Wednesday, August 8, 2007

“มหกรรมวิทย์ 50” เปิดประตูเข้าชมงานแล้ว


งานสัปดาห์วิทย์ 50 เริ่มขึ้นแล้วด้วยไฮไลต์ “น้ำท่วมโลก” ที่จะได้สัมผัสทั้งพวยควัน ไอร้อน และน้ำที่เอ่อท่วม และที่น่าสนใจคือโปรแกรมจำลองทำ “ฝนเทียม” ที่จะได้ทดลองเลือกสารเคมีและเครื่องบินผลิตฝน รวมทั้งร่วมค้นหาพันธุ์พืชและเห็ดในป่าจำลองฮาลา-บาลา พร้อมพิสูจน์ด้วยกระบวนการให้ห้องแล็บ

งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2550 เริ่มขึ้นแล้วในชื่องานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างวันที่ 8-19 ส.ค.ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม” โดยวันแรกของงานมีนักเรียนจากทั่วประเทศร่วมกิจกรรมกว่า 50,000 คน ขณะเดียวกัน มีประชาชนที่นำครอบครัวเข้าชมงานบ้างประปราย ซึ่งบรรยากาศโดยรวมจำนวนคนไม่เนืองแน่นเหมือนทุกปีที่ผ่านมา จึงสามารถชมนิทรรศการได้โดยไม่เบียดเสียดนัก สำหรับวันที่ 10 ส.ค.นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ จึงเปิดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน

สำหรับนิทรรศการ “ภาวะโลกร้อน” ที่ผู้จัดถือเป็นไฮไลต์ของงาน มีโรงภาพยนตร์ 4 มิติที่ฉายภาพปัญหาและสาเหตุพร้อมทั้งผลกระทบที่ตามมา โดยจะได้สัมผัสกับควันที่พวยพุ่งและน้ำที่เอ่อท่วมข้อเท้าเพื่อจำลองสถานการณ์ “น้ำท่วมโลก” ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกได้ถึงไอร้อนที่เพิ่มขึ้น และบริเวณด้านหน้ามีบูทแสดงลูกโลกที่เปรียบเทียบอุณหภูมิของโลกปัจจุบันและโลกที่น้ำแข็งหายไป ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส แต่ที่น่าสนใจคือกิจกรรมเล็กๆ ในนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมจำลองทำฝนเทียมโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อาทิ ต้องใช้สารเคมีอะไร เครื่องบินประเภทไหน ซึ่งช่วยให้เรียนรู้ว่าวิธีใดที่จะทำฝนเทียมได้ดีที่สุด

ขณะที่ “แมวน้ำพาโร” สำหรับบำบัดผู้ป่วยและเป็นเพื่อนแก้เหงาคนชรายังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงเรียกความสนใจเป็นปีที่ 3 และนอกจากนวัตกรรมจากญี่ปุ่น อาทิ หุ่นยนต์ปั่นจักรยาน “มูราตะ” (Murata) และหุ่นยนต์มนุษย์ขนาดตั้งโต๊ะ “โคโรเมท” (Choromet) ซึ่งยังเดินทางมาไม่ทันวันเปิดงาน แล้วก็มีนวัตกรรมคนไทยมานำเสนอ อาทิ เส้นใยหน่วงไฟที่ติดไฟยากซึ่งเป็นผลงานของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ทั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทดลองเผาผ้าให้เห็นจริงบนเวทีแสดงกลาง

อีกจุดที่น่าสนใจ คือ ป่าฮาลา-บาลาจำลองของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่มีกิจกรรมให้ค้นหาพันธุ์พืช-พันธุ์เห็ด ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพืชนั้นๆ แล้วเข้าไปค้นหาในป่าจำลอง จากนั้นก็นำไปทดสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อจำแนกว่าพืชที่ค้นเจอนั้นคือพืชชนิดใด และหากเป็นผู้ใหญ่จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือเด็กๆ โดยจะได้รับอุปกรณ์จีพีเอสเพื่อใช้ในการค้นหาด้วย

สำหรับวันแรกนั้น “ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง” พรีเซนเตอร์ของงานได้มาร่วมสร้างสีสัน ซึ่งเรียกความสนใจจากเด็กๆ ที่มาร่วมงานได้จำนวนมาก ส่วน “พิยดา อัครเศรณี” พรีเซนเตอร์อีกคนไม่ได้มาร่วมงานในวันแรก ขณะที่มาสคอตประจำงานและประจำหน่วยงานต่างๆ ก็ยังคงเป็นขวัญใจของเด็กๆ ที่มาร่วมงาน สำหรับมาสคอตงานประจำปีนี้ คือ “เด็กหญิงไซน์” และ “เด็กชายวิทย์” ซึ่งเป็นการ์ตูนหญิงชายที่สวมชุดกาวน์สีขาวเดินทั่วงาน แต่ใครที่ประทับใจกับนิทานดาวก็จะได้พบกับ “พี่กระต่าย” และ “น้องเอิร์ธ” บริเวณบูทนิทรรศการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

สำหรับการเดินทางนั้นแนะนำว่าให้ต่อรถไฟฟ้าลงสถานีอ่อนนุช ซึ่งผู้จัดงานได้เตรียมรถชัตเทิลบัสสำหรับรับส่งผู้เข้าชมงานทุกๆ 30 นาที ระหว่าง 07.30-18.00 น.โดยเป็นรถสีชมพูที่ติดป้ายข้างตัวรถว่างานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สนใจเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่ 08.00-20.00 น.โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายจัดงาน 0-2577-9999 ต่อ 1829-1830

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000092848

No comments: