Thursday, August 30, 2007

วิจัยแสงอาทิตย์ปูทางสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสง


น้ำมันก็แพง เชื้อเพลิงก็ใกล้จะหมดจากโลก พลังงานทดแทนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องเร่งสรรหา ในหลายประเทศก็นำมาใช้กันอย่างจริงจังบ้างแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไทยมีเกือบตลอดปีน่าจะเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องนี้ นักวิจัยไทยจึงศึกษาศักยภาพแสง เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต

ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ศึกษาถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนแบบรวมแสงในประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยในอนาคต

ผศ.ดร.จรุงแสง ลักษณะบุญส่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า นับวันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลก็เหลือน้อยลงทุกที ฉะนั้นจึงต้องหาแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูงและจะเข้ามามีบทบาทมากในอนาคต ทางทีมวิจัยจึงได้ศึกษาถึงศักยภาพของรังสีดวงอาทิตย์ในบริเวณประเทศไทยกับความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระบบความร้อนแบบรวมแสง ซึ่งขึ้นตรงกับรังสีตรงของดวงอาทิตย์ (direct normal irradiance)

“ระบบความร้อนแบบรวมแสงอาทิตย์จะต้องมีแผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ให้ไปรวมกัน ณ จุดเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนอย่างมหาศาลตรงบริเวณนั้น และจะต้องมีน้ำมันเป็นตัวนำพลังงานความร้อนไปยังโรงไฟฟ้าเพื่อต้มน้ำให้เดือดต่อไป ระบบนี้จะมีศักยภาพสูงเมื่อตั้งอยู่ในบริเวณที่มีค่ารังสีตรงของดวงอาทิตย์สูง แต่ข้อมูลดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ที่มีอยู่ก็เพียงแค่ในกรุงเทพเท่านั้น พื้นที่อื่นในประเทศยังไม่มีข้อมูล จึงจำเป็นต้องศึกษา เพื่อจะได้ทราบแน่ชัดว่าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีศักยภาพหรือไม่ อย่างไร” ผศ.ดร.จรุงแสง หนึ่งในทีมวิจัยอธิบาย

ทีมวิจัยได้ศึกษาความเข้มของรังสีตรงโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาภาคพื้นดินในช่วงปี 2538-2545 และจัดทำเป็นแผนที่ความเข้มรังสีตรงที่บริเวณต่างๆ พบว่าบริเวณที่มีความเข้มรังสีตรงสูงจะเป็นพื้นที่บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีค่าอยู่ในช่วง 1,350-1,400 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี (kWh/m2-yr)

ผศ.ดร.จรุงแสง อธิบายว่า หลังจากนั้นก็จำลองการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้า 3 แบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ และพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี เพราะมีค่ารังสีตรงสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ผลที่ได้คือ ระบบผลิตไฟฟ้าแบบพาราโบลา แบบหอคอย และแบบเครื่องยนต์สเตอร์ลิง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ย 18.0, 25.1 และ 10.7 กิกะวัตต์ต่อปี (GWh/yr) และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุน พบว่าแบบพาราโบลามีต้นทุนการผลิตต่ำสุด คือ 9.77 บาทต่อกิโลวัตต์ (บาท/kWh) ซึ่งนับว่ารังสีดวงอาทิตย์ในบริเวณประเทศไทยมีศักยภาพมากพอกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีนี้

อย่างไรก็ดี การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานต้องพิจารณาต่อไปอีก ส่วนผลงานวิจัยดังกล่าวนั้น ผศ.ดร.จรุงแสง บอกว่ายินดีเผยแพร่ หากหน่วยงานไหนหรือบุคคลใดสนใจก็สามารถติดต่อได้ที่ หน่วยวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โทรศัพท์ 034-270761

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000098544

No comments: