Thursday, August 30, 2007
ไทยอดชม "ออริกิดส์" ฝนดาวตกจากฝุ่น 2 พันปี
สเปซด็อทคอม-นักดาราศาสตร์จับตาฝนดาวตกจากฝุ่นดาวหาง 2 พันปีช่วงรุ่งอรุณที่ 1 ก.ย.นี้ เตรียมนักวิจัย 24 ชีวิตสังเกตปรากฏการณ์บนเครื่องบินสูง 14,000 เมตร สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโกได้เห็นแต่ไทยอด
ดร.ปีเตอร์ เจนนิสเกนส์ (Dr.Peter Jenniskens) นักวิจัยฝนดาวตก ศูนย์คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) สถาบันเซติ (SETI Institute) รายงานว่าในช่วงรุ่งอรุณของวันที่ 1 ก.ย.จะเปิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก "ออริกิดส์" (Aurigids) ซึ่งมีศูนย์กลางฝนดาวตกที่กลุ่มดาวสารถี โดยเป็นฝนดาวตกที่เกิดจากดาวหางไคส์ส (Kiess) ซึ่งมีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2,000 ปี
บริเวณที่จะสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้คือฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก รวมทั้งฮาวายและอลาสกา ทั้งนี้มีบันทึกว่ามีผู้เห็นฝนดาวตกออริกิดส์เพียง 3 คนเท่านั้น เมื่อปี 2529 มีผู้สังเกตเห็น 1 คนและเมื่อปี 2537 มีผู้สังเกตเห็น 2 คน และยังไม่เคยมีใครบันทึกภาพฝนดาวตกนี้ไว้ได้
"นี่เป็นโอกาสเดียวที่คุณจะได้เห็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกนี้ เพราะสายธารฝุ่นดาวหางนี้จะไม่กระทบโลกอีกเลยในชั่วชีวิตของเรา" ดร.เจนนิสเกนส์ กล่าว
ทั้งนี้เป็นโอกาสของนักดาราศาสตร์ที่จะได้ทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองในการทำนายฝนดาวตก และพิสูจน์ว่าสะเก็ดดาวหางเกิดขึ้นระหว่างที่ดาวหางโคจรผ่านเมฆออร์ต (Oort Cloud) ซึ่งเป็นชั้นเมฆในอวกาศที่รอบล้อมระบบสุริยะ โดยดาวหางคาบสั้นได้ทิ้งฝุ่นเก่าแก่เอาไว้
ดาวหางไคส์สมาเยือนโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2454 และคาร์ล ไคส์ส นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันจากหอดูดาวลิค (Lick Observatory) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ในปีเดียวกัน
จอน จิออร์จินี (Jon Giorgini) นักดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐหรือนาซากับสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียร์หรือคาลเทค (California Institute of Technology: Caltech) ได้คำนวณจากข้อมูลการเยือนของดาวหางไคส์สครั้งล่าสุด พบว่าดาวหางเคยเข้าใกล้โลกก่อนหน้านั้นเมื่อปี 547 โดยคลาดเคลื่อน 40 ปี ซึ่งปีเดียวกันนี้ดาวหางได้ทิ้งฝุ่นที่จะทำให้เกิดฝนดาวในวันเสาร์นี้
การคำนวณของเจเรมี วาวเบลลัน (Jeremie Vaubailon) จากคาลเทคพบว่าฝุ่นดาวหางจะเข้ามาในวงโคจรของโลกวันที่ 1 ก.ย.นี้ หากฝุ่นเหล่านั้นหลุดออกมาจากดาวหางในปี 547 จริง และถ้าได้เห็นฝนดาวตกเขาคำนวณว่าช่วงที่จำนวนฝุ่นมากสุดคือเวลา 18.33 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือประมาณ 04.33 น.ตามเวลาท้องถิ่นในท้องที่ซึ่งสังเกตฝนดาวตกได้ โดยคลาดเคลื่อนจากนี้ 20 นาที จากข้อมูลฝนดาวตกออริกิดส์ในอดีตนักดาราศาสตร์คำนวณว่าฝนดาวตกนี้จะให้ค่าความสว่าง -2 ถึง 3 โดยมีอัตรา 100-200 ดวงต่อชั่วโมง
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้เห็นและศึกษาฝนดาวตก ดร.เจนนิสเกนส์เผยว่าทีมนักวิจัยนานาชาติ 24 คนจะนั่งเครื่องบินขึ้นไปสังเกตที่ความสูง 13,700 เมตร และตั้งกล้องจับภาพผ่านหน้าต่าง 21 ช่อง โดยเครื่องบินจะบินเป็นระนาบขนานกับพื้นโลกจากรัฐวิสคันซิน สหรัฐฯ ผ่านแคลิฟอร์เนียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก
"คุณสามารถมีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ได้เช่นกันโดยการถ่ายภาพฝนดาวตกออริกิดส์ โอกาสเป็นของคุณที่จะสามารถจับภาพฝนดาวตกที่สว่างที่สุดจากบนพื้นโลก ไม่ใช่เรา ด้วยกล้องทั่วไปก็สามารถให้ข้อมูลรูปแบบฝุ่นดาวหางได้จากลักษณะของสีที่ต่างกัน สีน้ำเงินก็เป็นฝุ่นชนิดหนึ่ง สีเขียวก็เป็นอีกชนิดและสีแดงก็เป็นอีกชนิด" ดร.เจนนิสเกนส์เชิญชวนผู้มีโอกาสสังเกตฝนดาวตกร่วมวิจัย
อย่างไรก็ดีแม้คนไทยจะไม่มีโอกาสได้เห็นฝนดาวตกที่เห็นได้ยากนี้ แต่ก็สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝนดาวตกออริกิดส์ได้ที่ http://aurigids.seti.org
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000102553
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment