Tuesday, August 28, 2007

ฟ้าไม่อำนวยหลายพื้นที่พลาด "จันทรุปราคา"


หลายพื้นที่ทั่วไทยพลาดปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่คราสกินยาวนานที่สุดในรอบ 7 ปี เหตุสภาพอากาศไม่อำนวย ด้านนักเรียน จ.ฉะเชิงเทรา 160 คนเข้าร่วมกิจกรรมแต่พลาด จึงรับชมปรากฏการณ์จากแบบจำลองผ่านโปรเจกเตอร์แทน

ผู้สื่อข่าวซึ่งเดินทางไปสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงร่วมกับนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ณ โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รายงานเข้ามายัง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ว่าไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้เนื่องจากมีเมฆฝนบดบัง

ทั้งนี้นายวรวิทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้ตรวจสอบกับเพื่อนๆ ซึ่งร่วมสังเกตจันทรุปราคาที่ จ.ภูเก็ต จ.อุตรดิตถ์ และส่วนอื่นของ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าไม่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในครั้งนี้ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันทางโรงเรียนไผ่แก้ววิทยาและนายวรวิทย์ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนชั้น ม.1- ม.6 ของทางโรงเรียนประมาณ 160 คนเข้ากิจกรรมสังเกตจันทรุปราคา แต่เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวยจึงเปิดซอฟต์แวร์จำลองปรากฏการณ์แสดงผ่านโปรเจกเตอร์ให้นักเรียนได้เห็นการเข้าออกของคราสตามเวลาจริงแทน ซึ่งเป็นแผนการที่สำรองไว้สำหรับกรณีที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้

ด้านนายพรชัย รังสีธนะไพศาล กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทยเผยว่าได้สังเกตปรากฏการณ์จากบ้านพักบริเวณตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยดวงจันทร์ควรจะขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณ 18.40 น. และช่วงเวลาประมาณ 19.18 น. ยังไม่ปรากฏดวงจันทร์ขึ้นมา อีกทั้งขอบฟ้าทางตะวันออกยังมีเมฆมากจนไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์ได้

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้สามารถเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยฝั่งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มลรัฐอลาสกาและหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ จะเห็นปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนไทยเห็นได้ในช่วงปลายของปรากฏการณ์หากไม่มีสิ่งใดบดบัง

ทั้งนี้ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดตั้งแต่ 15.51 น. จากนั้นเข้าสู่เงามืดทั้งดวงเวลา 16.52 น. และเข้าสู่เงามืดลึกสุดเวลา 17.37- 18.22 น. แล้วจันทร์เริ่มออกจากเงามืดจนสิ้นสุดปรากฏการณ์ที่เวลา 20.21 น. นับเป็นจันทรุปราคาที่เกิดคราสนานที่สุดในรอบ 7 ปี

หากเกิดคราสเต็มดวงจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐหรือที่หลายคนเรียกว่าจันทร์สีเลือด เนื่องจากยังมีแสงบริเวณขอบฟ้าและเมื่อแสงผ่านชั้นบรรยากาศจะกระเจิงแสงสีฟ้าทั่วท้องฟ้า ส่วนแสงสีแดงจะกระเจิงไปที่ดวงจันทร์ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000101430

No comments: