Saturday, August 4, 2007
"ฟีนิกซ์" มุ่งสู่ดาวอังคารพร้อมขน "ไซไฟ" ตั้งห้องสมุดบนดาวแดง
เอเยนซี-ฟีนิกซ์ทะยานฟ้ามุ่งสู่ดาวอังคารแล้วเตรียมลงจอดบนทวีปอาร์กติกเพื่อเจาะน้ำแข็งพิสูจน์สภาพเอื้อต่อการมีชีวิต พร้อมขนนิยายไซไฟของนักเขียนดังอัดลงแผ่นดีวีดีเพื่อตั้งห้องสมุดบนดาวแดง
จรวดเดลตา (Delta) นำยานอวกาศสำรวจดาวสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร "ฟีนิกซ์ มาร์ส แลนเดอร์" (Phoenix Mars Lander) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ทะยานฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนนาดี (Kennedy Space Center) ตามกำหนดเมื่อเวลา 17.52 น. ในวันเสาร์ที่ 4 ส.ค.นี้ตามเวลาประเทศไทย
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ความพยายามส่งยานลงจอดดาวอังคารครั้งที่ 15 ประสบความสำเร็จ ยานอวกาศไร้คนขับนี้จะจอดบนพื้นผิวบริเวณเขตอาร์กติกของดาวอังคารวันที่ 15 พ.ค.2551 ด้วยระยะทางสู่เป้าหมายราว 680 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นมีเวลา 3 เดือนปฏิบัติภารกิจตักผิวดาวแดงและชั้นน้ำแข็งใต้ดินขึ้นมาวิเคราะห์ในตู้อบและถ้วยผสมตัวอย่างขนาดเล็ก
การสำรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารไม่ใช่เป้าหมายของยานฟีนิกซ์ หากแต่การหาร่องรอยขององค์ประกอบภารกิจในตัวอย่างที่อบแห้งและตัวอย่างที่เปียกชื้นคือเป้าหมายที่จะช่วยตรวจหาความเป็นไปได้ของเงื่อนไขที่จะมีสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจจะมีอยู่ในขณะนี้หรือเคยมีเมื่อนานมาแล้ว
ถ้าปัจจุบันมีองค์ประกอบอินทรีย์บนดาวอังคาร องค์ประกอบเหล่านั้นน่าจะอยู่ภายในชั้นน้ำแข็ง ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนาซาจึงส่งยานฟีนิกซ์ไปลงจอดที่ขั้วเหนือของดาวเคราะห์ซึ่งมีน้ำแข็งซ่อนอยู่ใต้พื้นผิว
ลึกลงไปเพียง 6 นิ้วของผิวดินอันอ่อนนุ่มบนดาวอังคารก็พบชั้นน้ำแข็งแล้ว ดังนั้นยานฟีนิกซ์ไม่จำเป็นต้องขุดลงไปลึกมากนัก ทั้งนี้คาดว่าชั้นน้ำแข็งบนดาวอังคารน่าจะมีความแข็งใกล้เคียงกับคอนกรีตและสว่านบนแท่นขุดเจาะน่าจะเก็บตัวอย่างได้เพียงพอ
ฟีนิกซ์จะวิเคราะห์ไอระเหยของตัวอย่างที่อบแห้ง ส่วนดินตัวอย่างจะถูกผสมกับน้ำที่ยานลำเลียงไปจากบนโลกซึ่งจะได้โคลนที่ใช้ทดสอบกับจุลินทรีย์ซึ่งนำขึ้นไปจากบนโลกด้วย
"เราเพียงจะทำความเข้าใจในเงื่อนไขที่เอื้อต่อการมีชีวิตของจุลินทรีย์ในบางประเด็น เราไม่ได้วินิจฉัยว่าโมเลกุลเหล่านั้นแสดงว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร" วิลเลียม บอยน์ตัน (William Boynton) จากมหาวิทยาลัยอริโซนา (University of Arizona) หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ในการทดลองอบตัวอย่างให้ความเห็น
แม้ว่าจะพบโมเลกุลอินทรีย์จริงแต่ก็อาจมาจากอุกกาบาตที่ตกลงบนดาวเคราะห์ ซึ่งบอยน์ตันตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระลึกไว้เสมอว่าเราเพียงค้นหาโมเลกุลอินทรีย์เพื่อดูว่าสภาพบนดาวอังคารเอื้อต่อการมีชีวิตรอด
ไม่เพียงแค่พิสูจน์ว่าสิ่งแวดล้อมบนดาวอังคารเอื้อต่อการมีชีวิตหรือไม่เท่านั้น แต่ยานฟีนิกซ์ยังนำบทประพันธ์และบันทึกของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) อย่างคาร์ล ซาเกน (Carl Sagan) ไปจนถึงนักปรัชญาอย่าง "วอลแตร์" (Voltaire) บันทึกลงมินิดิสก์รวมเป็น "วิสัยทัศน์แห่งดาวอังคาร" (Vision of Mars) เพื่อไปตั้งเป็นห้องสมุดสำหรับผู้คนที่จะอพยพไปตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย
"ผมยินดีที่พวกคุณอยู่ที่นั่นและผมหวังว่าจะได้อยู่กับพวกคุณด้วย" คำพูดของซาเกนที่บันทึกไว้เพื่อภารกิจตั้งห้องสมุดนอกโลกนี้ก่อนเสียชีวิตในปี 2539 ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของเหล่านักฝันทั้งหลายที่จะให้ของขวัญแก่กลุ่มคนที่ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร
นอกจากนี้ยังมีคำพูดและบางส่วนในบทประพันธ์ของนักเขียนไซไฟคนอื่นๆ อาทิ เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury) ไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Asimov) และ คิม สแตนลีย์ โรบินสัน (Kim Stanley Robinson) เป็นต้น
"สำหรับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนใดก็ตาม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นจริงๆ" ความเห็นของคิม สแตนลีย์ โรบินสัน นักเขียนไซไฟที่ผลงานไตรภาคระดับคลาสสิกของเขาเรื่อง "ดาวอังคารสีเขียว" (Green Mars) ได้รับคัดเลือกให้บันทึกลงแผ่นดิสก์ด้วย
เป็นที่เชื่อกันมานานหลายทศวรรษแล้วว่าบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ดาวอังคาร และโรบินสันคาดการณ์ว่าจะมีอาณานิคมชาวดาวอังคารหลายร้อยหรือหลายพันคนภายใน 100 ปีนี้ เหมือนเช่นที่มีในสถานีสำรวจที่ทวีปแอนตาร์กติกบนโลก
"ผมเชื่อในสิ่งนั้นและคิดว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะมา" โรบินสันกล่าวถึงศรัทธาของการตั้งรกรากบนดาวอังคาร
สำหรับแผ่นดีวีดีซึ่งทำจากแก้วซิลิกาของสมาคมดาวเคราะห์ (The Planetary Society) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้วนี้บรรจุนิยายหลายเรื่อง อาทิ I'm in Marsport without Hilda และ The Martian Way ของอาซิมอฟ The Martian Chronicles ของแบรดบิวรี Transit of Earth และ The Sands of Mars ของอาร์เทอร์ ซี คาร์ก (Arthur C. Clarke) Gulliver's Travels ของโจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift) Aelita ของ อเลกซี ตอลสตอย (Alexei Tolstoi) เป็นต้น
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000091133
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment