Monday, August 20, 2007
เห็นมา 400 ปี เพิ่งพบ "ดาวใกล้ตาย" มีหางยาวถึง 13 ปีแสง
สเปซดอทคอม/บีบีซีนิวส์/เดอะบอสตันโกลบ-นักดาราศาสตร์พบ "ไมรา" ดาวฤกษ์ใกล้ตายมีหางยาว 13 ปีแสง จากการบันทึกด้วยรังสียูวี หลังค้นมา 400 ปีไม่มีใครเห็นมาก่อน เชื่อนำไปสู่ความเข้าใจระบบสุริยะหรือแม้กระทั่งการก่อเกิดชีวิต
นักดาราศาสตร์ค้นพบหางของดาวแดงขนาดยักษ์ที่ชื่อ "ไมรา" (Mira) ผ่านภาพที่บันทึกรังสีอัลตราไวโอเลตด้วยกล้องโทรทรรศน์กาเลกซ์ (Galaxy Evolution Explorer: Galex) ที่โคจรอยู่รอบโลก เพื่อสำรวจวิวัฒนาการของดาราจักร โดยดาวฤกษ์ซึ่งใกล้ตายดังกล่าว มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 400 เท่า และได้ทิ้งฝุ่นกลายเป็นหางคล้ายดาวหางและลากยาวถึง 13 ปีแสง ซึ่งทิ้งเรื่องราวในอดีตของดาวดวงนี้ไว้นานถึง 30,000 ปี
"สิ่งที่ค้นพบนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่สุดสำหรับเรา เราอยู่ระหว่างกระบวนการทำความเข้าใจฟิสิกส์ที่อยู่ในนั้น และหวังว่าจะสามารถอ่านหางของไมราได้เหมือนอ่านฉลากบนสินค้าเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของดาวฤกษ์" มาร์ก ไซเบิร์ท (Mark Seibert) หนึ่งในทีมนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวคาร์เนกี (Carnegie Observatories) ในพาซาเดนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่ค้นพบครั้งนี้เผย
นักวิจัยเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบนี้จะช่วยให้พวกเขาศึกษาว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อดวงดาวต้องพบกับจุดจบของตัวเอง จากการศึกษาคาร์บอน ออกซิเจนและธาตุอื่นๆ ที่รวมเป็นหางของไมรา จะช่วยให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าระบบสุริยะใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไรหรืออาจจะรวมถึงการเกิดชีวิตด้วย
ไมราเป็นดาวคู่ (binary star) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 350 ปีแสงและยังเป็นดาวแปรแสงซึ่งส่งจังหวะมืดและสว่างในช่วง 330 วัน โดยเมื่อ 400 ปีที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้ค้นพบไมรา เอ (Mira A) ซึ่งเป็นดาวคู่ที่สว่างและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนดาวคู่อีกดวงที่เคลื่อนที่รอบๆ ไมรา เอเป็นดาวแคระขาว (white dwarf) ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเราเรียกว่าไมรา บี (Mira B)
ไมรา เอ และไมรา บี ห่างจากกันประมาณ 90 หน่วยดาราศาสตร์ โดย 1 หน่วยดาราศาสตร์เท่ากับระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ และการศึกษาก่อนหน้านี้ชักนำว่าฝุ่นซึ่งหลุดออกมาจากไมราเอนั้นจะไปจับกันกลายเป็นวงแหวนรอบๆ ไมรา บี และวันหนึ่งก็จะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับดาวเคราะห์ดวงใหม่
แม้จะพบไมรามานานหลายศตวรรษแล้วแต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเห็นหางของดาวยักษ์แดงดวงนี้เพราะรูปร่างที่คล้ายดาวหางจะเรืองแสงในย่านรังสีอินฟราเรดเท่านั้น
แบร์รี มาดอร์ (Barry Madore) นักดาราศาสตร์อาวุโสผู้ร่วมวิจัยอีกคนหนึ่งเปิดเผยว่า กล้องกาเลกซ์ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลตมากและมีความจำเพาะที่จะตรวจวัดสิ่งใดๆ ที่ต้องใช้รังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งยังไม่เคยค้นพบมาก่อนในอดีต
"ข้อเท็จจริงที่ว่าหางของไมราจะเรืองแสงในย่านอัลตราไวโอเลตเท่านั้น อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมกล้องโทรทรรศน์อื่นๆ จึงไม่สามารถจับภาพนี้ได้" แบร์รีให้เหตุผล
เมื่อล้านล้านปีมาแล้วไมราก็น่าจะคล้ายกับดวงอาทิตย์ในระบบสิรุยะ แต่ปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะทุกข์ทรมานแห่งความตาย ด้วยอายุขัยที่มากโขและไม่อาจตอบสนองความต้องการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนปริมาณมากเพื่อเติมเชื้อไฟภายใน ทำให้ดาวดวงนี้ขยายบวมจนใกล้จะกลายเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อวินาที พร้อมทั้งทิ้งเศษซากของดาวจำนวนมหาศาล
ในที่สุดไมราจะปลดปล่อยก๊าซทั้งหมดที่มีอยู่บนดวงดาวสู่อวกาศ และก๊าซเหล่านั้นจะก่อตัวเป็นเมฆสีที่เรียกว่า "เนบิวลา" (nebula) ระหว่างดวงดาวซึ่งจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ส่วนไมราก็จะหดตัวกลายเป็นดาวแคระขาว
ถึงการค้นพบครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์เห็นหางของดาวที่ใกล้ตายได้ แต่พวกเขาก็สงสัยว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ น่าจะมีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งรวมถึงดวงอาทิตย์ของเราในวันหนึ่งที่จะแปรเปลี่ยนไปดาวยักษ์แดงในอีก 4 ล้านล้านปี
อีกทั้งนักวิจัยยังวางแผนที่จะใช้คลื่นวิทยุและอินฟราเรดเพื่อมองเห็นดาวยักษ์แดงมีหางให้มากขึ้น และจะศึกษาภาพถ่ายของดาวไมราให้ดีขึ้นเพื่อทำความเข้าใจว่าชั้นบรรยากาศของดวงดาวเมื่อหลายหมื่นปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร
"ผ่านไป 400 ปีของการศึกษา ไมราก็ยังคงสร้างความพิศวง" ทีมค้นพบสรุป
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000096493
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment