Monday, August 20, 2007
ช็อก!ปะการังหดหายเร็วกว่าผืนป่า
สำรวจแหล่งปะการังในน่านน้ำอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปะการังแหล่งใหญ่ของโลก พบมีจำนวนลดลงเร็วกว่าการตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อน
จอห์น บรูโน และอลิซาเบธ เซลิก จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา แห่งสหรัฐ รวบรวมผลการสำรวจจากรายงานกว่า 6,000 เรื่อง ที่ศึกษาพื้นที่อยู่อาศัยของปะการังในอินโด-แปซิฟิก ระหว่างปี 2511-2547 พบว่า จำนวนปะการังลดลงร้อยละ 1 ทุกปี ขณะที่ป่าเขตร้อนชื้นลดลงราวร้อยละ 0.4 ต่อปีในช่วงปี 2533-2540
นักวิจัย กล่าวว่า ปะการังเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูน ปะการังสามารถสร้างขึ้นมาเอง โดยอาศัยแคลเซียมจากน้ำทะเล หินปูนจะไปเกาะแนวหินจนเกิดเป็นแนวปะการัง ดังนั้น หากพื้นผิวของแนวหินไม่มีเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตคอยหลั่งคลุมอยู่ แนวหินจะผุกร่อนลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อย้อนไปราว 20 กว่าปีที่แล้ว แนวหินปะการังร้อยละ 40 มีปะการังปกคลุมอย่างสมบูรณ์ แต่จำนวนปะการังลดลงไปกว่าครึ่งในปี 2546 ทุกวันนี้มีแนวปะการังในอินโด-แปซิฟิก เหลือเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีปะการังสมบูรณ์เหมือนกับ 20 กว่าปีที่แล้ว
นักวิจัย บอกว่า ปะการังลดลงอย่างน่าใจหาย เดิมพวกเขาคิดว่าปะการังในแถบอินโด-แปซิฟิก จะอยู่ในสภาพที่ดีกว่าแนวปะการังในทะเลแคริบเบียน ที่ทำให้เชื่อผิดๆ อย่างนั้น อาจเป็นเพราะนักวิจัยได้ศึกษาแนวปะการังในแคริบเบียนกันจนปรุ และปะการังในแถบนี้ลดหายไปร้อยละ 1.5% ต่อปี
พวกเขากล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อรักษาแนวปะการังซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญทางทะเล เช่น การออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการจับปลา และลดการใช้อวนลากบริเวณไหล่ทวีป ซึ่งจะช่วยปกป้องแนวปะการังในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการสากลเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตปะการัง
บรูโน ยังกล่าวด้วยว่า แนวปะการังบางแห่งที่เขาลงไปดำสำรวจพบว่า ปรับตัวรับสภาพน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว หรือปรับตัวเองเพื่อมีชีวิตรอด ในอนาคตทีมวิจัยตั้งเป้าศึกษาวิธีทำให้ปะการังปรับตัวกับภาวะโลกร้อน หนึ่งในนั้นอาจช่วยโดยฉีดวัคซีนให้ปะการังอยู่ในน้ำที่อุ่นขึ้นได้
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/20/WW54_5407_news.php?newsid=90367
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment