Wednesday, August 15, 2007

ลุ้นชมจันทรุปราคา 28 ส.ค.คนอุบลฯ-ยโสฯ โชคดีเห็นเต็มดวง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯชวนคนอีสานลุ้นชมจันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคมที่จะถึงนี้ หากพลาดต้องรออีก 4 ปี ส่วนใครที่พลาดชมความงามของฝนดาวตกวันแม่ ยังมีโอกาสแก้ตัว โดยวันที่ 17-18 พฤศจิกายนจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกชุดสุดท้ายของปี
รศ.บุญรักษาสุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในวันที่28 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญทางดาราศาสตร์อีกครั้ง คือจันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ

จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ดวงจันทร์จะเคลื่อนเข้าสู่เงาของโลกจากด้านบน จนเต็มดวงในเวลา 16.52 น. ซึ่งในเวลานั้นดวงจันทร์จะยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าประเทศไทย จึงไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนเต็มดวงทั่วทั้งประเทศ แต่จะมองเห็นเป็นบางส่วน กระทั่งดวงจันทร์ออกจากเงามืดทั้งหมดในเวลา 19.23 น.

ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบ จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร คาดว่ามีโอกาสถึง 90% ที่จะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้ชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าในทิศตะวันออกก่อน ผู้อำนวยการสดร.กล่าว

ทั้งนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน เกิดเป็นเงามืดและเงามัวของโลก เข้าบดบังดวงจันทร์ ซึ่งปกติในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ จะต้องเห็นพระจันทร์เต็มดวง แต่เมื่อเกิดจันทรุปราคา จะเห็นเป็นพระจันทร์เสี้ยว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เสริมว่าในปี 2550 ประเทศไทยมีโอกาสชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์มากสุด โดยเห็นปรากฏการณ์ทางอุปราคาถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่จันทรุปราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม สุริยุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม และจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 สิงหาคม

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่กลุ่มดาวคนคู่ หรือ เปอร์ซิดส์ เมื่อคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม และปิดฉากด้วยฝนดาวตกในกลุ่มดาวสิงโต หรือ ลีโอนิกส์ ซึ่งรับชมได้ในคืนวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้

"จากสถิติพบว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคามีความถี่ในการเกิดน้อยกว่าสุริยุปราคา แต่เห็นได้บ่อยครั้งกว่า หากในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้า ต่างจากสุริยุปราคาที่ดูได้เฉพาะบางส่วนของโลกเท่านั้น ดร.ศรัณย์ กล่าวและว่า หากพลาดชมจันทรุปราคาของวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะรอชมได้อีกครั้งในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ขณะที่สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 11 เมษายน 2613

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: