงานสูงทั้งในการผลิตและการกำกัดเมื่อเป็นขยะ เพราะพลาสติกจากปิโตรเคมีที่ใช้กันทั่วไปนั้นย่อยสลายได้ยาก "พลาสติกชีวภาพ" จึงเป็นคำตอบของทั้งปัญหาโลกร้อนและการจัดการขยะ

"พลาสติกชีวภาพผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติโดยใช้แบคทีเรียหมักน้ำตาลจากพืชให้เป็นกรดแลคติก จากนั้นใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เป็นโพลิเมอร์ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมาก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งยังกำจัดได้ง่ายเพียงแค่ฝังดินก็ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินได้ในเวลาไม่นาน” ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการโครงการพลาสติกชีวภาพ สนช.อธิบาย

ทั้งนี้ไทยมีมันสำปะหลังที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพได้แต่เรายังมีเทคโนโลยีไม่ดีพอ โดย ดร.อรรถวิทแจงว่าขั้นตอนยากที่สุดคือการผลิตพอลิเมอร์ซึ่งต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม ทาง สนช.จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการวิจัยพลาสติกชีวภาพ ตั้งแต่การวางนโยบายจนถึงการทำวิจัย และเตรียมก่อตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า

แม้ว่านวัตกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา แต่ก็เป็นทางเลือกที่จะอำนวยความสะดวกให้เราช่วยบรรเทาภาวะ "โลกร้อน" ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000102144

ไทยอดชม "ออริกิดส์" ฝนดาวตกจากฝุ่น 2 พันปี


สเปซด็อทคอม-นักดาราศาสตร์จับตาฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหาง 2 พันปีช่วงรุ่งอรุณที่ 1 ก.ย.นี้ เตรียมนักวิจัย 24 ชีวิตสังเกตปรากฏการณ์บนเครื่องบินสูง 14,000 เมตร สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโกได้เห็นแต่ไทยอด

ดร.ปีเตอร์ เจนนิสเกนส์ (Dr.Peter Jenniskens) นักวิจัยฝนดาวตก ศูนย์คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) สถาบันเซติ (SETI Institute) รายงานว่าในช่วงรุ่งอรุณของวันที่ 1 ก.ย.จะเปิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก "ออริกิดส์" (Aurigids) ซึ่งมีศูนย์กลางฝนดาวตกที่กลุ่มดาวสารถี โดยเป็นฝนดาวตกที่เกิดจากดาวหางไคส์ส (Kiess) ซึ่งมีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2,000 ปี

บริเวณที่จะสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้คือฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก รวมทั้งฮาวายและอลาสกา ทั้งนี้มีบันทึกว่ามีผู้เห็นฝนดาวตกออริกิดส์เพียง 3 คนเท่านั้น เมื่อปี 2529 มีผู้สังเกตเห็น 1 คนและเมื่อปี 2537 มีผู้สังเกตเห็น 2 คน และยังไม่เคยมีใครบันทึกภาพฝนดาวตกนี้ไว้ได้

"นี่เป็นโอกาสเดียวที่คุณจะได้เห็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกนี้ เพราะสายธารฝุ่นดาวหางนี้จะไม่กระทบโลกอีกเลยในชั่วชีวิตของเรา" ดร.เจนนิสเกนส์ กล่าว

ทั้งนี้เป็นโอกาสของนักดาราศาสตร์ที่จะได้ทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองในการทำนายฝนดาวตก และพิสูจน์ว่าสะเก็ดดาวหางเกิดขึ้นระหว่างที่ดาวหางโคจรผ่านเมฆออร์ต (Oort Cloud) ซึ่งเป็นชั้นเมฆในอวกาศที่รอบล้อมระบบสุริยะ โดยดาวหางคาบสั้นได้ทิ้งฝุ่นเก่าแก่เอาไว้

ดาวหางไคส์สมาเยือนโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2454 และคาร์ล ไคส์ส นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันจากหอดูดาวลิค (Lick Observatory) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ในปีเดียวกัน

จอน จิออร์จินี (Jon Giorgini) นักดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐหรือนาซากับสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียร์หรือคาลเทค (California Institute of Technology: Caltech) ได้คำนวณจากข้อมูลการเยือนของดาวหางไคส์สครั้งล่าสุด พบว่าดาวหางเคยเข้าใกล้โลกก่อนหน้านั้นเมื่อปี 547 โดยคลาดเคลื่อน 40 ปี ซึ่งปีเดียวกันนี้ดาวหางได้ทิ้งฝุ่นที่จะทำให้เกิดฝนดาวในวันเสาร์นี้

การคำนวณของเจเรมี วาวเบลลัน (Jeremie Vaubailon) จากคาลเทคพบว่าฝุ่นดาวหางจะเข้ามาในวงโคจรของโลกวันที่ 1 ก.ย.นี้ หากฝุ่นเหล่านั้นหลุดออกมาจากดาวหางในปี 547 จริง และถ้าได้เห็นฝนดาวตกเขาคำนวณว่าช่วงที่จำนวนฝุ่นมากสุดคือเวลา 18.33 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือประมาณ 04.33 น.ตามเวลาท้องถิ่นในท้องที่ซึ่งสังเกตฝนดาวตกได้ โดยคลาดเคลื่อนจากนี้ 20 นาที จากข้อมูลฝนดาวตกออริกิดส์ในอดีตนักดาราศาสตร์คำนวณว่าฝนดาวตกนี้จะให้ค่าความสว่าง -2 ถึง 3 โดยมีอัตรา 100-200 ดวงต่อชั่วโมง

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้เห็นและศึกษาฝนดาวตก ดร.เจนนิสเกนส์เผยว่าทีมนักวิจัยนานาชาติ 24 คนจะนั่งเครื่องบินขึ้นไปสังเกตที่ความสูง 13,700 เมตร และตั้งกล้องจับภาพผ่านหน้าต่าง 21 ช่อง โดยเครื่องบินจะบินเป็นระนาบขนานกับพื้นโลกจากรัฐวิสคันซิน สหรัฐฯ ผ่านแคลิฟอร์เนียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก

"คุณสามารถมีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ได้เช่นกันโดยการถ่ายภาพฝนดาวตกออริกิดส์ โอกาสเป็นของคุณที่จะสามารถจับภาพฝนดาวตกที่สว่างที่สุดจากบนพื้นโลก ไม่ใช่เรา ด้วยกล้องทั่วไปก็สามารถให้ข้อมูลรูปแบบฝุ่นดาวหางได้จากลักษณะของสีที่ต่างกัน สีน้ำเงินก็เป็นฝุ่นชนิดหนึ่ง สีเขียวก็เป็นอีกชนิดและสีแดงก็เป็นอีกชนิด" ดร.เจนนิสเกนส์เชิญชวนผู้มีโอกาสสังเกตฝนดาวตกร่วมวิจัย

อย่างไรก็ดีแม้คนไทยจะไม่มีโอกาสได้เห็นฝนดาวตกที่เห็นได้ยากนี้ แต่ก็สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝนดาวตกออริกิดส์ได้ที่ http://aurigids.seti.org

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000102553

วิจัยแสงอาทิตย์ปูทางสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสง


น้ำมันก็แพง เชื้อเพลิงก็ใกล้จะหมดจากโลก พลังงานทดแทนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องเร่งสรรหา ในหลายประเทศก็นำมาใช้กันอย่างจริงจังบ้างแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไทยมีเกือบตลอดปีน่าจะเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องนี้ นักวิจัยไทยจึงศึกษาศักยภาพแสง เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต

ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ศึกษาถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนแบบรวมแสงในประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยในอนาคต

ผศ.ดร.จรุงแสง ลักษณะบุญส่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า นับวันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลก็เหลือน้อยลงทุกที ฉะนั้นจึงต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูงและจะเข้ามามีบทบาทมากในอนาคต ทางทีมวิจัยจึงได้ศึกษาถึงศักยภาพของรังสีดวงอาทิตย์ในบริเวณประเทศไทยกับความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนแบบรวมแสง ซึ่งขึ้นตรงกับรังสีตรงของดวงอาทิตย์ (direct normal irradiance)

“ระบบความร้อนแบบรวมแสงอาทิตย์จะต้องมีแผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ให้ไปรวมกัน ณ จุดเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนอย่างมหาศาลตรงบริเวณนั้น และจะต้องมีน้ำมันเป็นตัวนำพลังงานความร้อนไปยังโรงไฟฟ้าเพื่อต้มน้ำให้เดือดต่อไป ระบบนี้จะมีศักยภาพสูงเมื่อตั้งอยู่ในบริเวณที่มีค่ารังสีตรงของดวงอาทิตย์สูง แต่ข้อมูลดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ที่มีอยู่ก็เพียงแค่ในกรุงเทพเท่านั้น พื้นที่อื่นในประเทศยังไม่มีข้อมูล จึงจำเป็นต้องศึกษา เพื่อจะได้ทราบแน่ชัดว่าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีศักยภาพหรือไม่ อย่างไร” ผศ.ดร.จรุงแสง หนึ่งในทีมวิจัยอธิบาย

ทีมวิจัยได้ศึกษาความเข้มของรังสีตรงโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาภาคพื้นดินในช่วงปี 2538-2545 และจัดทำเป็นแผนที่ความเข้มรังสีตรงที่บริเวณต่างๆ พบว่าบริเวณที่มีความเข้มรังสีตรงสูงจะเป็นพื้นที่บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีค่าอยู่ในช่วง 1,350-1,400 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี (kWh/m2-yr)

ผศ.ดร.จรุงแสง อธิบายว่า หลังจากนั้นก็จำลองการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้า 3 แบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ และพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี เพราะมีค่ารังสีตรงสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ผลที่ได้คือ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบพาราโบลา แบบหอคอย และแบบเครื่องยนต์สเตอร์ลิง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ย 18.0, 25.1 และ 10.7 กิกะวัตต์ต่อปี (GWh/yr) และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุน พบว่าแบบพาราโบลามีต้นทุนการผลิตต่ำสุด คือ 9.77 บาทต่อกิโลวัตต์ (บาท/kWh) ซึ่งนับว่ารังสีดวงอาทิตย์ในบริเวณประเทศไทยมีศักยภาพมากพอกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีนี้

อย่างไรก็ดี การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานต้องพิจารณาต่อไปอีก ส่วนผลงานวิจัยดังกล่าวนั้น ผศ.ดร.จรุงแสง บอกว่ายินดีเผยแพร่ หากหน่วยงานไหนหรือบุคคลใดสนใจก็สามารถติดต่อได้ที่ หน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โทรศัพท์ 034-270761

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098544

Wednesday, August 29, 2007

ตั้งเป้าอีก 3 ปีมีไบโอดีเซลจากสาหร่ายใช้


นักวิจัยมหิดลศึกษาการผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย หวังนำมาใช้ทดแทนปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดจากโลก เผยหากผลิตได้จะคุ้มทุนอย่างมาก และยังส่งขายต่างประเทศได้ด้วย เพราะใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตมาก ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศได้อีกด้วย

ไบโอดีเซลกำลังเป็นที่ต้องการในฐานะพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่กำลังจะหมดไป นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งความสนใจไปที่พืชพลังงาน ขณะที่นักวิจัยส่วนหนึ่งเล็งเห็นน้ำมันมากมายในสาหร่าย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเซลล์เดียวที่สามารถให้น้ำมันมหาศาลได้เมื่อเพาะเลี้ยงในพื้นที่และระยะเวลาเท่ากับพืชน้ำมันอื่นๆ

“นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่พืชน้ำมันต่างๆ โดยเฉพาะปาล์มและสบู่ดำ ขณะที่สาหร่ายก็มีน้ำมันเช่นกันแต่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจ ซึ่งบางชนิดให้น้ำมันสูงถึง 50% ของเซลล์เลยทีเดียว” รศ.ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ อาจารย์และนักวิจัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจง

รศ.ดร.ประหยัด อธิบายว่า สภาพแวดล้อมในประเทศไทยเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างยิ่ง สาหร่ายใช้เวลาเลี้ยงเพียง 24 ชั่วโมง ก็โตแล้ว ขณะที่พืชพลังงานต้องใช้เวลาเพาะปลูกนานถึง 6-7 ปี ถึงจะให้น้ำมันได้

หากเลี้ยงสาหร่ายในบ่อพื้นที่ขนาดเท่ากับพื้นที่ปลูกสบู่ดำ 1 ต้น เป็นเวลา 7 ปี สบู่ดำจะให้น้ำมัน 25% แต่จะได้น้ำมันจากสาหร่ายมากถึง 1,000% และอาจเพียงพอกระทั่งผลิตส่งออกต่างประเทศได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.ประหยัด อยู่ระหว่างศึกษาการเพาะเลี้ยงและสกัดน้ำมันจากสาหร่าย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมที่เหลือพอใช้ได้อีกไม่กี่สิบปี

“สาหร่ายที่นำมาศึกษาเป็นสาหร่ายสีเขียว 3 ชนิด ซึ่งให้น้ำมันประมาณ 20-30% ขณะที่สาหร่ายทั่วไปจะให้น้ำมันเฉลี่ยราว 7-14% และสาหร่ายที่โตเร็วก็มักจะให้น้ำมันน้อยกว่าสาหร่ายที่โตช้ากว่า ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัย ได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายในห้องทดลองอยู่เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยงให้สาหร่ายโตเร็วพร้อมทั้งให้น้ำมันมาก แล้วจึงขยายลงสู่บ่อเพาะเลี้ยงต่อไป"

"คาดว่าน่าจะผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” รศ.ดร.ประหยัด กล่าวถึงงานวิจัยของเขา และบอกด้วยว่าในสหรัฐฯสามารถผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายและใช้กับเครื่องยนต์ได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ผลิตเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ รศ.ดร.ประหยัด ยังตั้งเป้าขยายงานวิจัยเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อผลิตไบโอดีเซล ในขณะเดียวกันก็จะใช้สาหร่ายเหล่านี้บรรเทาภาวะโลกร้อนด้วย โดยใช้เป็นตัวกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

“สาหร่ายต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงอยู่แล้ว เมื่อเราต้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายจำนวนมาก ก็ต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สาหร่ายปริมาณมากด้วยเช่นกัน อาจดักก๊าซจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน” รศ.ดร.ประหยัด อธิบายในตอนท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000099049

Tuesday, August 28, 2007

ฟ้าไม่อำนวยหลายพื้นที่พลาด "จันทรุปราคา"


หลายพื้นที่ทั่วไทยพลาดปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่คราสกินยาวนานที่สุดในรอบ 7 ปี เหตุสภาพอากาศไม่อำนวย ด้านนักเรียน จ.ฉะเชิงเทรา 160 คนเข้าร่วมกิจกรรมแต่พลาด จึงรับชมปรากฏการณ์จากแบบจำลองผ่านโปรเจกเตอร์แทน

ผู้สื่อข่าวซึ่งเดินทางไปสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงร่วมกับนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ณ โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รายงานเข้ามายัง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ว่าไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้เนื่องจากมีเมฆฝนบดบัง

ทั้งนี้นายวรวิทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้ตรวจสอบกับเพื่อนๆ ซึ่งร่วมสังเกตจันทรุปราคาที่ จ.ภูเก็ต จ.อุตรดิตถ์ และส่วนอื่นของ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าไม่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในครั้งนี้ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันทางโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาและนายวรวิทย์ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนชั้น ม.1- ม.6 ของทางโรงเรียนประมาณ 160 คนเข้ากิจกรรมสังเกตจันทรุปราคา แต่เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวยจึงเปิดซอฟต์แวร์จำลองปรากฏการณ์แสดงผ่านโปรเจกเตอร์ให้นักเรียนได้เห็นการเข้าออกของคราสตามเวลาจริงแทน ซึ่งเป็นแผนการที่สำรองไว้สำหรับกรณีที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้

ด้านนายพรชัย รังสีธนะไพศาล กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยว่าได้สังเกตปรากฏการณ์จากบ้านพักบริเวณตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยดวงจันทร์ควรจะขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณ 18.40 น. และช่วงเวลาประมาณ 19.18 น. ยังไม่ปรากฏดวงจันทร์ขึ้นมา อีกทั้งขอบฟ้าทางตะวันออกยังมีเมฆมากจนไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์ได้

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้สามารถเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยฝั่งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มลรัฐอลาสกาและหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ จะเห็นปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนไทยเห็นได้ในช่วงปลายของปรากฏการณ์หากไม่มีสิ่งใดบดบัง

ทั้งนี้ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดตั้งแต่ 15.51 น. จากนั้นเข้าสู่เงามืดทั้งดวงเวลา 16.52 น. และเข้าสู่เงามืดลึกสุดเวลา 17.37- 18.22 น. แล้วจันทร์เริ่มออกจากเงามืดจนสิ้นสุดปรากฏการณ์ที่เวลา 20.21 น. นับเป็นจันทรุปราคาที่เกิดคราสนานที่สุดในรอบ 7 ปี

หากเกิดคราสเต็มดวงจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐหรือที่หลายคนเรียกว่าจันทร์สีเลือด เนื่องจากยังมีแสงบริเวณขอบฟ้าและเมื่อแสงผ่านชั้นบรรยากาศจะกระเจิงแสงสีฟ้าทั่วท้องฟ้า ส่วนแสงสีแดงจะกระเจิงไปที่ดวงจันทร์ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000101430

Monday, August 27, 2007

สเปรย์นาโนแก้ปวดเมื่อย มช.วิจัยใช้แทนลูกประคบ

เภสัชศาสตร์เชียงใหม่รับทุน1 ล้านบาท พัฒนาสเปรย์นาโนบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อย เผยสกัดน้ำมันและสาระสำคัญจากสมุนไพรทุกตัวในลูกประคบ บรรจุเป็นอนุภาคนาโน เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมลึกใต้ผิวหนัง คาดก่อนสิ้นปีได้เห็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง
ภญ.รศ.ดร.อรัญญามโนสร้อย อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สเปรย์นาโนบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อย เป็นผลงานจากโครงการวิจัยสกัดสารและน้ำมันจากสมุนไพรต่างๆ ที่อยู่ภายในลูกประคบ แล้วนำมากักเก็บในอนุภาคขนาดนาโน จากนั้นนำไปบรรจุขวดในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น ทดแทนการใช้ลูกประคบที่มีขั้นตอนยุ่งยากในการใช้

จากการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดพบคุณสมบัติยับยั้งอาการบวมได้ใกล้เคียงยาบรรเทาปวดเมื่อยและอักเสบ ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยา "ไดโครฟีแนค" อีกทั้งสารสกัดที่ได้จากสมุนไพรลูกประคบ เมื่อนำไปกักเก็บในอนุภาคขนาดนาโนแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการซึมซับและระงับอาการปวดได้นานขึ้น คาดว่าจะทำให้อาการอักเสบหายเร็วขึ้น เนื่องจากอนุภาคนาโนจะช่วยในการดูดซึมและคงตัวสารสกัดได้นานกว่าสารสกัดทั่วไป

ทีมวิจัยศึกษาสเปรย์นาโนเมื่อปี2549 ได้รับทุนสนับสนุน 1 ล้านบาท จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ขั้นตอนเริ่มจากสกัดน้ำมันและสาระสำคัญของสมุนไพรทุกตัวในลูกประคบ เช่น ไพล ขมิ้น ตะไคร้หอมและใบมะขาม จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มากักเก็บไว้ในอนุภาคขนาดเล็กโดยใช้เทคโนโลยีนาโน เพื่อที่จะคงสภาพของสารสกัดได้นานขึ้น ต่อมาบรรจุสารสกัดนาโนที่ได้ลงขวดสเปรย์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก

ทีมงานวางแผนที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในอาสาสมัครเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างสเปรย์นาโน กับตัวยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่วางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ครีม เจลและแผ่นบรรเทาปวด เพื่อที่จะเก็บข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ต่อไป คาดว่าโครงการวิจัยสเปรย์นาโนจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นก็จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายต่อไป

ภญ.รศ.ดร.อรัญญาในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลูกประคบบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดนวดแผนไทยและสปา แต่การใช้ลูกประคบจะต้องอุ่นหรือนึ่งในความร้อนระดับหนึ่ง เพื่อให้สารสกัดจากสมุนไพรในลูกประคบแพร่กระจายออกมา จึงเกิดความยุ่งยากและเสียเวลาในการใช้แต่ละครั้ง จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยข้างต้นนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Sunday, August 26, 2007

วช.เปิดเอ็กซ์โปอวดผลงานวิจัย500ชิ้นโบแดง

สภาวิจัยยกผลงานการคิดค้นของคนไทยกว่า500 ชิ้น เช่น ระบบให้บริการเรียกแท็กซี่อัจฉริยะ หุ่นจำลองยางพารา พร้อมนิทรรศการสุขภาพ พลังงานจนถึงความมั่นคง จัดแสดงในงานไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป

นายอานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ2550" หรือไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอ็กซ์โป 2007 ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อจัดแสดงผลงานวิจัยกว่า 500 ชิ้น ของนักวิจัยไทยจากทั่วประเทศ ทั้งงานวิจัยใหม่ล่าสุดและงานวิจัยต่อเนื่องระยะ 1-3 ปี

งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่7-11 กันยายน 2550 ที่ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ กิจกรรมแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้ เวทีประชุมสัมมนา หัวข้อเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบวิจัยของประเทศ หัวข้อที่เป็นประเด็นเร่งด่วนของประเทศ และการประชุมกลุ่มย่อย

นิรรศการเฉลิมพระเกียรตินิทรรศการงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น พลังงานทดแทน วิทยาศาสตร์การแพทย์ สิ่งแวดล้อม การรักษาความมั่นคงทางการทหาร รวมถึงหุ่นยนต์กู้ภัย และส่วนสุดท้ายการแสดงเฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านการวิจัย แผ่นดินของพ่อ ซึ่งจัดแสดง2 วัน ในวันที่ 8 และ 9 กันยายน บัตรราคา 200 บาท

ผลงานวิจัยที่จัดแสดงเช่น หุ่นจำลองยางพารา ผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ใช้ยางพาราสร้างแบบจำลอง 3 มิติ สำหรับเรียนรู้อวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ สัตว์ พืช มีลักษณะนุ่ม ผิวเรียบ ไม่ด้อยไปกว่าหุ่นนำเข้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ล่าสุดนักวิจัยติดตั้งไมโครชิพเพื่อให้แบบจำลองส่งเสียงอธิบายส่วนประกอบต่างๆ ได้อัตโนมัติ เช่น เมื่อผู้เรียนแตะหัวใจของหุ่นจำลอง ก็จะมีเสียงอธิบายถึงการทำงานของหัวใจ

ในงานยังมีระบบให้บริการเรียกแท็กซี่อัจฉริยะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ที่ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากระบบจีพีเอส ขณะที่ญาติผู้โดยสารสามารถติดตามการเดินทางได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเวบไซต์ของศูนย์แท็กซี่ สร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้โดยสาร นักวิจัยได้เพิ่มรูปแบบใช้งานโดยติดตั้งกล้องเวบแคมในแท็กซี่ ทำให้ญาติผู้โดยสารเห็นข้อมูลรถและหน้าตาโชเฟอร์ได้ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

มช.ส่งเครื่องบินหุ่นยนต์กู้ภัยตรวจการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ

ทีมวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแบบยานบินอัตโนมัติรุ่นใหม่หนุนปฏิบัติการบินค้นหาผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ขนส่งสิ่งของบรรเทาสาธารณภัย ด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทาบทามใช้บินตรวจเหมือง

รศ.ดร.สัมพันธ์ไชยเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศต้นแบบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้เตรียมพัฒนาอากาศยานอัตโนมัติบินรุ่นใหม่ เสริมทัพอากาศยานรุ่นก่อนที่เน้นปฏิบัติภารกิจบินตรวจการณ์ตามพื้นที่ชายแดน และตรวจปลอดภัยตามแหล่งท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้พัฒนาอากาศยานอัตโนมัติต้นแบบ โดยใช้ชื่อรุ่นว่าซีเอ็มยู-1 และซีเอ็มยู-2 มีเป้าหมายเพื่อบินสังเกตการณ์พื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ สามารถส่งสัญญาณภาพวิดีโอไร้สายด้วยกำลังส่งไกลถึง 1,000 เมตร ในพื้นที่โล่ง สามารถแสดงตำแหน่งและความเร็วจากอุปกรณ์จีพีเอส โชว์แผนที่การเดินทางขึ้นบนหน้าจอ มีระบบควบคุมเสถียรภาพการบิน และระบบการบินอัตโนมัติทางไกล

ทีมวิจัยหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศมีแผนพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับหุ่นยนต์บินสำรวจเองทดแทนเครื่องยนต์นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ และมีแนวคิดที่จะพัฒนาในส่วนของโปรแกรมภายในกล่องควบคุมการบินของหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาและดัดแปลงเครื่องยนต์ลูกสูบ4 จังหวะใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ปฏิกิริยากังหันก๊าซต้นแบบ และเครื่องยนต์ปฏิกิริยาแบบไอพ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบิน

สำหรับยานบินสำรวจอัตโนมัติรุ่นใหม่มุ่งใช้ปฏิบัติภารกิจทางพลเรือนมากกว่าเช่น อากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 3 มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเครื่องบินสำรวจอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย และสำรวจพื้นที่ยานพาหนะเข้าถึงยาก ส่วนอากาศยานสำรวจรุ่นเอ็กซ์ ซีเอ็มยู 4 เป็นเครื่องบินใบพัดแบบเฮลิคอปเตอร์ สามารถขึ้นลงโดยใช้พื้นที่จำกัด เหมาะสำหรับปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ

ทีมวิจัยยังได้รับการติดต่อจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ให้พัฒนาหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจสำรวจการดำเนินการภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งจะถือว่าเป็นภารกิจแรกของหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Friday, August 24, 2007

ลุ้นชมจันทรุปราคาเต็มดวงสีส้มแดง 28 ส.ค.นี้


คนเกือบทั้งโลกเตรียมชมจันทรุปราคาเต็มดวง ปรากฏสีส้มแดงดวงใหญ่ นาน 1 ชั่วโมงครึ่งในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ฝั่งอเมริกาเห็นปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนไทยจะเห็นในช่วงค่ำ แค่ช่วงปลายปรากฏการณ์

พ.ศ.2550 ถือเป็นปีที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์หาชมได้ยากอย่าง “จันทรุปราคาเต็มดวง” เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในปีเดียวกัน โดยชาวโลกได้มีโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งแรกไปแล้วเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนปรากฏการณ์ครั้งที่ 2 ในรอบปี จะเกิดขึ้นวันที่ 28 ส.ค.นี้ โดยผู้สังเกตปรากฏการณ์บนโลกจะเห็นพระจันทร์เป็นสีส้มแดง และจันทรุปราคาจะมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ประมาณ 8 %

บริเวณที่จะเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงค่ำ เมื่อดวงจันทร์โผล่เหนือขอบฟ้า โดยเห็นปรากฏการณ์เพียงบางส่วน ขณะที่ฝั่งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มลรัฐอลาสกาและหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ จะเห็นปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบในตอนพระจันทร์ลับขอบฟ้าในช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน ส่วนทวีปแอฟริกา สแกนดิเนเวีย ยุโรป และเอเชียตะวันตก จะไม่มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เลย

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งจะสังเกตเห็นแค่ช่วงท้ายของปรากฏการณ์ เนื่องจากพระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน

ดวงจันทร์จะเคลื่อนเข้าแตะขอบเงามัวของโลกเวลา 14.54 น.

จากนั้นเวลา 15.51 น. ดวงจันทร์จะเริ่มแหว่งเป็นจันทรุปราคาบางส่วน ต่อมาในเวลา 16.52 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง เริ่มเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง และเวลา 17.37 น. จะเคลื่อนเข้าสู่เงาลึกที่สุด นับเป็นจุดกึ่งกลางปรากฏการณ์

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ที่ภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกเกือบพร้อมกับดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก ช่วงเวลาประมาณ 18.15-18.16 น. อาจมีโอกาสมองเห็นดวงจันทร์ที่ยังคงอยู่ในเงามืด แต่ท้องฟ้าที่ยังสว่างอยู่ บวกกับดวงจันทร์ที่มืดสลัว อีกทั้งตำแหน่งใกล้ขอบฟ้า อาจทำให้มองเห็นดวงจันทร์ได้ค่อนข้างยาก

คราสเข้าแตะดวงจันทร์ลึกสุด จนถึงเวลา 18.22 น. และเริ่มกลับไปเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง กระทั่งเวลา 19.24 น. จันทร์ทั้งดวงเริ่มออกจากเงามืด และสิ้นสุดปรากฏการณ์ทั้งหมดเวลา 20.21 น.

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของปรากฏการณ์คือ ขณะที่จันทร์กำลังออกจากเงามืด หลัง 19.00 น. ผู้ชมจากท้องฟ้าเหนือกรุงเทพฯ สามารถสังเกตดวงจันทร์ที่กำลังขึ้นจากขอบฟ้าได้

นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในปรากฏการณ์ดังกล่าว คนในประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นช่วงท้ายของปรากฏการณ์ หากสังเกตจากกรุงเทพฯ เมื่อดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับดวงอาทิตย์ตก ดวงจันทร์จะถูกเงามืดของโลกบังไปประมาณ 80 % จากนั้นดวงจันทร์จึงค่อยๆ กลับมาเต็มดวง

แต่หากไปสังเกตที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นตำแหน่งตะวันออกสุดของประเทศ ดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าในจังหวะที่ดวงจันทร์ทั้งดวงยังอยู่ในเงามืดของโลก จากนั้นจันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 18.23 น.และจันทรุปราคาบางส่วนจะลิ้นสุดในเวลา 19.24 น. ทั้งนี้ผู้สังเกตปรากฏการณ์ควรเลือกที่โล่ง มืด และไม่มีแสงไฟรบกวน เช่น บนตึกสูงเพื่อสังเกตปรากฏการณ์ได้ชัดเจนที่สุด

ส่วนปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 20-21 ก.พ.2551 สามารถสังเกตเห็นได้ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันออก ส่วนที่เห็นในประเทศไทยครั้งต่อไปคือ จันทรุปราคาบางส่วน คืนวันที่ 16 ต่อเช้ามืดวันที่ 17 ส.ค.2551 ดวงจันทร์ถูกบังประมาณ 81%

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089236

Thursday, August 23, 2007

นร.ไทยคว้าทอง คอมพ์โอลิมปิก

เด็กไทยยังคงสร้างชื่อบนเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่องล่าสุดสามารถคว้าเหรียญทองและเหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ 2550 ที่โครเอเชีย มาได้อย่างสวยงาม ทั้งนี้ นายสุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยเมื่อ 22 ส.ค. ว่า ตามที่ สสวท. ส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-22 ส.ค. ณ กรุงซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย นั้น ผลการแข่งขันในสาขาคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยทำได้ 1 เหรียญทอง จากฝีมือของนายภูมิชนิตย์ วัฒนะประกรณ์กุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ 3 เหรียญเงิน จาก น.ส.พิชญา โพธิลิ้มธนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ด.ญ.ทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) และนายธนะ วัฒนวารุณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งคณะจะเดินทางกลับถึงไทยในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เวลา 12.40 น. โดย สสวท.จะจัดพิธีต้อนรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ

นายภูมิชนิตย์ เจ้าของเหรียญทองคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ก่อนเข้าโครงการนี้เคยสอบคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนได้เพียง 65% แต่เมื่อตั้งใจและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว อาจารย์และเพื่อน ทำให้พัฒนาขึ้น ดังนั้นทุกคนไม่ควรดูถูกความสามารถของตัวเอง ประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ ทำให้ได้พบคนที่มีความสามารถในศาสตร์หลากหลายต่างๆกัน ได้สัมผัสแนวคิดใหม่ๆที่หลากหลาย เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโจทย์ทาง คอมพิวเตอร์ ได้วิธีการคิดใหม่ๆตอนเด็กๆชอบอ่านการ์ตูน โตขึ้นมาหน่อยอ่านนวนิยาย แต่ตอนนี้แทบไม่ได้อ่านหนังสือที่เป็นเล่ม เพราะอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ตลอด

น.ส.พิชญา ผู้แทนประเทศไทย 2 ปีซ้อน กล่าวว่าปีที่แล้วได้เหรียญทองแดง ปีนี้ดีใจที่ได้เหรียญเงิน สิ่งที่ชอบคือการเขียนโปรแกรม เพราะได้นำความรู้ทฤษฎีทั้งหมดที่มีอยู่ มาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาและได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม เคล็ดลับการเรียนคือรักในสิ่งที่เรียน ต้องเรียนเพื่ออยากรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อการสอบ อนาคตใฝ่ฝันจะคิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและโลก

ด้านเด็กหญิงทักษพรกล่าวว่า ชอบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เพราะชอบเล่นเกม ทำให้สนใจคอมพิวเตอร์ และได้เห็นประโยชน์มากมายของวิชาคอมพิวเตอร์ เทคนิคการเรียนต้องไม่เครียดกับการเรียน แต่ตั้งใจเรียนเวลาอาจารย์สอน อยากให้เยาวชนและประชาชนเห็นประโยชน์ ของโครงการโอลิมปิก ว่าไม่ใช่แค่ทำชื่อเสียงให้ประเทศ แต่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

ขณะที่นายธนะกล่าวว่า การส่งเสริมนักเรียนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ หากให้นักเรียนได้ฝึกฝน พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่ จะทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจมากขึ้น เคล็ดลับสำคัญในการเรียนคือตั้งใจเรียนในห้องให้ดีที่สุด การกวดวิชาหรืออ่านหนังสือหักโหมเกินไปไม่ช่วยให้ได้พัฒนาความรู้

ที่มา: http://www.thairath.co.th/
Link: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=58437

Wednesday, August 22, 2007

จมูกเทียมวิเคราะห์อาหาร สจล.คิดค้นใช้งานแทนจมูกคน

นักวิจัยจากรั้วเทคโนลาดกระบังออกแบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์ดมกลิ่นวิเคราะห์คุณภาพอาหาร ระบุแม่นยำและเที่ยงตรงกว่าจมูกมนุษย์ ตรวจสอบได้ทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง เพิ่มความปลอดภัยในการบริโภค

ดร.นวภัทราหนูนาค ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับทีมงานพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเป็นอุปกรณ์เลียนแบบการรับรู้กลิ่นของจมูกมนุษย์ โดยแบ่งรูปแบบการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนรับกลิ่น และส่วนประมวลผล เพื่อประโยชน์ด้านการวิเคราะห์คุณภาพอาหารว่าได้ตามมาตรฐานหลังการผลิตหรือไม่

จมูกอิเล็กทรอนิกส์วิเคราะห์คุณภาพอาหารได้คล้ายเซลล์ประสาทรับกลิ่นในจมูกมนุษย์ โดยมีมอเตอร์พัดลมดูดไอระเหยให้เข้าไปจับกับตัวแผงเซ็นเซอร์รับกลิ่น ซึ่งทำมาจากสารกึ่งตัวนำโลหะออกไซด์ เพื่อดูค่าความต้านทานของเซ็นเซอร์แต่ละชนิดที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างก่อนและหลังดมกลิ่น

ค่าความต้านทานจะถูกประมวลผลต่อด้วยระบบสถิติหรือระบบใยประสาทเทียมเปรียบได้กับสมองของมนุษย์ เพื่อแยกประเภทของกลิ่นในรูปกราฟแท่ง ซึ่งเป็นรูปแบบจำกัดความที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ความสดของอาหาร หรือกลิ่นเหม็นหืน เป็นต้น

ผู้ใช้สามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าววิเคราะห์คุณภาพอาหารหลังจากนำชุดเซ็นเซอร์ไปบันทึกรูปแบบของกลิ่นและไอระเหยจากอาหารต้นแบบ หากอาหารมีกลิ่นเจือจาง ก็สามารถเพิ่มความเข้มข้นของไอระเหยด้วยความร้อนหรือเย็น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้สร้างเซ็นเซอร์เป็นหลัก และผู้ใช้ต้องระวังไม่ให้ความชื้นหรือของเหลวติดเข้าไปยังตัวเครื่อง เพราะอาจสร้างความเสียหายแก่แผงเซ็นเซอร์

จมูกอัจฉริยะดังกล่าวประยุกต์ใช้ได้ทั้งงานวิจัยในห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรมเนื่องจากมีขนาดเล็กพกพาสะดวก และรายงานผลค่อนข้างแม่นยำในหลายสภาวะ เช่น ตรวจสอบความสดของกุ้งหรืออาหารทะเลชนิดต่างๆ ตรวจหากลิ่นที่ไม่ต้องการในขนม เช่น กลิ่นหืน กลิ่นเน่าเสีย ที่อาจเกิดระหว่างการเก็บรักษา หรือแม้แต่การใช้ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการหมัก เป็นต้น

นักวิจัยกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของจมูกมนุษย์แล้ว จมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นสามารถวิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ใช้ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังสามารถใช้แทนจมูกคนได้ดี แต่อาจยังแสดงผลออกมาในรูปความรู้สึกที่ชัดเจนอย่างกลิ่นหอม กลิ่นเปรี้ยว ไม่ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เทคโนประดิษฐ์-เทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงอนาคตใกล้ตัว


น่าเสียดายที่มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี2550 ที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้นำเทคโนโลยี "สัมผัสเสมือนจริง" มาจัดแสดงด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างยิ่ง และมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท

เทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Haptic Technology" เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับประสาทการสัมผัสที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายเช่น การผ่าตัดทางไกล และการควบคุมหุ่นยนต์ทางไกล หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ เกมคอมพิวเตอร์

งานมหกรรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจัดที่เมืองซานดิเอโกสหรัฐ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงมาร่วมแสดงกันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ ทีมจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่นำเครื่องมือที่เรียกว่า "มือจับแรงโน้มถ่วง" มาโชว์

อุปกรณ์สัมผัสเสมือนจริงต้นแบบ(ภาพแรก) ประกอบด้วยเครื่องมือคล้ายท่อประกบเข้ากับนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ท่อแต่ละอันมีมอเตอร์หนึ่งคู่ติดอยู่ส่วนบน และมีสายรัดพันรอบปลายนิ้ว มอเตอร์จะคอยง้างสายรัดเข้าออกให้รู้สึกเหมือนกับกำลังสัมผัสวัตถุอยู่ และยังให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถือของหนักบางอย่างที่ต้องออกแรงดึงมากขึ้น

นักศึกษาที่คิดอุปกรณ์ชุดนี้บอกว่า เขาใช้เครื่องมือพื้นๆ และมีราคาถูกมาทำ และไอเดียของเขาเหมาะนำไปใช้กับเครื่องเล่นเกมคอมพิวเตอร์

ส่วนทีมที่ใช้ชื่อว่า"ทาชิ" นำอุปกรณ์สัมผัสเสมือนจริงอีกแบบหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงมากขึ้น พวกเขาเรียกเครื่องมือนี้ว่า แฮปติก เทเล็กซิสเทนซ์ (ภาพสอง) ประกอบด้วยชุดควบคุมด้วยกลไกขนาดใหญ่สำหรับวางคร่อมบนมือของผู้ใช้งาน อุปกรณ์ตัวนี้ถูกเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับมือหุ่นยนต์ที่อยู่อีกที่หนึ่ง

ที่ปลายนิ้วของหุ่นยนต์มีหลอดไฟที่มีกล้องซ่อนอยู่ข้างหลังแสงไฟจะสว่างมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรูปร่างวัตถุและแรงบีบวัตถุ แรงที่เกิดขึ้นบนปลายนิ้วหุ่นยนต์จะถูกส่งต่อไปยังปลายนิ้วของคนที่สวมมือกล นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่น บอกว่า ระบบสัมผัสทางไกลด้วยสัญญาณไฟฟ้าที่ทำอยู่นี้ให้ความรู้สึกใกล้เคียงของจริงมากกว่าระบบสั่นด้วยมอเตอร์ และยังให้ความรู้สึกถึงพ้นผิวสัมผัส และความร้อนได้ด้วย

ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง(ภาพที่สาม) มาจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยซึคูบะจากญี่ปุ่นอีกเช่นกัน แต่มีรูปแบบใช้งานฉีกแนวออกไป เดิมทีนักประดิษฐ์คิดออกแบบลู่วิ่งสายพานแบบที่ใช้ในสถานออกกำลังกาย แต่ดัดแปลงให้สามารถเดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้โดยใช้เป็นรองเท้าสเกตสวมแทนเดินบนลู่เดิน แต่ต่อมาเปลี่ยนไอเดียมาทำอุปกรณ์ตามรอยเดินแทน

ระบบดังกล่าวสามารถตามดูได้ว่าผู้สวมอุปกรณ์เดินไปทิศทางไหนผู้ใช้จะเดินอยู่กับที่เมื่อสวมรองเท้าแตะที่มีล้ออยู่ใต้พื้นที่มีสายไฟและมอเตอร์คอยตรวจจับการเคลื่อนที่ของเท้าแต่ละก้าว พื้นที่ใช้เดินสามารถหมุนได้รอบ 360 องศา สามารถประยุกต์ใช้งานทดสอบจำลองการฝึกซ้อมที่ต้องการรับรู้ความรู้สึกจากการเคลื่อนที่

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

"ดูดาวด้วยเมาส์"กับ Google Sky


กูเกิลได้ฤกษ์เปิดตัว กูเกิลสกาย (Google Sky) โปรแกรมเสริมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการสำรวจท้องฟ้าให้กับบริการท่องโลกสามมิติ "กูเกิลเอิร์ธ(Google Earth)" ได้อย่างสร้างสรรค์ เปิดทางให้ผู้ใช้สามารถชื่นชมความงามของดวงดาวหลายล้านดวงและกว่า 200 ล้านกาแล็กซีได้เพียงคลิกเมาส์

ภาพดวงดาวและกาแล็กซี่ในกูเกิลสกายนั้นจะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับการชมท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) รวมถึงสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวงจรข้างขึ้นข้างแรมบนท้องฟ้าได้ จุดนี้เอ็ด พาร์สันส์ (Ed Parsons) นักเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ของกูเกิลให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซีนิวส์ว่า แนวคิดพื้นฐานคือการกลับด้านกูเกิลเอิร์ธเพื่อมองส่วนบน ซึ่งก็คือท้องฟ้าที่ห่อหุ้มโลกของเรานั่นเอง

"สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทนที่จะใช้กูเกิลเอิร์ธเพียงชมภาพโลก แต่คุณสามารถใช้กูเกิลเอิร์ธชมภาพบนอวกาศได้"

กูเกิลสกายถูกมองว่าจะเป็นทางลัดที่ทำให้การสำรวจท้องฟ้าดำเนินการได้ง่ายดายและสะดวกขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน มลพิษในอากาศและแสงรบกวนบนท้องฟ้านั้นทำให้นักดูดาวสามารถมองเห็นกลุ่มดาวเพียวไม่กี่กลุ่มเท่านั้น กูเกิลสกายจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้นักดูดาวรู้ว่าได้พลาดดาวดวงใดไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านดาราศาสตร์อย่างมาก

ผู้ใช้กูเกิลสกายจะต้องติดตั้งโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธบนคอมพิวเตอร์ก่อน จากนั้นจึงสามารถคลิกซูมเพื่อชมท้องฟ้าในส่วนที่ต้องการในระยะใกล้ สามารถคลิกปุ่มเพื่อหมุนมุมมองการชมได้ไม่ต่างจากกูเกิลเอิร์ธ โดยภาพดาวดวงที่ปรากฏจะเป็นภาพท้องฟ้าในวันและเวลานั้นๆ ซึ่งผู้ใช้จะสามารถนำภาพกาแล็กซี่ กลุ่มดาว หรือภาพข้อมูลดาราศาสตร์อื่นๆจากกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล มาวางทับบนภาพท้องฟ้าเพื่อจำลองเหตุการณ์หรือศึกษาเพิ่มเติมได้ตามต้องการ

รูปภาพจากระบบดูดาวบนกูเกิลสกายนั้นถูกรวบรวมจากหน่วยงานวิจัยกว่า 6 แห่งเช่นสมาคม Digital Sky Survey Consortium, ศูนย์ปฏิบัติการ Palomar Observatory ในแคลิฟอร์เนีย และศูนย์เทคโนโลยี United Kingdom Astronomy Technology Centre จริงอยู่ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นรูปภาพเหล่านี้ได้จากอินเทอร์เน็ต แต่กูเกิลเชื่อว่าโปรแกรมเสริมนี้จะทำให้การสืบค้นง่ายดายและมีความเพลิดเพลินในการใช้งานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กูเกิลสกายไม่ใช่โปรแกรมชมดาวชิ้นแรกในตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันดาราศาสตร์หลายแห่งเปิดให้โปรแกรมประเภทนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะเดียวกันบริการโปรแกรมชมดาวแบบคิดค่าใช้จ่ายในขณะนี้ก็มีวางตลาดแล้ว ได้แก่ ซอฟต์แวร์ Starry Night ของบริษัท Imaginova โดยจำหน่ายในรูปโปรแกรมวิดเก็ท (widget) โปรแกรมขนาดจิ๋วสำหรับติดตั้งบนหน้าจอเดสก์ท็อป ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เครื่องแมคอินทอชของแอปเปิลสามารถดาวน์โหลดไปติดตั้งได้

สำหรับกูเกิลสกาย เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ความสนใจด้านดาราศาสตร์ของประชากรอินเทอร์เน็ตเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098942

ซูเปอร์คอมพ์แก้เกม "ลูกบาศก์รูบิค" บิดแค่ 26 ครั้ง


บีซีนิวส์/เดอะการ์เดียน/ดิจิตอลเทรนด์ - 2 นักศึกษาสหรัฐใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แก้วิธีหมุน "ลูกบาศก์รูบิค" แค่เพียง 26 ครั้ง เข้าใกล้ "จำนวนแห่งเทพ" ซึ่งเป็นการหมุนน้อยครั้งที่สุดให้ลูกบาศก์คืนสภาพ

หลายคนคงเคยเห็น "ลูกบาศก์รูบิค" (Rubik's Cube) ของเล่นที่ให้เราบิดเพื่อให้สี่เหลี่ยมแต่ละด้านกลับคืนสู่รูปเดิม ซึ่งหลายคนอาจจะท้อจนอยากปาของเล่นทิ้งไปไกลๆ ขณะบางคนอาจใช้เวลาแค่ 5 นาทีจัดการกับความยุ่งเหยิงบนลูกบิดให้คืนสู่ความเรียบร้อย แต่ไม่ว่าจะแน่แค่ไหนคงต้องยอมแพ้ 2 นักศึกษาสหรัฐที่ใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์" แก้เกมด้วยการบิดเพียงแค่ 26 ครั้ง และคาดว่าจะทำได้น้อยกว่านี้อีก

แดนเนียล คันเกิล (Daniel Kunkle) และ ยีน คูเปอร์แมน (Gene Cooperman) 2 นักศึกษาคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) ในบอสตัน แมสซาซูเซ็ตส์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำงานวิจัยโดยอาศัยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ค้นวิธีแก้เกมลูกบาศก์รูบิค ด้วยการบิดจำนวนครั้งน้อยที่สุด

จากการทำงานของซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง 63 ชั่วโมง ได้ผลว่าสามารถบิดลูกบาศก์รูบิคให้กลับคืนสู่รูปร่างเดิมด้วยการหมุนแค่ 26 ครั้ง และนักวิจัยทั้ง 2 ยังเชื่อว่าจะสามารถหาวิธีบิดด้วยจำนวนครั้งที่น้อยกว่านี้อีก โดยสถิติดีที่สุดก่อนหน้านี้คือ 27 ครั้ง

ทั้งนี้การหาตำแหน่งที่เป็นไปได้ของลูกบาศก์ 43 ล้านล้านล้านล้านตำแหน่ง (43x1024) ก็ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งเหยิงเกินไปสำหรับคอมพิวเตอร์ ดังนั้น 2 นักศึกษาจึงได้การแก้ปัญหา 2 ขั้นตอน

ขั้นแรกคือการเขียนโปรแกรมให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้าถึงครึ่งของการแก้ปัญหา 15,000 วิธี ซึ่งคันเกิลและคูเปอร์แมนได้ตำแหน่งที่แน่นอนในบางจุด และการแก้ปัญหาในขั้นนี้บ่งชี้ว่าพวกเขาสามารถทำให้ลูกบิดคืนสภาพเดิมได้ด้วยการหมุนมากสุด 29 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่สามารถแก้เกมได้ในการหมุน 26 ครั้งหรือน้อยกว่า

จากจุดนี้นักศึกษาแห่งนอร์ธอีสเทิร์นตัดสินใจที่จะให้ความสนใจในรูปทรงจำนวนเล็กๆ ที่ต้องใช้การหมุนมากกว่า 26 ครั้งเพื่อแก้เกมทั้งหมด และเพราะว่ามีจำนวนที่ไม่มากจึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ฉายภาพของคำตอบออกมา และเป็นที่น่าประหลาดใจว่าคอมพิวเตอร์สามารถแก้เกมด้วยวิธีหมุนน้อยกว่า 26 ครั้ง

การค้นพบของทั้ง 2 ทำให้อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "จำนวนแห่งเทพ" (God’s number) ซึ่งเป็นจำนวนการบิดลูกบาศก์รูบิคที่น้อยที่สุดให้คืนสู่สภาพเดิม โดยตามทฤษฎีแล้วจำนวนดังกล่าวจะอยู่ในช่วง 20 ต้นๆ

คันเกิลและคูเปอร์แมนเปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าว ระหว่างการประชุมนานาชาติด้านการคำณวนเชิงสัญญลักษณ์และพีชคณิต ที่วอเตอร์ลู ออตาริโอ แคนาดา (International Symposium on Symbolic and Algebraic Computation in Waterloo, Ontario)

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098077

Tuesday, August 21, 2007

ภาพดาวเทียมชี้ชัดน้ำแข็งขั้วโลกลดต่ำสุดเท่าที่เคยบันทึก


เอพี -ศูนย์ข้อมูลหิมะสหรัฐฯ รายงานผลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดพบว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือมีปริมาณลดต่ำลงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 2513- 2523 ที่มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้สำรวจการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรก

มาร์ค เซอร์รีซ (Mark Serreze) นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งสหรัฐฯ (US Snow and Ice Data Center ) เปิดเผยทันทีหลังพบรายงานฉบับนี้ว่า ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกเหนือได้ลดลงไปเป็นจำนวนมาก จากพื้นที่เฉลี่ย 2.05 ล้านตารางไมล์ในวันที่ 21 ก.ย.2548 เป็นเหลือเพียง 2.02 ล้านตารางไมล์เท่านั้นในการสำรวจเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2550 ซึ่งเชื่อว่าในอีกหนึ่งเดือนก่อนจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงนี้ยังจะมีปริมาณน้ำแข็งล ะลายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยทีเดียว

บริเวณที่พบว่าน้ำแข็งในท้องทะเลน้อยลงกว่าปกติวาดวงค่อนข้างกว้างทีเดียว ไล่ตั้งแต่ด้านไซบีเรียตะวันออกกินบริเวณไปถึงพื้นที่ด้านข้างๆ ของขั้วโลกเหนือ จรดทะเลโบฟอร์ต (Beaufort) ทางเหนือของรัฐอลาสกา สหรัฐฯ หมู่เกาะต่างๆ ของแคนาดา และชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งไล่ไปจนถึงเมืองโบลเดอร์ (Boulder) มลรัฐโคโลราโด

ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยร่วมด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด (Cooperative Institute for Research in Environmental Sciences at the University of Colorado) โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ตลอดจนถึงมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation)

"ปกติแล้ว น้ำแข็งจะเป็นตัวสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปได้มากกว่า 80% แต่ในทางกลับกันเมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลก็จะเป็นตัวดูดกลืนแสงอาทิตย์แทน ในจำนวนถึง 90% จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของน้ำทะเลขั้วโลกเหนือสูงขึ้น" เซอร์รีซ กล่าว

เขายังเสริมด้วยว่า ความผิดปกติยังเกิดแก่ท้องฟ้าที่โปร่งอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วง มิ.ย.- ก.ค. ทำให้แสงอาทิตย์ส่งผ่านมายังพื้นโลกได้มากขึ้น ขณะที่ลมแรงๆ ก็จะพัดพาอุณหภูมิที่อบอุ่นจากทางใต้มาสมทบอีกแรง

ส่วนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาสำรวจขั้วโลกถึงผลจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทำการศึกษามานานแล้ว เนื่องจากจะเป็นบริเวณที่พบความเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากที่สุด ซึ่งจากรายงานนี้ เซอร์รีซ ตั้งสมมติฐานว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนืออาจละลายจนหมดภายในปี 2573 นี้

อย่างไรก็ดี การออกมาให้ข่าวดังกล่าวถือว่าสวนทางกับแบบจำลองที่ เซอร์รีซี ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณไว้ก่อนหน้านี้มากมาย ซึ่งคาดการณ์ว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหมดในปี 2613-2653 ขณะที่เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน เขาออกมาคาดการณ์เมื่อเห็นภาพถ่ายดาวเทียมว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะหมดไปในปี 2583 ซึ่งกระบวนการทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ทุกเรื่องอย่างแน่นอน

“สิ่งที่ยังเป็นปริศนาคือทำไมอัตราการละลายของน้ำแข็งถึงเร็วไปกว่าที่คอมพิวเตอร์คำนวณไว้ได้ แต่ก็ถือเป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากที่ทำให้เราได้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อๆ ไป น้ำแข็งที่พบในฤดูหนาวก็จะยังมีอยู่เหมือนเก่า ไม่ได้หนีหายไปไหน ทว่ามันจะละลายเกลี้ยงเมื่อฤดูร้อนมาถึง” เซอร์รีซ ทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000097944

Monday, August 20, 2007

ช็อก!ปะการังหดหายเร็วกว่าผืนป่า


สำรวจแหล่งปะการังในน่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปะการังแหล่งใหญ่ของโลก พบมีจำนวนลดลงเร็วกว่าการตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อน

จอห์น บรูโน และอลิซาเบธ เซลิก จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา แห่งสหรัฐ รวบรวมผลการสำรวจจากรายงานกว่า 6,000 เรื่อง ที่ศึกษาพื้นที่อยู่อาศัยของปะการังในอินโด-แปซิฟิก ระหว่างปี 2511-2547 พบว่า จำนวนปะการังลดลงร้อยละ 1 ทุกปี ขณะที่ป่าเขตร้อนชื้นลดลงราวร้อยละ 0.4 ต่อปีในช่วงปี 2533-2540

นักวิจัย กล่าวว่า ปะการังเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูน ปะการังสามารถสร้างขึ้นมาเอง โดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล หินปูนจะไปเกาะแนวหินจนเกิดเป็นแนวปะการัง ดังนั้น หากพื้นผิวของแนวหินไม่มีเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตคอยหลั่งคลุมอยู่ แนวหินจะผุกร่อนลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อย้อนไปราว 20 กว่าปีที่แล้ว แนวหินปะการังร้อยละ 40 มีปะการังปกคลุมอย่างสมบูรณ์ แต่จำนวนปะการังลดลงไปกว่าครึ่งในปี 2546 ทุกวันนี้มีแนวปะการังในอินโด-แปซิฟิก เหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีปะการังสมบูรณ์เหมือนกับ 20 กว่าปีที่แล้ว
นักวิจัย บอกว่า ปะการังลดลงอย่างน่าใจหาย เดิมพวกเขาคิดว่าปะการังในแถบอินโด-แปซิฟิก จะอยู่ในสภาพที่ดีกว่าแนวปะการังในทะเลแคริบเบียน ที่ทำให้เชื่อผิดๆ อย่างนั้น อาจเป็นเพราะนักวิจัยได้ศึกษาแนวปะการังในแคริบเบียนกันจนปรุ และปะการังในแถบนี้ลดหายไปร้อยละ 1.5% ต่อปี

พวกเขากล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อรักษาแนวปะการังซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญทางทะเล เช่น การออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการจับปลา และลดการใช้อวนลากบริเวณไหล่ทวีป ซึ่งจะช่วยปกป้องแนวปะการังในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการสากลเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตปะการัง

บรูโน ยังกล่าวด้วยว่า แนวปะการังบางแห่งที่เขาลงไปดำสำรวจพบว่า ปรับตัวรับสภาพน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว หรือปรับตัวเองเพื่อมีชีวิตรอด ในอนาคตทีมวิจัยตั้งเป้าศึกษาวิธีทำให้ปะการังปรับตัวกับภาวะโลกร้อน หนึ่งในนั้นอาจช่วยโดยฉีดวัคซีนให้ปะการังอยู่ในน้ำที่อุ่นขึ้นได้

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/20/WW54_5407_news.php?newsid=90367

เห็นมา 400 ปี เพิ่งพบ "ดาวใกล้ตาย" มีหางยาวถึง 13 ปีแสง


สเปซดอทคอม/บีบีซีนิวส์/เดอะบอสตันโกลบ-นักดาราศาสตร์พบ "ไมรา" ดาวฤกษ์ใกล้ตายมีหางยาว 13 ปีแสง จากการบันทึกด้วยรังสียูวี หลังค้นมา 400 ปีไม่มีใครเห็นมาก่อน เชื่อนำไปสู่ความเข้าใจระบบสุริยะหรือแม้กระทั่งการก่อเกิดชีวิต

นักดาราศาสตร์ค้นพบหางของดาวแดงขนาดยักษ์ที่ชื่อ "ไมรา" (Mira) ผ่านภาพที่บันทึกรังสีอัลตราไวโอเลตด้วยกล้องโทรทรรศน์กาเลกซ์ (Galaxy Evolution Explorer: Galex) ที่โคจรอยู่รอบโลก เพื่อสำรวจวิวัฒนาการของดาราจักร โดยดาวฤกษ์ซึ่งใกล้ตายดังกล่าว มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 400 เท่า และได้ทิ้งฝุ่นกลายเป็นหางคล้ายดาวหางและลากยาวถึง 13 ปีแสง ซึ่งทิ้งเรื่องราวในอดีตของดาวดวงนี้ไว้นานถึง 30,000 ปี

"สิ่งที่ค้นพบนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่สุดสำหรับเรา เราอยู่ระหว่างกระบวนการทำความเข้าใจฟิสิกส์ที่อยู่ในนั้น และหวังว่าจะสามารถอ่านหางของไมราได้เหมือนอ่านฉลากบนสินค้าเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของดาวฤกษ์" มาร์ก ไซเบิร์ท (Mark Seibert) หนึ่งในทีมนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวคาร์เนกี (Carnegie Observatories) ในพาซาเดนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่ค้นพบครั้งนี้เผย

นักวิจัยเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบนี้จะช่วยให้พวกเขาศึกษาว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อดวงดาวต้องพบกับจุดจบของตัวเอง จากการศึกษาคาร์บอน ออกซิเจนและธาตุอื่นๆ ที่รวมเป็นหางของไมรา จะช่วยให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าระบบสุริยะใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไรหรืออาจจะรวมถึงการเกิดชีวิตด้วย

ไมราเป็นดาวคู่ (binary star) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 350 ปีแสงและยังเป็นดาวแปรแสงซึ่งส่งจังหวะมืดและสว่างในช่วง 330 วัน โดยเมื่อ 400 ปีที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้ค้นพบไมรา เอ (Mira A) ซึ่งเป็นดาวคู่ที่สว่างและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนดาวคู่อีกดวงที่เคลื่อนที่รอบๆ ไมรา เอเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเราเรียกว่าไมรา บี (Mira B)

ไมรา เอ และไมรา บี ห่างจากกันประมาณ 90 หน่วยดาราศาสตร์ โดย 1 หน่วยดาราศาสตร์เท่ากับระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ และการศึกษาก่อนหน้านี้ชักนำว่าฝุ่นซึ่งหลุดออกมาจากไมราเอนั้นจะไปจับกันกลายเป็นวงแหวนรอบๆ ไมรา บี และวันหนึ่งก็จะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับดาวเคราะห์ดวงใหม่

แม้จะพบไมรามานานหลายศตวรรษแล้วแต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเห็นหางของดาวยักษ์แดงดวงนี้เพราะรูปร่างที่คล้ายดาวหางจะเรืองแสงในย่านรังสีอินฟราเรดเท่านั้น

แบร์รี มาดอร์ (Barry Madore) นักดาราศาสตร์อาวุโสผู้ร่วมวิจัยอีกคนหนึ่งเปิดเผยว่า กล้องกาเลกซ์ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลตมากและมีความจำเพาะที่จะตรวจวัดสิ่งใดๆ ที่ต้องใช้รังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งยังไม่เคยค้นพบมาก่อนในอดีต

"ข้อเท็จจริงที่ว่าหางของไมราจะเรืองแสงในย่านอัลตราไวโอเลตเท่านั้น อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมกล้องโทรทรรศน์อื่นๆ จึงไม่สามารถจับภาพนี้ได้" แบร์รีให้เหตุผล

เมื่อล้านล้านปีมาแล้วไมราก็น่าจะคล้ายกับดวงอาทิตย์ในระบบสิรุยะ แต่ปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะทุกข์ทรมานแห่งความตาย ด้วยอายุขัยที่มากโขและไม่อาจตอบสนองความต้องการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนปริมาณมากเพื่อเติมเชื้อไฟภายใน ทำให้ดาวดวงนี้ขยายบวมจนใกล้จะกลายเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อวินาที พร้อมทั้งทิ้งเศษซากของดาวจำนวนมหาศาล

ในที่สุดไมราจะปลดปล่อยก๊าซทั้งหมดที่มีอยู่บนดวงดาวสู่อวกาศ และก๊าซเหล่านั้นจะก่อตัวเป็นเมฆสีที่เรียกว่า "เนบิวลา" (nebula) ระหว่างดวงดาวซึ่งจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ส่วนไมราก็จะหดตัวกลายเป็นดาวแคระขาว

ถึงการค้นพบครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์เห็นหางของดาวที่ใกล้ตายได้ แต่พวกเขาก็สงสัยว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ น่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งรวมถึงดวงอาทิตย์ของเราในวันหนึ่งที่จะแปรเปลี่ยนไปดาวยักษ์แดงในอีก 4 ล้านล้านปี

อีกทั้งนักวิจัยยังวางแผนที่จะใช้คลื่นวิทยุและอินฟราเรดเพื่อมองเห็นดาวยักษ์แดงมีหางให้มากขึ้น และจะศึกษาภาพถ่ายของดาวไมราให้ดีขึ้นเพื่อทำความเข้าใจว่าชั้นบรรยากาศของดวงดาวเมื่อหลายหมื่นปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร

"ผ่านไป 400 ปีของการศึกษา ไมราก็ยังคงสร้างความพิศวง" ทีมค้นพบสรุป

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000096493

Sunday, August 19, 2007

เที่ยวงานวันวิทยาศาสตร์ที่ท้องฟ้าจำลอง


ย่างเข้าสู่วันวิทยาศาสตร์ หลายหน่วยงานก็เริ่มจัดนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ เพื่อเยาวชน ขณะที่กระทรวงวิทย์ล่วงหน้าไปก่อนแล้วกับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คราวนี้ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาที่ท้องฟ้าจำลองกันบ้าง ที่นี่เขาก็มีนิทรรศการและกิจกรรมให้น้องๆ ร่วมสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว

เริ่มกันที่ "แรลลีย์เขาวงกต...ลดโลกร้อน" กิจกรรมที่อยู่ด้านหน้าสุดของประตูทางเข้าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา หรือท้องฟ้าจำลองที่รู้จักกันนั่นเอง น้องๆจะได้เล่นเกมสนุก โดยการเลือกแผ่นป้ายกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ตรงกับใจของตัวเองกี่แผ่นป้ายก็ได้ในฐานต่างๆ ซึ่งแต่ละฐานจะมีข้อมูลให้น้องๆได้ศึกษาว่า อะไรเป็นตัวการทำให้โลกร้อน และเราจะมีวิธีช่วยลดโลกร้อนกันได้อย่างไรบ้าง จากนั้นรวบรวมแผ่นป้ายให้พี่ทีมงานในสถานีพิทักษ์โลกร้อนนับคะแนนและรับของรางวัล หากยังติดใจ จะเล่นต่ออีกกี่รอบก็ได้ ของรางวัลแจกกันไม่อั้นอยู่แล้ว

ช่วงนี้ปัญหาโลกร้อนกำลังมาแรง นอกจากแรลลีย์ลดโลกร้อนแล้ว ยังมีกิจกรรมให้เด็กหัดประกอบลูกโลกจากกระดาษ แต่มีข้อแม้ว่าข้องเขียนข้อความบอกคุณลุงผู้สอนด้วยว่า เราจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร เมื่อประกอบเสร็จก็เอาข้อความนั้นมาติดได้เป็นโมบายเก๋ไก๋ทีเดียว น้องๆหลายคนบอกว่าอยากปลูกต้นไม้ให้เยอะๆ เพื่อช่วยลดโลกร้อน ฟังแล้วน่าชื่นใจจริงๆ

ถัดมาไม่ไกลจากกัน ซุ้มเป่าแก้วสดใส ที่ซุ้มนี้น้องๆจะได้เรียนรู้เทคนิคและทดลองเป่าแก้วเป็นรูปต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีพี่ประจำซุ้มสอนให้ เห็นน้องบางคนกำลังเป่าแก้วเพลินจนลืมเจ็บ เพราะไม่ทันรู้ตัวว่าถูกแก้วบาดปากจนเลือดซิบออกมาเล็กน้อย

ซุ้มนี้ก็สนุกไม่แพ้กัน ซึ่งสอนประดิษฐ์ของเล่นสนุกด้วยวิธีการง่ายๆกับ "กังหันบั่นบื้อ ลดโลกร้อน" ที่ใช้อุปกรณ์จากไม้และเชือกด้ายไม่กี่ชิ้นก็สนุกได้โดยไม่ต้องหาซื้อของเล่นพลาสติกราคาแพง พี่ซุ้มใจดีสอนให้ไม่มีเบื่อ แม้เด็กๆรุมล้อมกันเต็มซุ้ม ใครทำเสร็จแล้วก็นำหลับบ้านได้ หรืออยากทำอีกหลายอันเอาไปฝากเพื่อนที่ไม่มาก็ไม่ว่ากัน

หากคิดอยากจะเป็นนักประดิษฐ์อย่างโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้เป็นคนแรกของโลก ก็ต้องที่ซุ้มนี้เลย "เกมชวนคิด เอดิสัน 2007" คุณลุงใจดีประจำซุ้มจะสอนให้น้องๆรู้จักและหัดประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้าอย่างง่ายด้วยถ่านไฟฉาย ลวดทองแดง และแท่งแม่เหล็ก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์แอบเห็นน้องบางคนฉายแววเอดิสันน้อยออกมาด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุกอีกมากมายทั้งการวาดรูป ระบายสี สำหรับน้องๆที่ชอบงานศิลปะ ซึ่งจะได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการออกมาเป็นรูปภาพสีสวย หรือจะเป็นการดัดขดลวดเป็นรูปต่างๆ ตามแต่จินตนาการของแต่ละคนก็มีให้สนุกกันด้วย

ในส่วนของเวทีกลาง น้องๆจะได้พบกับ 2 มร.โบนิง เมืองไทย ที่จะมาทดลองวิทยาศาสตร์สนุกๆ ให้น้องๆ ได้ดูบนเวทีในรายการ "ไซน์โชว์" (Science Show) ซึ่งจะได้เพลิดเพลินไปกับวิทยาศาสตร์แสนสนุก และยังมีการแสดงมายากล ดนตรี และเกมตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ด้วย โดยในวันที่ 23 ส.ค.นี้จะมีการประกวดไซน์โชว์รอบชิงชนะเลิศของน้องๆนักเรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

สนุกกับกิจกรรมมากมายแล้วก็ต้องชมนิทรรศการความรู้ด้วยจะได้เพิ่มพูนทั้งไอคิวและอีคิว ซึ่งที่นี่เขามีนิทรรศการถาวรจัดแสดงอยู่แล้วในอาคาร และที่นอกอาคารสำหรับช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ไทย ดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ มหัศจรรย์โลกใต้น้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ วิวัฒนาการหุ่นยนต์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฮบริดและจักรยานไฟฟ้าลดโลกร้อน และนิทรรศการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่น้องๆจะได้เรียนรู้เรื่องโลกร้อนในอดีตกับโลกร้อนในปัจจุบันว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เมื่อมาถึงท้องฟ้าจำลองกันแล้วเราก็จะได้ชมท้องฟ้าและดวงดาวยามค่ำคืนในเวลากลางวันด้วยที่ห้องฉายดาว พร้อมทั้งความรู้เรื่องดวงดาวมากมาย ซึ่งเขาจะเปิดให้ชมกันวันละ 4 รอบ รอบละประมาณ 1 ชม. ใครสนใจมาเที่ยวชมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของที่นี่ได้ตั้งแต่ 18-24 ส.ค. 2550 หรือมาชมนิทรรศการถาวรและชมท้องฟ้าจำลองกันได้ทุกวันในเวลาราชการ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000097181

Friday, August 17, 2007

แอนิเมชั่น"ดวงอาทิตย์ที่รัก" บทประพันธ์ของรมว.วิทย์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯแปลงวรรณกรรมบทประพันธ์เรื่อง "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ของ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ให้เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น ส่งเสริมปัญญาเยาว์ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน เตรียมเผยแพร่ซีดีการ์ตูนให้ผู้สนใจทั่วไป

รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สถาบันแปลงวรรณกรรมเรื่อง "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ซึ่งเป็นวรรณกรรมเรื่องที่ 2 ในชุดโครงการนิทานดาว ให้เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น สำหรับส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัยเรียน

วรรณกรรมเรื่องดวงอาทิตย์ที่รักเป็นบทประพันธ์ของศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการบรรจุลงในแบบเรียนภาษาไทยของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ที่มีความสำคัญต่อโลก และการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์

ทั้งนี้โครงการนิทานดาวจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนก่อนวัยเรียน ถือเป็นกิจกรรมสอดรับนโยบายปลูกฝังปัญญาเยาว์ของ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก่อนหน้านี้สถาบันเปิดตัวนิทานดาวเรื่องแรก "ตำนานดวงอาทิตย์กับกระต่าย" ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมากจากเยาวชน

สถาบันจึงจัดการประกวดนิทานดาวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจร่วมสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และขยายเวลารับผลงานไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ กำหนดให้เนื้อเรื่องสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ของดวงจันทร์ ได้แก่ การเกิดข้างขึ้น ข้างแรม ดวงจันทร์เต็มดวง เดือนมืด และปรากฏการณ์จันทรุปราคา ส่วนผู้ที่สนใจซีดีภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง ดวงอาทิตย์ที่รัก เพื่อนำไปเผยแพร่และให้ความรู้แก่เยาวชน ติดต่อผ่านทางอีเมล info@narit.or.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, August 16, 2007

โลกวิทยาศาสตร์-ยึดยอดอินทนนท์ตั้งสถานีจับตาพายุสุริยะ

สามสถาบันชั้นนำของไทยยึดยอดดอยอินทนนท์เปิดสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร เน้นภารกิจเฝ้าระวังพายุสุริยะพร้อมศึกษาผลกระทบ หวังแจ้งเตือนข้อมูลเร็วกว่านาซา

ศ.ดร.เดวิดรูฟโฟโล อาจารย์ประภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะผู้ประสานงานโครงการปีสุริยะฟิสิกส์สากลด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการติดตั้งหัววัดนิวตรอนและเปิดสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศที่นาซาสนับสนุน จะศึกษา 2 เรื่องหลักคือ เรื่องพายุสุริยะ ผลกระทบต่อโลก และเรื่องทิศทางลมสุริยะ ทั้งนี้ สถานีใช้ทุนดำเนินการเพียง 2 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น

สถานีจะตรวจวัดอนุภาครังสีคอสมิกที่ตกกระทบโลกซึ่งที่ผ่านมาพบสัญญาณจากอนุภาครังสีคอสมิก มากกว่าจุดตรวจวัดระดับภาคพื้นถึง 50 เท่าจากที่ ม.มหิดล เคยดำเนินการ

อนุภาครังสีคอสมิกไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงแต่สามารถสร้างความเสียหายแก่ดาวเทียม ยานอวกาศรวมถึงนักบินอวกาศ และผู้ที่เดินทางบนเครื่องบินที่เส้นทางบินผ่านขั้วโลก ซึ่งชั้นบรรยากาศบางเบา อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบดาวเทียมเพียง 15 ดวงที่ถูกทำลายจากอนุภาครังสีคอสมิก ในจำนวนนี้ไม่มีดาวเทียมของไทย

"ส่วนผลของการตรวจวัดอนุภาคนิวตรอน ต้องรอดูผลเบื้องต้นในอีก 6 เดือนว่า ปริมาณคอสมิกมีมากน้อยเพียงใด และจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ เพราะชั้นบรรยากาศในปัจจุบันเบาบางขึ้น ศ.ดร.เดวิดกล่าว

โครงการวิจัยนี้ยังศึกษาทิศทางลมสุริยะและการเคลื่อนที่ของอนุภาครังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์มายังโลก โดยนักวิจัยไทยสามารถพัฒนาโปรแกรมคำนวณการเดินทางของอนุภาครังสีคอสมิกมายังโลก ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ หากพัฒนาต่อไปจะสามารถคำนวณและเตือนภัยพายุสุริยะล่วงหน้า 5-6 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับโปรแกรมของนาซาที่เตือนภัยล่วงหน้าได้เร็ว 1 ชั่วโมง

โครงการวิจัยฟิสิกส์อวกาศข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรับปีสุริยะฟิสิกส์สากล ที่นาซาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมด้านนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ญี่ปุ่นขนหุ่นยนต์โชว์มหกรรมวิทย์50


robot1 หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เอชอาร์พี-ทูเอ็ม โครเม็ต

robot2 เจ้าหนู "มูราตะ" โชว์ปั่นจักรยาน

robot3 หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร "ฮิเอน"

ใครมีโอกาสได้เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี2550 ที่กำลังจัดแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อยู่ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค คงอดทึ่งความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากญี่ปุ่นที่มาร่วมโชว์ไม่ได้

นอกเหนือจากรถยนต์ลูกผสมจากค่ายโตโยต้าแล้วญี่ปุ่นยังได้ขนหุ่นยนต์ภาคสนามหลากหลายรูปแบบที่มีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ รุ่นเล็ก สูงฟุตกว่า หุ่นยนต์ปั่นจักรยานอัจฉริยะ มูราตะบอย หุ่นยนต์เก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ยังรวมไปถึง ปาโร แมวน้ำขนฟูยอดนิยมของเด็กที่มางานนี้เป็นครั้งที่3 แล้ว

จินซาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทเจเอส-โรโบติกส์ ผู้นำหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ขนาดเล็กที่มีชื่อรุ่นว่า เอชอาร์พี-ทูเอ็มโครเม็ต มาร่วมแสดงบอกว่า หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นรุ่นที่ย่อส่วนมาจากรุ่นก่อนที่มีขนาดใหญ่เท่าคนจริงแต่มีความสามารถเหมือนกัน มันสามารถตั้งโปรแกรมให้เตะ ต่อย ออกกำลังกาย ลุก นั่ง แม้กระทั่งการค่อยๆ นั่งบนเก้าอี้ แสดงให้เห็นความสามารถพิเศษในการรักษาสมดุลร่างกาย

เอชอาร์พี-ทูเอ็มโครเม็ต เป็นหุ่นยนต์สูง 37 เซนติเมตร น้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัม แต่ราคาสูงถึง 2 แสนบาท มีท่วงท่าเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับมนุษย์ สามารถเขียนโปรแกรมสั่งงานให้เคลื่อนไหวได้ทันทีภายใต้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์

อย่างไรก็ดีการส่งคำสั่งโปรแกรมไปยังหุ่นยนต์ยังไม่สามารถส่งคำสั่งแบบไร้สายต้องอาศัยสายรับส่งข้อมูลต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์เพื่อรับคำสั่งโดยตรง

หุ่นยนต์ที่เป็นดาวเด่นอีกตัวหนึ่งคือมูราตะบอย หุ่นยนต์ปั่นจักรยานพัฒนาโดยบริษัทมูราตะ แมนูแฟคเจอริง (Murata Manufacturing Co., Ltd) ที่นำมาให้ชาวไทยได้ชมถึง 2 ตัว จากทั้งหมด 3 ตัวนั้น สร้างความตื่นเต้นและทึ่งกับความสามารถในการทรงตัว และบังคับจักรยานได้อย่างเหลือเชื่อ มันสามารถปั่นจักรยานสองล้อวิ่งไปตามทางแคบและคดเคี้ยวได้โดยไม่หล่นลงข้างทางด้วยระบบเซ็นเซอร์รักษาสมดุลที่คอยตรวจวัดการทรงตัว และยังขี่ถอยหลังได้ด้วย

หุ่นยนต์เก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะหรือ ทาโอไอเคิล เป็นหุ่นยนต์ที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันไอเอสทีบริษัทไอชิน และบริษัทฟูจิซึ เป็นเก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะที่สามารถรู้ตำแหน่งและทิศทางได้แม่นยำ ด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์รับสัญญาณจีพีเอส เซ็นเซอร์อ่านไอซีแทค เซ็นเซอร์ทิศทาง และเซ็นเซอร์วัดรอบของล้อ ทำให้สามารถนำพาผู้ใช้ไปยังที่หมายได้อย่างถูกต้อง ไม่ออกนอกเส้นทาง ที่สำคัญยังปลอดภัยเพียงพอเพราะสามารถหลบหลีกและหยุดรถได้เองเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง

หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร"ฮิเอน" ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวพัฒนาและสร้างขึ้นเพื่อใช้สำรวจดาวอังคารออกแบบในรูปทรงยาน 4 ล้อน้ำหนัก 35 กิโลกรัม เน้นส่วนประกอบน้อยชิ้น พร้อมมอเตอร์ในแต่ละล้อเพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ สามารถเดินทางบนพื้นผิวที่ขรุขระ ล้อมีลักษณะสูง รองรับการเคลื่อนที่บนผืนทรายที่ถือเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวอังคาร

ขบวนการหุ่นยนต์ที่นำมาร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, August 15, 2007

ลุ้นชมจันทรุปราคา 28 ส.ค.คนอุบลฯ-ยโสฯ โชคดีเห็นเต็มดวง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯชวนคนอีสานลุ้นชมจันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคมที่จะถึงนี้ หากพลาดต้องรออีก 4 ปี ส่วนใครที่พลาดชมความงามของฝนดาวตกวันแม่ ยังมีโอกาสแก้ตัว โดยวันที่ 17-18 พฤศจิกายนจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกชุดสุดท้ายของปี
รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในวันที่28 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญทางดาราศาสตร์อีกครั้ง คือจันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ

จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ดวงจันทร์จะเคลื่อนเข้าสู่เงาของโลกจากด้านบน จนเต็มดวงในเวลา 16.52 น. ซึ่งในเวลานั้นดวงจันทร์จะยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าประเทศไทย จึงไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนเต็มดวงทั่วทั้งประเทศ แต่จะมองเห็นเป็นบางส่วน กระทั่งดวงจันทร์ออกจากเงามืดทั้งหมดในเวลา 19.23 น.

ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบ จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร คาดว่ามีโอกาสถึง 90% ที่จะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้ชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าในทิศตะวันออกก่อน ผู้อำนวยการสดร.กล่าว

ทั้งนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน เกิดเป็นเงามืดและเงามัวของโลก เข้าบดบังดวงจันทร์ ซึ่งปกติในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ จะต้องเห็นพระจันทร์เต็มดวง แต่เมื่อเกิดจันทรุปราคา จะเห็นเป็นพระจันทร์เสี้ยว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เสริมว่าในปี 2550 ประเทศไทยมีโอกาสชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์มากสุด โดยเห็นปรากฏการณ์ทางอุปราคาถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่จันทรุปราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม สุริยุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม และจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 สิงหาคม

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่กลุ่มดาวคนคู่ หรือ เปอร์ซิดส์ เมื่อคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม และปิดฉากด้วยฝนดาวตกในกลุ่มดาวสิงโต หรือ ลีโอนิกส์ ซึ่งรับชมได้ในคืนวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้

"จากสถิติพบว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคามีความถี่ในการเกิดน้อยกว่าสุริยุปราคา แต่เห็นได้บ่อยครั้งกว่า หากในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้า ต่างจากสุริยุปราคาที่ดูได้เฉพาะบางส่วนของโลกเท่านั้น ดร.ศรัณย์ กล่าวและว่า หากพลาดชมจันทรุปราคาของวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะรอชมได้อีกครั้งในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ขณะที่สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 11 เมษายน 2613

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, August 14, 2007

เส้นใยนาโนยกรถครึ่งตัน


ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โชว์เส้นใยไนลอนเล็กกว่านิ้วก้อย แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้กว่าครึ่งตัน อาศัยคุณสมบัติพิเศษของนาโนเทคโนโลยีเพิ่มความเหนียวคงทน

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า เทคโนโลยีสิ่งทอในปัจจุบันได้พัฒนาคุณสมบัติดีขึ้น เช่น การพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ หรือไนลอนด้วยท่อนาโนคาร์บอน ช่วยทำให้เส้นใยสังเคราะห์ มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และรับน้ำหนักได้มากขึ้น หรือหากนำไนลอนผสมกับอนุภาคของแร่ดินเหนียว จะช่วยให้เพิ่มคุณสมบัติการทนไฟ สามารถใช้งานรับน้ำหนัก ทดแทนเหล็ก ในอุตสาหกรรมได้

"เส้นใยที่เพิ่มคุณสมบัติจากการเติมอนุภาคนาโนลงไปสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น 3.5 เท่า หรือ 500 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเหล็ก แต่มีน้ำหนักเบากว่า ทำให้ขนย้ายได้สะดวก ไนลอนนาโนยังถูกนำไปใช้แทนลวดสลิงสำหรับปีนหน้าผา เนื่องจากมีคุณสมบัติดีกว่า" ดร.ศิรศักดิ์กล่าว

ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ซึ่งจัดที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ศูนย์นาโนเทคได้สาธิตพลังเหนียวของเส้นใยนาโน โดยใช้เส้นใยนาโนคาร์บอนขึงจักรยานยนต์น้ำหนักเกือบครึ่งตันลอยอยู่เหนือพื้น ท่อคาร์บอนนาโนเป็นวัสดุที่นักวิจัยให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแกร่งกว่าเหล็กหลายเท่า แต่มีน้ำหนักเบามาก และกำลังพัฒนาเส้นลวดนาโน เพื่อใช้ทำลิฟต์อวกาศส่งสัมภาระให้กับสถานีอวกาศ แทนการลำเลียงด้วยกระสวยอวกาศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเส้นใยด้วยนาโนเทคโนโลยียังมีราคาสูง เมื่อเทียบเท่ากับวัสดุที่ทำจากเหล็ก ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและราคาถูกลง

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาคุณสมบัติของสิ่งทอเช่นกัน โดยเน้นไปที่การพัฒนาเส้นใยผ้าให้มีคุณสมบัติที่ต้องการ เช่น กันรังสียูวี กันแบคทีเรีย กันยับ กันน้ำ และทนไฟ โดยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและถ่ายทอดสู่เอกชนที่สนใจ

"ปัจจุบันการพัฒนาสิ่งทอไม่ได้จำกัดอยู่ แค่เส้นใยผ้า แต่สามารถพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม ศูนย์นาโนเทคยังได้วิจัยนาโนไฟเบอร์ สำหรับใช้ทำผ้าปิดแผล ซึ่งมีคุณสมบัติในการนำส่ง และปลดปล่อยยาตามที่ต้องการ" ดร.ศิรศักดิ์กล่าว

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับนิทรรศการโลกร้อน

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า นิทรรศการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เน้นให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ เช่น การปรับปรุงคุณสมบัติของเส้นใยผ้า ให้มีความสามารถในการหน่วงไฟ กันยับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมต่อยอดให้กับเอกชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอมีโอกาสแข่งขันได้มากขึ้น
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/14/WW54_5404_news.php?newsid=89301

Monday, August 13, 2007

สัมผัสโรงหนังสี่มิติ มหกรรมวิทยาศาสตร์ปี 50

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิญชวนคุณสัมผัสเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น ภายในโรงภาพยนตร์สี่มิติที่ส่งภาพน้ำทะเลท่วมให้ปรากฏตรงหน้าเสมือนกับเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ พร้อมทั้งดมกลิ่นมีเทนจากตดวัว และบุกป่าจำลองไปเรียนรู้โลกจุลินทรีย์ ได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2550 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคม ที่ศูนย์การประชุมไบเทค เปิดให้เข้าชมฟรีทุกรายการ

ภายในงานยังมีโซน “วิทยาศาสตร์ดินแดนมหัศจรรย์” ให้เยาวชนเข้าไปทดลองและปฏิบัติด้วยตนเอง สัมผัสหุ่นยนต์เหมือนคน หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์แมวน้ำ หุ่นยนต์ขี่จักรยาน และทดลองใช้กล้องดูดาวจุดดับบนพระอาทิตย์

เส้นใยพลังช้างยกรถครึ่งตัน
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า โซนนิทรรศการเทคโนโลยีอุบัติใหม่ จะพบกับอุโมงค์นาโนที่สาธิตพลังเหนียวของ “เส้นใยพลังช้าง” โดยใช้แทนลวดสลิงขึงจักรยานยนต์ ซึ่งน้ำหนักเกือบครึ่งตัน ให้ลอยอยู่เหนือพื้น เส้นใยบางๆ ดังกล่าวสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีนาโน แบกรับน้ำหนักได้มากขึ้น 3.5 เท่า หรือมากถึง 500 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเหล็ก ไนลอนนาโนยังใช้แทนลวดสลิงสำหรับปีนหน้าผา

ซอฟแวร์รับมือแผ่นดินไหว
ญี่ปุ่นฉลองความสัมพันธ์ 120 ปีทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ส่ง 80 ผลงานร่วมแสดงในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยกตัวอย่าง นวัตกรรมความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประกอบด้วย โปรแกรมประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว และโปรแกรมจำลองการเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์

โปรแกรมประเมินพื้นที่เสี่ยงฯ จะวิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไป เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม ทำเลที่ตั้งของอาคาร รวมทั้งรายละเอียดของอาคาร โปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยเตรียมตัวรับมืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนโปรแกรมจำลองการเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์จะแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของสิ่งของเครื่องใช้ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ผู้อยู่อาศัยนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางจัดวางสิ่งของต่างๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย

วว.เปิดตัวข้าวผงผสมเกลือแร่
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำ “ข้าวผงผสมเกลือแร่” ผลิตภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนาของฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร เป็นการนำข้าวเหนียวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพ ที่อุดมด้วยสารอาหารด้านเกลือแร่และวิตามิน เหมาะสำหรับผู้มีอาการอ่อนเพลียจากการขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคท้องร่วง ผู้ป่วยระยะพักฟื้น เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ข้าวผงผสมเกลือแร่มี 2 รสชาติ คือ รสธรรมชาติและรสไก่ วว.ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วิจัยถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของข้าวผงผสมเกลือแร่กับผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 35 คน ปรากฏผลการรักษาออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากอาการอ่อนเพลียได้ดีและเร็วขึ้น รวมทั้งไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

"หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย


หุ่นยนต์ต้อนรับฝีมือคนไทย เปิดตัวครั้งแรกในมหกรรมวิทย์ฯ ก่อนเข้ารับหน้าที่ปฏิคม ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สานฝันยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติของ รมว.วิทย์ ด้านนักประดิษฐ์เผยแม้วันนี้หุ่นยนต์ยังไม่ฉลาดล้ำ แต่สามารถพัฒนาให้เก่งมากขึ้นได้ในอนาคต

ฮือฮาทีเดียว กับวิสัยทัศน์ของ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนปัจจุบัน “ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” ตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 1 ปีต่อจากนี้จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้อนรับใกล้เคียงมนุษย์ (Humanoid) ได้สำเร็จ ตามแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติ ที่กำลังจะร่างขึ้น โดยยกตัวอย่างหุ่นยนต์ “อาซิโม” ของญี่ปุ่นมาเทียบเคียง เพื่อทำหน้าที่เป็นปฏิคม ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ.ปทุมธานี เพื่อดึงดูดเยาวชนไทยให้สนใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์มากขึ้น

ล่าสุด ใน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ประจำปี 2550 ที่กำลังจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในซุ้มนิทรรศการของ อพวช.ก็ได้นำหุ่นยนต์ต้อนรับต้นแบบที่พัฒนาขึ้นโดยวิศวกรของ อพวช.มาเรียกความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานก่อนแล้ว

หุ่นยนต์ดังกล่าวประดิษฐ์โดยอาศัยกลไกทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อรับคำสั่งเสียงจากไมโครโฟนกว่า 20 ชุดคำสั่งเสียงที่ได้จัดทำไว้แล้ว เช่น สวัสดี ฮัลโล โรบอท ลูซี ส่ายหน้า ยกแขน ชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ฯลฯ ซึ่งคำสั่งเหล่านี้จะสั่งให้หุ่นยนต์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนิทรรศการได้ตามต้องการ

ตัวหุ่นยนต์สามารถขยับร่างกายได้ทั้งส่ายหน้าซ้าย -ขวา พยักหน้าขึ้น –ลง และสามารถขยับแขนทั้ง 2 ข้างได้ เช่น ยกแขนและงอแขน พร้อมมีเสียงทักทายหรือให้ข้อมูลกับผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ ด้วยรูปลักษณ์ของหุ่นไฟเบอร์กลาสที่ผู้ประดิษฐ์ได้ออกแบบให้ดูล้ำสมัยและน่ารัก

“ผมใช้เวลาประดิษฐ์หุ่นยนต์ต้อนรับตัวนี้ตั้งแต่ต้นจนเสร็จประมาณ 2 เดือน ทั้งการออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ การออกแบบท่าทางของหุ่น และการเขียนชุดคำสั่ง ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถเขียนชุดคำสั่งเพิ่มได้เรื่อยๆ" นิรุต กวีวัจน์ วิศวกรกองนิทรรศการ อพวช.เผย

"ตอนนี้หุ่นยนต์ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเป็นเพียงต้นแบบ มีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 70% โดยมีปัญหากับการรับคำสั่งเสียงภาษาไทยที่มีทั้งเสียงสั้นและเสียงยาวอยู่บ้าง ชุดคำสั่งที่เหมาะสมจึงควรมีความยาวเพียง 1–3 พยางค์ก่อน” นักประดิษฐ์กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับตัวต้นแบบนี้ มีต้นทุนการผลิตพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมประมาณ 40,000 บาท แต่เชื่อว่าหากผลิตออกมาใช้มากขึ้นแล้ว จะสามารถสร้างได้ในราคาประมาณ 20,000 บาท/ตัว

แม้ว่ายังไม่ใช่หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เลียนแบบมนุษย์ แต่ยังจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก เช่น อาจทำให้เหลือเพียงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเพียงแผงเดียวติดไว้ด้านหลังหุ่นยนต์แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุม หรือการติดเซ็นเซอร์ให้หุ่นยนต์ฉลาดมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เดินผ่านไป-มาได้มากขึ้น

“ผมเชื่ออีกว่าหากมีการเขียนโปรแกรมดีๆ แล้ว หุ่นยนต์ตัวนี้ก็สามารถต่อยอดไปเป็นหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดในตัวแบบ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence: AI) ได้เช่นกัน” นักประดิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000093367

Friday, August 10, 2007

"มูราตะ" และกองทัพหุ่นยนต์ญี่ปุ่นถึงสัปดาห์วิทย์แล้ว


อดใจรอคอยกันพักใหญ่ว่ากองทัพหุ่นยนต์จากประเทศญี่ปุ่นจะมาร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 ทันกำหนดหรือเปล่า? ในที่สุดหุ่นยนต์เด็กชายขี่จักรยาน “มูราตะ” และหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะ ก็มาเปิดรอบการแสดงเรียกเสียงฮือฮาจากผู้มาร่วมงานน้อย -ใหญ่ไปบ้างแล้วในวันที่ 2 ของการจัดงาน

หุ่นยนต์เด็กชายถีบจักรยาน “มูราตะ” (Murata) หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ “มูราตะเซซัคคุง”เป็นหุ่นยนต์ขี่จักรยานสูง 50 ซม.น้ำหนัก 5 กก. ซึ่ง บ.มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตขึ้นแล้ว 3 ตัว (มูลค่าตัวละ 2.7 ล้านบาท) แต่ไม่ได้ทำออกจำหน่าย

หุ่นยนต์มูราตะได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีการทรงตัวที่ดี สามารถตรวจหาเส้นทางด้วยอุปกรณ์ไจโรเซ็นเซอร์ (Gyro Sensor) ขี่จักรยานไปข้างหน้าและถอยหลังได้ รวมทั้งสามารถขี่จักรยานไปบนทางเดินแคบๆ ลาดเอียง และคดเคี้ยวได้ อีกทั้งเมื่อเดินทางจนสิ้นสุดเส้นทางแล้วก็สามารถหยุดเคลื่อนไหวได้เองด้วย

ส่วนหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ (Humanoid) แบบตั้งโต๊ะเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งชาติญี่ปุ่น (AIST) และถ่ายทอดให้แก่บริษัทเอกชนผลิตในเชิงพาณิชย์ หนึ่งในนั้นคือนายจิน ซาโต้ ผู้บริหารสูงสุดของ บ.เจเอส –โรโบติกส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้สร้างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเท่าคนจริง มูลค่า 10.8 ล้านบาท ซึ่งรับคำสั่งให้ทำงาน เปิดประตูหรือหยิบของจากตู้เย็นโดยใช้เสียงสั่ง

ทั้งนี้ เขายังได้พัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์รุ่นเอชอาร์พี –2 เอ็ม โคโรเม็ต (HRP –2M Choromet) หรือฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะ มูลค่า 200,000 บาท มาจัดแสดงด้วย โดยย่อขนาดมาจากฮิวมานอยด์ขนาดเท่าคนจริง ทำงานแบบทันท่วงที (เรียลไทม์) ด้วยการเขียนคำสั่งในโปรแกรมลินุกซ์ (Linux) เช่นเดียวกัน แต่ยังต้องมีสายไฟต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์เพื่อรับคำสั่งโดยตรง

ฮิวมานอยด์ตั้งโต๊ะสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานศึกษาและวิจัย สูง 37 ซม. หนัก 1.5 กก.ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ตามจุดต่างๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งเซ็นเซอร์วัดการเร่งความเร็ว เซ็นเซอร์วัดมุมองศาบริเวณลำตัว และเซ็นเซอร์วัดแรงกระทบที่ฝ่าเท้า 2 ข้าง สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ อาทิ ต่อยมวย เตะ ต่อสู้ นอน นั่ง ยืน เดิน และทำท่าสะพานโค้ง ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนนิทรรศการจากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำหุ่นยนต์แมวน้ำ “พาโร” เพื่อการบำบัด และเก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะ มาร่วมจัดแสดงในงานด้วย ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมการแสดงของกองทัพหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นได้ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยการแสดงกองทัพหุ่นยนต์จะจัดแสดงเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายวันละ 6 รอบการแสดง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000093562

ไทยจัดแข่งหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007

เอ็มเทค จับมือพันธมิตรเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007 ครั้งแรกในไทยสานสัมพันธ์ 120 ไทย-ญี่ปุ่น ลุ้นเด็กไทยนัดตัดเชือกได้ในงานสัปดาห์วิทย์ฯ 18 สิงหาคมนี้ที่ไบเทค บางนา

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพันธมิตรจัดการแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้จะแสดงถึงศักยภาพของประเทศและเยาวชนไทยให้ต่างประเทศได้รับรู้ ปูทางสู่เวทีระดับโลก และทำให้เยาวชนตระหนักถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพได้

สำหรับการแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 18 ซึ่งจะประเดิมความสามารถของเด็กไทยด้านวิทยาการหุ่นยนต์จำนวน 12 คน จากสถาบันการศึกษา ต่าง ๆ โดยจะจับสลากรวมกลุ่มกับเยาวชนนานาชาติจากอีก 5 ประเทศคือ ญี่ปุ่น อเมริกา บราซิล เกาหลีใต้และฝรั่งเศส ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ ในโจทย์การแข่งขันที่เกี่ยวเนื่องจากวันแม่แห่งชาติของไทยในหัวข้อ “Thank You Mae (MOM)” เทิดพระคุณแม่ด้วยการให้หุ่นยนต์นำพวงมาลัยและดอกไม้ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปมอบให้กับคุณแม่เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่

การแข่งขันจะเริ่มเก็บตัวทำเวิร์กช็อป ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 6-18 สิงหาคมและแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ 2550 ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=136196&NewsType=1&Template=1

เตรียมชม "เพอร์เซอิดส์" ฝนดาวตกคืนวันแม่ปีนี้นาทีละดวง


คืน “วันแม่” ปีนี้ คนไทยจะมีโอกาสชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก “เพอร์เซอิดส์” ทั้งประเทศต่อถึง เช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยชี้เพราะอานิสงค์ฟ้าเปิดช่วงมรสุม ทำให้เห็นปรากฏการณ์ได้ชัดเจน คาดอัตราการตกค่อนข้างถี่ นาทีละดวง คนไทยทั่วทุกภาคสามารถรอชมได้ในที่สูงและไม่มีแสงรบกวน

ระหว่างวันที่ 12 -13 ส.ค.ผู้สนใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทยจะมีโอกาสติดตามชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseid Meteor Shower) หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” กันถ้วนหน้า โดยจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00 น.ของคืนวันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค.จนมีความถี่มากที่สุดในเวลาประมาณ 04.00 -05.00 น.ของเช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. ขณะที่ผู้สังเกตปรากฏการณ์ในยุโรปจะมีทัศนวิสัยดี สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ได้ดีกว่าประเทศในแถบเอเชีย

สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงกลางเดือน ส.ค. สะเก็ดดาวเคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 59 กิโลเมตรต่อวินาที

เมื่อเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกจะเกิดแสงสีสวยงาม ดาวตกเกือบครึ่งเป็นลูกไฟ (Fireball) ที่มีความสว่างมาก ส่วนมากมีสีขาวและสีเหลือง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยข้อมูลจากองค์การอุกกาบาตสากลคาดว่าจะมีอัตราการตกราว 100 ดวง/ชั่วโมง แต่จะสามารถมองเห็นได้เพียงประมาณ 60 ดวง/ชั่วโมง หรือเฉลี่ยนาทีละหนึ่งดวงเท่านั้น

ดาวหางต้นกำเนิดของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์คือ ดาวหางสวิฟต์ –ทัตเทิล (Swift -Tuttle) ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 130 ปี โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในปี พ.ศ.2535 ทำให้กลางเดือน ส.ค.ปีดังกล่าวมีฝนดาวตกมากถึง 400 ดวง/ชั่วโมง และลดลงในปีต่อๆ มา ส่วนกลุ่มดาวเพอร์เซอิดส์เป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือ ตั้งตามชื่อวีรบุรุษกรีกผู้สยบเมดูซา

สาเหตุที่เรียกฝนดาวตกในช่วงกลางเดือน ส.ค.ของทุกปีว่า “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” เพราะเป็นชื่อของกลุ่มดาวที่เป็นตำแหน่งจุดกระจายของดาวตก (radiant) ในประเทศไทยจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฝนดาวตกวันแม่” เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถถือเป็นวันแม่แห่งชาติของคนไทยด้วย

สำหรับผู้สนใจติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าว นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่า สามารถแหงนหน้ามองได้ตามวันและเวลาข้างต้นด้านขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับกระจุกดาวลูกไก่และกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย หรือกลุ่มดาวค้างคาว

“ปกติแล้วในช่วงเวลานี้ของปีจะเป็นช่วงฤดูฝน มีมรสุม ท้องฟ้าไม่เปิด แต่สำหรับปีนี้จะเป็นโอกาสดีที่ฟ้าเปิด อีกทั้งยังเป็นคืนจันทร์ดับช่วงวันแรม 14 ค่ำคาบเกี่ยววันแรม 15 ค่ำทำให้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน เราจึงสังเกตฝนดาวตกวันแม่ได้ในที่มืดและโล่งเช่นบนตึกสูง หากดูเป็นคู่ๆ ยืนหันหลังชนกันแล้วแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าก็จะเห็นปรากฏการณ์ได้อย่างชัดเจนและมองเห็นเกือบทั้งหมด” นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยกล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089228

Thursday, August 9, 2007

นาโนเทคอวดเส้นใยพิเศษยกรถครึ่งตัน

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติโชว์เส้นใยไนลอนเล็กกว่านิ้วก้อย แต่สามารถรองรับน้ำหนักได้กว่าครึ่งตัน อาศัยคุณสมบัติพิเศษของนาโนเทคโนโลยีเพิ่มความเหนียวคงทน สามารถปรับใช้เป็นวัสดุเสริมแรงในอุตสาหกรรม

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโบลีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า เทคโนโลยีสิ่งทอในปัจจุบันได้พัฒนาคุณสมบัติดีขึ้น เช่น การพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ หรือไนลอนด้วยท่อนาโนคาร์บอน ช่วยทำให้เส้นใยสังเคราะห์มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และรับน้ำหนักได้มากขึ้น หรือหากนำไนลอนผสมกับอนุภาคของแร่ดินเหนียวจะช่วยให้เพิ่มคุณสมบัติการทนไฟ สามารถใช้งานรับน้ำหนักทดแทนเหล็ก ในอุตสาหกรรมได้

“เส้นใยที่เพิ่มคุณสมบัติจากการเติมอนุภาคนาโนลงไปสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น 3.5 เท่า หรือ 500 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเหล็ก แต่มีน้ำหนักเบากว่า ทำให้ขนย้ายได้สะดวก ไนลอนนาโนถูกนำไปใช้แทนลวดสลิงสำหรับปีนหน้าผา เนื่องจากมีคุณสมบัติดีกว่า” ดร.ศิรศักดิ์กล่าว

ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ซึ่งจัดที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ศูนย์นาโนเทคได้สาธิตพลังเหนียวของเส้นใยนาโนโดยใช้เส้นใยนาโนคาร์บอนขึงจักรยานยนต์น้ำหนักเกือบครึ่งตันลอยอยู่เหนือพื้นท่อคาร์บอนนาโนเป็นวัสดุที่นักวิจัยให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแกร่งกว่าเหล็กหลายเท่า แต่มีน้ำหนักเบามาก และกำลังพัฒนาเส้นลวดนาโนเพื่อใช้ทำลิฟต์อวกาศส่งสัมภาระให้กับสถานีอวกาศ แทนการลำเลียงด้วยกระสวยอวกาศ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเส้นใยด้วย นาโนเทคโนโลยียังมาราคาสูงเมื่อเทียบกับวัสดุที่ทำจากเหล็ก ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและราคาถูกลง

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาคุณสมบัติที่ต้องการ เช่น กันรังสียูวี กันแบคทีเรีย กันยับ กันน้ำ และทนไฟ โดยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและถ่ายทอดสู่เอกชนที่สนใจ

“ปัจจุบันการพัฒนาสิ่งทอไม่ได้จำกัดอยู่แค่เส้นใยผ้า แต่สามารถพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม ศูนย์นาโนเทคยังได้วิจัยนาโนไฟเบอร์สำหรับใช้ทำผ้าปิดแผล ซึ่งมีคุณสมบัติในการนำส่ง และปลดปล่อยยาตามที่ต้องการ” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว

มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปีนี้ให้ความสำคัญกับนิทรรศการโลกร้อน

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า นิทรรศการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เน้นให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ เช่น การปรับปรุงคุณสมบัติของเส้นใยผ้าให้มีความสามารถในการหน่วงไฟ กับยับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ เช่น การปรับปรุงคุณสมบัติของเส้นใยผ้า ให้มีความสามารถในการหน่วงไฟ กันยับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมต่อยอดให้กับเอกชน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอมีโอกาสแข่งขันมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

จุฬาฯ สกัดแบคทีเรียผลิต ‘ไบโอดีเซล’ หวังลดใช้สารเคมี-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพจากแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต้องเสียต้นทุนกำจัดผลพลอยได้ก่อมลพิษจากตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตไบโอดีเซลพร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคนิคผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาราคาถูก

รศ. ดร.วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกูล จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจุฬาฯ ประสบความสำเร็จค้นพบตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ (biocatalyst) จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติประกอบด้วยแบคทีเรียจากดิน จุลินทรีย์ และเชื้อรา ที่มีประสิทธิภาพดีในการผลิตไบโอดีเซล โดยไม่เหลือสิ่งตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากน้ำมัน พืช หรือไขมันสัตว์ โดยผ่านกระบวนการทำให้โมเลกุลเล็กลงจนอยู่ในรูปของเมทิลเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลและสามารถนำไปใช้แทนดีเซลได้ทันที พืชที่ทำให้น้ำมันหลายชนิด เช่น มะพร้าว ปาล์ม สบู่ดำทานตะวัน รวมไปถึงน้ำมันใช้แล้วเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ทำไบโอดีเซล

การผลิตไบโอดีเซลจำเป้นต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจากสารเคมีประเภทโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโปแตสเซียม
ไฮดรอกไซด์ ซึ่งจะได้เมทิลเอสเตอร์ สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซล ขณะเดียวกันยังได้กลีเซอร์รอล หรือสบู่ ที่มีสภาพเป็นกรด ด่าง ต้องกำจัดทิ้งเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตามมา

“นักวิจัยทั่วโลกต่างให้ความสนใจศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ได้กลีเซอรอลที่บริสุทธิ์จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล หลังจากตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีได้ถูกพัฒนามากว่า 100 ปี แต่ยังยากในการกำจัด” นักวิจัยกล่าว

การวิจัยของจุฬาฯ ได้รับทุนสนับสนุน 18 ล้านบาท จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อค้นหาตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพภายใน 3 ปี ซึ่ง (2549-2551) ปัจจุบันทีมวิจัยได้สกัดเอนไซม์ ไลเพลส จากแบคทีเรีย จุลินทรีย์ และเชื้อรา ที่มีประสิทธิภาพดีได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี จึงจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนถูกลง โดยทีมวิจัยได้ศึกษากระบวนการทำให้เชื้อสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยอาศัยวิธีการตรึงกับตัวค้ำจุน เช่น เม็ดทราย ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำปฏิกิริยาสามารถทำซ้ำได้ราว 10-20 ครั้ง

นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังศึกษาการทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์ และเพิ่มความสามารถของเชื้อในการเร่งปฏิกิริยาใช้เร็วขึ้นจากเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 1 วัน ให้เหลือเพียงครึ่งวัน ตลอดจนสามารถเร่งปฏิกิริยาได้โดยไม่ต้องอาศัยความร้อนและควบคุมอุณหภูมิซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้อีกทางหนึ่ง

ทีมวิจัยยังได้ขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่โรงงานต้นแบบ เพื่อดูประสิทธิภาพการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่ 10,000-100,000 ลิตร ต่อปี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2551

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เฟ้นตัวแทนไทยทำหุ่นยนต์กู้ภัยร่วมแข่งเวทีโลก

เครือซิเมนต์ไทยร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย(ทีอาร์เอส) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ปีที่ 4 ชิงทุนการศึกษา ทีมชนะได้ไปพิชิตแชมป์หุ่นยนต์โลกที่ประเทศจีนปีหน้า

นางมัทนาเหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กล่าวถึงโครงการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย 2007 เป็นเวทีสำหรับนำความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์มาค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่างๆ ภายใต้สถานการณ์จำลองอุบัติภัย อาทิ อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว หรือภัยอื่นๆ

กติกาการเข้าร่วมแข่งขันผู้สมัครต้องเป็นนิสิตนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา หรือสูงกว่า แต่ละทีมมีนักศึกษา 3 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 2 แสนบาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนในปีหน้า ส่วนทีมรองชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา 1 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลประเภทเทคนิคยอดเยี่ยม และประเภทสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ยังจะได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 5 หมื่นบาท

ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่www.thailandrescuerobot2007.org หรือ www.scg.co.th ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ และการแข่งขันรอบแรกจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้

โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เครือซิเมนต์ไทยเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี2547 และได้จัดส่งผู้ชนะเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด โครงการดังกล่าวต้องการสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนไทย พัฒนาความรู้และสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

"เอนเดฟเวอร์" ทะยานฟ้าสานฝันหลัง "ชาเลนเจอร์" ระเบิด


สเปซดอคคอม/เอเยนซี-นาซาส่ง "เอนเดฟเวอร์" ทะยานฟ้าสำเร็จสานฝัน 21 ปีส่งครูสอนบนอวกาศหลัง "ชาเลนเจอร์" ระเบิด

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ส่งกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ทะยานฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนนาดี (Kennedy Space Center) ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) สำเร็จตามกำหนดในเช้าวันที่ 9 ส.ค. เวลา 06.36 น.ตามเวลาประเทศไทย นับเป็นเที่ยวบินแรกของเอนเดฟเวอร์นับแต่เดือน ธ.ค. 2545

จรวดที่ลำเลียงเอนเดฟเวอร์ขึ้นไปได้แยกตัวออกจากกระสวยอวกาศหลังถูกปล่อยตัวขึ้นจากฐานยิง 2 นาที จากนั้นกระสวยอวกาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีกำหนดไปถึงสถานีอวกาศในวันที่ 11 ส.ค.เวลา 00.53 น. ตามเวลาประเทศไทย

นอกจากขนอุปกรณ์ขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศแล้ว เอนเดฟเวอร์ยังนำนักบินอวกาศหญิงบาร์บารา มอร์แกน (Barbara Morgan) วัย 55 ขึ้นไปสอนวิทยาศาสตร์บนอวกาศซึ่งจะถ่ายทอดสัญญาณกลับลงมาบนโลกผ่านเว็บไซต์ http://www.us-satellite.net/sts118 ถือเป็นการเติมเต็มความฝันของเธอที่ยาวนาน 21 ปีหลังจากยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ซึ่งมีภารกิจเดียวกันนี้ระเบิดขณะส่งยานขึ้นไปเพียง 73 วินาทีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2529

ทั้งนี้มอร์แกนผู้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นครูสู่นักบินอวกาศได้กลายเป็นดาราประจำเที่ยวบินอวกาศครั้งที่ 2 ในรอบปีของนาซา จากการสานฝันของมนุษยชาติที่จะมีครูสอนหนังสือบนอวกาศ ตรงข้ามกับข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันนี้จากปัญหาเรื่องรักสามเส้าของนักบินอวกาศหญิงจนนำไปสู่คดีประทุษร้ายและลักพาตัว และการปล่อยให้นักบินขึ้นบินขณะ "เมาหนัก"

สำหรับลูกเรือ 7 คนในเที่ยวบินอวกาศล่าสุดของนาซานอกจากมอร์แกนแล้วประกอบด้วย สกอตต์ เคลลี (Scott Kelly) ผู้บังคับการบิน ชาร์ลส์ โฮบวก (Charles Hobaugh) ผู้ช่วยผู้บังคับการบิน ริค มาสตราซชิโฮ (Rick Mastracchio) เทรซี คาล์ดเวลล์ (Tracy Caldwell) แอลวิน ดรูว (Alvin Drew) และเดฟ วิลเลียมส์ (Dave Williams) แพทย์ชาวแคนาดา

ส่วนภารกิจยาวนาน 11 วันของลูกเรือเอนเดฟเวอร์คือการเปลี่ยนลูกข่างไจโรสโคป (gyroscope) ที่ไม่สมดุล เพื่อช่วยให้สถานีอวกาศไม่เอียง และติดตั้งชานชาลาสำหรับเก็บของด้านนอกสถานีอวกาศ

อีกทั้งภารกิจอาจจะยืดเวลาไปอีก 3 วันซึ่งจะรวมการเดินอวกาศครั้งที่ 4 สำหรับการเตรียมความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้ลูกเรือตรวจสอบความเสียหายต่อชนวนกันความร้อนของกระสวยอวกาศได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000093163

มหกรรมวิทย์’50 เริ่มแล้ว


งานมหกรรมวิทยาศาสตร์’50 เริ่มแล้ว เด็กนักเรียนจากทั่วสารทิศร่วมชมงานคับคั่ง จำลองน้ำทะเลท่วมเมืองกระตุ้นจิตสำนึกการใช้พลังงาน เปิดความรู้ใกล้ตัว “ตดวัว” เหตุทำให้โลกร้อน ด้านญี่ปุ่นขนหุ่นยนต์รวมโชว์กว่า 10 ตัว

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2550 มาพร้อมแนวคิด “วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม” เริ่มเปิดให้เข้าชมงานแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. บรรยากาศคึกคัก เด็กนักเรียนนับพันจากหลายโรงเรียนแห่ร่วมชมงาน ซึ่งพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 10 ส.ค. โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน
ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการและกิจกรรมแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีที่นำสมัยโดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในประเทศกว่า 40 หน่วยงาน และมีนิทรรศการจากต่างประเทศมาร่วมจัดแสดงอีกไม่น้อยกว่า 8 ชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ
ไฮไลท์เด่นของงานอยู่ที่ นิทรรศการจำลองเหตุการณ์สภาวะโลกร้อน แบบ 4 มิติ ซึ่งผู้ชมนิทรรศการจะได้สัมผัสทั้งแสง สี เสียง และสัมผัส ถึงเหตุการณ์น้ำทะเลท่วมเมือง เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจริงในอีก 50 ปีข้างหน้า ถ้าประชาชนยังไม่หันมาใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงาน ซึ่งเหตุการณ์จำลองนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดก่อนใช้ และพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่นพลังงานน้ำ พลังงานลม แทนพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้

นอกจากนี้ยังมี นิทรรศการกองทัพหุ่นยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดกว่า 10 ตัวจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หุ่นยนต์ถีบจักรยาน “มุราตะ” และ เก้าอี้สำหรับผู้พิการอัจฉริยะ โดยความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาส 120 ปีความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น รวมทั้งนำเสนอผลงานหุ่นยนต์ของ 3 ทีมนักศึกษาไทยที่ร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์โลก (World Robocup 2007) ณ ประเทศเยอรมนี, นิทรรศการพลังงานยุคใหม่ และถ้ำจำลองวิกฤติพลังงาน “หากโลกนี้ไม่มีพลังงาน”, อุโมงค์เรียนรู้ภัยพิบัติจากน้ำ

นิทรรศการ 100 ปีสุริยฟิสิกส์ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ย้อนเวลาไปเมื่อ 139 ปีที่แล้ววันที่เกิดสุริยุปราคา, นิทรรศการนาโนเทคโนโลยี, การเยี่ยมสถานีป่าจำลองเพื่อศึกษาถึงขุมทรัพย์ทางจุลินทรีย์, แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และห้องปฏิบัติการทางชีววิทยา รวมไปถึงการแข่งขันการออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ และการแข่งขันเครื่องบินพับกระดาษชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 4

งานวิทยาศาสตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีครั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ในการเนรมิตทุกตารางนิ้วเป็นแหล่งสร้างความรู้จากวิทยาศาสตร์ และเริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 8-19 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนากรุงเทพฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 1.2 ล้านคนตลอดการจัดงาน 12 วัน

สิ่งที่นำมาจัดแสดงในงานมีตั้งแต่เรื่องดวงดาวถึงจุลินทรีย์ แม้แต่การผายลมของวัวยังส่งผลกระทบก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วย อยากไขความจริงเรื่องใกล้ตัวเชิญแวะไปงานกันเลย

วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!!!

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=43949&NewsType=2&Template=1

Wednesday, August 8, 2007

ไทยคิดเชื้อเพลิงชนิดใหม่ คุณสมบัติเหมือนเบนซิน-ดีเซลปล่อยมลพาน้อย

นักวิจัยไทยคิดค้นเชื้อเพลิงทางเลือกชนิดใหม่ มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซลและเบนซินทุกประการ ใช้กับเครื่องยนต์ได้ทันที ไม่ต้องปรับแต่ง แถมยังเป็นเชื้อเพลิงสะอาดลดปัญหาโลกร้อนได้

ปริมาณน้ำมันสำรองของโลกที่สูบมาใช้ตนเกือบเกลี้ยงคือสัญญาณที่บอกว่า มนุษย์โลกควรหาแหล่งเชื้อเพลิงอื่นทดแทนได้แล้ว เช่น ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี แต่การนำเชื้อเพลิงดังกล่าวไปใช้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ และต้องปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อให้สามารถใช้กับเชื้อเพลิงได้ จึงทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน และเป็นสาเหตุที่หลายคนไม่เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกดังกล่าว

ผศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้วิจัยเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ เป็นเชื้อเพลิงเหลวจนได้เชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน และดีเซล

นักวิจัย กล่าวว่า เชื้อเพลิงทางเลือกชนิดใหม่ได้จากการนำก๊าซสังเคราะห์ที่มีองค์ประกอบของก๊าซไฮโดรเจนกับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์มาผ่านกระบวนการความร้อนเคมีที่เหมาะสม เพื่อจัดเรียงโมเลกุลใหม่ให้มีโครงสร้างเหมือนกับน้ำมันดีเซลทุกประการ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ได้โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์

นักวิจัยพัฒนาตั้งแต่กระบวนการสังเคราะห์ ตัวเร่งปฏิกิริยา ศึกษาสภาวะที่เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิและความดัน รวมถึงเตาปฏิกรณ์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา

ถึงแม้ว่าเชื้อเพลิงสังเคราะห์สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล แต่การวิจัยนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสังเคราะห์ให้ได้น้ำมันดีเซล เนื่องจากปัจจุบันมีอัตราการใช้น้ำมันดีเซลสูงมากในภาคการขนส่งสินค้า

นอกจากเป็นการช่วยลดปัญหาน้ำมันขาดแคลนแล้ว เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากน้ำมันสังเคราะห์มีความสะอาดมากกว่านั้นมันดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หากในอนาคตมีกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการห้ามปลดปล่อยมลภาวะเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่นี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก