ทหารที่ถูกส่งออกไปรบในสมรภูมิต้องเผชิญกับเหตุการณ์ตึงเครียดที่กดดันความรู้สึกจนจิตใจย่ำแย่ แม้จะถูกส่งตัวกลับคืนมาตุภูมิแล้วก็ตาม ภาพเหตุการณ์ยังคงตามมาหลอน บางคนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด เก็บกด ไม่ยอมพูดจากับคนอื่น หลายรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย
โรคเครียดที่เรียกว่า พีทีเอสดี เป็นอาการทางจิตที่มักเกิดกับคนที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างรุนแรง ภายหลังผ่านเหตุการณ์มาแล้วยังต้องอยู่ในภาวะหลอนและผวาฝังใจอยู่ ทหารสหรัฐเป็นกันมาก เช่น พวกที่ผ่านสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก ในไทยคนที่ประสบเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มต่อหน้าต่อตาจำนวนไม่น้อยมีอาการซึมเศร้า ร้องไห้ เก็บตัว และหวาดผวาเช่นกัน
การรักษาโรคเครียด แพทย์จะจ่ายยาคลายเครียดให้แก่ผู้ป่วย แต่เมื่อใช้ยานานวันเข้าเริ่มใช้ไม่ได้ผล ศูนย์แพทย์ทหารเมดิแกนในสหรัฐจึงหาวิธีการรักษาใหม่แบบเกลือจิ้มเกลือ ใช้เทคโนโลยีเกมเสมือนจริงเข้าช่วย
แพทย์ทหารสหรัฐรายหนึ่ง เล่าว่า เคยถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจที่อิรักร่วมกับกองพลแพทย์ทหารที่ 62 พบว่าทหารเกือบทุกคนได้รับผลกระทบจากการออกรบเกือบทุกคน ส่วนใหญ่เมื่อถูกส่งตัวกลับประเทศแล้วอาการดีขึ้นเอง แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ต้องการการบำบัดเป็นพิเศษเพื่อลบภาพเหตุการณ์ที่ฝังใจกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ทีมวิจัยได้ศึกษาวิธีบำบัดจิตรักษาโรคพีจีเอสดีด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริงกับกลุ่มทหารผ่านศึกหลายกลุ่ม โดยการทดสอบหนึ่งจัดให้อดีตทหารผ่านศึกษานั่งอยู่ในรถทหารจำลองเหมือนขับรถร่วมไปกับขบวนรถทหาร และเกิดมีเสียงระเบิดข้างทางประกอบ เก้าอี้ที่นั่งอยู่สั่นคลอนเหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์จริง ศีรษะผู้ทดสอบยังสวมอุปกรณ์ครอบหน้าที่มองเห็นภาพเหมือนอยู่ในสนามรบ และยังปล่อยกลิ่นเหงื่อ กลิ่นดินปืน ยางไหม้ ให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น
การบำบัดจิตด้วยเทคนิคสร้างสถานการณ์เสมือนจริงเป็นการรักษาที่เรียกว่าการบำบัดพฤติกรรมจดจำเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยทางจิตประเภทหวาดกลัว เช่น กลัวขึ้นเครื่องบิน กลัวความสูง และกลัวแมงมุม เป็นต้น
จิตแพทย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีเสมือนจริงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยบอกเล่าเหตุการณ์ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกออกมา และตัวผู้ป่วยที่เข้าทดสอบยอมรับว่าช่วยให้พวกเขามีสุขภาพจิตดีขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment