Wednesday, March 28, 2007

ซอฟต์แวร์หนุนเก่งฟิสิกส์

ซอฟต์แวร์หนุนเก่งฟิสิกส์ ลงมือทดสอบเสมือนจริงแต่ไฟไม่ดูด

โปรแกรมเมอร์วัยโจ๋ออกแบบสื่อการสอนออนไลน์วิชาฟิสิกส์ไฟฟ้า บรรจุเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่มัธยมต้นจนถึงมหาวิทยาลัย พร้อมห้องปฏิบัติการเสมือนจริงประกอบภาพเคลื่อนไหว ตัดปัญหาผู้เรียนถูกไฟดูดขณะทำการทดลอง ผลงานเข้าตาเนคเทครับรางวัลพัฒนาโปรแกรมคอมพ์

โปรแกรมสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับฟิสิกส์ไฟฟ้า และการทดลองเสมือนจริง เป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของคณะนักศึกษา ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้รับรางวัลจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

โปรแกรมดังกล่าวเป็นสื่อการสอนออนไลน์ ประกอบด้วย เนื้อหาและแบบจำลองห้องปฏิบัติเสมือนจริง เกี่ยวกับฟิสิกส์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหมาะสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงปริญญาตรี ใช้โปรแกรมในการทดลองและทบทวนบทเรียน

เจ้าของผลงาน ได้แก่ นายวุฒิภัทร พงษ์เพชร นายไกรสร สืบบุญ และนายชาญวิทย์ แสงสุทธิ โดย ผศ.ปัญญาพล หอระตะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นายวุฒิภัทร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนางานชิ้นนี้ เกิดจากประสบการณ์การเรียนวิชาฟิสิกส์ไฟฟ้า แล้วรู้สึกว่ามองเห็นภาพยาก เวลาเรียนการทดลอง นักเรียนไม่ค่อยกล้าทำจริง เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งรู้สึกว่าอันตราย อีกทั้งโรงเรียนบางแห่งมีเครื่องมือในการทดลองไม่เพียงพอ ทำให้ขาดโอกาสในการทดลองจริง

ทีมผู้พัฒนา อธิบายเพิ่มว่า การใช้งานค่อนข้างง่าย เพียงแค่ผู้เรียนสมัครเป็นสมาชิกผ่านเวบไซต์ แล้วล็อกอินเข้าสู่ระบบก็สามารถเข้าสู่บทเรียนได้ แต่ก่อนที่จะเรียน หรือทำการทดลองโปรแกรม จะต้องทำแบบทดสอบก่อนเรียน ในส่วนของบทเรียนมีด้วยกัน 5 บท ได้แก่ ไฟฟ้าสถิต ไฟฟ้ากระแสตรง ไฟฟ้ากระแสสลับ แม่เหล็กไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังมีแบบจำลองห้องปฏิบัติการเล็กประมาณ 30 ห้อง พร้อมภาพเคลื่อนไหว และห้องปฏิบัติการใหญ่อีก 4 ห้อง ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเหมือนได้ทดลองในห้องปฏิบัติการจริง อีกทั้งมีกล่องข้อความที่ผู้เข้าเรียนแต่ละคนสามารถฝากข้อความถึงกันได้ทุกคน พร้อมทั้งเกมสนุกๆ ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการทดลองให้เล่นได้ด้วย

และที่สำคัญโปรแกรมมีขนาดเล็ก (ประมาณ 20 เมกะไบต์) จึงใช้ได้กับระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ ขณะที่ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการข้อมูล (แก้ไข หรือเพิ่มเติม) ได้ สนใจทดลองใช้งานได้ที่ http://nsc.godchan.net

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Monday, March 26, 2007

เรือเหินไทยลำแรก

เรือเหินไทยลำแรกในโลกลอยเหนือน้ำ-แล่นฉิวและนุ่มนวล

เอกชนไทยสร้าง "เรือเหินเหนือน้ำ" คาดเดือนพฤษภาคมยลโฉมต้นแบบลำแรกของโลก เผยออกแบบพิเศษใช้หลักการยกตัวด้วยแรงลมเช่นเดียวกับเครื่องบิน จึงลดแรงเสียดทานระหว่างท้องเรือกับผิวน้ำ ทำให้แล่นฉิว นุ่มนวลและประหยัดน้ำมัน

นายมงคล เจษฎานนท์ นักวิจัยโครงการสร้างต้นแบบเรือเหินเหนือน้ำ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เซฟตี้อินเว็นชั่นส์ กล่าวว่า เรือเหินเหนือน้ำถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก คาดว่าเรือต้นแบบจะสร้างเสร็จราวเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากใช้เวลาสร้างมา 3 ปีและทุนกว่า 3.5 ล้านบาท โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บริษัท ยามาฮ่า ประเทศไทย จำกัด ในการพัฒนาอุปกรณ์ เช่น เครื่องยนต์และปีกเรือ

เรือเหินเหนือน้ำมีหน้าตาคล้ายกับเรือสปีดโบ๊ทตามหาดชายทั่วไป แต่ใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสซึ่งน้ำหนักเบา และออกแบบโครงเรือโดยอาศัยหลักพลศาสตร์ และอาศัยระบบไฮโดรลิกควบคุมการทำงานของปีก ในการพยุงเรือให้ลอยเหนือน้ำประมาณ 1 เมตรในระดับความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ การที่ท้องเรือไม่ตกกระทบผิวน้ำ จึงช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างเรือกับผิวน้ำ ทำให้เรือทำความเร็วได้มากขึ้น ลดแรงกระแทกหรือแล่นได้นุ่มนวลขึ้น แถมยังประหยัดน้ำมันอีกด้วย

"หลังจากลำต้นแบบสร้างเสร็จและผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ บริษัทก็จะผลิตและส่งไปขายที่ประเทศออสเตรเลียเป็นแห่งแรก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตการค้าเสรี ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียในอัตราต่ำ ประกอบกับภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะจำนวนมาก จึงมีความต้องการยานพาหนะที่สะดวกและรวดเร็วสำหรับการเดินทางระหว่างเกาะ" นายมงคล กล่าว

ผลงานเรือเหินเหนือน้ำ ได้รับรางวัลธุรกิจนวัตกรรม จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่คัดเลือกออกจากผลงาน 80 สิทธิบัตร ซึ่งมีศักยภาพทางธุรกิจ โดยกรรมการพิจารณาเห็นว่า เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เคยมีในประเทศอื่นๆ จึงนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ควรได้รับการยกย่อง เพื่อเป็นแนวทางและกำลังใจให้แก่เจ้าของผลงานอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Saturday, March 24, 2007

ฝรั่งเศสเปิดเว็บเผยข้อมูลลับ UFO

ฝรั่งเศสเปิดเว็บเผยข้อมูลลับ UFO ที่เก็บมากว่า 50 ปี

เอเอฟพี - ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกที่เปิดแฟ้มลับของตนในเรื่องเกี่ยวกับ “ยูเอฟโอ” ซึ่งรวบรวมข้อมูลรายงานการพบเห็นวัตถุประหลาดบนฟากฟ้ากว่า 1,600 กรณี ตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา

องค์การอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES : Centre National d’Etudes Spatiales) ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ www.cnes-geipan.fr ซึ่งรวบรวมข้อมูลรายงานการพบเห็นวัตถุประหลาดบนฟากฟ้า

ฐานข้อมูลออนไลน์แห่งนี้ยังคงอัปเดตเมื่อมีรายงานกรณีใหม่ๆ เข้ามาด้วยนั้น ได้จัดทำรายการกรณีที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดยิบ โดยมีตั้งแต่เหตุการณ์ซึ่งสามารถโยนทิ้งไปได้อย่างง่ายดาย ไปจนถึงเหตุการณ์จำนวนหนึ่งซึ่งแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ผู้ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ ก็ยังต้องนิ่งอึ้ง

ฌาคส์ ปาเตอเนต์ (Jacques Patenet) วิศวกรการบินอวกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานทำหน้าที่ศึกษา "ปรากฏการณ์ในบรรยากาศและอวกาศที่ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้" (non-identified aerospatial phenomena) ขององค์การอวกาศฝรั่งเศส อวดว่าการเปิดแฟ้มผ่านทางออนไลน์ของแดนน้ำหอมเช่นนี้ ถือเป็นครั้งแรกของโลก

หลายประเทศโดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐฯ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล “วัตถุบินได้ที่ไม่สามารถระบุชี้ชัด” หรือ “ยูเอฟโอ” อย่างเป็นระบบเช่นกัน ทว่าผู้สนใจศึกษาต้องอาศัยกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารมาบังคับให้หน่วยงานที่จัดเก็บยอมเปิดแฟ้มให้ดู และก็ขอดูได้เป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น

ปาเตอเนต์ บอกว่า กรณีอย่างเช่นสตรีผู้หนึ่งรายงานว่า พบเห็นวัตถุที่ดูเหมือนม้วนกระดาษชำระกำลังบินอยู่ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีคุณค่าพอที่จะดำเนินการสอบสวน แต่ก็มีกรณีจำนวนมากที่มีผู้พบเห็นกันหลายคน อีกทั้งมีหลักฐานอย่างเช่น รอยไหม้ หรือเรดาร์สามารถตรวจจับรูปแบบการบินของวัตถุนั้นๆ ตลอดจนมีการเร่งความเร็วชนิดที่ท้าทายกฎทางฟิสิกส์ เหล่านี้ย่อมควรที่จะต้องพิจารณากันอย่างจริงจัง

จากกรณีกว่า 1,600 กรณีที่เก็บรวมไว้ตั้งแต่ปี 1954 มีเกือบ 25% ถูกจัดให้อยู่ใน “ประเภท ดี” (type D) ซึ่งหมายความว่า “แม้จะมีข้อมูลที่ดีหรือกระทั่งดีมาก และมีพยานที่น่าเชื่อถือ แต่เราก็เผชิญกับอะไรบางอย่างที่เรายังไม่สามารถอธิบายได้” ปาเตอเนต์กล่าว

หนึ่งตัวอย่างของกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม 1981 บริเวณนอกเมืองตรองส์-ออง-โปรวองซ์ (Trans-en-Provence) เมืองเล็กๆ ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ชายผู้หนึ่งที่กำลังทำงานในทุ่งนารายงานว่า ได้ยินเสียงหวูดหวีดแปลกๆ และพบวัตถุรูปร่างเหมือนชามกลมๆ ตื้นๆ รัศมีประมาณ 2.5 เมตร ลงจอดในทุ่งนาของเขา ห่างจากตัวเขาไปราว 50 เมตร

เขาแจ้งความกับตำรวจว่า วัตถุรูปชามซึ่งมีสีเทาสังกะสีตุ่นๆ นี้ ได้ทะยานขึ้นฟ้าแทบจะทันทีทันใด และทิ้งรอยไหม้ไว้หลายรอย คณะเจ้าหน้าที่สอบสวนได้ถ่ายภาพ และเก็บตัวอย่างหลายอย่างมาวิเคราะห์ ทว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจ

แต่ก็มีกรณีอย่างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1990 ซึ่งมีพยานเกือบ 1,000 คนบอกว่าพบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า แล้วการสอบสวนระบุว่าเป็นเพียงเศษของจรวดที่ตกกลับเข้าสู่บรรยากาศของโลก

เมื่อถูกถามเรื่องมีมนุษย์จากนอกโลกจริงหรือไม่ ปาเตอเนต์ตอบว่า “เราไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยนิดที่พิสูจน์ว่า มนุษย์ต่างดาวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์อันไม่อาจอธิบายได้เหล่านี้”

ทว่าเขาก็กล่าวต่อไปว่า “แต่เราก็ไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยนิดเช่นกันที่พิสูจน์ว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เบื้องหลัง”

ทั้งนี้ CNES ได้รับรายงานการเห็น UFO ปีละ 50-100 กรณี และส่วนใหญ่เป็นการรายงานผ่านตำรวจ มีเพียงแค่ 10% ในจำนวนนี้ที่วัตถุประหลาดนั้นได้รับการสืบสวนต่อไป

เว็บไซต์ดังกล่าวนับเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีซึ่งมีทั้งรูปภาพ และรายงานของตำรวจอย่างละเอียด ซึ่งการเปิดให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้ง่ายต่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป

อย่างไรก็ดี ภายหลังเปิดตัวเว็บไซต์ www.cnes-geipan.fr ดูเหมือนว่าจะมีผู้ให้ความสนใจมากมายล้นหลาม จนเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถรองรับได้ ผู้เข้าชมจากทั่วโลกจึงอาจจะไม่สามารถรับชมเว็บไซต์ดังกล่าวได้อย่างสะดวกนัก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000034135

Friday, March 23, 2007

สร้างปัญหาโลกร้อน


กูรู ชี้ "นักท่องเที่ยว" มีส่วนสร้างปัญหาโลกร้อน

เอเอฟพี - นักท่องเที่ยวอาจกำลังทำลายสถานที่ท่องเที่ยวสุดโปรดของพวกเขา จากการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกตามสถานที่ไปเยี่ยมเยือน จนทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษมากที่สุดของโลก

เที่ยวบินสู่หาดสวรรค์ รวมถึงการพักค้างคืนในห้องปรับอากาศของโรงแรม เมื่อกระทำซ้ำๆ กันในปริมาณมหาศาล ก็เป็นตัวการทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวสร้างมลพิษอยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมหนัก

"โชคไม่ดีที่การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (ภูมิอากาศ)ในตอนนี้ และก่อให้เกิดกระบวนการโลกร้อน จากการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูมากจนเกินไป" ฟรานเชสโก ฟรานจิอัลลี (Francesco Frangialli) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourist Organisation : WTO) กล่าวต่อที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ในสัปดาห์นี้

ในปี 2006 ผู้คน 842 ล้านคนออกเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ และ 40% ของคนเหล่านั้น เดินทางสู่จุดหมายด้วยเครื่องบิน ซึ่งก็คือ คน 336 ล้านคน หรือเป็นจำนวนมากกว่าประชากรของสหรัฐฯ ที่ออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน

"การขนส่งทางอากาศยังคงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ สู่ชั้นบรรยากาศเพียง 2% ของทั้งหมด แต่การขนส่งทางอากาศก็กำลังมีส่วนก่อปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ และการท่องเที่ยวก็เป็นแรงขับดันหนึ่งที่ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้น" ฟรานจิอัลลีกล่าว

เขาเผยว่า คาดกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 1,100 ล้านคน ในปี 2010 และภายในปี 2020 จะมีถึง 1,600 ล้านคน ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวเองก็จะพบกับ "โศกนาฏกรรม" ถ้าปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป

เนื่องจากนักท่องเที่ยวก่อมลพิษไปรอบโลก สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยม เช่น หมู่เกาะมัลดีฟส์ ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นมีความงามดังสวรรค์บนดิน แต่มีพื้นที่ต่ำ อาจจมหายไปได้ เพราะระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ทะเลสาบอันโด่งดังของแทนซาเนีย ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแอฟริกา ก็จะแห้งเหือด ส่วนในยุโรป ฤดูเล่นสกีในเทือกเขาแอลป์ก็จะสั้นลงเมื่อหิมะตกลดน้อยลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียส หมายถึงว่าจะมีหิมะตกน้อยลง 40 วัน ณ ความสูงระดับ 1,500 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นความสูงระดับกลางๆ

องค์การการท่องเที่ยวโลกสนับสนุนข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้บรรจุการเดินทางทางอากาศเข้าไว้ในรายการที่จะต้องจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2011 หรือ 2012 และต้องเข้าสู่การจัดทำบัญชีโอนถ่ายคาร์บอน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจก

มาตรการดังกล่าวน่าจะกระตุ้นให้สายการบินต่างๆกดดันบริษัทผลิตเครื่องบินให้สร้างเครื่องบินที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟรานจิอัลลีกล่าว

แต่นั่นอาจทำให้ค่าโดยสารมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บางคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชื่อว่า นักท่องเที่ยวคงจะพร้อมจะจ่ายแพงขึ้นอีกนิดเพื่อปกป้องรักษาสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเขารัก

"เรามีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยไอเสีย เราเป็นผู้ก่อมลพิษ และเราพร้อมจะจ่ายชดใช้" ไมเคิล ไอวาน ผู้จัดทัวร์ชาวเยอรมันกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระวังเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่มราคาตั๋วเครื่องบิน เพราะผู้บริโภคยังคงอ่อนไหวต่อราคาเป็นอย่างมาก

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000033903

Thursday, March 22, 2007

เวทีเยาวชน


สสวท.- มก. เปิดเวทีเยาวชนเสนอผลงานวิชาการวิทย์

ประชาชนสามารถเข้าถึงผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น เมื่อ สสวท. จับมือกับ มก. จัดการประชุมวิชาการแสดงผลงานวิจัยของเหล่านิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งนักวิชาการจากหลายสถาบันมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงความก้าวหน้าทางวิชาการต่างๆ มากมาย

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน จัดงาน “การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค.50 ณ อาคารจักรพันธ์ เพ็ญศิริ และอาคารศูนย์เรียนรวม 3 มก.บางเขน เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้นำเสนอผลงานวิจัย และเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ทั้งนี้ ในพิธีเปิดงานวันที่ 21 มี.ค. โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “เส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์ไทย” นอกจากนี้ยังมีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เส้นทางสู่นักวิทย์รุ่นใหม่” โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกสองท่านคือ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยจาก MTEC และ ผศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการผลงานวิจัยของนิสิต นักศึกษา ณ บริเวณชั้นล่าง อาคารศูนย์เรียนรวม 3 ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงผลงานวิจัยของนิสิต นักศึกษา ในรูปแบบโปสเตอร์ หลังจากนั้นจึงเป็นการเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยาย แยกตามสาขาวิชา ซึ่งจะมีไปจนถึงวันที่ 22 มี.ค.50

จุดประสงค์ในการจัดงานเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ฝึกทักษะในการนำเสนอผลงานวิจัย และเผยแพร่ผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนิสิต นักศึกษา กับนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ตลอดจนให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ นิสิต นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ ที่ได้รับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) และโครงการอื่นๆ ในภาครัฐที่สนับสนุนในด้านเดียวกันนี้

การนำเสนอผลงานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบโปสเตอร์และแบบบรรยาย ซึ่งผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 500 ชิ้น โดยแบ่งเป็นสาขาวิชาต่างๆ 6 สาขา ได้แก่ สาขาคณิตศาสตร์ สาขาเคมี สาขาชีววิทยา สาขาฟิสิกส์ สาขาธรณีวิทยา และสาขาคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจมากมาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000033305

Wednesday, March 21, 2007

วันอิควินอกซ์

21 มี.ค. “วันอิควินอกซ์” กลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง

เพราะโลกเอียง...เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์มากมายบนโลกนี้ เช่นเดียวกับ “วันอิควินอกซ์” ที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง ก็เป็นผลมาจากแกนโลกเอียง และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนฤดูกาลด้วย โดยตลอดทั้งปีจะมีวันดังกล่าวเกิดขึ้น 2 วัน คือวันที่เปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ร่วงและวันที่เปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิ

“วันอิควินอกซ์” (equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีและเป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน 12 ชั่วโมง โดยตลอดปีนั้นจะมีวันอิควินอกซ์เกิดขึ้น 2 วัน คือ “เวอร์นัล อิควินอกซ์” (vernal equinox) หรือ “วสันตวิษุวัต” ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. และอีกวันคือ “ออทัมนัล อิควินอกซ์” (autumnal equinox) หรือ “ศารทวิษุวัต” ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.

ทั้งนี้ นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย อธิบายว่าวันอิควินอกซ์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันพอดี เพราะแกนหมุนของโลกไม่ได้ตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เอียงทำมุม 23.5 องศา ซึ่งการเอียงของแกนโลกนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฤดูกาลที่มีทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยฤดูร้อนของทางซีกโลกเหนือนั้นขั้วเหนือของโลกจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ และเมื่อถึงฤดูหนาวขั้วเหนือจะหันออกจากดวงอาทิตย์

นายวรเชษฐ์กล่าวว่า 1 ปีมีวันอิควินอกซ์ 2 วัน คือประมาณวันที่ 20-21 มี.ค. และประมาณวันที่ 22-23 ก.ย. โดยต้องคำนวณหาวันที่แน่นอนในแต่ละปี สำหรับปี 2550 มีวันอิควินอกซ์ในวันที่ 21 มี.ค.และ 23 ก.ย. และโดยปกติในซีกโลกเหนือจะพูดถึงวันอิควินอกซ์ในเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนฤดูกาล แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

สำหรับความแตกต่างของวันอิควินอกซ์ระหว่างเดือน มี.ค.กับเดือน ก.ย.นายวรเชษฐ์อธิบายว่า เป็นความแตกต่างของตำแหน่งดวงอาทิตย์ ในเดือน มี.ค.นั้นดวงอาทิตย์จะปัดจากซีกฟ้าใต้ขึ้นมายังซีกฟ้าเหนือ ซึ่งในซีกโลกเหนือถือเป็นสัญลักษณ์ของวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ส่วนเดือน ก.ย.ดวงอาทิตย์จะปัดจากซีกฟ้าเหนือลงซีกฟ้าใต้ และซีกโลกเหนือถือเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง

“ในหน้าร้อนดวงอาทิตย์ขึ้นเยื้องไปทางทิศเหนือและตกเยื้องไปทางทิศเหนือเช่นกัน ส่วนหน้าหนาวนั้นขั้วเหนือหันออกจากดวงอาทิตย์ก็จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเยื้องไปทางทิศใต้ การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้มีผลให้ความยาวของวันต่างกัน หน้าร้อนกลางวันจะยาวกว่ากลางคืนเพราะดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนหน้าหนาวกลางวันสั้นกว่ากลางคืนเพราะดวงอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว” นายวรเชษฐ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายวรเชษฐ์กล่าวว่าในทางทฤษฎีวันอิควินอกซ์เป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน แต่ในธรรมชาตินั้นโลกมีชั้นบรรยากาศที่หักเหแสงอาทิตย์ โดยชั้นบรรยากาศจะหักเหแสงทำให้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วและตกช้ากว่าปกติ จึงทำให้เราเห็นกลางวันยาวกว่ากลางคืนเล็กน้อย ซึ่งหากโลกเราไม่มีชั้นบรรยากาศในวันอิควินอกซ์เราก็จะเห็นกลางวันยาวเท่ากับกลางคืนพอดี

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000032409

Tuesday, March 20, 2007

ผ้าไทย ความงามของอดีต

ผ้าไทย ความงามของอดีต

จากแนวคิดของกลุ่มคนผู้รักผ้าไทย และจากความร่วมมือเป็นอย่างดีของสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสที่มีอายุครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 103 ในเดือนมีนาคม 2550 นี้ สยามสมาคมฯ ได้จัดนิทรรศการพิเศษ "ผ้าไทย ความงามของอดีต" ขึ้น

การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ไม่เพียงแต่มีผ้าไทยหาชมได้ยากที่เกิดจากการสะสมของคนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังได้อัญเชิญผ้าทรงและฉลองพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเป็นผ้าซิ่นไหมยกดิ้นทองลายวิจิตรมาจัดแสดงเป็นการพิเศษในนิทรรศการนี้ด้วย โดยผ้าไทยที่ทรงสะสมนี้ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกจัดแสดงเป็นครั้งแรก เพื่อประกอบนิทรรศการ “พระมงกุฎเกล้าฯ กับหัวเมืองปักษ์ใต้” ในวันคล้ายวันประสูติ 24 พฤศจิกายน 2549 ณ ท้องพระโรงวังรื่นฤดี

ที่พิเศษสุด คือ ทรงพระราชทานฉลองพระองค์ 2 องค์ มาให้จัดแสดงนิทรรศการ พร้อมด้วยสไบแล่งเงินบนพื้นดำ และสไบแล่งทองบนพื้นนวล ที่สวยงามวิจิตร

นอกจากนี้ยังมีผ้าทอโบราณของไทยในคอลเลคชั่นส่วนตัวของคุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ อุปนายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และคอลเลคชั่นส่วนตัวของคุณทนง คุปตัษเฐียร, คุณจักรพงษ์ วรรณชนะ สองดีไซเนอร์คู่หูแห่งห้องเสื้อ ริโค่ - อาโมน่า (Rico- A Mona) ที่ได้สะสมเป็นเวลานานปีมาจัดแสดงด้วย

บรรดาผ้าโบราณที่นำมาจัดแสดงมีอายุนับร้อยปี จำนวนกว่า 200 ผืน เป็นผ้าทอไทยโบราณของประเทศไทยทั้ง
4 ภาค อาทิ ผ้าซิ่นตีนจกไทยวนจากราชบุรี ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่งจากอุทัยธานี ผ้าซิ่นมัดหมี่จากภาคอีสาน ผ้าซิ่น
คำเคิบจากน่าน ผ้าซิ่นลับแลจากอุตรดิตถ์ ผ้าซิ่นตีนจกจากเชียงใหม่ และผ้าล่องจวนตานีจากปัตตานี เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี (ซอยสุขุมวิท 21 ) กรุงเทพฯ ระหว่างวันศุกร์ที่ 9 มีนาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2550 ระหว่างเวลา 10.00 น. - 17.00 น.
ไม่เว้นวันหยุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2661-6470-7 โทรสาร: 02-258-3491

Axis Graphic Limited

หุ่นยนต์ทหาร

หุ่นยนต์ทหาร (กำลังจะมาแล้ว) มาแล้ว

เราเห็นกันในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แอ็กชันดังเช่น ชุด Star Wars ชุด The Terminator และ I, Robot เราสนุก ตื่นเต้น กับการได้ชมบทบาทของหุ่นยนต์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นทหารฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายอธรรม แต่เรายังสนุกอยู่หรือไม่ ถ้ามีการนำหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธสงครามจริง เข้าประจำการ?

คำถามแรก แล้วจะมีการนำหุ่นยนต์ทหารเข้าประจำการจริงหรือไม่?
ถ้าคุณผู้อ่านคิดว่า ไม่! คุณผู้อ่านก็คิดผิด เพราะมาถึงขณะนี้ (เดือนมีนาคม 2007) มีอยู่อย่างน้อย 2 ประเทศ ที่ได้ลงทุนงบประมาณให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร จนกระทั่งพร้อมแล้วที่จะออกปฏิบัติการดังเช่นทหารมนุษย์จริงๆ คือ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

ประเทศที่ก้าวหน้ามากที่สุดในการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร เพื่อออกปฏิบัติการในสถานการณ์สงครามจริง คือ สหรัฐอเมริกา เพราะได้พัฒนาหุ่นยนต์ทหารถึงขั้นได้รับการอนุมัติจากทางการทหารสหรัฐให้นำหุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการจริงในประเทศอิรัก ภายในปี 2007 นี้ ส่วนอีกประเทศหนึ่ง คือ เกาหลีใต้ ที่ก็ได้พัฒนาหุ่นยนต์ทหาร ถึงขึ้นมีแผนจะนำกองทัพหุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการจริง หลังปี 2008

หุ่นยนต์ทหารของสหรัฐอเมริกา ที่จะถูกส่งออกปฏิบัติการจริงในประเทศอิรัก เป็นหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธจริง พัฒนาจากหุ่นยนต์แบบมีชื่อ เรียกว่า “Sword” (ซอร์ด แปลว่า มีดหรือดาบ) ของบริษัท ฟอสเตอร์-มิลเลอร์ (Foster-Miller) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ ติดอาวุธร้ายแรง หรืออาวุธอย่างอื่น ตามแต่สถานการณ์เหมาะสม มีลักษณะโดยทั่วๆ ไปคล้ายรถถังขนาดไม่ใหญ่นัก มีล้อเป็นสายพานแบบรถถัง ด้านบนเป็นระบบการไล่ล่าเป้าหมาย ประกอบด้วยกล้องและระบบการรักษาความปลอดภัยแล้วก็อาวุธ

การออกปฏิบัติการจริงของหุ่นยนต์ทหารอเมริกา จะทำงานคู่กับระบบติดตาม ควบคุมและสั่งการหุ่นยนต์ เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบแล็บท็อป มีทหารอเมริกันที่ติดตามสภาพการณ์ต่างๆ รอบหุ่นยนต์ทหาร และควบคุมสั่งการ หุ่นยนต์ทหารได้อีกต่อหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกคำสั่งผ่านทางแล็บท็อปคอมพิวเตอร์ ให้หุ่นยนต์ทหารเริ่มใช้อาวุธ

เป้าหมายการปฏิบัติการของหุ่นยนต์ทหารอเมริกันในอิรักก็คือ ให้หุ่นยนต์ทหารออกปฏิบัติการป้องกัน ต่อสู้ และปราบปรามฝ่ายก่อการร้ายในอิรักแทนทหารจริงๆ

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนกันยายน 2006 ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ทหารติดอาวุธตัวแรกของเกาหลีใต้ ชื่อ SGR-A1 เป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท ซัมซุง เทควิน (Samsung Techwin Co.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกาหลี (Koren University) ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณของรัฐบาลเกาหลีใต้

หุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ SGR-A1 เป็นหุ่นยนต์ที่ด้อยกว่าของสหรัฐอเมริกา ตรงที่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ก้าวหน้ามากในระบบการเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้บุกรุก แล้วก็สามารถติดอาวุธร้ายแรง เช่น อาวุธสงคราม หรืออาวุธแบบอื่นๆ ที่ใช้เตือน ใช้ทำให้บาดเจ็บด้วยกระสุนลูกยาวหรือแก๊สน้ำตา

รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์ทหาร เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นทั้งทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อใช้ประจำทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยตามชายแดน ติดกับประเทศเกาหลีเหนือ ชายฝั่งทะเล สถานที่สำคัญของประเทศ ดังเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน ท่อส่งน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางด้านการทหาร และความมั่นคง ดังเช่น ฐานที่ตั้งกองทัพ ระบบเรดาห์ และสนามบิน

หุ่นยนต์ทหารของเกาหลีใต้รุ่นแรกเปิดตัวเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ไฮ-เทค มี (ตา) กล้องเห็นได้ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน (ด้วยกล้องอินฟาเรด) สามารถเฝ้าระวังและติดตามผู้บุกรุกภายในรัศมีได้ถึง 4 กิโลเมตร สำหรับเวลากลางวัน และ 2 กิโลเมตร เวลากลางคืน

ในการปฏิบัติการจริงของหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ หุ่นยนต์มีระบบเสียง เตือนผู้บุกรุกหรือผู้ต้องสงสัยก่อน ให้แสดงตนว่า ไม่ใช่ศัตรูโดยรหัสเป็นคำพูด หรือการแสดงออกดังเช่น ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง หรือยกอาวุธ เช่น ปืนยาว ขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อแสดงตนว่า ไม่ขัดขืน ยอมแพ้หรือเป็นฝ่ายเดียวกัน

ถ้าผู้บุกรุกส่งหรือแสดงสัญญาณผิด หรือไม่ตอบอะไรเลย หุ่นยนต์ก็จะลงมือทันที ด้วยการใช้อาวุธ

ข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างหุ่นยนต์เกาหลีใต้กับของอเมริกา คือ ของเกาหลีใต้ไม่มีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กประจำหุ่นยนต์ทหาร ดังเช่นกรณีของหุ่นยนต์ทหารอเมริกัน แต่ฝ่ายผู้พัฒนาหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ ชี้แจงว่า การทำงานของหุ่นยนต์ทหารเกาหลีใต้ ก็คล้ายๆกับของอเมริกา คือ หุ่นยนต์ทหารจะลงมือใช้อาวุธก็ต่อเมื่อ ได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมที่เป็นมนุษย์อยู่ในห้องควบคุม

เหตุผลของการพัฒนาหุ่นยนต์ทหารเพื่อออกปฏิบัติการจริงของสหรัฐอเมริกา กับเกาหลีใต้แตกต่างกันค่อนข้างมาก

เหตุผลหลักของสหรัฐอเมริกา ก็เพื่อต้องการลดความสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนของสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรในอิรักเป็นสำคัญ แต่เหตุผลของเกาหลีใต้ ที่สำคัญมาจากสภาพการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มประชากรของเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของโลก จึงเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อประจำการที่พรมแดนติดกับประเทศคู้ปรับ คือ เกาหลีเหนือ

แล้วปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก เป็นอย่างไร?
โดยทั่วๆ ไป ก็ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่า หุ่นยนต์ทหารจะปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้จริง

ส่วนของเกาหลีใต้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่า หุ่นยนต์ทหารจะปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้จริง

แถมโอกาสที่หุ่นยนต์ทหารของทั้งสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ จะเกิดความผิดเพี้ยนทำร้ายทุกคนที่อยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือไม่ ก็เกิดขึ้นได้

แล้วคุณผู้อ่านหละครับ คิดอย่างไร?

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

หุ่นยนต์เตือนไฟไหม้


"ยูบิโกะ" หุ่นยนต์เตือนไฟไหม้

เป้าหมายสำคัญในการผลิต-พัฒนา "หุ่นยนต์" ก็คือ ทำให้จักรกลไร้ชีวิตเหล่านี้ เข้ามารับใช้สังคมมนุษย์ในงาน หรือ กิจกรรมต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยญี่ปุ่นจากหลายองค์กร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกิวชู สถาบันเทคโนโลยีคานาซาวะ และบริษัททัมซัก ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวความสำเร็จขั้นแรกของการพัฒนาหุ่นยนต์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ รุ่น "ยูบิโกะ"

เดิมที บ.ทัมซัก ตั้งใจสร้าง "ยูบิโกะ" ขึ้นมาเพื่อใช้ในงานต้อนรับ-ประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อมามองดูศักยภาพแล้วเห็นว่า สามารถต่อยอดนำไปใช้งานที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น จึงร่วมมือกับทั้งสองสถาบัน เพื่อดัดแปลงให้มันทำงานที่มีประโยชน์มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาเป็น "ยูบิโกะ" ดังที่เห็นในภาพ

หุ่น "ยูบิโกะ" สูง 112 เซนติเมตร หนัก 60 กิโลกรัม เคลื่อนที่ได้ด้วยล้อเลื่อน ได้รับการติดต้องกล้องวิดีโอและเซ็นเซอร์ตรวจจับ "กลิ่นไหม้" ที่อาจเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ เช่น กลิ่นบุหรี่ กลิ่มวัตถุเผาไหม้ ฯลฯ

แผนกรักษาความปลอดภัยตามอาคาร รวมทั้งสำนักงานต่างๆ สามารถสั่งงานให้ "ยูบิโกะ" ลาดตระเวนตรวจตราไปตามห้องแต่ละห้องว่ามีกลิ่นผิดปกติที่อาจเป็นชนวนเหตุไฟไหม้ได้หรือไม่

ถ้าเซ็นเซอร์จับกลิ่นไหม้ได้ก็จะส่งสัญญาณผ่านเครื่อข่ายสื่อสารไร้สาย แจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทราบ เพื่อมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า เซ็นเซอร์ของ "ยูบิโกะ" แยกแยะออกว่าห้องไหนมีกลิ่นบุหรี่ และห้องไหนไม่มี แต่ยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงเอาไว้ด้วย

เนื่องจากต้องพัฒนากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ถ้าเกิดมีคนสูบบุหรีหรือมีกลิ่นบุหรี่ติดตัวเดินมาใกล้ๆ ก็อาจถูกเจ้าหุ่นรุ่นนี้ฉีดน้ำยาดับเพลิงใส่เอาได้ง่ายๆ!

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec13200350&day=2007/03/20§ionid=0326

จมูกเซ็นเซอร์

นาโนเทคพัฒนาจมูกเซ็นเซอร์ดมสารสมุนไพรพิสูจน์ความบริสุทธิ์

นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พัฒนาระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไว้ดมกลิ่น แยกกลิ่นจากสารสกัดสมุนไพรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา วัดค่าแม่นยำกว่าจมูกคน

นายรุ่งโรจน์ เทาลานนท์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยว่า นาโนเทคได้เริ่มต้นพัฒนาเครื่องมือเพื่อทดสอบวัดกลิ่น หรืออิเล็กทรอนิกส์ก๊าซเซ็นเซอร์ เพื่อใช้กับงานด้านต่างๆ อาทิ ใช้จำแนกระดับความสดของเนื้อสัตว์ และวัดความสุกของผลไม้ ด้วยความแม่นยำในการแยกแยะกลิ่นในรูปแบบของจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ที่เลียนแบบการทำงานของจมูกมนุษย์

ล่าสุดได้พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไมโครคอนโทรเลอร์เพื่อใช้ทดสอบวัดกลิ่นสารยูจินอลและเมทานอล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของสารสกัดสมุนไพรที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ และธุรกิจสปา

“จมูกอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่สามารถนำมาช่วยตรวจสอบคุณภาพของพืชสมุนไพรก่อนนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ เบื้องต้นได้ทดลองใช้จำแนกกลิ่นสมุนไพร ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมถึงธุรกิจสปา” นักวิจัย กล่าว

สมุนไพรแต่ละชนิดให้กลิ่นที่มีความเข้มข้นต่างกัน จึงต้องอาศัยเครื่องมือวัดเพื่อทดสอบคุณภาพ ความบริสุทธิ์ ความแรง ความเข้มข้นของกลิ่นและช่วงเวลาเก็บรักษากลิ่น โดยเฉพาะสารยูจินอลที่เป็นองค์ประกอบของสารสมุนไพรและสารเมทานอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทางเคมี

นักวิจัย กล่าวว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุปกรณ์จำลองรูปแบบการรับรู้กลิ่นของมนุษย์ โดยอาศัยการวิเคราะห์หาสัญญาณก๊าซและตรวจสอบวัดกลิ่นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ซึ่งช่วยให้การวัดมีความแม่นยำ โดยเก็บข้อมูลที่ได้จากระดับความเข้มข้น และความแตกต่างของสัญญาณไฟฟ้า แล้วนำมาประมวลผลวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

"เซ็นเซอร์สามารถบ่งบอกความต้านทานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปเมื่อดูดซับสารเคมีที่ระเหยออกมา ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาจำแนกกลิ่นโดยซอฟต์แวร์ช่วยในการวิเคราะห์" นักวิจัย กล่าว

ข้อดีของการใช้งานจมูกอิเล็กทรอนิกส์คือ สามารถวัดค่าของกลิ่นได้อย่างแม่นยำ มีความเสถียรในการวัดสูง ทำให้สามารถควบคุมความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ปริมาณ และความเข้มข้นของสารที่ใช้

สำหรับก้าวต่อไปของการวิจัยคือพัฒนาก๊าซเซ็นเซอร์ให้ครอบคลุมกับงานให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการทดสอบ ตลอดจนเก็บรวบรวมข้อมูลกลิ่นแต่ละชนิดเพื่อนำมาจำลองแบบการดมกลิ่นของจมูกมนุษย์ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เทคโนโลยีปกป้องโลก


8 เทคโนโลยีปกป้องโลก จากใต้ทะเลลึกถึงบนท้องฟ้า!

ท่ามกลางสารพัดวิกฤตทางธรรมชาติที่รุมเร้าโลกสีเขียวที่มีสีหม่นคล้ำขึ้นทุกวัน สำหรับบางคนอาจมองเห็นแต่ปัญหา แต่บางคนกลับมองเห็นโอกาสและทางแก้ไข ทั้งเพื่อช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง "ทำเงิน" ไปด้วยพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่กำลังคิดค้น 8 เทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่เพื่อปกป้องโลก ดังต่อไปนี้!

1. ปั๊มเชื้อเพลิงประจำบ้าน
ในอนาคตพลังงานสะอาดจาก "เซลล์เชื้อเพลิง" จะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์แทนที่น้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษตกค้างสู่สภาพแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน

นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย กำลังพัฒนาต้นแบบ "ปั๊มจ่ายเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน" สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดพอเหมาะกับการติดตั้งเอาไว้ใช้ตามบ้านพัก

ปั๊มดังกล่าวมีขนาดพอๆ กับตู้เสื้อผ้า ตัวปั๊มเชื่อมต่อกับแผงพลังงานสุริยะ (โซลาร์เซลล์) ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาโรงรถ หรือ หลังคาบ้านก็ได้ ทำให้มันมีไฟฟ้าไว้ใช้เดินเครื่องได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากสายส่ง

ในแต่ละวัน ปั๊มรุ่นนี้สามารถผลิตเชื้อเพลิงป้อนให้รถวิ่งไปได้ไกล 160 กิโลเมตรต่อการเติมเต็มถัง 1 ครั้ง คาดว่าจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์นำออกวางตลาดได้จริงภายใน 2 ปี

2. โครงข่าย"เซ็นเซอร์"เตือนภัย

บริษัทเอ็นสโค รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เรียกสิ่งประดิษฐ์รุ่นนี้ของตนเอง ว่า โครงข่ายเซ็นเซอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม หมายถึงชุดเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กพอๆ กับลูกวอลเลย์บอล ซึ่งแต่ละชิ้นร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นทางยาว

นำไปติดตั้งได้ทั้งใต้ทะเล ใต้มหาสมุทร ใต้ดิน ไปจนถึงปล่อยให้ลอยอยู่บนฟ้า คอยทำหน้าที่คอยตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว

จากนั้นส่งสัญญาณเตือนกลับมายังสถานีบนพื้นโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ อากาศ ชั้นบรรยากาศ ฯลฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันท่วงที เช่น พายุใหญ่ หรือมลพิษแพร่กระจายในน้ำ ขณะนี้เอ็นสโค อยู่ระหว่างการทดลองผลิตเซ็นเซอร์ติดตั้งในอากาศ ซึ่งใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน

3. "ต้นไม้"กิน"สารพิษ"

"Phytoremedication" เป็นศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้การปลูกพืช แก้ไขปัญหาขยะพิษทั้งหลาย

เทคนิคนี้อาจนับเป็น "ของเก่า" แต่ล่าสุด คณะนักวิทยาศาสตร์ประเทศอังกฤษ กำลังใช้กระบวนการ "ตัดต่อทางพันธุกรรม" หรือ "จีเอ็มโอ" สร้างต้นไม้เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติสายพันธุ์ใหม่

ซึ่ง "ราก" ของพวกมันสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีคุณสมบัติดูดซับ-ย่อยสลายสารพิษที่สะสมอยู่ในดินได้หลายชนิด รวมถึง "อาร์ดีเอ็กซ์" สารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในอุตสากรรมหลายประเภทและกิจกรรมของกองทัพ

อย่าแปลกใจถ้าในวันข้างหน้า เราอาจเห็นการปลูกป่าไม้ขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งค่ายทหารและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินในบริเวณนั้นๆ

4. สลายพิษกากนิวเคลียร์

ท่ามกลางปัญหาวิกฤต "โลกร้อน" ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมากขึ้นทุกขณะ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กลายเป็นทางเลือกสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อย ในฐานะที่มีศักยภาพในการผลิพลังงานจำนวนมหาศาล แต่ไม่ก่อให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" เหมือนกับโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของโรงงานนิวเคลียร์ คือ ความวิตกด้านความปลอดภัยและการจัดการกับกากกัมมันตรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลูโตเนียม ซึ่งล้วนแต่มีอันตรายร้ายแรง

ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาตร์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า "ยูเร็กซ์" ใช้ปฏิกิริยาทางเคมีเข้าไปแปรสภาพกากกัมมันตรังสีให้มีสถานะ "เป็นกลาง" และนำไปฝังไว้ใต้ดิน ด้วยวิธีการนี้ รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่านอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำให้ผู้ก่อการร้ายนำกากกัมมันตรังสีไปใช้ก่อวินาศกรรมไม่ได้อีกด้วย

5. หุ่นยนต์สำรวจทะเลลึก
การสำรวจ "ทะเลลึก" ก็ไม่ต่างอะไรกับการสำรวจดาวดวงอื่น มีนักวิทยาศาสตร์และภาคเอกชนหลายสถาบันทั่วโลก พยายามส่งหุ่นยนต์ลงไปสำรวจเก็บข้อมูลใต้ทะเล ทั้งเพื่อใช้ในงานวิชาการและค้นหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ แต่คุณภาพของหุ่นยนต์ปัจจุบันก็ยังไม่ดีพอ และขาด "ปัญญาประดิษฐ์" สำหรับควบคุมการทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจทะเลลึกนั้นมีราคาแพงมาก

ล่าสุด ที่ประเทศออสเตรเลีย มีการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติรุ่นใหม่ "สตาร์บั๊ก" วัตถุประสงค์เพื่อใช้สำรวจคุณภาพน้ำทะเล ทำแผนที่ถิ่นฐานของปลา และตรวจสอบภัยคุกคามต่อแนวปะการัง "สตาร์บั๊ก" มีขนาดยาว 4 ฟุต มีระบบการทำงานอัตโนมัติร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้นทุนการผลิตต่อ 1 ลำ ถือว่าคุ้มค่า ตกอยู่ประมาณ 24,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 864,000 บาท

6. "คลื่นเสียง"กรองน้ำ

ระบบ "คลื่นเสียงกรองน้ำ" (Sonic Water Purifier) เป็นทางออกใหม่ในการกำจัด "สารพิษ" ออกจากน้ำ

นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการยิงคลื่นเสียง "อัลตราซาวด์" ลงไปในน้ำปนเปื้อนมลพิษ เพื่อเขย่าหรือระเบิด "พันธะคาร์บอนด์" ของบรรดาสารพิษให้แยกตัวออกจากน้ำ วิธีการนี้มีชื่อว่า "โซโนไลซิส"

ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นเครื่องกรองน้ำด้วยคลื่นเสียงเช่นนี้ในรูปแบบอุปกรณ์พกพาสะดวก นำไปติดตั้งใช้งานได้ง่ายตามเขตทุรกันดาร ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำบริสุทธิ์ดื่มกิน และยังนำไปใช้เป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสียในโรงงานได้ด้วย

7. พิทักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ณ วันนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเมิน ว่ามีพืชและสัตว์ ที่เข้าข่าย "ใกล้สูญพันธุ์" หมดไปจากโลกอยู่ไม่ต่ำกว่า 16,000 สายพันธุ์
เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถช่วยหยุดยั้งแนวโน้มดังกล่าวได้ อาทิ เทคโนโลยีโคลนนิ่ง หรือ สร้างสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาใหม่ด้วยกระบวนการคัดลอกพันธุกรรม

นอกจากนั้น ความก้าวหน้าของนวัตกรรม "อาร์เอฟไอดี" "จีพีเอส" รวมทั้งเครือข่าย "อินเตอร์เน็ต" ก็เข้ามาช่วยวางแผนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้เช่นกัน โดยแนวทางหนึ่งที่กลุ่มนักอนุรักษ์คิดไว้ก็คือ ติด "แท็ก" หรือติดป้ายส่งสัญญาณวิทยุอาร์เอฟไอดี และเซ็นเซอร์บอกตำแหน่งบนโลกผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) ให้กับสัตว์ใกล้สูญพันธ์ พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหวของมันผ่านเว็บไซต์เพื่อที่จะได้วางแผนสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างสะดวกและตรงจุดยิ่งขึ้น

8. สายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ
ทีมวิศวกรบริษัทแปซิฟิกก๊าซ แอนด์ อิเล็กทริก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซุ่มพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า "สายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ"
สายส่งแห่งอนาคตนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับสายส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ต
โดยสามารถเชื่อมต่อเพื่อรับ-ส่ง พลังงานจากแหล่งต่างๆ ได้ภายในสายส่งเส้นเดียวกัน เช่น พลังงานจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล ไฟฟ้าพลังลม ไฟฟ้าพลังคลื่น และยังช่วยตรวจสอบได้ด้วยว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านกินไฟมากแค่ไหน สมควรเปลี่ยนหรือไม่

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่มีการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า และเกิดใช้ไฟไม่หมด ก็สามารถเสียบปลั๊กส่งไฟที่เหลือจากตัวรถกลับไปยังสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะได้ เพื่อนำพลังงานไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ประกวดบล็อกยอดนิยม

ประกวดบล็อกยอดนิยม ชิงรางวัลกับวิชาการดอทคอม

วิชาการดอทคอม (www.vcharkarn.com) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประกวดสร้างบล็อกของตัวเอง พร้อมทั้งเขียนเรื่องราวต่างๆ ช่วยกันแบ่งปันความรู้และเรื่องราวดีๆ พร้อมทั้งร่วมลงคะแนนให้บล็อกที่ชื่นชอบ โดยบล็อกที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจะได้รับรางวัลจากปตท. นอกจากนี้ยังมีรางวัลสำหรับบล็อกน่าจับตาที่อยากแนะนำ
รางวัลแบ่งเป็น 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 ทุนการศึกษา 3,000 บาท รางวัลที่ 2 ทุนการศึกษา 2,000 บาท และรางวัลที่ 3 ทุนการศึกษา 1,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถคลิกเข้าไปดูตัวอย่างบล็อกของสมาชิก เช่น บล็อกนำชัยไบโอเทค (Namchai BioTec) ของ ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เล่าเรื่องตลกโปกฮาคลุกเคล้าประเด็นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บล็อกส่องสร้างสังคมไทยของ นายชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคม ที่นำเสนอเรื่องราวทางด้านสังคมและการศึกษา

Axis Graphic Limited

Monday, March 19, 2007

สามล้อสมองกล

สามล้อสมองกลเพื่อคนพิการเข้าโค้งฉลุยไม่พลิกคว่ำ

รถสามล้อสมองกล ผลงานการออกแบบและพัฒนาร่วมระหว่างเนคเทคกับภาคเอกชน คุณสมบัติเด่นคือทรงตัวได้อัตโนมัติ ลดอุบัติเหตุพลิกคว่ำขณะเข้าโค้ง เตรียมส่งมอบให้เด็กพิการแขนขาจากครอบครัวบาราหาแม
นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ หัวหน้าโครงการนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า รถสามล้อสมองกลที่นักวิจัยเนคเทคพัฒนาขึ้น ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คาดว่าจะทดสอบการใช้งานและความปลอดภัยแล้วเสร็จสิ้นเดือนนี้
“รถสามล้อคันนี้รับน้ำหนักได้ประมาณ 400 กิโลกรัม และใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเหมือนรถทั่วไป แต่ได้เพิ่มสมองกลฝังตัวเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ช่วยปรับสมดุลอัตโนมัติเวลาเลี้ยวโค้ง และส่วนของระบบการสื่อสารผ่านหมวกกันน็อคระหว่างผู้ขับขี่กับผู้โดยสารระหว่างรถวิ่ง” หัวหน้าโครงการนักวิจัย กล่าว
รถสามล้อมคันดังกล่าว เนคเทคเตรียมน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องฝาแฝดคือ ด.ช.อับดุลเลาะ บาราหาแม ผู้พิการแขนขา และ ด.ญ.ตอยีบะ บาราหาแม ซึ่งผู้ปกครองมีความลำบากในการรับส่งค่อนข้างมาก เนื่องจากเด็กเริ่มโตและน้ำหนักเพิ่มขึ้น ล่าสุดรถสามล้อที่เด็กทั้งสองเคยใช้งาน เสียหายจากการลอบวางเพลิงโรงเรียนบ้านลือเน็ง ต.ปะแต อ.ยะหา จ. ยะลา เมื่อเร็วๆนี้
ทีมงานยังฝังลำโพงและไมค์ไว้ในหมวกกันน็อค สำหรับช่วยให้ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารพูดคุยกันได้ระหว่างที่รถวิ่ง ส่วนตัวรถสามล้อได้ติดตั้งลูกตุ้มขนาดเล็ก (ไจโรสโคป) ทำหน้าที่ตรวจจับความเร็วและองศาที่เอียงของรถขณะเข้าโค้ง เมื่อตรวจพบว่ารถเอียงเข้าโค้งในระดับที่อาจเกิดอุบัติเหตุ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังสมองกลฝังตัวสั่งให้ปรับระดับความสูงต่ำของโช้คอัพไฮดรอลิก เพื่อให้รถเข้าโค้งอย่างสมดุล ป้องกันอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ
การพัฒนารถคันดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ส จำกัด ที่สนับสนุนรถมอเตอร์ไซค์ระบบออโตเมติก 2 คัน และเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสนบาท ขณะที่บริษัทสินธำรงไทย และบริษัทฟิชดีไซน์ ช่วยเหลือด้านพัฒนาและประกอบรถตามแบบที่นักวิจัยออกแบบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Friday, March 16, 2007

วิทยุดาวเทียมศึกษาไข้หวัดนก

ม.มหิดลใช้วิทยุดาวเทียมศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพครั้งแรกในโลก

ม.มหิดล ใช้เทคนิควิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม Satellite-telemetry ศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพครั้งแรกในโลก
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2550 ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งทำงานวิจัยโรคไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับทุนจากศูนย์ควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) เพื่อทำการศึกษาวิจัยไข้หวัดนกแบบบูรณาการในหัวข้อ “Avian Influenza Surveillance in Thailand - Studies at Human-Animal Interface”

การวิจัยนี้จะทำการศึกษา เฝ้าระวังการติดต่อของไข้หวัดนกในนกอพยพ, การติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์, สัตว์สู่คน และการเฝ้าระวังการติดต่อจากคนสู่คน จึงทำให้โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ Westat Research Company สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 โครงการย่อยคือ โครงการย่อยที่ 1 การศึกษาการระบาด และการติดต่อของไข้หวัดนกจากนกอพยพสู่สัตว์พื้นเมือง ได้แก่สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข และแมว โดยมี รศ.นส.พ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการย่อยที่ 2 ทำการศึกษาการติดต่อของไข้หวัดนกจากสัตว์สู่คน, การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจากคนสู่คน และการค้นหาสาเหตุของโรคปอดบวมในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาดของไข้หวัดนก โดยมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าโครงการ และโครงการย่อยที่ 3 การติดตามวิวัฒนาการ และการกลายพันธุ์ของเชื้อ ที่อาจกลายเป็นเชื้อที่ก่อการระบาดไปทั่วโลก โดยมี รศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหัวหน้าโครงการ

สำหรับโครงการนี้ได้เริ่มเตรียมการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 โดยขณะนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมโครงการวิจัย ได้เริ่มทำการศึกษาไข้หวัดนกในนกอพยพ โดยการสำรวจ และเก็บตัวอย่างจากนกอพยพในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และในตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบึงบอระเพ็ด

นอกจากนี้ ทางโครงการวิจัยยังได้เชิญ Dr.Adrian H. Farmer ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาจาก Fort Collins Science Center, U.S. Geological Science ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการใช้วิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม Satellite-telemetry ติดตามเส้นทางบินของนกอพยพในอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้มาเป็นเวลา 15 ปี มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ และทำการติดวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม ในนกอพยพจำนวน 6 ตัว ในจังหวัดนครปฐม และนครสวรรค์ เพื่อเฝ้าดูเส้นทางบินของนกดังกล่าว และติดตามเป็นเวลา 3 ปี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของเส้นทางบินกับพื้นที่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการนำเทคนิค Satellite-telemetry มาใช้ในการศึกษาไข้หวัดนกเป็นครั้งแรกในโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เปิดค่ายวิทย์

อพวช.ต้อนรับปิดเทอมเปิดค่ายวิทย์ 3 รูปแบบ

อพวช.เปิด 3 ค่ายวิทยาศาสตร์ต้อนรับปิดเทอม สำหรับเยาวชนระดับชั้นประถม เน้นปลูกฝังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ควบคู่ความสนุกสนาน ผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช.จัดกิจกรรมต้อนรับปิดเทอมสำหรับเยาวชนระดับประถม 4-6 ในรูปแบบค่ายวิทยาศาสตร์ 3 ค่าย ได้แก่ ค่ายโลกวิทยาศาสตร์จะเริ่มในช่วงกลางเดือนมีนาคม นำเสนอความรู้เคมีขั้นพื้นฐานผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น การมัดย้อม ทดสอบไนโตรเจนเหลว ไข่มหัศจรรย์รวมทั้งเรียนรู้ท้องฟ้าและดาราศาสตร์

ค่ายโลกแห่งการบินจัดในเดือนเมษายน นำเสนอความรู้เกี่ยวกับการบินเบื้องต้น ทดลองสร้างบอลลูนด้วยลมร้อน ประดิษฐ์จรวดลม เป็นต้น และสุดท้ายค่าย ป.ปลาตากลม จัดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นำเสนอเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับปลา เช่น วงจรชีวิตปลา การดำรงชีวิต การขยายพันธุ์ และรู้จักข้อมูลมหัศจรรย์ของปลา เช่น ปลาสองเพศ ปลาที่เปลี่ยนสีและรูปร่างตามอายุ รวมทั้งทำความรู้จักกับปลาดึกดำบรรพ์ในยุคไดโนเสาร์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังขยายเวลาจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมจีน 7,000 ปี ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสครั้งสุดท้าย ให้คนไทยจำนวนไม่น้อย ที่พลาดการเข้าชมก่อนหน้านี้ ได้มาเรียนรู้วิทยาการในอดีตของจีน ที่กลายเป็นรากฐานของเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, March 15, 2007

สุริยุปราคา


เตรียมรับอรุณกับ “สุริยุปราคา” 19 มี.ค.นี้

สมาคมดาราศาสตร์ไทย/ผู้จัดการออนไลน์- เช้าวันจันทร์ที่ 19 มี.ค. ขณะที่ทุกคนต่างรีบเร่งไปทำงาน หลายพื้นที่ทั่วไทยจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” ที่ชาวเชียงใหม่จะเห็นตะวันแหว่งไปช่วงสั้นๆ สูงสุด 28% ขณะที่ชาวกรุงดวงอาทิตย์ถูกบดบังได้ 16% ส่วนชาวใต้ตั้งแต่สงขลาลงไปจะไม่สามารถรับชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้

ช่วงเช้าของวันที่ 19 มี.ค.นี้จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” บางส่วน ที่เกิดจากการโคจรของดวงจันทร์มาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ และเกิดทอดเงามัวทอดลงมายังพื้นโลกทำให้เห็นว่าบางส่วนของดวงอาทิตย์แหว่งไป แต่หากเงามืดทอดมายังโลกจะทำให้เราเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง

นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยให้ข้อมูลว่า อุปราคาดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ประเทศในตอนกลางและตอนเหนือของเอเชียเกือบทั้งหมด รวมทั้งบางส่วนของอะลาสกาและทะเลอาร์กติกสามารถสังเกตเห็นได้ สำหรับประเทศไทยโดยรวมแล้วจะเกิดปรากฏการณ์ในช่วงเวลาประมาณ 7.38 น.

จุดที่จะเริ่มเห็นคราสเข้าบดบังดวงอาทิตย์เป็นที่แรกนั้น นายวรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่าอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนบริเวณสุดท้ายของโลกที่จะได้เห็นสุริยคราสบางส่วนคือแถบอะลาสกาและในทะเลอาร์กติก ส่วนบริเวณที่เห็นคราสบดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดคือบริเวณประเทศรัสเซียที่จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังถึง 88% ส่วนประเทศที่ไม่เห็นสุริยุปราคาครั้งนี้คือประเทศที่อยู่ในแถบละติจูดทางใต้ของไทยลงไป เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งบางส่วนของประเทศญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยแต่ละพื้นที่ก็จะเห็นการเกิดคราสได้ต่างกัน เช่น ที่กรุงเทพฯ จะเห็นคราสเริ่มเกิดเวลา 7.48 น. และจะเห็นคราสบังลึกที่สุด 16% เวลา 8.21 น. ด้วยมุมเงย 28 องศา ในทางทิศตะวันออก โดยคราสจะสิ้นสุดเวลา 8.57 น. ส่วนตะวันออกสุดของประเทศที่ จ.อุบลราชธานี จะเห็นคราสเริ่มเวลา 7.52 น. และเห็นคราสบังลึกที่สุด 15% เวลา 8.26 น. และสิ้นสุดคราสที่เวลา 9.02 น. ขณะที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เห็นคราสบังได้ลึกนั้น คราสจะเริ่มเวลา 7.45 น. และบังลึกที่สุด 28% เวลา 8.29 น. โดยสิ้นสุดการเกิดคราสเวลา 9.15 น. ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ตั้งแต่ จ.สงขลา ลงไปนั้นจะไม่เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนนี้

วิธีการดูสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัยนั้นมีหลายวิธี โดยนายวรเชษฐ์ได้แนะนำให้ใช้กระดาษเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสประมาณ 1 เซนติเมตรแล้วประกบติดกับกระจกเงา จากนั้นใช้กระจกเงาดังกล่าวสะท้อนภาพดวงอาทิตย์ให้ไปตกบนฉากรับภาพ และจะเห็นเป็นภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อเกิดสุริยคราสภาพบนฉากก็จะแหว่งไปตามเกิดคราส

วิธีดังกล่าวเมื่อเทียบกับการดูสุริยุปราคาด้วยกล้องรูเข็มแล้ว นายวรเชษฐ์อธิบายว่าจะให้ภาพที่สว่างกว่าภาพจากกล้องรูเข็ม เพราะแสงที่ผ่านเข้าไปในกล้องรูเข็มนั้นไม่มาก เมื่อฉากรับภาพยิ่งห่างความสว่างของภาพก็ยิ่งลด และการใช้กระจกสะท้อนภาพนั้นมีช่องรับแสงที่ใหญ่ ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ผ่านได้มาก ภาพจึงสว่างมากขึ้นและส่องไปยังฉากรับภาพไกลๆ ได้ ซึ่งการที่ฉากรับภาพยิ่งไกลนั้นจะทำให้ภาพที่เห็นใหญ่มากขึ้น

ทางด้าน น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่ารู้สึกเป็นห่วงกับเรื่องการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยของทุกคน เพราะเกรงว่าหลายคนจะดูสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าและใช้วัสดุที่ไม่ดีต่อสายตา โดยได้ห้ามอย่างเด็ดขาดว่าห้ามดูด้วยตาเปล่าหรือสวมแว่นกันแดดดูสุริยุปราคาอย่างเด็ดขาด และแว่นตาซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เคยใช้ดูสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 2538 ก็อาจเสื่อมคุณภาพแล้วและไม่สามารถนำมาใช้ดูปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้

“สุริยุปราคาครั้งนี้แหว่งแค่ 16% ซึ่งอันตรายมาก ถ้าไม่ระวัง หากดูด้วยฟิล์มเอ็กซ์เรย์ก็ดูได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องซ้อนกันหลายๆ ชั้น และดูได้ 2-3 นาทีก็ต้องละสายตา” น.ส.ประพีร์กล่าว พร้อมทั้งเผยว่าทางสมาคมฯ ยังไม่กำหนดว่าจะกิจกรรมหรือไม่และที่ใด เนื่องจากทางสมาคมกำลังมีภาระเรื่องการดูแลนักเรียนในค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก

ขณะที่ ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยว่ามลภาวะทางอากาศที่ปกคลุมเชียงใหม่อยู่ขณะนี้กลับเป็นผลดีต่อการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพราะจะช่วยกรองให้แสงอาทิตย์ไม่สว่างมาก อีกทั้งที่ จ.เชียงใหม่ยังดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ดีที่สุด และจะจัดกิจกรรมตั้งกล้องดูสุริยุปราคาขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนวิธีการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยนั้น ดร.ศรันย์ไม่กังวลเท่านักโดยให้เหตุผลว่าธรรมชาติของคนจะกระพริบตาเมื่อแสบตาอยู่แล้ว และก็ไม่มีใครที่สามารถจ้องดวงอาทิตย์ได้นานๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในดูควรจะมีแผ่นฟิลเตอร์ (Filter) ช่วยกรองแสง หรืออาจจะใช้กระจกที่ช่างเชื่อมโลหะใช้แสงกรอง โดยกระจกดังกล่าวต้องมีค่า Neutral Density เท่ากับ 5 ซึ่งแสงจะผ่านได้ 0.01% และหากส่องกับหลอดไส้จะเห็นเพียงไส้แดงๆ แต่หากเป็นกระจกที่ส่องแล้วเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ไม่สามารถใช้ได้ และที่ต้องระวังคือห้ามใช้กล้องส่องทางไกลดูสุริยุปราคาเพราะเลนส์กล้องจะรวมแสงมาทำลายตาให้ตาบอดได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000030278

เอ็มเทคพัฒนาโคมไฟ

เอ็มเทคพัฒนาโคมไฟหน้ารถให้แสงสว่างมากขึ้น แถมประหยัดพลังงาน

นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ออกแบบไฟหน้ารถยนต์ช่วยให้เห็นถนนยามค่ำคืนได้ชัดเจน อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบรูปแบบกระจายแสง ขณะที่วัสดุใช้ทำครอบไฟสามารถทนความร้อนได้ดีขึ้น

นายปิยพงศ์ เปรมวรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค ได้ร่วมกับทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมพลังสมองพัฒนาไฟหน้ารถที่นอกจากเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่แล้ว ยังตอกย้ำเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งเอเชียด้วย

“นอกจากรูปลักษณ์ที่สวยงานของโคมไฟหน้ารถยนต์แล้ว สิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องการคือ โคมไฟที่มีประสิทธิภาพการส่องสว่าง ซึ่งหากพัฒนาให้การส่องสว่างมีลักษณะของการรวมแสงจะช่วยให้วิสัยทัศน์การขับขี่ดีขึ้น” นักวิจัยกล่าว และชี้ข้อด้อยของโคมไฟปัจจุบันเพิ่มเติมว่า วัสดุยังทนความร้อนได้ไม่ดีพอ

ทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง แม้จะเป็นโปรแกรมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่นำมาดัดแปลงให้มีความเหมาะสมสำหรับใช้งานมากขึ้น และสามารถใช้จำลองสภาวะการทำงานของไฟหน้ารถ เปรียบเทียบระหว่างโคมไฟที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

“เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยลดต้นทุนในการผลิตต้นแบบและสามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ได้สินค้าที่ตรงตามมาตรฐานยานยนต์สากล สำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ” นักวิจัย กล่าว

สุดท้ายทีมงานได้ออกแบบโคมไฟหน้ารถยนต์ที่มีประสิทธิภาพส่องสว่าง ขณะเดียวกันสามารถลดอุณหภูมิภายในโคมไฟให้ต่ำลงได้ ทำให้นำชิ้นส่วนพลาสติกมาประยุกต์ใช้ได้ โคมไฟจึงมีน้ำหนักเบาลง ความร้อนที่ลดลงยังช่วยลดการใช้พลังงานได้ด้วย นอกจากนี้ ความสว่างที่เพียงพอกับการขับขี่ ช่วยให้คนขับไม่จำเป็นต้องเปิดไฟสูงขณะขับรถ ป้องกันปัญหาเลนส์ละลายได้อีกทางหนึ่ง

เอ็มเทคยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์จัดทำฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง นอกจากนี้ได้เตรียมจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบคุณสมบัติทางแสงของวัสดุ เพื่อเปิดให้บริการกับเอกชน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2550

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, March 14, 2007

กูเกิ้ลเปิดท่อยักษ์

กูเกิ้ลเปิดท่อยักษ์รับข้อมูลมหาศาล

กูเกิ้ล (www.google.com) เวบสืบค้นข้อมูลที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเตรียมทำโครงการยักษ์อีกครั้ง สร้างระบบถ่ายโอนข้อมูลขนาดมหึมามาให้นักวิชาการทั่วโลกแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัย

กูเกิ้ลกำลังหาวิธีให้นักวิทยาศาสตร์สามารถถ่ายโอนข้อมูลขนาด 120 เทราไบต์ (1 เทราไบต์ = 1,000 กิกะไบต์) จากเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดส่งไปให้นักวิจัยอีกกลุ่มได้ และยังวาดฝันว่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าไปอ่านได้ด้วย

เจ้าหน้าที่ของเวบไซต์สืบค้นข้อมูลที่โด่งดังแห่งนี้กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าว ได้รับแรงบันดาลใจจากนักวิจัยไมโครซอฟท์ ซึ่งจัดทำโครงการบริการส่งสำเนาข้อมูลไปให้คนทั่วโลก แต่การส่งข้อมูลที่มีขนาดถึง 1 เทราไบต์ผ่านเครือข่ายไม่ใช่ทำได้ง่าย และต้องใช้เวลาดาวน์โหลดนานมาก ทีมงานของกูเกิ้ลจึงพยายามหาวิธีการทำให้สะดวกขึ้น

งานนี้เริ่มลงมือปฏิบัติเป็นเรื่องเป็นราวหลังจากทีมงานได้พูดคุยกับนักวิทยาศษสตร์กลุ่มหนึ่งที่พยายามกู้ต้นฉบับเอกสารของอาร์มีดิส นักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ชาวกรีก ต้นฉบับดังกล่าวถูกเขียนทับหลายครั้งโดยผู้คัดลอกต่อๆ กันมาหลายคน ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่ช่วยให้มองเห็นลายมือต้นฉบับที่ถูกเขียนทับอยู่ข้างล่าง

แต่ข้อมูลที่ได้จากการกู้ต้นฉบับมีจำนวนมหาศาลการโอนย้ายข้อมูลจากหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจึงเป็นปัญหา เพราะเครือข่ายพื้นฐานที่ใช้อยู่รองรับการถ่ายโอนข้อมูลได้น้อยทำให้เสียเวลา

งานระดับนี้เรียกได้ว่าต้องการคัดลอกข้อมูลจากฮาร์ดดิสทั้งลูกที่มีขนาดถึง 120 เทราไบต์ เช่น ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ฮับเบิล ดังนั้น กูเกิ้ลจึงร่วมกับทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์ทำระบบบันทึกข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการโยนข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์มากที่กูเกิ้ล เมื่อกูเกิ้ลคัดลอกข้อมูลเสร็จก็จะคืนข้อมูลกลับไปยังคอมพิวเตอร์ผู้จัดส่ง อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังไม่เปิดบริการอย่างเป็นทางการให้คนทั่วไปได้ใช้งานตอนนี้

ก่อนหน้านี้ กูเกิ้ลได้สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ใช้อีเมลของกูเกิ้ล โดยเปิดพื้นที่สำหรับจัดเก็บเมลถึง 2.5 กิกะไบต์ สูงกว่าอีเมลจากคู่แข่งรายอื่นหลายเท่าตัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เตาพลังงานแสงอาทิตย์

เตาพลังงานแสงอาทิตย์ 4 อิน 1 ไอเดียสามสาวเมืองพะเยา

"พวกเราเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงอื่นมีราคาแพง ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานฟรีที่ทุกครัวเรือนควรสนใจและนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จึงสร้างเตาพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์นี้ขึ้นมา โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แปลงความร้อนในการประกอบอาหาร ใช้หลักการทางฟิสิกส์คือการสะท้อนแสง ฉนวนดูดความร้อน และการกักเก็บความร้อนในรูปภาวะเรือนกระจก"

แนวคิดของสามสาว น.ส.จุฑามาศ ใจญาน น.ส.เจนจิรา เมืองซื่อ และน.ส.จิราภา ใจตุ้ย นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนพะเยาวิทยาคม จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแกนนำของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการจัดทำ "เตาพลังงานทดแทน 4 in 1" เพื่อสร้างเตาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากวัสดุที่หาง่าย สำหรับใช้ทั้งอบ ต้ม ปิ้ง ย่างในเตาเดียวกัน

เตาพลังงานที่ว่านี้มีสองชั้น ชั้นในสร้างจากสแตนเลส ชั้นนอกสร้างจากไม้อัด มีกระจกเงาสี่แผ่นทำหน้าที่สะท้อนแสงแดดเข้าสู่เตา มีฉนวนทำจากแกลบดำนำมาผสมกาวอัดแท่งบรรจุระหว่างเตาชั้นในและเตาชั้นนอก มีกระจกใสปิดด้านบนของเตา ส่วนฐานติดล้อเพื่อให้เคลื่อนย้ายง่าย

เมื่อประกอบเตาเสร็จแล้ว เด็กๆ ได้ทดลองใช้เตา โดยขั้นแรกวัดและบันทึกอุณหภูมิของฉนวนกันความร้อนในช่วงกลางวัน วันละ 5 นาที เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน พบว่าแกลบดำดูดความร้อนได้ดีกว่าแกลบสดและขุยมะพร้าว

จากนั้นทดลองนำเอาเตาดังกล่าวมาอบ ต้ม ปิ้ง ย่างอาหารแต่ละชนิดในช่วงเวลากลางวัน รวมทั้งวัดอุณหภูมิสูงสุดในการอบ ต้ม ปิ้ง ย่างอาหารแต่ละชนิดในเตาเดียวกัน พบว่าเวลาในการอบ ต้ม ปิ้ง ย่างของอาหารแต่ละชนิดที่หนักเท่ากันจะใช้เวลาไม่เท่ากัน วัตถุที่มีขนาดใหญ่และเป็นชิ้นเดียวจะใช้เวลานานกว่าวัตถุที่มีขนาดเล็ก

หลังจากนั้นทดลองอบ ต้ม ปิ้ง ย่าง โดยใช้พลังงานจากก๊าซหุงต้ม จากพลังงงานไฟฟ้า และจากเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 1 ปี ผลการเปรียบเทียบพบว่าในระยะเวลา 1 ปี เตาที่ใช้พลังงานจากก๊าซหุงต้มต้องเสียค่าพลังงาน 3,120 บาท จากพลังงานไฟฟ้าต้องเสียค่าพลังงาน 3,312 บาท และจากเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 เสียค่าพลังงานเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าเตาพลังงานทดแทน 4 in 1 นั้นประหยัดจริงๆ

"หากจะนำเตาที่พวกเราทำขึ้นไปใช้ตามครัวเรือนก็สามารถทำได้ เพราะเราใช้วัสดุหาง่ายที่มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว แต่มีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือในการประกอบอาหารนั้น ภาชนะที่ใช้รองอาหารจะต้องเป็นโลหะหรือพลาสติกทนร้อน ตรงฐานเตาและตัวเตาด้านนอกควรใช้โลหะเพื่อความทนทาน ควรติดตั้งเตาตามดวงอาทิตย์และสร้างที่วางอาหารตรงกลางให้ปรับขนนานกับพื้นเสมอไม่ว่าตัวเตาจะหมุนไปทิศทางใด ส่วนแผ่นกระจกเงาระนาบที่ด้านบนนั้นควรทำเป็นรูปพีระมิดหรือทรงหน้าจั่ว เพื่อไม่ให้น้ำที่เกิดจากการควบแน่นตกลงบนอาหาร และเจาะรูด้านข้างใส่ท่อระบายน้ำทิ้งภายในเตาด้วย" สามสาวกล่าว

การทำโครงงานของนักเรียนกลุ่มนี้ สอดคล้องกับแนวทางของ สสวท. ที่ส่งเสริมให้สถานศึกษาทั่วประเทศจัดกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ให้นักเรียน เพราะนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ตรงในกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ทุกขั้นตอน มีโอกาสฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และจะช่วยพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ให้นักเรียนด้วย เช่น การเป็นคนช่างสังเกต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง มีวินัยและซื่อสัตย์ในการทำงาน ละเอียดรอบคอบ มีความรับผิดชอบ ยอมรับฟังคำติชมและความคิดเห็นของผู้อื่น มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและการกระทำกิจกรรรมอื่นๆ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you02140350&day=2007/03/14§ionid=0311

จุฬาฯ ผ่าตัดตา

จุฬาฯ ผ่าตัดตา ถ่ายสดข้ามโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวโครงการ “การแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย” (World's 1 st Tripartite live surgery Transmission 3D-HD Broadband Telemedicine in Ophthalmology) ครั้งแรกของโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.อดิศรกล่าวว่า การพัฒนาระบบเทเลเมดิซีนเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก สามารถเข้าไปเรียนได้ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะวิทยาเขตของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ รพ.ศูนย์ชลบุรี และ รพ.ศูนย์การแพทย์อภัยภูเบศร จ.จันทบุรี ที่จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการเรียนการสอนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สำหรับ “โครงการการแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย” ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับวิทยาลัยการแพทย์อาซาฮิกาวา ประเทศญี่ปุ่น และศูนย์จักษุแห่ง ชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

“เรามองว่าการนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลเฉพาะ แต่การทำเทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือการแพทย์ทางไกลจะได้ผลในวงกว้างกว่า เพราะเป็นการสาธิต หรือทำการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว แต่สามารถถ่ายทอดไปสู่คนทั่วโลกได้ และยังเป็นการถ่ายทอดในเวลาเดียวกัน เป็นแบบเรียลไทม์ด้วย” รศ.นพ.อดิศรกล่าว และครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดการผ่าตัดจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในเวลาเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า 3 ดีเอชดี บรอดแบนด์ ที่ถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงในระบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการถ่ายทอดระบบนี้ ที่ผ่านมาในระบบเทเลเมดิซีนจะถ่ายทอดในระบบแค่ 2 มิติ ไม่เห็นภาพเชิงลึก

ด้าน ผศ.นพ.พรณรงค์ โชติวรรณ หัวหน้าหน่วยคอมพิวเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบการถ่ายทอดการผ่าตัดทางไกล ด้วยเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ ใช้เครือข่ายที่มีความเร็วสูงพิเศษถึง 45 ล้านบิทต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วสูงมาก เพราะที่ผ่านมา การถ่ายทอดทางไกลผ่านระบบเทเลเมดิซีนจะใช้ความเร็วเพียง 1 ล้านบิทต่อวินาที และการถ่ายทอดครั้งนี้ทำจากห้องผ่าตัดของแผนกจักษุ รพ.จุฬาฯ ส่งไปยังเครือข่ายไทยสาร ของเนคเทค จากนั้นส่งสัญญาณไปยังวิทยาลัยการแพทย์อาซาฮิกาวา เกาะฮอกไกโด ของญี่ปุ่น และจากญี่ปุ่นส่งสัญญาณต่อไปสิงคโปร์ ซึ่งยังไม่เคยมีการใช้เทคโนโลยีนี้ที่ไหนมาก่อนในโลก
ขณะที่ นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ ผอ. โครงการการแพทย์ทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการผ่าตัดด้านจักษุวิทยา ที่ต้องอาศัยภาพ 3 มิติเชิงลึกมากกว่าการผ่าตัดอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในต่างจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ การมีระบบนี้จะช่วยให้แพทย์ในชนบทสามารถปรึกษาการรักษา ผ่าตัดกับอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยได้ รวมทั้งประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์ในการเรียนการสอน และในอนาคตหากมีการนำเทคโนโลยีในลักษณะนี้มาใช้มากขึ้น ก็จะทำให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง

สำหรับการผ่าตัดทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีสามมิติระหว่างภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผ่าตัดผู้ป่วยจำนวน 5 คน เป็นการผ่าตัดสลาย ต้อกระจก 1 คน ผ่าตัดสลายต้อกระจกและผ่าตัดวุ้นตา 1 คน ผ่าตัดต้อเนื้อและป้องกันการเป็นซ้ำ โดยใช้เยื่อหุ้มรกร่วมกับกาวชีวภาพ 1 คน ผ่าตัดรักษารูที่จอประสาทตา 1 คน และผ่าตัดรักษาต้อหิน 1 คน โดยในการผ่าตัดแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ในห้องประชุมของ รพ.จุฬาฯ และ แพทย์ นักศึกษาแพทย์ ในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น สามารถที่จะเห็นภาพการผ่าตัดไปพร้อมกัน รวมทั้ง สามารถซักถามผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ได้ในระหว่างการผ่าตัดด้วย

ที่มา: http://www.thairath.co.th/
Link: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=40046

Tuesday, March 13, 2007

ชวนนักศึกษาประกวด

ชวนนักศึกษาประกวดไอเดียไอทีชิงทุน

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเวทีมองหาไอเดียจากนักศึกษามาประยุกต์ใช้งานชิพคลื่นวิทยุอาร์เอฟไอดีแนวใหม่ ชิงทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคได้ร่วมกับ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการชิพอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เปิดเวทีเฟ้นหานักศึกษาเจ้าของแนวคิดประยุกต์ใช้อาร์เอฟไอดีในมุมมองใหม่ ภายใต้การแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าใจประโยชน์ของชิพอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ภาคธุรกิจ

ชิพอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาร์เอฟไอดี เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลและสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุขนาดเล็กสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น บัตรพนักงาน บัตรจอดรถ บัตรโดยสารรถไฟฟ้า ชิพเข้ารหัสป้องกันขโมยสินค้า นอกจากนี้ ยังนิยมใช้ในปศุสัตว์เก็บประวัติของสัตว์ในฟาร์มด้วย

การทำงานของชิพอาร์เอฟไอดี ประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นชิพเก็บข้อมูลเช่นชิพที่ฝังอยู่ในป้ายบัตรพนักงาน และส่วนที่เป็นเครื่องอ่านสำหรับนำบัตรไป "สัมผัส" เพื่ออ่านข้อมูลที่อยู่ในบัตร บัตรโดยสารรถไฟฟ้าก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ บัตรอาร์เอฟไอดีบางรุ่นออกแบบให้สามารถส่งคลื่นสื่อสารกันได้ระยะไกล โดยไม่ต้องนำไปสัมผัสกับเครื่องอ่านใกล้ชิด

ในต่างประเทศมีการทดลองประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอาร์เอฟไอดี เช่น การฝังชิพลงบนผิวหนังเพื่อให้สะดวกต่อการจับจ่ายสินค้า ห้างสรรพสินค้าบางแห่งใช้ติดแทนบาร์โค้ดเพื่อให้สะดวกต่อการคิดเงิน

นักศึกษาที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม โครงการที่ชนะเลิศจะได้รับทุน มูลค่า 6 หมื่นบาท จากเงินรางวัลรวม 2 ล้านบาท นอกจากนี้ทางโครงการจะจัดอบรมพร้อมมอบอุปกรณ์การแข่งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนให้ทีมที่ผ่านเข้ารอบแรกด้วย

นอกจากนี้ เนคเทคยังสนับสนุนให้นักวิจัยพัฒนาเครื่องอ่านให้มีความสามารถในการอ่านข้อมูลระยะไกลมากขึ้น มีความมั่นคงของข้อมูลมากขึ้น สามารถเขียนข้อมูลเพิ่มได้ เพิ่มตัววัดอุณหภูมิ ความดัน รวมถึงสามารถอ่านได้ทุกมาตรฐานคลื่นความถี่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

โคมไฟหน้ารถ

เอ็มเทคพัฒนาโคมไฟหน้ารถให้แสงสว่างมากขึ้น แถมประหยัดพลังงาน

นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ออกแบบไฟหน้ารถยนต์ช่วยให้เห็นถนนยามค่ำคืนได้ชัดเจน อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบรูปแบบกระจายแสง ขณะที่วัสดุใช้ทำครอบไฟสามารถทนความร้อนได้ดีขึ้น

นายปิยพงศ์ เปรมวรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค ได้ร่วมกับทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมพลังสมองพัฒนาไฟหน้ารถที่นอกจากเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่แล้ว ยังตอกย้ำเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งเอเชียด้วย

“นอกจากรูปลักษณ์ที่สวยงานของโคมไฟหน้ารถยนต์แล้ว สิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องการคือ โคมไฟที่มีประสิทธิภาพการส่องสว่าง ซึ่งหากพัฒนาให้การส่องสว่างมีลักษณะของการรวมแสงจะช่วยให้วิสัยทัศน์การขับขี่ดีขึ้น” นักวิจัยกล่าว และชี้ข้อด้อยของโคมไฟปัจจุบันเพิ่มเติมว่า วัสดุยังทนความร้อนได้ไม่ดีพอ

ทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง แม้จะเป็นโปรแกรมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่นำมาดัดแปลงให้มีความเหมาะสมสำหรับใช้งานมากขึ้น และสามารถใช้จำลองสภาวะการทำงานของไฟหน้ารถ เปรียบเทียบระหว่างโคมไฟที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

“เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยลดต้นทุนในการผลิตต้นแบบและสามารถลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ได้สินค้าที่ตรงตามมาตรฐานยานยนต์สากล สำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ” นักวิจัย กล่าว

สุดท้ายทีมงานได้ออกแบบโคมไฟหน้ารถยนต์ที่มีประสิทธิภาพส่องสว่าง ขณะเดียวกันสามารถลดอุณหภูมิภายในโคมไฟให้ต่ำลงได้ ทำให้นำชิ้นส่วนพลาสติกมาประยุกต์ใช้ได้ โคมไฟจึงมีน้ำหนักเบาลง ความร้อนที่ลดลงยังช่วยลดการใช้พลังงานได้ด้วย นอกจากนี้ ความสว่างที่เพียงพอกับการขับขี่ ช่วยให้คนขับไม่จำเป็นต้องเปิดไฟสูงขณะขับรถ ป้องกันปัญหาเลนส์ละลายได้อีกทางหนึ่ง

เอ็มเทคยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์จัดทำฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง นอกจากนี้ได้เตรียมจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบคุณสมบัติทางแสงของวัสดุ เพื่อเปิดให้บริการกับเอกชน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2550

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Monday, March 12, 2007

เซิร์น” ฝังแม่เหล็กยักษ์ลงใต้ดิน

เซิร์น” ฝังแม่เหล็กยักษ์ลงใต้ดิน-อุปกรณ์สำคัญไขปริศนาจักรวาล

บีบีซีนิวส์/ยูซีอาร์/ยูเรก้าอะเลิร์ท/เอเยนซี - การทดลองเพื่อไขปริศนาจักรวาลใกล้จะเริ่มขึ้น หลัง “เซิร์น” ติดตั้งยักษ์ 1,920 ตัน กว้าง 17 เมตร สูง 16 เมตร และยาว 13 เมตร ลงใต้ดินลึก 100 เมตร การประกอบเครื่องตรวจอนุภาคจะแล้วเสร็จไม่เกิน ก.ย. พร้อมเดินเครื่องจับอนุภาคชนกัน พ.ย.นี้

หลังรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อของเหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้อง ในที่สุดการติดตั้งแกนแม่เหล็กยักษ์ 1,920 ตัน ของเครื่องตรวจวัดอนุภาค “ซีเอ็มเอส” (Compact Muon Solenoid: CMS) ลงใต้ดินลึก 100 เมตรบริเวณรอยต่อประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก “เซิร์น” (CERN) หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Organization for Nuclear Research) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ก็ผ่านไปได้ด้วยดี และการทดลองเพื่อไขปริศนาจักรวาลก็จะเริ่มขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.นี้

ชิ้นส่วนยักษ์ของซีเอ็มเอสที่หนักเทียบเท่ากับเครื่องบินเจ็ท 5 ลำนี้มีความกว้าง 17 เมตร สูง 16 เมตร และยาว 13 เมตร เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยตรวจวัดอนุภาคที่ถูกเร่งให้ชนกันโดยเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ “แอลเอชซี” (Large Hadron Collider: LHC) ที่ติดตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินเช่นกัน ซึ่งจะเริ่มทดลองในเดือน พ.ย.นี้ โดยชิ้นส่วนของซีเอ็มเอสถูกประกอบไปแล้ว 7 ชิ้นและยังเหลืออุปกรณ์อีก 8 ชิ้นที่จะติดตั้งอุปกรณ์ในอุโมงค์ยักษ์ให้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

“นี่คือความท้าทายทางวิศวกรรมเพราะมีช่องว่างระหว่างตัวเครื่องกับกำแพงเพียงแค่ 20 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งเครื่องตรวจวัดจะถูกแขวนด้วยสายเคเบิลขนาดใหญ่ที่มีเชือก 55 เส้นพันเป็นสายเกลียว และผูกติดกับระบบแม่แรงไฮโดรลิก โดยผ่านการควบคุมทางหน้าจอเพื่อสร้างมั่นใจว่าเครื่องตรวจวัดจะไม่แกว่งหรือเอียงขณะติดตั้ง” ออสติน บอล (Austin Ball) นักฟิสิกส์ของเซิร์นและผู้ประสานงานด้านเทคนิคของซีเอ็มเอสกล่าว

ทั้งนี้ในการสร้างเครื่องซีเอ็มเอสต้องอาศัยความร่วมมือของนักฟิสิกส์ประมาณ 1,500 คน และ 1 ใน 3 เป็นนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ โดยมีห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคแห่งชาติเฟอร์มิ (Fermi National Acceleratory Laboratory) หรือเฟอร์มิแล็บ (Fermilab) ของทบวงพลังงานสหรัฐ เป็นเจ้าภาพหลักในการทดลอง และนักวิทยาศาสตร์สหรัฐก็เป็นแกนในการออกแบบ สร้างและขนส่งอุปกรณ์สำคัญหลายชิ้นสำหรับเครื่องซีเอ็มเอสไปยังเซิร์น

ปัจจุบันสหรัฐได้ให้เงินสนับสนุนการสร้างซีเอ็มเอสจนเกือบสมบูรณ์แล้ว 98% และการเคลื่อนย้ายขดลวดแม่เหล็กยักษ์ชิ้นส่วนสำคัญของซีเอ็มเอสที่จะช่วยสร้างแผนภาพของอนุภาคที่แม่นยำด้วยสนามแม่เหล็กก็เป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากเฟอร์มิแล็บ

ทั้งนี้อาศัยการสังเกตความโค้งทางเดินของอนุภาคที่มีประจุในสนามแม่เหล็ก นักฟิสิกส์สามารถคำนวณพลังงานมหาศาลที่ปลดปล่อยออกมาจากการชนกันของโปรตอนนับพันล้านอนุภาคซึ่งจะเกิดขึ้นภายในเครื่องเร่งอนุภาคในอีกไม่ช้า

นอกจากเครื่องซีเอ็มเอสแล้วบรรดานักฟิสิกส์ก็เตรียมติดตั้งเครื่องตรวจวัดอนุภาคตระกูลเดียวกันนี้แต่มีขนาดเล็กกว่าที่ชื่อ “แอตลาส” (ATLAS) เพื่อบันทึกข้อมูลการทดลองจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีที่เซิร์น สถานที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพวกเขาจะค้นพบพื้นฐานของจักรวาลได้จากการชนกันของโปรตอนที่มีพลังงานสูงมากๆ

ไม่เพียงแค่การทำให้อนุภาคใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลกได้ปรากฏออกมาเท่านั้น แต่การทดลองด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีอาจจะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมอนุภาคเหล่านั้นจึงมีอยู่และทำไมจึงประพฤติตัวอย่างที่เป็น เหล่านักวิทยาศาสตร์อาจค้นพบจุดกำเนิดของมวล แสงสีของสสารมืด (Dark matter) ไขความลับสมมาตรของจักรวาลที่ซ่อนตัวอยู่ และรวมไปถึงการค้นพบมิติพิเศษในอวกาศ

สำหรับเซิร์นนั้นเป็นองค์กรความร่วมมือในการวิจัยนิวเคลียร์ของยุโรปที่ก่อตั้งเมื่อปี 2497 มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 19 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ก ฟินแลนด์ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ขณะที่มีอินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐ ตุรกี คณะกรรมาธิการยุโรปและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000028043

คนไทยเล่นเน็ตวันละ 1.6 ล้านคน

คนไทยเล่นเน็ตวันละ 1.6 ล้านคน

ทรูฮิต หน่วยงานสำรวจสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตเผยข้อมูลปี 2549 คนไทยท่องเวบวันละ 1.67 ล้านคน โตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50% คลิกดูจำนวนหน้าเวบสูงถึง 1.9 หมื่นล้านหน้า นักเรียน นักศึกษาครองแชมป์ใช้เน็ตสูงสุด ด้านเวบสนุกดอทคอม คว้ารางวัลเวบไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดประจำปี 2549 ส่วนเวบข่าวเครือผู้จัดการคว้าไปครอง

ดร.ปิยะ ตัณฑวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยพัฒนาบริการ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) กล่าวว่า ในปี 2549 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้าเวบไซต์ต่อวันมากถึง 1.92 ล้านคน เป็นคนไทย 1.67 ล้านคน หรือประมาณ 87% และเมื่อนับจำนวนหน้าเวบเพจที่คนเข้าไปเยี่ยมชมตลอดทั้งปี จากเวบไซต์ที่เป็นสมาชิกของทรูฮิตมีสูงถึง 1.9 หมื่นล้าน หรือประมาณ 53.6 ล้านหน้าเวบต่อเดือน เพิ่มขึ้น 50% จากสถิติของปีที่แล้ว

เวบไซต์ 3 อันดับแรกที่มีคนเข้าชมมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ sanook.com มีผู้เข้าชมไม่ซ้ำกันต่อวัน 223,597 คน อันดับ 2 kapook.com มีผู้เข้าชมไม่ซ้ำกันต่อวัน 142,020 คน อันดับ 3 manager.co.th มีผู้เข้าชมไม่ซ้ำกันต่อวัน 126,069 คน ทั้ง 3 เวบนี้ ยังเป็นเวบไซต์ที่คว้ารางวัล เวบ อวอร์ด 2006 อีกด้วย

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปรากฏว่าเป็นเพศชาย 55% เพศหญิง 45% กลุ่มอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด อายุ 24-35 ปี ราว 32% รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 18-23 ปี ราว 27% โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษากลายเป็นกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดราว 37.63%

ส่วนเวบค้นข้อมูลที่ได้รับความนิยม อันดับ 1 ยังคงเป็นกูเกิล มากกว่า 90% รองลงมาเป็นสนุกดอทคอมที่ใช้ฟังก์ชั่นของกูเกิลอยู่ 7.58% ขณะที่เสิร์ชเอ็นจิ้นไทยแท้อย่าง siamguru และ sansarn มีคนใช้น้อยกว่า 0.02%

ดร.ปิยะ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเภทเวบไซต์ที่มีคนเข้าชมมากที่สุดในปี 2549 อันดับ 1 เป็นเวบไซต์ทางด้านบันเทิง 39.45% อันดับ 2 เวบไซต์ข่าว และสื่อ 7.64% อันดับ 3 เวบไซต์ประเภทบุคคล สังคม 7.16% ขณะที่ คำสืบค้นที่ใช้ค้นหาบ่อยในอินเทอร์เน็ต 6 อันดับแรก ได้แก่ 1.เกม 2.ดูดวง 3.ฟังเพลง 4.เกม 5.เพลง และ 6 แอบถ่าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ประกวดไอเดียไอที


ชวนนักศึกษาประกวดไอเดียไอทีชิงทุน

เนคเทคเปิดเวที มองหาไอเดียจากนักศึกษามาประยุกต์ใช้งาน ชิพคลื่นวิทยุอาร์เอฟไอดีแนวใหม่ ชิงทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคได้ร่วมกับ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการชิพอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เปิดเวทีเฟ้นหานักศึกษาเจ้าของแนวคิดประยุกต์ใช้อาร์เอฟไอดีในมุมมองใหม่ ภายใต้การแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าใจประโยชน์ของชิพอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ภาคธุรกิจ

ชิพอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาร์เอฟไอดี เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลและสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุขนาดเล็กสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น บัตรพนักงาน บัตรจอดรถ บัตรโดยสารรถไฟฟ้า ชิพเข้ารหัสป้องกันขโมยสินค้า นอกจากนี้ ยังนิยมใช้ในปศุสัตว์เก็บประวัติของสัตว์ในฟาร์มด้วย

การทำงานของชิพอาร์เอฟไอดี ประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นชิพเก็บข้อมูลเช่นชิพที่ฝังอยู่ในป้ายบัตรพนักงาน และส่วนที่เป็นเครื่องอ่านสำหรับนำบัตรไป "สัมผัส" เพื่ออ่านข้อมูลที่อยู่ในบัตร บัตรโดยสารรถไฟฟ้าก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ บัตรอาร์เอฟไอดีบางรุ่นออกแบบให้สามารถส่งคลื่นสื่อสารกันได้ระยะไกล โดยไม่ต้องนำไปสัมผัสกับเครื่องอ่านใกล้ชิด

ในต่างประเทศมีการทดลองประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอาร์เอฟไอดี เช่น การฝังชิพลงบนผิวหนังเพื่อให้สะดวกต่อการจับจ่ายสินค้า ห้างสรรพสินค้าบางแห่งใช้ติดแทนบาร์โค้ดเพื่อให้สะดวกต่อการคิดเงิน

นักศึกษาที่สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม โครงการที่ชนะเลิศจะได้รับทุน มูลค่า 6 หมื่นบาท จากเงินรางวัลรวม 2 ล้านบาท นอกจากนี้ทางโครงการจะจัดอบรมพร้อมมอบอุปกรณ์การแข่งขันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนให้ทีมที่ผ่านเข้ารอบแรกด้วย

นอกจากนี้ เนคเทคยังสนับสนุนให้นักวิจัยพัฒนาเครื่องอ่านให้มีความสามารถในการอ่านข้อมูลระยะไกลมากขึ้น มีความมั่นคงของข้อมูลมากขึ้น สามารถเขียนข้อมูลเพิ่มได้ เพิ่มตัววัดอุณหภูมิ ความดัน รวมถึงสามารถอ่านได้ทุกมาตรฐานคลื่นความถี่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/03/12/WW54_5407_news.php?newsid=58571

ก.วิทย์สอนขิงแก่รู้ไอที

ก.วิทย์สอนขิงแก่รู้ไอทีเล่นเน็ตหนุนผู้สูงอายุรู้ทันโลกลดช่องว่างระหว่างวัย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตรียมจัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์สำหรับผู้สูงวัยในสัปดาห์ผู้สูงอายุแห่งชาติ ตั้งเป้าสอนผู้สูงอายุได้รู้จักเทคโนโลยียุคใหม่ ใช้คอมพิวเตอร์หาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หวังลดช่องว่างระหว่างวัย

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในสัปดาห์วันผู้สูงอายุที่กำลังมาถึงช่วงวันสงกรานต์วันที่ 9-11 เมษายน กระทรวงวิทยาศาสตร์เตรียมจัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์อีกครั้ง บริเวณลานด้านหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีไอที และอินเทอร์เน็ตแก่ผู้สูงวัย หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมเมื่อวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น

“กิจกรรมนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุจูงลูกหลานเข้ามาเยี่ยมชมงาน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ในลักษณะของการนำความรู้และประสบการณ์ชีวิตถ่ายทอดเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจให้เด็กและวัยรุ่น ที่ยังขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต” ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

ภายในงานยังได้เชิญนักวิทยาศาสตร์อาวุโสมาบรรยาย อาทิ ศ.เกียรติคุณ ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล บุคคลดีเด่นของชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2545 และ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2531 ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ สมุนไพรกับสุขภาพผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมสังคม ของผู้สูงอายุ

กิจกรรมในโครงการบำรุงเฝ้าปัญญายืน ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนภาคเอกชน โดยกระทรวงวิทย์จะดำเนินการเชื่อมโยงกับโครงการ OPPY (Old People Playing Young) หรือโครงการสอนให้ผู้สูงอายุใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต บริษัทล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ตลอดจนเปิดโทรศัพท์สายตรง 30 คู่สาย สำหรับผู้สูงอายุในการสื่อสาร

นอกจากนี้ กระทรวงวิทย์มีโครงการสร้างความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดต่างๆ เพื่อร่วมจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงได้จัดทำเวบไซต์ www.bangcare.net เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้สูงอายุเข้าไปใช้งานได้ไม่จำกัด

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ทหารหุ่นยนต์

ทหารหุ่นยนต์ออกรบเคียงบ่าเคียงไหลทหารราบ

อิสราเอล จะทดลองส่งทหารหุ่นยนต์มีความชาญฉลาด ออกรบคู่กับหน่วยทหารราบ สามารถค้นหาระเบิด และกับระเบิดตามเส้นทางลาดตระเวนได้ไม่พลาด

บริษัทเอลบิต ซิสเต็มส์ หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางทหารชั้นนำของอิสราเอล แถลงเปิดตัวหุ่นยนต์ทหารรุ่นใหม่ที่มีความชาญฉลาด สามารถออกปฏิบัติหน้าที่ตามซอกซอยมืดๆ ในถ้ำ และกลางซากปรักหักพังต่างๆ เพื่อค้นหาระเบิด และกับระเบิดตามเส้นทางลาดตระเวนของทหารอิสราเอล รวมทั้งช่วยเตือนภัยแก่ทหาร ทั้งจากข้าศึก และจากอันตรายต่างๆ ที่รอคอยอยู่ข้างหน้าได้ด้วย

ทหารหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า "ไวเปอร์" นี้ เพิ่งปรากฏโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการฤดูหนาวของสมาคมกองทัพบกสหรัฐที่ฟอร์ดลอร์เดอร์เดล รัฐฟลอริดา เป็นหุ่นยนต์สูง 9 นิ้ว หนัก 11 กิโลกรัม มีขนาดเล็ก และเบาพอที่ทหารจะใส่ในเป้สะพายหลังเวลาออกรบ โดยทหารหุ่นยนต์ชนิดนี้ควบคุมด้วยเครื่องควบคุมระยะไกล (รีโมทคอนโทรล) สามารถปีนบันได และเดินทางได้เองโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้ยังสามารถพกพาปืนกลขนาดเล็ก "อูซี่" ระเบิดควัน ระเบิดที่ทำให้ศัตรูมึนงง รวมทั้งเครื่องตรวจหาระเบิด และกล้องส่องที่ใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนได้ด้วย

ภายหลังจากที่สู้รบกับปาเลสไตน์มานานหลายปี ปัจจุบัน ทหาร และตำรวจอิสราเอลได้นำหุ่นยนต์มากมายหลายชนิดมาใช้งาน มีตั้งแต่การใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบวัตถุที่สงสัยว่าเป็นระเบิดไปจนถึงการตรวจหากับระเบิดในอาคาร และการตรวจค้นหาอาวุธกับวัตถุระเบิด สำหรับทหารหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดนี้ ทางกองทัพบกอิสราเอลมีแผนจะทดสอบด้านยุทธการโดยจะนำเข้าประจำการในหน่วยทหารราบต่อไป

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/03/12/WW54_5405_news.php?newsid=58576

Sunday, March 11, 2007

เตือนภัยพายุฤดูร้อน

เตือนภัยพายุฤดูร้อน & พายุลูกเห็บ

ในช่วงฤดูร้อนอย่างนี้ เด็กๆ คงจะชอบใจเพราะปิดเทอมยาว และหลายท่านอาจจะมีแผนไปพักผ่อนตากอากาศในสถานที่สุดโปรด แต่ระยะเวลานี้เองที่เราควรหูไว คอยฟังคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับ “พายุฤดูร้อน” ทำนองนี้เอาไว้ให้ดี

“ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันนี้ซึ่งจะทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้...”

ความหมายง่ายๆ ก็คือ ในระหว่างที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าวอยู่นั้น ถ้าบังเอิญอากาศเย็นซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา เรียกว่า ความกดอากาศสูง (หรือมวลอากาศเย็น) จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ก็จะทำให้มีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดจากจีนเข้าสู่บ้านเรา และเนื่องจากภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนอยู่ใกล้กับจีนมากกว่าภาคอื่นๆ ดังนั้นบริเวณทั้งสองนี้จึงรับเอาลมแห้งและเย็นนี้ไปก่อนบริเวณอื่น

เนื่องจาก “อากาศผู้รุกราน” จากจีนซึ่งแห้งและเย็นมีลักษณะต่างจาก “อากาศเจ้าบ้าน” ซึ่งร้อนและชื้นอย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงและฉับพลัน อากาศเย็น (ผู้รุกราน) ซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น (เจ้าบ้าน) จะจมลงต่ำและผลักดันให้อากาศร้อนและชื้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่เนื่องจากบรรยากาศชั้นโทรโฟสเฟียร์ (troposphere) ซึ่งเป็นชั้นล่างสุดติดผิวโลกนั้นเคารพกฎ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ดังนั้นไอความชื้นที่พุ่งสูงขึ้นไปก้จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และเมื่อหยดน้ำก่อม็อบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นเมฆก้อนขนาดมหึมาที่เรียกว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง หรือเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus)

เมฆฝนฟ้าคะนองนี้เปรียบเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลอย่างมหาศาล เพราะถ้าเกิดที่ไหนก็มั่นใจได้เลยว่าพายุ + ฝนตกหนัก + ฟ้าร้อง + ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร แถมเผลอๆ อาจจะมีลูกเห็บผสมมาด้วย เพราะเจ้าเมฆชนิดนี้ผูกขาดสัมปทานผู้ผลิตและจำหน่ายลูกเห็บแต่เพียงผู้เดียว!

ส่วนใกล้ๆ พื้นดินนั้น อากาศจะยกตัวขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้อากาศบริเวณข้างเคียงไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นพายุซึ่งอาจพัดเร็วถึง 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เคยปรากฏมาแล้ว

สภาพลมฟ้าอากาศทั้งหมดที่ว่ามานี้คืออาการของ พายุฤดูร้อน นั่นเอง (และหากมีลูกเห็บ ก็จะเรียกว่า พายุลูกเห็บ)

ก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะมีสัญญาณบอกเหตุอะไรบ้าง
อากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะร้อนอบอ้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยลมค่อนข้างสงบ (ใบไม้ไม่ค่อยกระดิก) แต่ถ้าแหงนดูท้องฟ้าจะมืดมัว ทัศนวิสัยไม่ดีและมีเมฆทวีขึ้น

ต่อมาเมื่อถึงช่วงโหมโรง ลมจะพัดแรงในทิศใดทิศหนึ่ง และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว พอท้องฟ้ามีเมฆเต็ม ก็จะเห็นฟ้าแลบและฟ้าคะนองในระยะไกล

เมื่อถึงช่วงรุนแรงสุด ทั้งพายุ ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า (และลูกเห็บ) ก็จะกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์แบบรวมมิตร ซึ่งโดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และถล่มในพื้นที่แคบๆ ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว อากาศจะเย็นลงเพราะฝนตก และท้องฟ้าจะสุดแสนสดใส

คุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อต้องเสี่ยงภัยพายุฤดูร้อน?
• ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของบ้านให้แข็งแรงและอยู่ในสภาพเรียบร้อย เนื่องจากพายุฤดูร้อนมีกำลังแรงซึ่งอาจพัดหลังคา หรือส่วนต่างๆ ที่ยึดกับตัวบ้านไม่แน่น ปลิวประเด็นออกไป ส่วนลูกเห็บก็สามารถทำให้หลังคามุงสังกะสีทะลุได้
• ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง
- ห้ามหลบใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นอันขาด เพราะฟ้าผ่ามีโอกาสผ่าลงจุดที่อยู่สูงมากกว่าที่อื่นซึ่งอยู่ต่ำกว่า หากคุณอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วฟ้าผ่าต้นไม้นั้น คุณก็จะเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าที่วิ่งผ่านมาทางลำต้นของต้นไม้
- คุณควรหาที่หลบที่ปลอดภัยจากลมพายุ ฟ้าผ่า และลูกเห็บ เช่น หลบในอาคารหรือในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคารและอย่าแตะตัวถังรถเป็นอันขาด เพราะหากฟ้าผ่าอาคารหรือตัวรถก็จะเสี่ยงอันตรายเช่นกัน

เมื่อรู้จักฤทธิ์เดชของพายุฤดูร้อน และวิธีป้องกันตัวเองอย่างนี้แล้ว ก็หวังว่าทุกท่านคงจะอยู่รอดปลอดภัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

ดวงอาทิตย์จุดเทอร์โบใส่อุกกาบาต

ดวงอาทิตย์จุดเทอร์โบใส่อุกกาบาต

นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นผิวส่งผลให้อุกกาบาตหมุนเร็วขึ้น และมีวงโคจรที่ไม่หยุดนิ่ง

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติสามารถยืนยันทฤษฎีที่เชื่อกันมานานว่า คลื่นแสงจากดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อการหมุนรอบตัวเองของอุกกาบาต เนื่องจากคลื่นแสงกระทบยังพื้นผิวที่บิดเบี้ยวของอุกกาบาตเหมือนมีแรงมาช่วยหมุน แต่ทฤษฎีดังกล่าวยังไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นชัดเสียที ทีมงานจึงเฝ้าจับตาอุกกาบาตสองก้อน ก้อนแรกมีขนาด 1.5 กม. อีกก้อนขนาด 111 เมตร

ทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่า เมื่อแสงอาทิตย์กระทบกับอุกกบาตรก่อนจะแผ่คลื่นความร้อนกลับไปสู่อวกาศ เนื่องจากอุกกาบาตไม่ได้กลมเหมือนดาวเคราะห์ คลื่นความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงเปรียบเสมือนกับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่ผลักให้อุกกาบาตหมุนเร็วขึ้น

นักวิจัย กล่าวว่า อุกกาบาตจะหมุนติ้วเร็วมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นผิวที่แสงแดดตกกระทบ เปรียบได้กับกังหันลมที่ลมเข้ามาปะทะ ถ้าลมแรงมันก็หมุนเร็ว ถ้าลมเอื่อยก็หมุนช้า

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ ได้คำนวณพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต่ออุกกาบาต และเมื่อนำไปคำนวณหารอบหมุนตัวของอุกกาบาตในช่วงหลายปีพบว่าสอดคล้องกับสูตรที่คำนวณไว้

พวกเขาใช้กล้องโทรทรรศน์และเรดาร์จับตาดูการหมุนรอบตัวเองของอุกกาบาต2000 พีเอช 5 อุกกาบาตลูกเล็กที่อยู่ใกล้โลก พบว่าหมุนเร็วขึ้นปีละ 1/พันวินาที มีผลให้วงโคจรของมันเข้าๆ เอาๆ วงโคจรของโลก และมีระยะห่างจากโลกใกล้สุดเท่ากับ 5 เท่าของระยะห่างจากโลกใกล้สุดเท่ากับ 5 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นแม้จะเล็กน้อยมาก แต่ถ้าเทียบกับขนาดของอุกกาบาตขนาดเล็กแล้วต้องยอมรับว่ามันหมุนเร็วขึ้นมาก” นักวิจัย กล่าว

นักวิจัยยังกล่าวถึงอพอลโล 1862 ซึ่งเป็นอุกกาบาตอีกลูกที่ใหญ่กว่า รอบที่หมุนเร็วขึ้นอาจทำให้อุกกาบาตลูกนี้กะเทาะ เห็นได้จากอุกกาบาตลูกนี้มีบริวารขนาดเล็กวนเวียนอยู่ใกล้ๆ เหมือนดวงจันทร์ ซึ่งน่าจะเป็นเศษที่แตกออกมา

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Saturday, March 10, 2007

นวัตกรรมอาร์เอฟไอดี


เนคเทคเปิดตัวโครงการนวัตกรรมอาร์เอฟไอดี ชวน นศ.ป.ตรีร่วมส่งผลงาน

เนคเทคจับมือเอกชน เปิดตัวโครงการประกวดนวัตกรรมอาร์เอฟไอดีฝีมือคนรุ่นใหม่ หวังให้วัยรุ่นไทยเข้าใจและรู้จักประโยชน์ของอาร์เอฟไอดี พร้อมร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์แบบใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ได้จริง

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการทำให้สังคมได้รู้จักและเข้าใจระบบระบุสิ่งของโดยใช้คลื่นวิทยุ หรือ “อาร์เอฟไอดี” มากขึ้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากอาร์เอฟไอดีในประเทศไทย ล่าสุด เนคเทคได้ร่วมกับภาคเอกชนด้านอิเล็กทรอนิกส์และอาร์เอฟไอดีจัดการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทยขึ้น

“การแข่งขันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งเป็นกลุ่มของคนรุ่นใหม่ได้รู้จักและเข้าใจอาร์เอฟไอดีว่าจะสามารถนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง โดยตัวเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในหลากหลายทางตามแต่จินตนาการที่จะสร้างสรรค์ออกมา” ผอ.เนคเทค กล่าว

ทั้งนี้ “การแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย” (National RFID Innovation Challenge 2007) กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อนำอาร์เอฟไอดีไปใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตั้งแต่ตอนนี้ถึง 15 ส.ค.50

คุณสมบัติของทีมผู้เข้าแข่งขันต้องสมัครเข้าแข่งขันเป็นทีมๆ ละ ไม่เกิน 3 คน พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน และผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่จำกัดชั้นปีการศึกษา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจผ่านทางเว็บไซต์ www.rfid.thai.net/RFID_Contest หรือโทรศัพท์ 0-2564-6900 ต่อ 2422, 2455 หรือ 2550 โทรสาร 0-2564-6770 หรืออีเมล rfid@nnet.nectec.or.th

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000028043

Friday, March 9, 2007

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" แห่งแรกปี'63

หวั่นวัฒนธรรมแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" แห่งแรกปี'63

สภาอาจารย์ มธ. เปิดเวทีถกแผนพลังงานไทย สนพ.เผยอัตราการใช้พลังงานถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร่วมกับ ปส. ย้ำเป็นเรื่องสำคัญต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ได้แห่งแรกในปี 2563 ตามพีดีพี ด้านผู้แทน ปส.บอกปัดอาจไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างที่หวัง ขณะที่นักวิชาการพลังงานตั้ง 2 ข้อสังเกต “วัฒนธรรมไทยเป็นปัญหา” อาจได้สนามบินสุวรรณภูมิแห่งที่ 2 มาประจานความล้มเหลว แนะการกำจัดซากโรงงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แก้กันไม่ตกสักที อย่าง "พลังงาน" ที่ไม่ว่าจะหยิบยกมาคุยเมื่อใดก็ต้องเป็น "เรื่อง" แทบทุกครั้งไป โดยเฉพาะกับ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยในการเสวนาสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ประเด็น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและคนวงในแวดวงพลังงานต่างระดมสมองร่วมกันอย่างหนักหน่วง

เริ่มจาก นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวจุดประเด็นว่า ทุกวันนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกขณะ แปรผันตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึงจำนวนประชากรและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นเป็นงามตามตัว โดยค่าเฉลี่ยอัตราการใช้ไฟฟ้าของไทยจะมีปริมาณสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 1.1-1.2% ทุกปี ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ ก็เป็นโครงการสำคัญที่จะฉุดยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศให้สูงขึ้นไปอีก

นายวีระพล กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีการพูดคุยกันถึงการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจากการเกิดวิกฤติพลังงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้หลายประเทศหันมาสนใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งหากประเทศไทยสนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่วันนี้ สนพ.ก็จะเริ่มหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เพื่อวางแผนให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทันตามที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ไว้ โดยเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรประเทศไทยจึงจะได้เริ่มต้นในเรื่องนี้กันเสียที

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อใช้เป็นแหล่งไฟฟ้าราว 5% ของความต้องการทั้งหมด ขณะที่ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยยังจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก 2,000 เมกะวัตต์ หรือมีส่วนแบ่งพลังงานราว 9% ของทั้งหมดด้วย โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการสรรหาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งหากรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานแล้ว ก็จะทำให้ได้ต้นทุนไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำที่สุดคือ 2.08 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.11 บาท/หน่วย และจากพลังงานแสงอาทิตย์ 20.20 บาท/หน่วย
ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศ อย่าง ปส. ได้ส่งผู้แทนคือ ดร.กนกรัตน์ ตียพันธ์ มาร่วมให้ข้อมูลว่า การบรรจุการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงในแผนพลังงานของประเทศในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ในด้านพลังงานครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงก็จะมีค่าใช้จ่ายในระยะแรกจำนวนมากอย่างแน่นอน ทว่า ในระยะยาวพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุด และยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาไม่มาก ส่วนการจะก่อสร้างจริงในประเทศนั้นยังต้องดูทิศทางนโยบายต่อไป

“ถามว่าเรามีศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเปล่า เวลานี้ ที่สำนักงานฯ ก็เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งมีเครื่องเดียวในประเทศ และเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ปรมาณูวิจัย ดังนั้นหากจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทาง กฟผ.ก็จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง กฟผ.ต้องเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลในการเดินเครื่องฯ ทางฝ่ายเราก็มีหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำให้มีขึ้นได้ในเร็ววันได้ ส่วนที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ก็เชื่อว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพลังงานนิวเคลียร์อาจไม่ได้บรรจุในแผนอีก ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน” ดร.กนกรัตน์ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ นักวิชาการจากบัณฑิตร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็นว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้อีกต่อไป แต่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงคือ “วัฒนธรรมของสังคมไทย” ที่มีความประนีประนอมกันมาก จนอาจทำให้ระบบมาตรฐานและความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้ไม่เป็นที่ยอมรับของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมาก ซึ่งแม้ว่าจะได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยบริษัทชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาจนแล้วเสร็จ แต่ไอเออีเอก็ไม่อนุญาตให้เปิดใช้งานได้ ส่วนในประเทศไทยเองก็มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่น กรณีการรั่วไหลของโคบอลต์-60 ที่ใช้ในการแพทย์เมื่อหลายปีก่อน

“หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นจริงในประเทศไทยภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้ ก็อาจเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้น เป็น “สนามบินสุวรรณภูมิแห่งที่ 2” ก็ได้ เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความยากกว่าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินับ 10 -20 เท่า” ผศ.ดร.จำนง กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.จำนงยังได้ระบุถึงอีกปัญหนึ่งว่าคือ การกำจัดกากเชื้อเพลิง และซากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะทำให้เกิดซากโรงงานนับหมื่นๆ ตันที่ยากแก่การกำจัดทำลาย โดยหากจัดการอย่างไม่รัดกุมแล้ว ก็อาจมีปัญหากากกัมมันตภาพรังสีเล็ดลอดออกสู่ระบบนิเวศ จนมีผลต่อโครงสร้างระดับพันธุกรรมในสัตว์และพืชในบริเวณนั้นจากรุ่นสู่รุ่น อันจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดตามมา

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000027648

วิทยาศาสตร์ไทย ไป "ยูเอ็น"


วิทยาศาสตร์ไทย ไป "ยูเอ็น" เปิดแสดงกลางกรุงเวียนนา

หลังจากประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศเปิดตัวดาวเทียมดวงแรกของไทย "ธีออส" หรือ Thailand Earth Observation Systems ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astruim) อยู่ระหว่างการสร้างและทดลองเพื่อยิงขึ้นสู่อวกาศนั้น

ระดับของประเทศไทยในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดูจะ "อัพเกรด" ขึ้นมาทันตาเห็นเพราะนอกจากมีโอกาสไปเปิดแสดงนิทรรศการเรื่องของธีออส ถึงสำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ประเทสออสเตรียแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นักวิชาการจากประเทศไทยได้กระทบไหล่นักวิชาการจากนานาชาติอีกด้วย เพราะระหว่างที่ไปจัดนิทรรศการนั้น เป็นวาระที่นักวิทยาศาสตร์นานาชาติกำลังมีการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการ หรือ COPUOS ครั้งที่ 44

รายการนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทย โดย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงนำคณะนักวิชาการไทยไปเพียบ อาทิ ดร.พินัย ณ นคร ที่ปรึกษารัฐมนตรี, ดร.ธงชัย จารุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, นายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการสำนักปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.), นายมานิตย์ ซ้อนสุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ, ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และ ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

วันจัดแสดงนิทรรศการอยู่ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ในวันเปิดงานนั้น ผลงานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ของไทยได้รับความสนใจให้จัดแสดงที่บริเวณ Rotunda ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางภายในตึกยูเอ็น เป็นบริเวณที่ใครต่อใครต้องเดินผ่านเลยทีเดียว เรื่องราวที่นำเสนอในนิทรรศการเป็นหัวข้อต่างๆ ทั้งเรื่องของธีออส ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย เรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการจัดการเรื่องของน้ำ ป่า การทำเกษตรในประเทศไทย ฯลฯ

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พูดถึงโอกาสสำคัญนี้ว่า การได้ไปจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่ศูนย์สหประชาชาติ กรุงเวียนนา ถือว่ามีความสำคัญและเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เปิดตัวเช่นนี้ในวงการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก เพราะที่ศูนย์สหประชาชาติกำลังมีการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการ จึงถือโอกาสนี้มาแสดงถึงผลงานของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

"คือการที่เราจะมีดาวเทียมธีออสเป็นของเราเอง ซึ่งจะใช้ในการสำรวจดูทรัพยากรต่างๆ แล้วเอามาใช้ในเรื่องที่จะจัดการ เช่น เรื่องของน้ำ ป่า เรื่องการมีอันตรายต่างๆ เช่น ไฟป่า หรือเรื่องของการเกษตร จึงถือโอกาสมาเปิดตัวกับบรรดาผู้ที่สนใจจากหลายๆ ประเทศ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะมีทั้งเอกอัครราชทูตจากประทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชีย และผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศที่มาประชุมอยู่ด้วยก็ได้เข้ามาซักถามและมาแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราเพิ่มขึ้น"

รัฐมนตรียงยุทธบอกว่า โอกาสนี้ทางไทยได้พูดคุยกับนายอันโตนิโอ มาเรีย คอสต้า รองผู้อำนวยการของยูเอ็นนี้ เป็นผู้ซึ่งมีความสำคัญในการดูแลเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ และนายเซอร์จิโอ กัมมาโช ลารา ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้โดยเฉพาะ ว่าไทยและยูเอ็นจะมีความร่วมมือกันอย่างไรหากดาวเทียมดวงแรกของไทยสร้างเสร็จเรียบร้อยและยิงขึ้นสู่อวกาศ

"ทางสหประชาชาติเองอยากจะได้ความร่วมมือจากเรา โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในย่านต่างๆ ในโลกนี้ เราเองบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ และเขายังได้ขอความร่วมมือ ขอข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งต่อไปเราสามารถหาได้จากดาวเทียมของเรา เราเองก็ไม่ขัดข้องให้ความร่วมมือได้ และจะมีการเซ็นสัญญากันต่อไป"

"ข้อมูลบางอย่างเราสามารถที่จะให้เพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก การร่วมมือกับประชาคมโลก แต่ข้อมูลบางอย่างเราอาจจะขาย หรือตกลงขายในราคามิตรภาพไม่แพงนัก อันนี้เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของเราเองด้วย เพราะต่อไปเราก็ต้องมีภาระ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี"

"เรามาจัดนิทรรศการที่นี่เพราะเรามีโอกาส เนื่องจากประชาคมมาประชุมกันที่นี่พอดี และมีคนไทย อย่าง
คุณสุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ มีโอกาสไปเป็นคณะอนุกรรมการคนต่อไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เราจะได้มีเสียงใน
ยูเอ็นมากขึ้น ถือว่านี่เป็นจุดที่ดีมาก และนิทรรศการนี้จะทำให้ทุกคนในวงการรู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน มีดีอย่างไร" เสียงตบท้ายจากรัฐมนตรี ฤกษ์งามยามดีมาถึง และพิธีเปิดนิทรรศการก็เริ่มขึ้น ดร.มาซลัน อัธมัน จากมาเลเซีย ในฐานะตัวแทนของ COPUOS และเป็นประธานคณะกรรมการสำรวจด้วยดาวเทียม กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทย ว่า ขอแสดงความยินดีอย่างมากที่ประเทศไทยจะได้เข้าร่วมในกลุ่มประเทศจำนวนน้อยที่จะมีดาวเทียมสำรวจโลกในแง่มุมต่างๆ เป็นของตัวเอง

"เพราะที่เป็นอยู่เวลานี้มีจำนวนประเทศแค่ 6-7 ประเทศเท่านั้นที่ทำเช่นนี้ได้ และประเทศไทยก็เป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งที่จริงแล้วองค์การนี้มีมาแล้ว 50 ปี แต่ไทยเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกได้เมื่อ 3 ปีที่แล้วนี่เอง ดีใจที่สมาชิกสามารถร่วมมือกันได้อย่างดีในการมีดาวเทียมเข้ามาร่วมช่วยเหลือโลกของเรา" ดร.มาซลันกล่าว

สิ่งที่ ดร.มาซลันเน้นอย่างมากในเรื่องการมีดาวเทียมใช้ในโลกนี้ คือ เรื่องของการจัดการกับภัยพิบัติ ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องแรกที่สหประชาชาติต้องให้ความร่วมมือ

"ภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่โตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสร้างความเสียหายอย่างหนัก ไม่ว่าเรื่องของสึนามิ ที่เราสามารถใช้ดาวเทียมถ่ายให้เห็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือเรื่องของไฟป่าก็ได้ เป็นเรื่องที่สามารถถ่ายทอดได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างนอกจากถ่ายภาพทางอวกาศแล้ว ต้องไปประสานกับภาคพื้นดินด้วย เช่นเรื่องไข้หวัดนก หรือเรื่องโรคของพืช เรื่องต่างๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลภาคพื้นดินประกอบด้วย ทั้งหมดนี้หวังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากไทยในการส่งข้อมูลให้"

เสียงปรบมือดังกึกก้องเมื่อ ดร.มาซลัน จบสุนทรพจน์ ขณะที่บรรดาผู้สนใจเรื่องราวของประเทศไทยต่างเข้ามาจับไม้จับมือแสดงความยินดีกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกิดบรรยากาศของการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง

ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อธิบายเพิ่มเติม

การประชุมความร่วมมือทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้น ว่า เมื่อนักวิชาการทราบเรื่องดาวเทียมของไทยต่างแสดงความยินดี และเวลานี้มีประเทศต่างๆ ให้ความสนใจบอกจะซื้อข้อมูลดาวเทียมจากไทยเป็นสิบประเทศแล้ว

สำหรับการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในสองอนุกรรมการของคณะกรรมการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ หรือโคปุส (COPUOS) นั้นได้พูดถึงเรื่องต่างๆ มากมาย มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ในทางสันติ อีกเรื่องคือทางด้านกฎหมายทางอวกาศ ซึ่งเรื่องกฎหมายอวกาศมีคนสนใจมาก

"อย่างตอนนี้ในหลายประเทศเป็นกังวลว่าจีนส่งจรวดขึ้นไปยิงดาวเทียมของเขาทิ้งเพราะหมดอายุการใช้งานแล้ว ทำให้เกิดเหมือนกับขยะอวกาศออกมาจำนวนมาก เป็นพันๆ ชิ้น ในหลายประเทศก็กลัวว่าระดับความสูงประมาณ 800-1,000 กิโลเมตรนั้น ซึ่งดาวเทียมถ่ายภาพและดาวเทียมสำรวจของประเทศต่างๆโคจรอยู่ในระดับนี้จะเกิดความเสียหายไปด้วย และเมื่อดาวเทียมของจีนถูกจรวดยิงแตกเป็นชิ้นๆ ชิ้นส่วนเหล่านั้นก็ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ดีไม่ดีอาจจะไปชนกับดาวเทียมดวงอื่นๆ เกิดความเสียหายขึ้น"

ดร.สุวิทย์บอกว่า ดังนั้น จึงมีการร่างคำแนะนำในกรณีที่ดาวเทียมหมดอายุแล้วว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการยิงอย่างนี้ขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม ดร.สุวิทย์บอกด้วยว่า ทางจีนได้บอกว่าเขาเองก็ระมัดระวังเรื่องนี้ ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นมา

"สิ่งที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ มีโครงการชื่อ สไปเดอร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือพวกที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ และเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตราย ปีที่แล้วเพียงแต่ตั้งขึ้นมายังไม่ได้ทำงาน แต่ปีนี้เขาจะเริ่มทำงาน โดยมีสำนักงานใหญ่ คือ ยูเอ็น ออฟฟิศ ออฟ เอาท์เตอร์ สเปซ อยู่ที่เวียนนา เป็นเจ้าของเรื่อง ตอนนี้กำลังหาเงินช่วยอยู่ และยังมีออฟฟิศอีก 2 แห่ง ในยุโรปอยู่ที่กรุงบอนน์ เมืองหลวงเก่าของเยอรมนี และที่ปักกิ่ง ประเทศจีน"

"อีกเรื่องที่กลัวกัน คือการมีอาวุธในอวกาศ เพราะว่าที่จริงแล้วมันทำได้ อินเดียทำได้ คือเมื่อส่งปรมาณูไปซุกซ่อนในดาวเทียม วันดีคืนดีก็สามารถปล่อยลงมาสู่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ เขากลัวกัน เขาบอกว่าเรื่องแบบนี้ห้ามเด็ดขาด ซึ่งหลายประเทศในที่ประชุมก็บอกว่าไม่ได้ทำ เพราะเป็นอันตรายต่อโลก"

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ ดร.สุวิทย์เปิดเผย คือ การจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยอวกาศ" หรืออินเตอร์เนชั่นแนล สเปซ ยูนิเวอร์ซิตี้ (International Space University) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เมือง Strasbourg ในฝรั่งเศส

"ที่นี่เขามีการเรียนถึงปริญญาโท และมี Summer School แต่ที่เมืองไทยยังไม่จัด เพราะค่าใช้จ่ายสูง เราเคยคิดจะทำเหมือนกันโดยเคยติดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่เทเลคอมฯให้เขาสนับสนุน แต่เขาบอกเขามีโปรเจ็คต์เยอะ ตอนนี้มีนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยอวกาศ 2,400 คนแล้ว ซึ่งคนที่มาเรียนไม่ใช่เรียนเพื่อทำดาวเทียม อาจเป็นนักกฎหมายก็ได้ นักบริหารก็ได้"

ส่วนประเทศไทยนั้น ในการประชุมดังกล่าว ดร.สุวิทย์เล่าว่า ได้รายงานไปว่าไทยทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะ เรื่องดาวเทียมธีออส เพราะธีออสไม่ได้ใช้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่คงใช้รอบโลก ถ้าประเทศไหนเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิ ก็ต้องให้ภาพและให้ข้อมูลฟรีเพื่อช่วยเหลือสหประชาชาติ

"เรื่องกฎหมายอวกาศก็สำคัญ เพราะมันมีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการใช้อวกาศในทางสันติ เช่น ดวงจันทร์ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติ ห้ามประเทศหนึ่งประเทศใดเอาเป็นอาณานิคมแบบสมัยก่อน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะไปสำรวจได้ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยก็มีสนธิสัญญาว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดส่งดาวเทียมหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นไปบนอวกาศ ถ้าตกไปสู่ประเทศไหนต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นสมาชิกกฎหมายอวกาศ ซึ่งมี 5 ข้อ และไทยเป็นสมาชิกหรือภาคียะ 2 ข้อ อีก 3 ข้อกำลังพิจารณาอยู่"

งานนิทรรศการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจากเมืองไทยที่ไปเปิดแสดงยังกรุงเวียนนา ใช้เวลาจัดแสดงอยู่นานหลายสิบวัน ส่งผลให้คนชาติอื่นที่ไม่รู้จักประเทศไทยได้รู้จัก คนที่ไม่เคยมาเมืองไทยก็อยากมา และที่สำคัญ จากนี้ไปประเทศไทยกำลังพยายามจะสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับคนไทยของเราเอง อาจจะไม่ใช่แค่ "ธีออส" ที่กำลังเป็นพระเอกในขณะนี้ แต่อาจมีมากกว่านั้นตามมาอีก เพราะอนาคตข้างหน้าองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย เพื่อสร้างรากฐานสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01090350&day=2007/03/09§ionid=0131

Thursday, March 8, 2007

เด็กไทยร่วมทดลองสภาพไร้น้ำหนัก

เด็กไทยร่วมทดลองสภาพไร้น้ำหนักขึ้นเครื่องบินญี่ปุ่นทดสอบยากระจายตัว

สองพี่น้องนักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และเซนต์จอห์น ได้รับคัดเลือกจากญี่ปุ่นให้ร่วมโครงการทดลองวิทยาศาสตร์ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เตรียมขึ้นบินทดสอบการกระจายตัวของยาในสภาพไร้น้ำหนัก

โครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจกซา (JAXA) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเปิดให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และนักวิจัยส่งโครงร่างการทดลองเข้าประกวด โดยผู้ชนะเลิศจะได้เข้าร่วมทดลองโครงงานในสภาวะไร้น้ำหนักบนเครื่องบินขององค์การแจกซาด้วย

ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธ์วดี ผู้อำนวยการโครงการสมองไหลกลับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยที่ชนะเลิศ คือ โครงการทดลองการแพร่กระจายของเม็ดยาในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งเสนอโดย น.ส.อาภาภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ นักศึกษาชั้นปี 4 จากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล และ ด.ญ.สรัลภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ จากโรงเรียนเซนต์จอนด์ อินเตอร์ คอมเมิร์ช

โครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 7 โครงการที่เข้าร่วมการประกวด อาทิ โครงการดูการแพร่กระจายความร้อนในของเหลว การแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การศึกษาลักษณะการหุบของใบไมยราบในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เป็นต้น โดยทั้ง 7 โครงการเป็นงานวิจัยที่คิดโดยนักศึกษา และมีนักวิจัยเป็นผู้ช่วย ตลอดจนได้รับคำปรึกษาจากนักวิจัยจากองค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่นในการทำการทดลองดังกล่าว

ผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้งสองจะได้ร่วมทำการทดลองแตกตัวของยาในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบิน ซึ่งจะขึ้นปฏิบัติการบินระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคมนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสร้างสภาพไร้น้ำหนักนั้น เครื่องบินจะทำการบินขึ้นในลักษณะพาราโบลา 10 รอบ ซึ่งคล้ายกับการนั่งรถไฟฟ้าเหาะขึ้นลง ส่งผลให้เกิดสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือไมโครกราวิตี้ รอบละประมาณ 20 วินาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก นักศึกษาจึงต้องทำการทดลองอย่างรวดเร็ว

ในการทดลอง นักศึกษาได้เตรียมหลอดทดลองใส่น้ำไว้ครึ่งหนึ่ง บนปากหลอดมีเม็ดยาวางอยู่ และเมื่อเกิดสภาพไร้น้ำหนัก ผู้ทดลองจะกดกระบอกยาส่งเม็ดยาเข้าไปในหลอดทดลองเพื่อกันไม่ให้น้ำลอยออกมาจากหลอด นักวิทย์รุ่นเยาว์ยังได้เตรียมกล้องวิดีโอความละเอียดสูงบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเม็ดยาในหลอดทดลองตลอด 1 ชั่วโมงที่ทำการบิน

สวทช.ยังมีโครงการวิจัยในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงร่วมกับประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะเปิดรับโครงการวิจัยในห้องทดลองที่อยู่ลึกจากพื้นดิน 100 เมตร ในลักษณะของลิฟต์ หรือท่อ ที่เจาะลงไปในพื้นโลก ซึ่งสถานีทดลองดังกล่าวมีอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีระยะเวลาการทดลองสั้นๆ เพียง 4.5 วินาทีเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก