Wednesday, August 22, 2007

เทคโนประดิษฐ์-เทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงอนาคตใกล้ตัว


น่าเสียดายที่มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี2550 ที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้นำเทคโนโลยี "สัมผัสเสมือนจริง" มาจัดแสดงด้วย เทคโนโลยีดังกล่าวถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างยิ่ง และมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท

เทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Haptic Technology" เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับประสาทการสัมผัสที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายเช่น การผ่าตัดทางไกล และการควบคุมหุ่นยนต์ทางไกล หรือตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ เกมคอมพิวเตอร์

งานมหกรรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกจัดที่เมืองซานดิเอโกสหรัฐ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีสัมผัสเสมือนจริงมาร่วมแสดงกันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ ทีมจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่นำเครื่องมือที่เรียกว่า "มือจับแรงโน้มถ่วง" มาโชว์

อุปกรณ์สัมผัสเสมือนจริงต้นแบบ(ภาพแรก) ประกอบด้วยเครื่องมือคล้ายท่อประกบเข้ากับนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ท่อแต่ละอันมีมอเตอร์หนึ่งคู่ติดอยู่ส่วนบน และมีสายรัดพันรอบปลายนิ้ว มอเตอร์จะคอยง้างสายรัดเข้าออกให้รู้สึกเหมือนกับกำลังสัมผัสวัตถุอยู่ และยังให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถือของหนักบางอย่างที่ต้องออกแรงดึงมากขึ้น

นักศึกษาที่คิดอุปกรณ์ชุดนี้บอกว่า เขาใช้เครื่องมือพื้นๆ และมีราคาถูกมาทำ และไอเดียของเขาเหมาะนำไปใช้กับเครื่องเล่นเกมคอมพิวเตอร์

ส่วนทีมที่ใช้ชื่อว่า"ทาชิ" นำอุปกรณ์สัมผัสเสมือนจริงอีกแบบหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงมากขึ้น พวกเขาเรียกเครื่องมือนี้ว่า แฮปติก เทเล็กซิสเทนซ์ (ภาพสอง) ประกอบด้วยชุดควบคุมด้วยกลไกขนาดใหญ่สำหรับวางคร่อมบนมือของผู้ใช้งาน อุปกรณ์ตัวนี้ถูกเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับมือหุ่นยนต์ที่อยู่อีกที่หนึ่ง

ที่ปลายนิ้วของหุ่นยนต์มีหลอดไฟที่มีกล้องซ่อนอยู่ข้างหลังแสงไฟจะสว่างมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรูปร่างวัตถุและแรงบีบวัตถุ แรงที่เกิดขึ้นบนปลายนิ้วหุ่นยนต์จะถูกส่งต่อไปยังปลายนิ้วของคนที่สวมมือกล นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่น บอกว่า ระบบสัมผัสทางไกลด้วยสัญญาณไฟฟ้าที่ทำอยู่นี้ให้ความรู้สึกใกล้เคียงของจริงมากกว่าระบบสั่นด้วยมอเตอร์ และยังให้ความรู้สึกถึงพ้นผิวสัมผัส และความร้อนได้ด้วย

ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง(ภาพที่สาม) มาจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยซึคูบะจากญี่ปุ่นอีกเช่นกัน แต่มีรูปแบบใช้งานฉีกแนวออกไป เดิมทีนักประดิษฐ์คิดออกแบบลู่วิ่งสายพานแบบที่ใช้ในสถานออกกำลังกาย แต่ดัดแปลงให้สามารถเดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้โดยใช้เป็นรองเท้าสเกตสวมแทนเดินบนลู่เดิน แต่ต่อมาเปลี่ยนไอเดียมาทำอุปกรณ์ตามรอยเดินแทน

ระบบดังกล่าวสามารถตามดูได้ว่าผู้สวมอุปกรณ์เดินไปทิศทางไหนผู้ใช้จะเดินอยู่กับที่เมื่อสวมรองเท้าแตะที่มีล้ออยู่ใต้พื้นที่มีสายไฟและมอเตอร์คอยตรวจจับการเคลื่อนที่ของเท้าแต่ละก้าว พื้นที่ใช้เดินสามารถหมุนได้รอบ 360 องศา สามารถประยุกต์ใช้งานทดสอบจำลองการฝึกซ้อมที่ต้องการรับรู้ความรู้สึกจากการเคลื่อนที่

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: