Tuesday, August 21, 2007

ภาพดาวเทียมชี้ชัดน้ำแข็งขั้วโลกลดต่ำสุดเท่าที่เคยบันทึก


เอพี -ศูนย์ข้อมูลหิมะสหรัฐฯ รายงานผลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดพบว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือมีปริมาณลดต่ำลงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 2513- 2523 ที่มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้สำรวจการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรก

มาร์ค เซอร์รีซ (Mark Serreze) นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งสหรัฐฯ (US Snow and Ice Data Center ) เปิดเผยทันทีหลังพบรายงานฉบับนี้ว่า ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกเหนือได้ลดลงไปเป็นจำนวนมาก จากพื้นที่เฉลี่ย 2.05 ล้านตารางไมล์ในวันที่ 21 ก.ย.2548 เป็นเหลือเพียง 2.02 ล้านตารางไมล์เท่านั้นในการสำรวจเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2550 ซึ่งเชื่อว่าในอีกหนึ่งเดือนก่อนจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงนี้ยังจะมีปริมาณน้ำแข็งล ะลายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยทีเดียว

บริเวณที่พบว่าน้ำแข็งในท้องทะเลน้อยลงกว่าปกติวาดวงค่อนข้างกว้างทีเดียว ไล่ตั้งแต่ด้านไซบีเรียตะวันออกกินบริเวณไปถึงพื้นที่ด้านข้างๆ ของขั้วโลกเหนือ จรดทะเลโบฟอร์ต (Beaufort) ทางเหนือของรัฐอลาสกา สหรัฐฯ หมู่เกาะต่างๆ ของแคนาดา และชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งไล่ไปจนถึงเมืองโบลเดอร์ (Boulder) มลรัฐโคโลราโด

ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยร่วมด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด (Cooperative Institute for Research in Environmental Sciences at the University of Colorado) โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ตลอดจนถึงมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation)

"ปกติแล้ว น้ำแข็งจะเป็นตัวสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปได้มากกว่า 80% แต่ในทางกลับกันเมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลก็จะเป็นตัวดูดกลืนแสงอาทิตย์แทน ในจำนวนถึง 90% จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของน้ำทะเลขั้วโลกเหนือสูงขึ้น" เซอร์รีซ กล่าว

เขายังเสริมด้วยว่า ความผิดปกติยังเกิดแก่ท้องฟ้าที่โปร่งอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วง มิ.ย.- ก.ค. ทำให้แสงอาทิตย์ส่งผ่านมายังพื้นโลกได้มากขึ้น ขณะที่ลมแรงๆ ก็จะพัดพาอุณหภูมิที่อบอุ่นจากทางใต้มาสมทบอีกแรง

ส่วนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาสำรวจขั้วโลกถึงผลจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทำการศึกษามานานแล้ว เนื่องจากจะเป็นบริเวณที่พบความเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากที่สุด ซึ่งจากรายงานนี้ เซอร์รีซ ตั้งสมมติฐานว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนืออาจละลายจนหมดภายในปี 2573 นี้

อย่างไรก็ดี การออกมาให้ข่าวดังกล่าวถือว่าสวนทางกับแบบจำลองที่ เซอร์รีซี ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณไว้ก่อนหน้านี้มากมาย ซึ่งคาดการณ์ว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหมดในปี 2613-2653 ขณะที่เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน เขาออกมาคาดการณ์เมื่อเห็นภาพถ่ายดาวเทียมว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะหมดไปในปี 2583 ซึ่งกระบวนการทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ทุกเรื่องอย่างแน่นอน

“สิ่งที่ยังเป็นปริศนาคือทำไมอัตราการละลายของน้ำแข็งถึงเร็วไปกว่าที่คอมพิวเตอร์คำนวณไว้ได้ แต่ก็ถือเป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากที่ทำให้เราได้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ต่อๆ ไป น้ำแข็งที่พบในฤดูหนาวก็จะยังมีอยู่เหมือนเก่า ไม่ได้หนีหายไปไหน ทว่ามันจะละลายเกลี้ยงเมื่อฤดูร้อนมาถึง” เซอร์รีซ ทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000097944

No comments: