Wednesday, August 22, 2007

"ดูดาวด้วยเมาส์"กับ Google Sky


กูเกิลได้ฤกษ์เปิดตัว กูเกิลสกาย (Google Sky) โปรแกรมเสริมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการสำรวจท้องฟ้าให้กับบริการท่องโลกสามมิติ "กูเกิลเอิร์ธ(Google Earth)" ได้อย่างสร้างสรรค์ เปิดทางให้ผู้ใช้สามารถชื่นชมความงามของดวงดาวหลายล้านดวงและกว่า 200 ล้านกาแล็กซีได้เพียงคลิกเมาส์

ภาพดวงดาวและกาแล็กซี่ในกูเกิลสกายนั้นจะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับการชมท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) รวมถึงสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของวงจรข้างขึ้นข้างแรมบนท้องฟ้าได้ จุดนี้เอ็ด พาร์สันส์ (Ed Parsons) นักเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ของกูเกิลให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซีนิวส์ว่า แนวคิดพื้นฐานคือการกลับด้านกูเกิลเอิร์ธเพื่อมองส่วนบน ซึ่งก็คือท้องฟ้าที่ห่อหุ้มโลกของเรานั่นเอง

"สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทนที่จะใช้กูเกิลเอิร์ธเพียงชมภาพโลก แต่คุณสามารถใช้กูเกิลเอิร์ธชมภาพบนอวกาศได้"

กูเกิลสกายถูกมองว่าจะเป็นทางลัดที่ทำให้การสำรวจท้องฟ้าดำเนินการได้ง่ายดายและสะดวกขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน มลพิษในอากาศและแสงรบกวนบนท้องฟ้านั้นทำให้นักดูดาวสามารถมองเห็นกลุ่มดาวเพียวไม่กี่กลุ่มเท่านั้น กูเกิลสกายจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้นักดูดาวรู้ว่าได้พลาดดาวดวงใดไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านดาราศาสตร์อย่างมาก

ผู้ใช้กูเกิลสกายจะต้องติดตั้งโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธบนคอมพิวเตอร์ก่อน จากนั้นจึงสามารถคลิกซูมเพื่อชมท้องฟ้าในส่วนที่ต้องการในระยะใกล้ สามารถคลิกปุ่มเพื่อหมุนมุมมองการชมได้ไม่ต่างจากกูเกิลเอิร์ธ โดยภาพดาวดวงที่ปรากฏจะเป็นภาพท้องฟ้าในวันและเวลานั้นๆ ซึ่งผู้ใช้จะสามารถนำภาพกาแล็กซี่ กลุ่มดาว หรือภาพข้อมูลดาราศาสตร์อื่นๆจากกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล มาวางทับบนภาพท้องฟ้าเพื่อจำลองเหตุการณ์หรือศึกษาเพิ่มเติมได้ตามต้องการ

รูปภาพจากระบบดูดาวบนกูเกิลสกายนั้นถูกรวบรวมจากหน่วยงานวิจัยกว่า 6 แห่งเช่นสมาคม Digital Sky Survey Consortium, ศูนย์ปฏิบัติการ Palomar Observatory ในแคลิฟอร์เนีย และศูนย์เทคโนโลยี United Kingdom Astronomy Technology Centre จริงอยู่ที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นรูปภาพเหล่านี้ได้จากอินเทอร์เน็ต แต่กูเกิลเชื่อว่าโปรแกรมเสริมนี้จะทำให้การสืบค้นง่ายดายและมีความเพลิดเพลินในการใช้งานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กูเกิลสกายไม่ใช่โปรแกรมชมดาวชิ้นแรกในตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันดาราศาสตร์หลายแห่งเปิดให้โปรแกรมประเภทนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะเดียวกันบริการโปรแกรมชมดาวแบบคิดค่าใช้จ่ายในขณะนี้ก็มีวางตลาดแล้ว ได้แก่ ซอฟต์แวร์ Starry Night ของบริษัท Imaginova โดยจำหน่ายในรูปโปรแกรมวิดเก็ท (widget) โปรแกรมขนาดจิ๋วสำหรับติดตั้งบนหน้าจอเดสก์ท็อป ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เครื่องแมคอินทอชของแอปเปิลสามารถดาวน์โหลดไปติดตั้งได้

สำหรับกูเกิลสกาย เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ความสนใจด้านดาราศาสตร์ของประชากรอินเทอร์เน็ตเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098942

No comments: