Thursday, August 30, 2007

สำรวจ "นวัตกรรม" ลดโลกร้อน


นอกจากประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าแล้ว เรายังมีทางเลือกในการชะลอวิกฤตจากภาวะ "โลกร้อน" ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นตอของปัญหา

เนื่องจากเราใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและคมนาคม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้และกลายเป็นตัวการภาวะโลกร้อน ดังนั้น นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการโครงการนวัตกรรมชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จึงเห็นว่าหากนำของเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจะช่วยลดการใช้น้ำมัน ถ่านหินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างประสิทธิภาพ

ทั้งนี้นายวิเชียรได้ยกตัวอย่างว่าสามารถนำวัตถุดิบชีวมวลเหลือทิ้ง เช่น ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง หรือทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ไปเผาให้เกิดก๊าซแล้วควบแน่นเป็นของเหลวที่เรียกว่า "ไบโอออยล์" จากนั้นนำไปกลั่นให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ได้ และกระบวนการเดียวกันนี้ยังใช้ได้กับเศษยางเหลือทิ้งซึ่งไทยกำลังทำวิจัยอยู่

"ในประเทศเยอรมันมีการผลิตน้ำมันจากเทคโนโลยีดังกล่าวใช้บ้างแล้ว ส่วนในประเทศไทยขณะนี้กำลังศึกษาและวิจัยอยู่ คาดว่าภายใน 3-5 ปีนี้น่าจะก่อตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากชีวมวลได้"นายวิเชียร พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีกว่า สามารถนำวัตถุดิบชีวมวลไปผ่านกระบวนการเผาให้ได้ก๊าซที่เรียกว่า "แก๊สซิฟิเคชัน" แล้วนำก๊าซที่ได้ไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินได้

อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจคือไม้เทียมจากเส้นใยธรรมชาติที่ลดการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นผู้ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ น.ส.มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการโครงการไม้เทียมจากเส้นธรรมชาติ สนช. กล่าวว่า สามารถนำเส้นใยธรรมชาติไปผสมกับพลาสติกเพื่อผลิตเป็นไม้เทียมซึ่งจะช่วยลดการไช้ไม้จริงได้ และไม้เทียมยังมีข้อดีเหนือกว่าไม้จริงคือไม่ยืดไม่หดเมื่ออากาศร้อนหรือชื้น

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตไม้เทียมจากเศษไม้บดออกวางจำหน่ายแล้ว และมีนักวิจัยศึกษาการผลิตไม้เทียมจากเส้นใยใบสับปะรดผสมกับเม็ดพลาสติกซึ่งจะให้ความแข็งแรงของไม้มากกว่าไม้เทียมที่ใช้ไม้บดเป็นส่วนผสม

"ที่น่าสนใจมากอีกชนิดหนึ่งคือเส้นใยจากหญ้าแฝกซึ่งจุดประสงค์ในการปลูกหญ้าแฝกก็เพื่อรักษาหน้าดินเพียงอย่างเดียว จึงอยากสนับสนุนให้มีการนำเส้นใยจากหญ้าแฝกมาใช้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้มากทีเดียว แต่ทั้งนี้ต้องวางแผนในเรื่องการปลูกและเก็บรวบรวมวัตถุดิบอีกทีหนึ่ง" น.ส.มณฑากล่าว

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่าง "พลาสติก" ก็เป็นอีกต้นตอของปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากต้องใช้พลังงานสูงทั้งในการผลิตและการกำกัดเมื่อเป็นขยะ เพราะพลาสติกจากปิโตรเคมีที่ใช้กันทั่วไปนั้นย่อยสลายได้ยาก "พลาสติกชีวภาพ" จึงเป็นคำตอบของทั้งปัญหาโลกร้อนและการจัดการขยะ

"พลาสติกชีวภาพผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติโดยใช้แบคทีเรียหมักน้ำตาลจากพืชให้เป็นกรดแลคติก จากนั้นใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เป็นโพลิเมอร์ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมาก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งยังกำจัดได้ง่ายเพียงแค่ฝังดินก็ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินได้ในเวลาไม่นาน” ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการโครงการพลาสติกชีวภาพ สนช.อธิบาย

ทั้งนี้ไทยมีมันสำปะหลังที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพได้แต่เรายังมีเทคโนโลยีไม่ดีพอ โดย ดร.อรรถวิทแจงว่าขั้นตอนยากที่สุดคือการผลิตพอลิเมอร์ซึ่งต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม ทาง สนช.จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการวิจัยพลาสติกชีวภาพ ตั้งแต่การวางนโยบายจนถึงการทำวิจัย และเตรียมก่อตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า

แม้ว่านวัตกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา แต่ก็เป็นทางเลือกที่จะอำนวยความสะดวกให้เราช่วยบรรเทาภาวะ "โลกร้อน" ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000102144

No comments: