Wednesday, August 29, 2007
ตั้งเป้าอีก 3 ปีมีไบโอดีเซลจากสาหร่ายใช้
นักวิจัยมหิดลศึกษาการผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่าย หวังนำมาใช้ทดแทนปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดจากโลก เผยหากผลิตได้จะคุ้มทุนอย่างมาก และยังส่งขายต่างประเทศได้ด้วย เพราะใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตมาก ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศได้อีกด้วย
ไบโอดีเซลกำลังเป็นที่ต้องการในฐานะพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่กำลังจะหมดไป นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งความสนใจไปที่พืชพลังงาน ขณะที่นักวิจัยส่วนหนึ่งเล็งเห็นน้ำมันมากมายในสาหร่าย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเซลล์เดียวที่สามารถให้น้ำมันมหาศาลได้เมื่อเพาะเลี้ยงในพื้นที่และระยะเวลาเท่ากับพืชน้ำมันอื่นๆ
“นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่พืชน้ำมันต่างๆ โดยเฉพาะปาล์มและสบู่ดำ ขณะที่สาหร่ายก็มีน้ำมันเช่นกันแต่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจ ซึ่งบางชนิดให้น้ำมันสูงถึง 50% ของเซลล์เลยทีเดียว” รศ.ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ อาจารย์และนักวิจัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจง
รศ.ดร.ประหยัด อธิบายว่า สภาพแวดล้อมในประเทศไทยเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายอย่างยิ่ง สาหร่ายใช้เวลาเลี้ยงเพียง 24 ชั่วโมง ก็โตแล้ว ขณะที่พืชพลังงานต้องใช้เวลาเพาะปลูกนานถึง 6-7 ปี ถึงจะให้น้ำมันได้
หากเลี้ยงสาหร่ายในบ่อพื้นที่ขนาดเท่ากับพื้นที่ปลูกสบู่ดำ 1 ต้น เป็นเวลา 7 ปี สบู่ดำจะให้น้ำมัน 25% แต่จะได้น้ำมันจากสาหร่ายมากถึง 1,000% และอาจเพียงพอกระทั่งผลิตส่งออกต่างประเทศได้
ทั้งนี้ รศ.ดร.ประหยัด อยู่ระหว่างศึกษาการเพาะเลี้ยงและสกัดน้ำมันจากสาหร่าย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมที่เหลือพอใช้ได้อีกไม่กี่สิบปี
“สาหร่ายที่นำมาศึกษาเป็นสาหร่ายสีเขียว 3 ชนิด ซึ่งให้น้ำมันประมาณ 20-30% ขณะที่สาหร่ายทั่วไปจะให้น้ำมันเฉลี่ยราว 7-14% และสาหร่ายที่โตเร็วก็มักจะให้น้ำมันน้อยกว่าสาหร่ายที่โตช้ากว่า ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัย ได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายในห้องทดลองอยู่เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยงให้สาหร่ายโตเร็วพร้อมทั้งให้น้ำมันมาก แล้วจึงขยายลงสู่บ่อเพาะเลี้ยงต่อไป"
"คาดว่าน่าจะผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” รศ.ดร.ประหยัด กล่าวถึงงานวิจัยของเขา และบอกด้วยว่าในสหรัฐฯสามารถผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายและใช้กับเครื่องยนต์ได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ผลิตเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ รศ.ดร.ประหยัด ยังตั้งเป้าขยายงานวิจัยเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อผลิตไบโอดีเซล ในขณะเดียวกันก็จะใช้สาหร่ายเหล่านี้บรรเทาภาวะโลกร้อนด้วย โดยใช้เป็นตัวกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
“สาหร่ายต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงอยู่แล้ว เมื่อเราต้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายจำนวนมาก ก็ต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สาหร่ายปริมาณมากด้วยเช่นกัน อาจดักก๊าซจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน” รศ.ดร.ประหยัด อธิบายในตอนท้าย
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000099049
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment