Monday, August 13, 2007
"หุ่นยนต์ต้อนรับ" ฝีมือคนไทย
หุ่นยนต์ต้อนรับฝีมือคนไทย เปิดตัวครั้งแรกในมหกรรมวิทย์ฯ ก่อนเข้ารับหน้าที่ปฏิคม ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สานฝันยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติของ รมว.วิทย์ ด้านนักประดิษฐ์เผยแม้วันนี้หุ่นยนต์ยังไม่ฉลาดล้ำ แต่สามารถพัฒนาให้เก่งมากขึ้นได้ในอนาคต
ฮือฮาทีเดียว กับวิสัยทัศน์ของ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนปัจจุบัน “ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” ตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 1 ปีต่อจากนี้จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้อนรับใกล้เคียงมนุษย์ (Humanoid) ได้สำเร็จ ตามแผนยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติ ที่กำลังจะร่างขึ้น โดยยกตัวอย่างหุ่นยนต์ “อาซิโม” ของญี่ปุ่นมาเทียบเคียง เพื่อทำหน้าที่เป็นปฏิคม ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ.ปทุมธานี เพื่อดึงดูดเยาวชนไทยให้สนใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์มากขึ้น
ล่าสุด ใน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ประจำปี 2550 ที่กำลังจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ในซุ้มนิทรรศการของ อพวช.ก็ได้นำหุ่นยนต์ต้อนรับต้นแบบที่พัฒนาขึ้นโดยวิศวกรของ อพวช.มาเรียกความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานก่อนแล้ว
หุ่นยนต์ดังกล่าวประดิษฐ์โดยอาศัยกลไกทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อรับคำสั่งเสียงจากไมโครโฟนกว่า 20 ชุดคำสั่งเสียงที่ได้จัดทำไว้แล้ว เช่น สวัสดี ฮัลโล โรบอท ลูซี ส่ายหน้า ยกแขน ชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ฯลฯ ซึ่งคำสั่งเหล่านี้จะสั่งให้หุ่นยนต์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนิทรรศการได้ตามต้องการ
ตัวหุ่นยนต์สามารถขยับร่างกายได้ทั้งส่ายหน้าซ้าย -ขวา พยักหน้าขึ้น –ลง และสามารถขยับแขนทั้ง 2 ข้างได้ เช่น ยกแขนและงอแขน พร้อมมีเสียงทักทายหรือให้ข้อมูลกับผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ ด้วยรูปลักษณ์ของหุ่นไฟเบอร์กลาสที่ผู้ประดิษฐ์ได้ออกแบบให้ดูล้ำสมัยและน่ารัก
“ผมใช้เวลาประดิษฐ์หุ่นยนต์ต้อนรับตัวนี้ตั้งแต่ต้นจนเสร็จประมาณ 2 เดือน ทั้งการออกแบบโครงสร้างหุ่นยนต์ การออกแบบท่าทางของหุ่น และการเขียนชุดคำสั่ง ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถเขียนชุดคำสั่งเพิ่มได้เรื่อยๆ" นิรุต กวีวัจน์ วิศวกรกองนิทรรศการ อพวช.เผย
"ตอนนี้หุ่นยนต์ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเป็นเพียงต้นแบบ มีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 70% โดยมีปัญหากับการรับคำสั่งเสียงภาษาไทยที่มีทั้งเสียงสั้นและเสียงยาวอยู่บ้าง ชุดคำสั่งที่เหมาะสมจึงควรมีความยาวเพียง 1–3 พยางค์ก่อน” นักประดิษฐ์กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับตัวต้นแบบนี้ มีต้นทุนการผลิตพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมประมาณ 40,000 บาท แต่เชื่อว่าหากผลิตออกมาใช้มากขึ้นแล้ว จะสามารถสร้างได้ในราคาประมาณ 20,000 บาท/ตัว
แม้ว่ายังไม่ใช่หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เลียนแบบมนุษย์ แต่ยังจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก เช่น อาจทำให้เหลือเพียงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเพียงแผงเดียวติดไว้ด้านหลังหุ่นยนต์แทนเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุม หรือการติดเซ็นเซอร์ให้หุ่นยนต์ฉลาดมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เดินผ่านไป-มาได้มากขึ้น
“ผมเชื่ออีกว่าหากมีการเขียนโปรแกรมดีๆ แล้ว หุ่นยนต์ตัวนี้ก็สามารถต่อยอดไปเป็นหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดในตัวแบบ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence: AI) ได้เช่นกัน” นักประดิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000093367
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment