Friday, August 10, 2007

เตรียมชม "เพอร์เซอิดส์" ฝนดาวตกคืนวันแม่ปีนี้นาทีละดวง


คืน “วันแม่” ปีนี้ คนไทยจะมีโอกาสชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก “เพอร์เซอิดส์” ทั้งประเทศต่อถึง เช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยชี้เพราะอานิสงค์ฟ้าเปิดช่วงมรสุม ทำให้เห็นปรากฏการณ์ได้ชัดเจน คาดอัตราการตกค่อนข้างถี่ นาทีละดวง คนไทยทั่วทุกภาคสามารถรอชมได้ในที่สูงและไม่มีแสงรบกวน

ระหว่างวันที่ 12 -13 ส.ค.ผู้สนใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทยจะมีโอกาสติดตามชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseid Meteor Shower) หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” กันถ้วนหน้า โดยจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00 น.ของคืนวันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค.จนมีความถี่มากที่สุดในเวลาประมาณ 04.00 -05.00 น.ของเช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 ส.ค. ขณะที่ผู้สังเกตปรากฏการณ์ในยุโรปจะมีทัศนวิสัยดี สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ได้ดีกว่าประเทศในแถบเอเชีย

สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงกลางเดือน ส.ค. สะเก็ดดาวเคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 59 กิโลเมตรต่อวินาที

เมื่อเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกจะเกิดแสงสีสวยงาม ดาวตกเกือบครึ่งเป็นลูกไฟ (Fireball) ที่มีความสว่างมาก ส่วนมากมีสีขาวและสีเหลือง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยข้อมูลจากองค์การอุกกาบาตสากลคาดว่าจะมีอัตราการตกราว 100 ดวง/ชั่วโมง แต่จะสามารถมองเห็นได้เพียงประมาณ 60 ดวง/ชั่วโมง หรือเฉลี่ยนาทีละหนึ่งดวงเท่านั้น

ดาวหางต้นกำเนิดของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์คือ ดาวหางสวิฟต์ –ทัตเทิล (Swift -Tuttle) ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 130 ปี โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในปี พ.ศ.2535 ทำให้กลางเดือน ส.ค.ปีดังกล่าวมีฝนดาวตกมากถึง 400 ดวง/ชั่วโมง และลดลงในปีต่อๆ มา ส่วนกลุ่มดาวเพอร์เซอิดส์เป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือ ตั้งตามชื่อวีรบุรุษกรีกผู้สยบเมดูซา

สาเหตุที่เรียกฝนดาวตกในช่วงกลางเดือน ส.ค.ของทุกปีว่า “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” เพราะเป็นชื่อของกลุ่มดาวที่เป็นตำแหน่งจุดกระจายของดาวตก (radiant) ในประเทศไทยจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฝนดาวตกวันแม่” เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถถือเป็นวันแม่แห่งชาติของคนไทยด้วย

สำหรับผู้สนใจติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าว นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่า สามารถแหงนหน้ามองได้ตามวันและเวลาข้างต้นด้านขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับกระจุกดาวลูกไก่และกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย หรือกลุ่มดาวค้างคาว

“ปกติแล้วในช่วงเวลานี้ของปีจะเป็นช่วงฤดูฝน มีมรสุม ท้องฟ้าไม่เปิด แต่สำหรับปีนี้จะเป็นโอกาสดีที่ฟ้าเปิด อีกทั้งยังเป็นคืนจันทร์ดับช่วงวันแรม 14 ค่ำคาบเกี่ยววันแรม 15 ค่ำทำให้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน เราจึงสังเกตฝนดาวตกวันแม่ได้ในที่มืดและโล่งเช่นบนตึกสูง หากดูเป็นคู่ๆ ยืนหันหลังชนกันแล้วแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าก็จะเห็นปรากฏการณ์ได้อย่างชัดเจนและมองเห็นเกือบทั้งหมด” นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยกล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089228

No comments: