สามสถาบันชั้นนำของไทยยึดยอดดอยอินทนนท์เปิดสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร เน้นภารกิจเฝ้าระวังพายุสุริยะพร้อมศึกษาผลกระทบ หวังแจ้งเตือนข้อมูลเร็วกว่านาซา
ศ.ดร.เดวิดรูฟโฟโล อาจารย์ประภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะผู้ประสานงานโครงการปีสุริยะฟิสิกส์สากลด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการติดตั้งหัววัดนิวตรอนและเปิดสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศที่นาซาสนับสนุน จะศึกษา 2 เรื่องหลักคือ เรื่องพายุสุริยะ ผลกระทบต่อโลก และเรื่องทิศทางลมสุริยะ ทั้งนี้ สถานีใช้ทุนดำเนินการเพียง 2 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น
สถานีจะตรวจวัดอนุภาครังสีคอสมิกที่ตกกระทบโลกซึ่งที่ผ่านมาพบสัญญาณจากอนุภาครังสีคอสมิก มากกว่าจุดตรวจวัดระดับภาคพื้นถึง 50 เท่าจากที่ ม.มหิดล เคยดำเนินการ
อนุภาครังสีคอสมิกไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงแต่สามารถสร้างความเสียหายแก่ดาวเทียม ยานอวกาศรวมถึงนักบินอวกาศ และผู้ที่เดินทางบนเครื่องบินที่เส้นทางบินผ่านขั้วโลก ซึ่งชั้นบรรยากาศบางเบา อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบดาวเทียมเพียง 15 ดวงที่ถูกทำลายจากอนุภาครังสีคอสมิก ในจำนวนนี้ไม่มีดาวเทียมของไทย
"ส่วนผลของการตรวจวัดอนุภาคนิวตรอน ต้องรอดูผลเบื้องต้นในอีก 6 เดือนว่า ปริมาณคอสมิกมีมากน้อยเพียงใด และจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ เพราะชั้นบรรยากาศในปัจจุบันเบาบางขึ้น ศ.ดร.เดวิดกล่าว
โครงการวิจัยนี้ยังศึกษาทิศทางลมสุริยะและการเคลื่อนที่ของอนุภาครังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์มายังโลก โดยนักวิจัยไทยสามารถพัฒนาโปรแกรมคำนวณการเดินทางของอนุภาครังสีคอสมิกมายังโลก ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ หากพัฒนาต่อไปจะสามารถคำนวณและเตือนภัยพายุสุริยะล่วงหน้า 5-6 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับโปรแกรมของนาซาที่เตือนภัยล่วงหน้าได้เร็ว 1 ชั่วโมง
โครงการวิจัยฟิสิกส์อวกาศข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรับปีสุริยะฟิสิกส์สากล ที่นาซาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมด้านนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment