Monday, August 27, 2007

สเปรย์นาโนแก้ปวดเมื่อย มช.วิจัยใช้แทนลูกประคบ

เภสัชศาสตร์เชียงใหม่รับทุน1 ล้านบาท พัฒนาสเปรย์นาโนบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อย เผยสกัดน้ำมันและสาระสำคัญจากสมุนไพรทุกตัวในลูกประคบ บรรจุเป็นอนุภาคนาโน เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมลึกใต้ผิวหนัง คาดก่อนสิ้นปีได้เห็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง
ภญ.รศ.ดร.อรัญญามโนสร้อย อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สเปรย์นาโนบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อย เป็นผลงานจากโครงการวิจัยสกัดสารและน้ำมันจากสมุนไพรต่างๆ ที่อยู่ภายในลูกประคบ แล้วนำมากักเก็บในอนุภาคขนาดนาโน จากนั้นนำไปบรรจุขวดในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น ทดแทนการใช้ลูกประคบที่มีขั้นตอนยุ่งยากในการใช้

จากการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดพบคุณสมบัติยับยั้งอาการบวมได้ใกล้เคียงยาบรรเทาปวดเมื่อยและอักเสบ ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยา "ไดโครฟีแนค" อีกทั้งสารสกัดที่ได้จากสมุนไพรลูกประคบ เมื่อนำไปกักเก็บในอนุภาคขนาดนาโนแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการซึมซับและระงับอาการปวดได้นานขึ้น คาดว่าจะทำให้อาการอักเสบหายเร็วขึ้น เนื่องจากอนุภาคนาโนจะช่วยในการดูดซึมและคงตัวสารสกัดได้นานกว่าสารสกัดทั่วไป

ทีมวิจัยศึกษาสเปรย์นาโนเมื่อปี2549 ได้รับทุนสนับสนุน 1 ล้านบาท จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ขั้นตอนเริ่มจากสกัดน้ำมันและสาระสำคัญของสมุนไพรทุกตัวในลูกประคบ เช่น ไพล ขมิ้น ตะไคร้หอมและใบมะขาม จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มากักเก็บไว้ในอนุภาคขนาดเล็กโดยใช้เทคโนโลยีนาโน เพื่อที่จะคงสภาพของสารสกัดได้นานขึ้น ต่อมาบรรจุสารสกัดนาโนที่ได้ลงขวดสเปรย์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก

ทีมงานวางแผนที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบในอาสาสมัครเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างสเปรย์นาโน กับตัวยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่วางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ครีม เจลและแผ่นบรรเทาปวด เพื่อที่จะเก็บข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ต่อไป คาดว่าโครงการวิจัยสเปรย์นาโนจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นก็จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายต่อไป

ภญ.รศ.ดร.อรัญญาในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลูกประคบบรรเทาอาการอักเสบและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดนวดแผนไทยและสปา แต่การใช้ลูกประคบจะต้องอุ่นหรือนึ่งในความร้อนระดับหนึ่ง เพื่อให้สารสกัดจากสมุนไพรในลูกประคบแพร่กระจายออกมา จึงเกิดความยุ่งยากและเสียเวลาในการใช้แต่ละครั้ง จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยข้างต้นนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: