Tuesday, July 31, 2007

ดัดแปลงสามล้อวิ่งด้วยไฟฟ้า ระบบเกียร์อัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์

ลูกหม้อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) แปลงรถสามล้อธรรมดาให้กลายเป็นรถสามล้อไฟฟ้าช่วยผู้พิการและคนชราออกไปทำธุระนอกบ้านได้ ไม่สร้างภาระให้แก่ผู้คนรอบข้างอีกต่อไป

นายธีระพันธ์ เสยกระโทก ศิษย์เก่า มทร.อีสาน ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการก่อตั้งบริษัท อินเวนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พัฒนาสามล้อไฟฟ้าโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกกรมแห่งชาติมูลค่า 2 แสนบาท เพื่อนำมาพัฒนารถสามล้อไฟฟ้าต้นแบบ ปรับปรุงรูปลักษณ์ และน้ำหนักเบา เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

รถสามล้อไฟฟ้าสามารถเร่งความเร็วได้ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสตาร์ทเครื่องจากสวิตช์ และอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลล์ 7 แอมป์ ครั้งละ 2 ลูก และมีแบตเตอรี่สำรอง 2 ลูก สามารถใช้งานต่อเนื่องประมาณ 40 กิโลเมตร

นักวิจัยเลือกใช้ระบบเบรกแบบก้ามปูสำหรับล้อหน้า และเบรกลมสำหรับล้อหลังเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ใช้รถสามล้อไฟฟ้าที่ต้องการความคล่องตัวในการทำกิจกรรม เช่น การประกอบอาชีพขายไอศกรีม ขายลอตเตอรี่ หรือประกอบอาชีพอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเพิ่มกระบะท้ายสำหรับเก็บสัมภาระด้วย แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นขนาด 14 โวลล์ 26 แอมป์ 2 ลูก เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่พารถและสิ่งของที่บรรทุกประมาณ 100 กิโลกรัมไปได้อย่างคล่องตัว

คุณสมบัติที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มคือระบบการเคลื่อนที่ไปทางด้านหลัง เนื่องจากคันต้นแบบสามารถวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างเดียวด้วยระบบเกียร์ออโต้ และยังต้องพัฒนาให้สามารถวิ่งบนพื้นผิวที่ลาดเอียงและชันได้มากกว่า 20-30 องศา เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่

"การนำรถสามล้อมาติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากรถเข็นธรรมดาที่ต้องใช้แรงโยกเป็นสามล้อไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนที่หรือขนย้ายสิ่งของระยะทางไกลๆ โดยผู้ที่มีรถอยู่แล้วสามารถนำมาติดตั้งได้เลย โดยค่าติดตั้งประมาณ 1.5 หมื่นบาท แต่สามารถมีความมั่นใจไปไหนได้ด้วยตัวเอง" ศิษย์เก่าเจ้าของผลงานวิจัย กล่าว

ผู้ที่สนใจนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านการใช้น้ำมัน สามารถเข้าดูรายละเอียดข้อมูลรถได้ที่เวบไซต์ www.tarad.com/e-bike/ ซึ่งมีรูปแบบการดัดแปลงให้เลือกดูหลากหลายตามแต่ประโยชน์การนำไปใช้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

สัปดาห์วิทย์ปี 50 ชู “โลกร้อน” ผ่านโรงหนัง “4 มิติ”


สัปดาห์วิทย์ปี 2550 เปิดตัวแล้ว กระทรวงวิทย์ชูนิทรรศการ “โลกร้อน” เป็นตัวชูโรง พบโรงภาพยนตร์ 4 มิติเหตุการณ์น้ำทะเลท่วมโลก พร้อมชมหุ่นยนต์ถีบจักรยานจากญี่ปุ่น ตลอดจนนิทรรศการ “ไบโอนิก” สิ่งประดิษฐ์เลียนแบบธรรมชาติ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เผยอยากให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบใกล้ตัว เชื่อ 12 วันมีผู้ชมงาน 1.2 ล้านฯ

ระหว่างวันที่ 8 – 19 ส.ค.นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จะจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 ขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ณ อาคารพระจอมเกล้าฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงฯ ร่วมการแถลงข่าว

สำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2550 มีแนวคิดหลักของการจัดงานคือ “วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม” พิธีเปิดงานจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ส.ค. โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน และจะมีการแสดงนิทรรศการและกิจกรรมแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีที่นำสมัยโดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในประเทศกว่า 40 หน่วยงาน และมีนิทรรศการจากต่างประเทศมาร่วมจัดแสดงอีกไม่น้อยกว่า 8 ชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ

จุดเด่นของงานได้แก่ นิทรรศการเพื่อร่วมรู้จักและแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างครบวงจร โดยมีโรงภาพยนตร์ 4 มิติ (4 D Theatre) เพื่อจำลองภาพเหตุการณ์น้ำทะเลท่วมเมือง ซึ่งผู้ชมนิทรรศการจะได้สัมผัสทั้งแสง สี เสียง และสัมผัสถึงน้ำที่ท่วมสูงขึ้นด้วยตัวเอง นิทรรศการกองทัพหุ่นยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดกว่า 10 ตัวจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หุ่นยนต์เด็กชายถีบจักรยาน “มุราตะ” (Murata Boy) กองทัพหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ และเก้าอี้สำหรับผู้พิการอัจฉริยะ ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองโอกาส 120 ปีความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น

นิทรรศการไบโอนิก (Bionik) จากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตรอบตัวเพื่อมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาทางวัสดุศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น การศึกษาถึงคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของอุ้มตีนตุ๊กแกเพื่อพัฒนาสารเกาะยึด การพัฒนาหุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนไหวของแมลง การศึกษาคุณสมบัติของใยแมงมุมที่มีความเหนียวและคงทน การศึกษาพื้นผิวปลาฉลามและรูปทรงของนกเพนกวินซึ่งจะช่วยหาวีธีการทำให้คนเราสามารถว่ายน้ำได้เร็วขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานหุ่นยนต์ของ 3 ทีมนักศึกษาไทยที่ร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์โลก (World Robocup 2007) ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งหุ่นยนต์กู้ภัย “อินดีเพ็นเด็นท์” ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยมาครองได้ ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำไปต่อยอดเพื่อใช้แก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว

ส่วนนิทรรศการอื่นๆ เช่น นิทรรศการพลังงานยุคใหม่ และถ้ำจำลองวิกฤติพลังงาน “หากโลกนี้ไม่มีพลังงาน” อุโมงค์เรียนรู้ภัยพิบัติจากน้ำ นิทรรศการ 100 ปีสุริยฟิสิกส์ นิทรรศการนาโนเทคโนโลยี การเยี่ยมสถานีป่าจำลองเพื่อศึกษาถึงขุมทรัพย์ทางจุลินทรีย์ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และห้องปฏิบัติการทางชีววิทยา รวมไปถึงการแข่งขันการออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ และการแข่งขันเครื่องบินพับกระดาษชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 4

ขณะที่ภายในงานยังประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” มีการจำลองภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาในโดมดูดาวเมื่อ 139 ปีก่อน ซึ่งพระองค์ทรงคำนวณไว้อย่างแม่นยำ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย อันเนื่องมาจากทรงคิดค้นฝนหลวงตำรับส่วนพระองค์ และพระราชดำริโครงการแกล้งดิน เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่การเกษตรเสื่อมโทรมให้แก่เกษตรกรชาวไทย

“ในการจัดงานครั้งนี้ เรามีแนวคิดอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของประเทศ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุก ใกล้ตัว และมีประโยชน์ต่อชีวิต ผ่านการเปลี่ยนความรู้ไปอยู่ในรูปแบบนิทรรศการวิทยาศาสตร์ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ไปถึงนิทรรศการหุ่นยนต์ โดยเชื่อว่าเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยมาเห็นและสัมผัสวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ใช้งบประมาณการจัดงานประมาณ 80,000,000 บาท ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ชู 2 นักแสดงวัยรุ่นคือ นายศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง และน.ส.พิยดา อัครเศรณี เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 1,200,000 คนตลอดการจัดงาน 12 วัน ผู้ร่วมงานสามารถโดยสารรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์โดยสารไม่ประจำทางเข้ามาชมงานได้อย่างสะดวก มีพื้นที่จอดรถไว้รองรับ และหากโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสจะมีบริการรถบัสรับและส่งระหว่างสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุชและพื้นที่การจัดงานตลอดทั้งวัน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089205

Friday, July 27, 2007

รถไฟฟ้าสัญชาติไทยคลอด

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า มุ่งคุณสมบัติลดการปล่อยก๊าซโลกร้อน เริ่มตั้งแต่เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายเป็นตัวถัง ขณะที่ชิ้นส่วนเน้นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ คาดยลโฉมรถต้นแบบ เม.ย. 2551 ราคาขายต่ำกว่า 2 แสน

ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ทีมวิจัยออกแบบรถไฟฟ้าต้นแบบ โดยเพิ่มประสิทธิภาพลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุโลกร้อนให้ได้มากกว่า 60% ขณะที่รถไฟฟ้าทั่วไปลดการปล่อยก๊าซได้ 40%

โครงสร้างรถต้นแบบจะทำจากอะลูมิเนียมที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือออกแบบให้ปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อยืดอายุชิ้นส่วน โดยที่การออกแบบข้างต้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพเครื่องยนต์

รถดังกล่าวจะมีสมรรถนะเทียบเท่ารถยนต์เล็ก 1,300 ซีซี ขนาด 2-4 ที่นั่ง น้ำหนัก 300-600 กก. วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อ ชม. ชาร์จแบตเตอรี่ 12 ชม. วิ่งได้ระยะทาง 100 กม. เอ็มเทคจะพัฒนาระบบชาร์จของรถต้นแบบให้เป็นแบบรวดเร็ว หรือลดจาก 12 ชม. เหลือเพียง 30 นาที ได้กำลังไฟ 80%

"การพัฒนารถยนต์ต้นแบบให้ได้มาตรฐานสากล ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้า จึงต้องมีระบบป้องกันไฟฟ้ารั่ว โดยรถต้นแบบต้องวิ่งผ่านน้ำ หรือขับขี่กลางสายฝนได้ ถือเป็นโจทย์ที่ทีมวิจัยต้องให้ความสำคัญ” หัวหน้าโครงการ กล่าว

นายสามารถ ดีพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีแทป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งร่วมโครงการพัฒนารถไฟฟ้าต้นแบบดังกล่าว กล่าวว่า รถต้นแบบน่าจะแล้วเสร็จราวเดือนเมษายน 2551 ราคาขายไม่เกิน 2 แสนบาท โดยผู้ขับขี่ในแถบยุโรปให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานสะอาดอย่างมาก จึงเหมาะเป็นตลาดรองรับรถไฟฟ้าของไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ก.วิทย์ชูภาวะโลกร้อนประเด็นหลักในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2550

ภาวะโลกร้อนประเด็นหลักของงานสัปดาห์วิทย์ หวังกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักถึงอันตรายจากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น และเรียนรู้แนวทางชะลอหายนะที่เกิดขึ้นให้มาถึงช้าที่สุด ผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ อาทิเช่น อุโมงค์พลังงาน ต้นไม้จำลอง และสุริยะฟิสิกส์ พร้อมทั้งผจญภัยในป่าจุลินทรีย์ ชมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น การแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานานชาติ 2550 และเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย โดยในปีนี้กระทรวงทุมงบกว่า 80 ล้านบาท จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 โดยมหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์จัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคม นี้

Axis Graphic Limited

เที่ยวสัปดาห์วิทย์ดูโลกร้อน ผจญภัยป่าจุลินทรีย์-หุ่นยนต์ญี่ปุ่น

ก.วิทย์ชูภาวะโลกร้อนประเด็นหลักในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ มุ่งเผยแพร่ความรู้ให้เยาวชนตระหนักถึงอันตรายจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น และแนวทางชะลอหายนะดังกล่าวผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ อาทิ อุโมงค์พลังงาน ต้นไม้จำลอง และสุริยะฟิสิกส์ พร้อมทั้งผจญภัยในป่าจุลินทรีย์และชมหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงอนุมัติงบประมาณ 80 ล้านบาท จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2550 เน้นนำเสนอข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน เช่น สาเหตุที่ทำให้อากาศร้อนขึ้นทั้งจากมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พร้อมนำเสนอวิธีการช่วยเหลือ หรือชะลอการเกิดหายนะครั้งนี้ให้มาถึงช้าที่สุด

ตัวอย่างซุ้มกิจกรรม เช่น กิจกรรมเติมฝัน สานจินตนาการ ชะลอสภาวะโลกร้อน ซึ่งนำต้นไม้จำลองสีขาวมาเป็นอุปกรณ์ให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดจินตนาการหรือวิธีการที่จะชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน กิจกรรมอุโมงค์พลังงาน ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดในโลกมาให้เยาวชนเรียนรู้ เช่น พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ที่กำลังจะหมด พลังงานทดแทน เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแห่งอนาคต เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโซนความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น สุริยะฟิสิกส์ นาโนเทคโนโลยี การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากว่าว รวมทั้งกิจกรรมการผจญภัยในป่าจุลินทรีย์ ในรูปแบบห้องปฏิบัติการจำลอง ซึ่งจะนำตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์มาให้ส่องกล้องดูด้วยตัวเอง กิจกรรมสื่อสาธิตเรื่องแสงและคุณสมบัติของแสง การทดลองโฟมหายด้วยสารสกัดจากเปลือกมะนาว ภายในงานยังมีกิจกรรมประชันความสามารถ อาทิ แข่งขันออกแบบหุ่นยนต์นานาชาติ 2550 เครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย

“มหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์มีประเทศพันธมิตรตอบรับที่จะส่งเทคโนโลยีร่วมแสดงบ้างแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน อังกฤษ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส กิจกรรมที่นำเข้ามาแสดงจะเน้นไปที่หุ่นยนต์ เครื่องมือกล อุปกรณ์ตรวจสอบภัยธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งล้วนอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วโลก” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

มหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์กำหนดจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคมนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, July 26, 2007

นิตยสารวิทย์ SCIENCE WORLD ชวนประกวดวาดภาพ "สีสันรอบตัว"


นิตยสาร SCIENCE WORLD ฉลองครบรอบปีที่ 2 เชิญผู้สนใจเข้าร่วมประลองฝีมือในโครงการประกวดภาพวาด "สีสันรอบตัว สร้างสรรค์ศิลป์สวย" หมดเขต 30 ก.ย.นี้

นิตยสารวิทยาศาสตร์ SCIENCE WORLD ขอเชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานภาพวาดเข้าร่วมประกวดในโครงการ "สีสันรอบตัว สร้างสรรค์ศิลป์สวย" ลุ้นรับรางวัลมากมายได้ง่ายๆ โดยวาดรูปตามความความต้องการลงบนกระดาษขนาด A4โดยจะต้องใช้สีที่สกัดได้จากวัสดุธรรมชาติหรืออาหารที่มีอยู่รอบๆ ตัว เท่านั้น พร้อมทั้งระบุที่มาของสีที่ใช้ในภาพ ได้ไม่เกินคนละสองภาพ และไม่จำกัดอายุ หมดเขตส่งผลงาน วันที่ 30 กันยายน 2550

ส่งภาพต้นฉบับจริงทางไปรษณีย์ พร้อมเขียนชื่อ นามสกุล อายุ ชั้นปีที่ศึกษา สถานศึกษา (ถ้ากำลังศึกษาอยู่) ที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล มาที่...

“โครงการสีสันรอบตัว สร้างสรรค์ศิลป์สวย”
นิตยสาร Science World
บริษัท บงกช พับลิชชิ่ง จำกัด 4/139–140 หมู่ 3 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 10160

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2807-7887 ต่อ 115 หรือดูรายละเอียดที่ www.sciworldmag.com

Axis Graphic Limited

ทะลุกำแพงเรียนวิทย์ในงาน "นานมีบุ๊คส์เฟสติวัล" 27-29 ก.ค.นี้


นานมี- เรียนรู้วิทย์แบบไม่มีกำแพงกั้นในงาน "นานมีบุ๊คส์เฟสติวัล" 27-29 ก.ค.นี้ที่ศูนย์สิริกิติ์ ด้วยรูปแบบใหม่จากนิตยสาร "โกจีเนียส" กับนิตยสาร "Science & Vie Junior" แห่งฝรั่งเศส พร้อมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้เด็กได้ร่วมสนุก

สุดสัปดาห์นี้ชวนกันไปเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับ Science Room ห้องเรียนแนวใหม่ภายในงาน "นานมีบุ๊คส์เฟสติวัล" (Nanmeebooks Festival) 27-29 ก.ค.นี้ ณ บริเวณฮอลล์เอและบอลล์รูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีของเล่นวิทยาศาสตร์ให้ลองเล่นจริง โดยความร่วมมือของนิตยสารโกจีเนียส (Go Genius) และไซน์แอนด์วีจูเนียร์ (Science & Vie Junior) นิตยสารวิทยาศาสตร์จากฝรั่งเศส พร้อมเปิดโลกความรู้ด้วยหนังสือวิทยาศาสตร์ของทั้ง 2 สำนักพิมพ์

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการเรียนรู้อื่นๆ ได้แก่ กำแพงแห่งความรู้ขนาดยักษ์ (Wall of Knowledge) ซึ่งแปะนานาความรู้ไว้บนกำแแพงขนาดยักษ์ ต้นไม้แห่งความรู้ (Tree of Inspiration) ที่ดึงความรู้จากหนังสือมาแขวนไว้ตามต้นไม้ รวมทั้งนิทรรศการสำหรับเด็กแบบจำลองห้องเด็กระดับปฐมวัยแนวใหม่ (Child Development & Educational Room) ที่ขนสารพัดของเล่นเสริมพัฒนาเด็กมาติดตั้ง

ภายในงานยังมีหนังสือมากมายที่ทางสำนักพิมพ์ขนมาลดราคาแล้ว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nanmeebooks.com/microsite/index.php?mcs_id=6

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000087279

Wednesday, July 25, 2007

สารพิเศษใช้แปรงทาทำโซลาร์เซลล์

นักวิทย์คิดค้นเทคนิคใหม่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใช้เองในบ้างด้วยวิธีง่าย รวดเร็ว และถูก สามารถใช้คอมพิวเตอร์บางรุ่นสั่งพิมพ์ผ่านเครื่องปริ๊นเตอร์ หรือทาลงบนแผ่นพลาสติก เอาไปปะผนัง ปูหลังคา ปิดแผ่นโฆษณารับแสงแดดผลิตกระแสไฟป้อนหลอดไฟยันเครื่องไฟฟ้าบ้าน

กระแสวิกฤติพลังงานเชื้อเพลิงที่ถูกขุดมาใช้จนร่อยหรอกดดันให้ภาครัฐและเอกชนหันไปหาพลังงานธรรมชาติอย่างพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยเสริมก่อนที่โลกจะหมดลมหายใจ ปัญหาติดอยู่ที่พลังงานธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้เอามาใช้งานได้ง่าย และผลิตกระแสได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากกังหันลม และแผงโซลาร์เซลล์

ทีมนักฟิสิกส์จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเจอร์ซีย์จึงคิดวิธีใหม่พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์จากพลาสติกอินทรีย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ถูกกว่า ง่ายกว่า แต่มีประสิทธิภาพสูง แทนที่จะ "ปลูกเซลล์แสงอาทิตย์" จากซิลิกอนบริสุทธิ์อย่างปัจจุบันที่ราคาแพงมหาโหด เฉพาะผู้บริโภคที่มีฐานะเท่านั้นที่ซื้อได้

ซิลิกอนเป็นสารกึ่งตัวนำ เมื่อพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ส่องมากระทบทำให้อิเล็กตรอน ซึ่งเป็นประจุอิเล็กตรอนเคลื่อนที่ แผงโซลาร์เซลล์จึงประกอบด้วยซิลิกอนจำนวนมากมายหลายแผ่นที่ต่อวรจรแบบอนุกรมเพื่อนำกำลังไฟฟ้ามาใช้ป้อนเครื่องไฟฟ้า

นักวิจัยจากสถาบันเทคนิคนิวเจอร์ซีย์จึงได้ผลิตสารเคลือบที่ทำจากท่อคาร์บอนจิ๋วระดับนาโนเมตร (1 นาโนเท่ากับ 1/พันล้านเมตร) สามารถใช้แปรงทาลงบนแผ่นพลาสติกได้ ท่อคาร์บอนจิ๋วมีคุณสมบัติคล้ายกับลวดทองแดงแต่บางกว่าเส้นผมถึง 5 หมื่นเท่า ท่อคาร์บอนจิ๋วหนึ่งตัวสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าสายไฟจากทองแดง

ท่อคาร์บอนจิ๋วจะถูกหุ้มอยู่ในโครงตาข่ายทรงกลมป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อแสงแดดส่องมากระทบ ท่อคาร์บอนจิ๋วซึ่งมีพฤติกรรมเหมือนกับสายทองแดงจะแปลงพลังงานแสงแดดเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างเตาไมโครเวฟ นักวิจัยหวังว่า ผลงานคิดค้นของพวกเขาจะกลายเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับบ้านเรือนทั่วโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

นาซาเล็งรับมือดาวโคจรเฉียดโลกอาจถูกชน

สมาคมดาราศาสตร์ไทยระบุ อีก 22 ปี ดาวเคราะห์น้อยบริวารดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับโลก จะโคจรเฉียดโลกในระยะใกล้กว่าดวงจันทร์ ไม่กระทบต่อน้ำทะเลขึ้นลง ด้านนาซาเตรียมแผนการรับมือพุ่งชนโลก สร้างยานอวกาศตามประกบใกล้ชิด เก็บข้อมูลรับการโคจรกลับอีก 7 ปีถัดมา

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวถึงรายงานจากองค์การนาซา ที่ระบุว่าในวันที่ 13 เมษายน 2572 หรืออีก 22 ปีข้างหน้า จะเกิดปรากฏการณ์ด้านดาราศาสตร์ที่น่าสนใจคือ ดาวเคราะห์น้อย อะโพฟิส (99942 อะโพฟิส) จะโคจรเฉียดโลกในระยะใกล้สุดที่ 22,000 ไมล์ หรือ 34,400 กม.

"ระยะดังกล่าวใกล้กว่าวงโคจรของดวงจันทร์เกือบ 11 เท่า และอยู่ในระยะใกล้กว่าดาวเทียมค้างฟ้า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 1,000 ปี ที่มีดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้กว่าวงโคจรของดวงจันทร์ต่อโลก แต่จะไม่มีผลต่อการขึ้นลงของน้ำทะเล เพราะอะโพฟิสมีแรงดึงดูดน้อยและขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์" นายวรวิทย์ กล่าว

ในโอกาสเดียวกันนี้ นาซาเตรียมการรับมือดาวเคราะห์น้อยไว้แล้ว ด้วยการจำลองภาพของดาวเคราะห์น้อย และจำลองภาพยานอวกาศที่จะส่งไปประกบถ่ายภาพอย่างใกล้ชิด ทั้งยังเชื่อว่าประเทศเจ้าเทคโนโลยีอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น รัสเซีย จะสร้างยานอวกาศติดตามถ่ายภาพ หรือเข้าไปลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยในช่วงที่เฉียดใกล้โลก เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวข้อมูลต่างๆ ในการเตรียมรับการโคจรกลับมาเฉียดโลกอีกครั้งในปี 2579

การเข้าใกล้โลกครั้งแรกมีสิทธิที่จะเบี่ยงเบน และมีผลต่อการเข้าใกล้โลกครั้งที่สอง ซึ่งอาจจะมีแนวโน้มเข้าใกล้โลกมากกว่าครั้งแรก หรือหากมีการเบี่ยงเบนมากก็อาจจะถึงชั้นพุ่งชนโลก เพราะแรงดึงดูดของโลกอาจทำให้ดาวเคราะห์น้อยเปลี่ยนมุม หรือทิศทางการโคจรได้ จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อย อะโพฟิส เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ ที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ลักษณะเป็นวงกลมคล้ายวงโคจรของโลก แต่วงโคจรจะแคบกว่า คือ ใช้เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์เพียง 323 วัน หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 50-55 กม.ต่อวินาที และบางครั้งอาจโคจรเข้าใกล้โลกจนมีจังหวะเหมือนมีจุดตัดกัน หรือเข้าเฉียดกันในรอบนับพันปี อย่างเช่นในอีก 22 ปีข้างหน้านี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, July 24, 2007

กระจกรถเคลือบสารนาโนไล่ฝ้า เพิ่มทัศนวิสัยขับขี่ ก้านปัดน้ำฝนตกงาน

อุปกรณ์ที่ต้องทำงานหนักในช่วงหน้าฝนคงเป็นที่ปัดน้ำฝน คอยกวาดน้ำและเช็ดฝ้าที่เกาะอยู่หน้ากระจก อนาคตอุปกรณ์ปัดน้ำฝนอาจตกงาน เมื่อนักศึกษาจากจุฬาฯ ใช้อนุภาคนาโนเคลือบกระจกไล่ฝ้าและคราบน้ำ คว้ารางวัลนวัตกรรมนาโนปีล่าสุดจากไต้หวัน

นายศวิษฐ์ ณ สงขลา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงาน ได้ศึกษาเทคนิคนำสารเคลือบนาโนไล่ฝ้าที่คิดค้นโดยนักวิจัยชาวไต้หวัน มาใช้แก้ปัญหาฝ้าเกาะบริเวณกระจก เนื่องจากความชื้นและเกิดพร่ามัวเมื่อฝนตกหนัก มีผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ

สารเคลือบนาโนดังกล่าวมีคุณสมบัติสองชนิด ได้แก่ ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำจะถูกนำมาเคลือบเป็นจุดขนาดเล็กเพียง 0.1 มม. ลงบนกระจกรถสลับคั่นด้วยลวดนำไฟฟ้าบางขนาด 500 นาโนเมตร มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สายลวดนำไฟฟ้าดังกล่าวต่อเข้ากับชุดควบคุมอิเล็กทรอนิสก์จ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ ความร้อนจากเส้นลวดจะเปลี่ยนสารเคลือบนาโนให้แสดงคุณสมบัติไม่ชอบน้ำเวลาฝนตกเพื่อกันไม่ให้เกิดคราบน้ำฝนเกาะบนกระจก

หลังจากฝนหยุดตก อุณหภูมิในรถและนอกรถที่ไม่เท่ากันทำให้กระจกด้านหน้าเกิดเป็นฝ้า คุณสมบัติสารเคลือบชอบน้ำจะทำให้หยดน้ำแผ่กระจายออกอย่างสม่ำเสมอก่อนที่จะระเหยไป ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยด้านการขับขี่ให้ดีขึ้นประมาณ 33% เทียบกับกระจกหน้ารถที่ต้องคอยเปิดปิดสวิตช์ที่ปัดน้ำฝนไล่น้ำ

“เทคโนโลยีที่ออกแบบขึ้นจะทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุ่นค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษา เนื่องจากสารที่เคลือบมีอายุการใช้งานที่นานหลายปีเมื่อเทียบกับที่ปัดน้ำฝนแบบเดิมที่มีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น และยังไม่สามารถแก้ปัญหาพร่ามัว หรือการเกิดไอน้ำหลังฝนตกได้เลย” สมาชิกทีมวิจัย กล่าว

นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ที่เหมาะสมได้ เช่น การนำไปเคลือบบริเวณกระจกหน้าของเครื่องบิน หรือกระจกบางชนิดที่ต้องการคุณสมบัติดังกล่าว สำหรับเพิ่มทัศนวิสัยในด้านการมองเห็น

งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยี ภายใต้การสนับสนุนในโครงการเครือข่ายศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักในด้านกิจกรรมและงานวิจัยต่างๆ ด้านนาโนให้แก่เยาวชน

ศูนย์นาโนเทคโนโลยียังได้เปิดตัวเวปไซต์ www.thai-nano.com รวบรวมบทความนาโนที่เป็นประโยชน์ในทุกด้าน เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การแพทย์ การพลังงาน และสภาพแวดล้อม หรือยานยนต์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

วิศวะ มช.สร้างหุ่นยนต์บิน อิงระบบจีพีเอสรับส่งข้อมูล

ม.เชียงใหม่เตรียมสร้างหุ่นยนต์บิน สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงและปลอดภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เผยออกแบบให้บินได้นาน รับส่งข้อมูลผ่านจีพีเอสไกลถึง 1,000 เมตร

รศ.ดร.สัมพันธ์ ไชยเทพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาควิชาดำเนินโครงการพัฒนาหุ่นยนต์บินสำรวจทางอากาศ โดยการออกแบบให้สามารถบินต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงบ่อยครั้ง สามารถส่งสัญญาณภาพเคลื่อนไหวไร้สาย แจ้งพิกัดระวางของตำบลที่ตรวจการณ์ ผ่านการควบคุมด้วยระบบไร้สาย

หุ่นยนต์ดังกล่าวจะสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยตามพื้นที่ชายแดน สร้างความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังสามารถปฏิบัติภารกิจในการป้องปราม และเป็นอุปกรณ์เตือนภัยในบางภารกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนบางแห่งของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ขณะนี้งานวิจัยเพื่อออกแบบได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นายพิพัฒพงศ์ วัฒนวันยู ผู้ดูแลห้องวิจัยอากาศยานพลศาสตร์และระบบขับเคลื่อนประยุกต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า หุ่นยนต์บินจะรับข้อมูลคำสั่งและส่งภาพที่บันทึกได้กลับฐานปฏิบัติการ ผ่านชุดส่งสัญญาณวิดีโอและระบบจีพีเอส (ระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลกผ่านดาวเทียม) โดยชุดส่งสัญญาณภาพส่งได้ไกลถึง 1,000 เมตร ในพื้นที่โล่งแจ้ง ส่วนข้อมูลจากจีพีเอสจะแสดงตำแหน่งความเร็ว แผนที่การเดินทางของหุ่นยนต์บินขึ้นบนหน้าจอ

งานวิจัยนี้ใช้แผนที่เมืองเชียงใหม่ โดยเน้นบริเวณสำคัญ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และใจกลางเมือง เป็นต้น ผลลัพธ์งานวิจัยแสดงถึงหลักการออกแบบเสาอากาศขั้นสูง และหลักการวิเคราะห์ชุดรับสัญญาณสำหรับควบคุมหุ่นยนต์บิน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

จะได้เห็นต้นแบบ "รถพลังไฟฟ้า" ฝีมือไทยในมอเตอร์โชว์ปลายปี


เอ็มเทคช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยขยับตัวสู่ผู้ผลิต "รถไฟฟ้า" ตามหลัก "อีโค-ดีไซน์" ส่งออกต่างประเทศ เผยจะผลิตต้นแบบให้ทันงานมอเตอร์โชว์ปลายปีนี้ และจะขยายฐานการผลิตในอีก 1 ปี เชื่อมีต้นแบบแล้วจะช่วยให้ขออนุญาตรถไฟฟ้าวิ่งในประเทศได้ไม่ยาก ด้านนักวิจัยแจงในระยะสั้นช่วยออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่วนอนาคตอาจวิจัยในเรื่องชิ้นส่วนเอง

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัท ซีแทป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถไฟฟ้าส่งออกพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยอาศัยหลักการออกแบบเชิงเศรษฐกิจหรืออีโคดีไซน์ (Ecological and Economical Design: EcoDesign) ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่พิจารณาวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การใช้พลังงาน การปลดปล่อยของเสีย การใช้งานและการจัดการซากเมื่อหมดอายุการใช้งานว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เอ็มเทค กล่าวว่าทางเอ็มเทคให้การสนับสนุนในด้านกำลังคน การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมทั้งจัดหาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ โดยจะให้แนวทางในการผลิตมากกว่า ส่วนในด้านการผลิตนั้นผู้ประกอบการมีความสามารถอยู่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากเป็นความร่วมมือในระยะสั้นเพียง 1 ปี แต่ในอนาคตหากมีความร่วมมือกันอีกอาจต้องมีการวิจัยในเชิงลึกถึงขั้นการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เอง ส่วนทุนในการพัฒนานั้นเป็นของเอกชน 75% ส่วนเอ็มเทคให้การสนับสนุนในส่วนของห้องปฏิบัติการ นักวิจัย ซึ่งเปรียบเป็นเงินทุน 25%

"เริ่มคุยมาได้เดือนกว่าๆ แล้ว ได้แนวคิดและจะเริ่มวางรายละเอียด การออกแบบ และภาพรวมการทำงาน ตั้งเป้าว่า ธ.ค.นี้ในงาน มอเตอร์โชว์จะมีรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบของจริง ขับเคลื่อนได้จริง เป็นการเปิดตัวว่าคนไทยทำได้แต่อาจยังไม่สมบูรณ์นัก แล้วค่อยพัฒนาต่อไป" ดร.กิตตินันท์ พร้อมทั้งยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจในเรื่องเวลาที่กระชั้นที่ต้องผลิตต้นแบบให้ทันปลายปีนี้ อีกทั้งยังไม่เคยออกแบบเป็นระบบและยังมีประสบการณ์ไม่เยอะ

ทางด้าน นายสามารถ ดีพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีแทป กล่าวว่าต้นแบบรถไฟฟ้าที่จะผลิตออกมานั้นเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 2-4 ที่นั่ง โดยคาดว่าจะผลิตออกมาได้ 1 ต้นแบบแต่ใจจริงตั้งใจจะผลิตให้ได้ 4 ต้นแบบ ทั้งนี้เน้นรถยนต์แบบ 2 ที่นั่งเป็นหลัก และคาดว่าจะผลิตออกมาให้ทันงานแสดงรถยนต์ปลายปีนี้หรือไม่ก็จัดแสดงในงานแสดงสินค้าของกรมส่งเสริมการส่งออก เม.ย.51 ที่จะถึงนี้ จากนั้นจะปรับสายการผลิตสู่ระดับอุตสากรรมที่จำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์

สำหรับรถไฟฟ้าที่จะผลิตออกมานั้นสามารถใช้งานได้จริงแต่ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้รถไฟฟ้าวิ่งได้บนถนน ซึ่งนายสามารถกล่าวว่าหากผลิตต้นแบบออกมาได้คาดว่าจะขออนุญาตได้ไม่ยาก โดยต้องผลิตต้นแบบออกมาก่อนจึงจะอนุญาตได้ เพื่อนำต้นแบบตั้งการไปทดสอบความปลอดภัย ทั้งนี้ซีแทปมีโรงงานผลิตชิ้นส่วน 140 โรงงาน และได้ส่งชิ้นส่วนยานยนต์ออกไปยัง 150 ประเทศ โดยยุโรปเป็นตลาดใหญ่

พร้อมกันนี้นายสามารถชี้แจงว่ารถไฟฟ้านั้นเป็นรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ชนิดหนึ่ง แต่มีความแตกต่างจากอีโคคาร์ที่ทางรัฐบาลพยายามส่งเสริมในส่วนของระบบขับเคลื่อนที่เป็นไฟฟ้า ขณะที่อีโคคาร์ซึ่งรัฐบาลพยายามสนับสนุนนั้นเป็นระบบเครื่องยนต์แบบเผาไหม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ทั้งนี้คาดว่าผลลัพธ์จากความร่วมมือของเอ็มเทคและซีแทปนั้นจะทำให้ได้รถไฟฟ้าต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 20% เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่มีสมรรถนะใกล้เคียงกัน และจากการคำนวณเบื้องต้นโดยใช้หลักอีโค-ดีไซน์คาดว่ารถไฟฟ้าที่ผลิตออกมานั้นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 150 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 260 กรัมต่อกิโลเมตร

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000086309

"แฟรงก์" จันทร์บริวารน้องใหม่ดวงที่ 60 ของดาวเสาร์


เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – พบดาวบริวารดวงที่ 60 ของดาวเสาร์ และคาดว่าน่าจะยังมีอยู่อีกหลายดวงที่รอให้ยาน แคสสินี-ฮอยเกนส์ ค้นหาอยู่ โดยยานสำรวจนี้ค้นพบดวงจันทร์ของดาวเสาร์มาแล้วมากมายเกือบ 50 ดวง นับตั้งแต่เดินทางถึงดาวแห่งแหวนเมื่อปี 2547

ศ.คาร์ล เมอร์เรย์ (Carl Murray) หัวหน้าทีมนักดาราศาสตร์ จากวิทยาลัยควีนแมรี มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน (Queen Mary, University of London: QMUL) เปิดเผยว่า ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ (Cassini-Huygens) สำรวจพบดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ดวงล่าสุดได้เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นดาวบริวารของดาวเสาร์ดวงที่ 60 แล้ว

"ในตอนแรกที่ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ สำรวจพบและจับภาพได้เป็นเพียงแค่จุดแสงสลัวๆ เท่านั้น แต่เมื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วเราก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ยืนยันว่าเราค้นพบดวงจันทร์เพิ่มอีกดวงหนึ่งแล้ว" ศ.เมอร์เรย์ ชี้แจง

ดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบนี้เป็นดาวบริวารลำดับที่ 60 ของดาวเสาร์ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 กม. ลักษณะเป็นดาวหินและน้ำแข็งเหมือนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงอื่นๆ มีวงโคจรอยู่ระหว่างดวงจันทร์มีโทนี (Methone) และดวงจันทร์พาลลีนี (Pallene) ทีมนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อเรียกว่า "แฟรงก์" (Frank) แต่ทางสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) จะให้ชื่ออย่างเป็นทางการทีหลัง

"ดวงจันทร์แฟรงก์นี้มีลักษณะใกล้เคียงกับมีโทนีและพาลลีนีมากทีเดียว จึงน่าจะจัดให้เป็นดวงจันทร์ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันได้ และทางทีมสำรวจก็ยังคงเดินหน้าค้นหาสมาชิกดวงต่อไป เชื่อแน่ว่าระบบของดาวเสาร์ยังมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นซ่อนเร้นอยู่อีกมากมาย และกำลังรอให้พวกเราค้นพบอยู่ ซึ่งก็เข้าใกล้เข้าไปทุกทีแล้ว” ศ.เมอร์เรย์ อธิบาย

ทั้งนี้ ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ เป็นยานอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจระบบของดาวเสาร์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) องค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา (European Space Agency : ESA) และองค์การอวกาศอิตาลีหรือไอซา (Italian Space Agency : ISA) เพื่อไขปริศนาของดาวแห่งแหวนดวงนี้

ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ ออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2540 ถึงจุดหมายปลายทางในปี 2547 จากนั้นยานแหย่ฮอยเกนส์ก็ได้แยกออกไปสำรวจดวงจันทร์ไททัน (Titan) ดาวบริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์

ทั้งแคสสินีและฮอยเกนส์ปฏิบัติภารกิจมาแล้วเป็นเวลากว่า 3 ปี เดิมทีนักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ได้ 18 ดวงแล้ว และหลังจากที่ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ก็ค้นพบเพิ่มขึ้นมาอีก 42 ดวง โดยแฟรงก์เป็นดวงล่าสุด

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000085934

พายุฝุ่นดาวอังคารทำ 2 มาร์สโรเวอร์เดี้ยงชาร์จไฟไม่ได้


เอเอฟพี/เอเยนซี/บีบีซีนิวส์ – ออพพอร์จูนิตีและสปิริต สองยานสำรวจบนดาวแดงเจอพายุฝุ่นกระหน่ำมาเป็นเดือนและบดบังแสงอาทิตย์ไว้จนทำให้ยานแทบชาร์จแบตเตอรีไม่ได้ นาซาหวั่นเกิดความเสียหายกับยานเลยต้องสั่งหยุดการทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีพลังงานเหลือพอสำหรับเครื่องทำความร้อน อุปกรณ์จำเป็นสุดสำหรับยาน

หลังจากเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารได้ 3 ปีกว่า 2 รถหุ่นยนต์สำรวจอวกาศ "ออพพอร์จูนิตี" (Opportunity) และ "สปิริต" (Spirit) ก็ต้องเผชิญพายุฝุ่นรุนแรงเป็นครั้งแรกและโหมกระหน่ำมานานนับเดือน จนทำให้ยานอยู่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติเพราะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เนื่องจากฝุ่นหนาที่ฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างปิดกั้นไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องถึงตัวยาน ซึ่งต้องอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยเฉพาะเครื่องทำความร้อนที่จำเป็นมากสำหรับประสิทธิภาพและความอยู่รอดของยาน

เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ออกมาเปิดเผยว่า พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นบริเวณเมอริเดียนิ (Meridiani) ใต้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารที่ยานออพพอร์จูนิตีสำรวจอยู่นั้นบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาบริเวณดังกล่าวถึง 99% ทำให้ยานออพพอร์จูนิตีชาร์จแบตเตอรีได้น้อยมาก เกรงว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานและสร้างความอบอุ่นให้กับตัวยาน ส่วนยานสปิริตก็เจอสถานการณ์เดียวกันแต่ไม่รุนแรงเท่า

"ทางเรากำลังหาหนทางช่วยกู้วิกฤติให้ยานทั้งสองอยู่ แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะว่ายานไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับสภาวะแบบนั้น" อลัน สเทิร์น (Alan Stern) ผู้ช่วยผู้บริหารของนาซากล่าว

ด้านจอห์น แคลลัส (John Callas) ผู้จัดการโครงการสำรวจ กล่าวว่า สภาวการณ์แบบนี้ทำให้ยานไม่สามารถผลิตพลังงานสำหรับเครื่องทำความร้อนได้เพียงพอ และอาจทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในที่ไม่ทนทานกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นเสียหายได้

ปกติแล้วยานทั้งสองผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 700 วัตต์ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ออพพอร์จูนิตีผลิตกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เพียง 148 วัตต์ชั่วโมง และลดลงอีกจนเหลือแค่ 128 วัตต์ต่อชั่วโมง นาซาจึงต้องสั่งหยุดการทำงานทุกอย่างของของยานทั้งสองและสื่อสารกับยานให้น้อยลงเพื่อเก็บรักษาพลังงานเอาไว้สำหรับวงจรหลักในเครื่องทำความร้อนเท่านั้น

แคลลัสยังบอกอีกด้วยว่าสภาวการณ์ย่ำแย่เช่นนี้ยังคงเป็นไปอีกหลายสัปดาห์ แต่คาดว่าอุณหภูมิก็ไม่น่าจะลดต่ำลงจนเป็นอันตรายต่อวงจรไฟฟ้าของยานได้หากยานเก็บสะสมพลังงานไว้เพียงพอ เพราะขณะนี้บริเวณที่ยานทั้ง 2 จอดอยู่เป็นช่วงฤดูร้อนบนดาวอังคาร แต่ก็ยังกังวลว่ายานจะใช้พลังงานจนหมดเสียก่อนที่พายุฝุ่นจะจางหายไป

ทั้งนี้ ยานออพพอร์จูนิตีและยานสปิริตลงจอดที่ดาวอังคารตั้งแต่ปี 2547 เพื่อสำรวจภูมิประเทศ ค้นหาแหล่งน้ำ และสัญญาณของสิ่งมีชีวิตมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับยาน และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของยานไม่สามารถทนทานสภาพอากาศที่หนาวเหน็บได้จึงต้องมีเครื่องทำความร้อนสำหรับให้ความอบอุ่นกับตัวยาน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000086051

Monday, July 23, 2007

เด็กจุฬาฯ คว้ารางวัลอินเตอร์ "กระจกหน้ารถนาโน" ไม่ต้องพึ่งที่ปัดน้ำฝน


พูดถึงนาโนเทคโนโลยี หลายคนคงบอกว่ายากที่จะเชื่อมโยงให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ แต่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่านาโนเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ผ่านผลงาน “กระจกหน้ารถอัจฉริยะ” ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยนาโนเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 13 -15 มิ.ย. ณ ประเทศไต้หวัน มาครองได้

ทีมเยาวชนดังกล่าวประกอบด้วย นายวรรธกะ สีตบุตร นายณัฏฐพงษ์ ตันติอานนท์ น.ส.วริญญา เชมนะสิริ และนายศวิษฐ์ ณ สงขลา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ รั้วจามจุรี โดยพวกเขาได้รับโจทย์จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันให้สร้างสรรค์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีชนิดใหม่ขึ้น จากสารอนุภาคนาโนปริศนา 4 ชนิดเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีวี่แววว่าจะใช้งานจริงให้ได้มากที่สุด

น.ส.วริญญา สมาชิกหญิงคนเดียวในทีม เผยว่า หลังจากลองผิดลองถูกมาพักใหญ่ๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้คุณสมบัติ “ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ” ของสารปริศนา 1 ใน 4 ชนิด ซึ่งเป็นสารประกอบซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ให้ออกมาใช้งานได้ ในรูปของ “กระจกหน้ารถอัจฉริยะ” ที่ไม่จำเป็นต้องมีที่ปัดน้ำฝนก็จะไม่มีเม็ดฝนเกาะกระจก โดยกำลังอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการดังกล่าว

ด้วยการเคลือบฟิล์มบางของสารดังกล่าวให้กับกระจกที่ระดับความหนา 500 นาโนเมตร พร้อมแบ่งเป็นช่องเล็กๆ (grid) และต่อสายไฟโปร่งใสขนาดนาโนให้กับผิวด้านในกระจกหน้ารถ นายณัฏฐพงษ์ อธิบายว่า เมื่อป้อนกระแสไฟฟ้าจากไมโครคอนโทรลเลอร์เข้าไปแล้ว กระจกก็จะเปลี่ยนคุณสมบัติจากชอบน้ำไปเป็นไม่ชอบน้ำได้ตามรูปแบบที่เขียนโปรแกรมควบคุมทิศทางการไหลของน้ำไว้ ทำให้น้ำที่ติดอยู่กับกระจกในบริเวณนั้นๆ รวมตัวกันเป็นหยดและไหลลงไปจากกระจกหน้ารถเองโดยอัตโนมัติ แถมยังเป็นการทำความสะอาดกระจกไปในตัวด้วย

จากนั้น เมื่อฝนหยุดตกและหยุดป้อนกระแสไฟฟ้าแล้ว แผ่นฟิล์มบางบนกระจกก็จะกลับมาคงคุณสมบัติชอบน้ำดังเดิม ทำให้หยดน้ำที่ยังอาจหลงเหลืออยู่แพร่กระจายบนกระจกเป็นฟิล์มบาง แล้วค่อยๆ ระเหยเป็นไอน้ำ จนไม่ทำให้เกิดฝ้าบนกระจกในที่สุด

ขณะที่อีก 2 สมาชิกทีมคือ นายวรรธกะ และนายศวิษฐ์ กล่าวว่า ประโยชน์ของกระจกหน้ารถอัจฉริยะดังกล่าวจะช่วยให้ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเนื่องมาจากทัศนวิสัยไม่ดีระหว่างฝนตกได้ โดยทำให้ทัศนวิสัยดีขึ้นราว 33% การขับขี่จึงความปลอดภัยขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากมีการใช้งานจริงก็มีความเป็นไปได้ด้านราคาและมีอายุการใช้งานหลายปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนยางที่ปัดน้ำฝนทุกๆ 2 -3 ปี นอกจากนั้นยังอาจนำกระบวนการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับกระจกที่ต้องการความชัดเจนในยานพานะอื่นๆ ได้ด้วย

ทั้งนี้ โครงงานวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดส่งเข้าร่วมการแข่งขันตามที่เป็นเครือข่ายสภานาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอเอ็นเอฟ) มีผลงานที่ร่วมส่งไปด้วยอีก 4 ชิ้น แบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ชิ้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 ชิ้น และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียอีก 1 ชิ้น ซึ่งทีมพัฒนากระจกหน้ารถอัจฉริยะสามารถชิงรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000084952

เก็บอะไหล่รถมาทำหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด


นานกว่า 3 ปีที่กลุ่มเพื่อนซี้ที่รักในเครื่องยนต์กลไกลเหมือนกัน แต่มีความรู้ในแขนงวิชาที่แตกต่างกันได้นำความรู้มาหลอมรวมกันเพื่อสร้างหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด โดยเน้นว่า ต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริง ๆ

จากเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจวิทยาการ 45 ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วถูกคนร้ายใช้รีโมตกดระเบิดลูกที่สองที่ซุกซ่อนเอาไว้ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ พ.ต.ท.กฤษฎากร เชวงศักดิ์โสภาคย์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ 3) วิทยากรจังหวัดตาก ซึ่งร่ำเรียนมาทางฟิสิกส์ และกลุ่มเพื่อน ๆ ประกอบด้วย อาจารย์กิตติศักดิ์ แต้มทอง โรงเรียนโปลีเทคนิคลานนา จังหวัดเชียงใหม่ น.อ.ชูชาติ จิตติเหม และ น.อ.บุญศิลป์ กุลศิริพฤกษ์ จากโรงงานวัตถุระเบิดทหาร ช่วยกันคิดและประดิษฐ์หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด

พ.ต.ท.กฤษฎากร เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกคิดจะทำเป็นหุ่นยนต์กู้ภัยไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเหมือนหุ่นยนต์ของนักศึกษาที่ได้แชมป์โลก แต่ก็มองว่า หุ่นยนต์กู้ภัยไปตรวจสถานที่เกิดเหตุคงไม่เกิดประโยชน์มากนัก หากหุ่นยนต์ตัวนั้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกมาทำลายได้ ทางผู้บังคับบัญชาหลาย ๆ ท่านจึงแนะนำให้สร้างหุ่นยนต์แบบง่าย ๆ ใช้งานสะดวก จึงหันมาเก็บรวบรวมอะไหล่รถที่มีขายทั่วไป มาทำเป็นหุ่นยนต์ เพราะอะไหล่เหล่านี้หาซื้อได้ง่าย ซ่อมก็ง่าย เช่น มอเตอร์ที่ปัดน้ำฝน มอเตอร์กระจกไฟฟ้าก็เอาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับยกปืน อะไหล่มอเตอร์ไซค์บางอย่างก็เอาดัดแปลงใช้ในตัวหุ่นยนต์

สุดท้ายก็ได้หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดที่มีชิ้นส่วนที่หาได้จากโรงรถทั่วไป ควบคุมแบบแมนวล มีสายเคเบิ้ล หรือบังคับด้วยวิทยุก็ได้ มีแขนกลสามารถยกระเบิดได้ทุกขนาดที่มีใช้กันอยู่ พร้อมกล้องวงจรปิดที่มองภาพได้จากระยะไกล และยังสามารถยิงทำลายวัตถุระเบิดได้ทุกชนิดเช่นกัน ทั้งหมดนี้ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาทก็ได้หุ่นยนต์ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามได้จริง ๆ และทนทานมาก

หุ่นยนต์กู้ภัยมีหน้าที่ไปดูสถานที่เกิดเหตุ แต่ติดอาวุธหนักไม่ได้ หรือยิงทำลายไม่ได้ เพราะการยิงจะไปรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ของหุ่นยนต์ แต่หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดที่ทำขึ้นมาอย่าง ง่าย ๆ มีแขนกลจับยกวัตถุระเบิดได้ มีกล้องดูระยะไกลได้ถึง 100 เมตร ควบคุมผ่านสายเคเบิ้ล แล้วมองผ่านจอทีวี เป็นระบบธรรมดา จึงไม่มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนขณะปฏิบัติงาน แต่ก็สามารถใช้วิทยุบังคับได้ ซึ่งผู้ใช้ไม่ค่อยชอบเพราะมีคลื่นรบกวนมาก

ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อยิงทำลายวัตถุระเบิด ใช้จุกน้ำปลา น้ำ และกระสุนแบงค์ลูกซอง ขนาด 12 สามารถยิงเจาะทะลุถังดับเพลิงได้ ทั้งหมดนี้ลงทุนแค่ 15,000 บาท เมื่อเทียบกับปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศกระบอกละหลายแสนบาท

ปัจจุบันหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดมีอยู่ประมาณ 8 ตัว ในจำนวนนี้ 5 ตัว ประจำการอยู่ในหน่วยเก็บกู้ระเบิดของ ตชด. ที่เหลือเป็นหุ่นยนต์สำหรับฝึกทักษะของเจ้าหน้าที่ หุ่นยนต์ทั้งหมดสร้างจากเงินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ใครไปประจำการภาคใต้ก็จะเอาหุ่นยนต์ไปด้วย เมื่อพ้นภาระหน้าที่ก็จะเอากลับมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานเก็บกู้ระเบิด อยากได้หุ่นยนต์ที่บังคับได้ง่าย ๆ กลไกไม่ซับซ้อน เสียก็ซ่อมและหาอะไหล่ได้เองในท้องถิ่น ทุกอย่างใช้งานได้จริง ๆ

ล่าสุดทีมงานเพิ่งจะได้รับงบประมาณจำนวน 5.1 แสนบาท เป็นเงินกองวิจัยพัฒนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สร้างหุ่นยนต์ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ เก็บกู้วัตถุอันตราย กู้ทำลายวัตถุระเบิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้ เป็นหุ่นยนต์แม่ลูกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม สามารถลากรถเก๋งได้ หุ่นยนต์ทั้งสองตัวจะประกบกัน เมื่อถึงเวลาทำงาน หุ่นตัวลูกจะเข้าไปสำรวจสถานที่เกิดเหตุก่อน เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัยเป็นหน้าที่ของหุ่นตัวแม่จะเข้าไปทำลาย

อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นโฉมหน้าหุ่นยนต์ตำรวจเก็บกู้ระเบิดตัวแรกที่ใช้งบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หากมีภาคเอกชนสนใจจะให้งบเพื่อสร้างหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดแบบง่าย ๆ เพื่อเอาใช้ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ทางทีมงานก็พร้อมจะดำเนินการทันที

หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดอาจจะไม่สามารถหยุดความพยายามของมือระเบิดได้ แต่ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงนั้นได้ ภาพไฟลุกท่วมร่างเจ้าหน้าที่กู้ระเบิดในจังหวัดยะลายังทำให้น้ำตาคลอได้ทุกครั้งที่เห็น.
ปรารถนา ฉายประเสริฐ
prathanac@dailynews.co.th

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=134431&NewsType=1&Template=1

น่าตระหนกแค่ไหน? เมื่อนักดาราศาสตร์บอกว่า "ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก"


นาซา/ผู้จัดการออนไลน์- เมื่อมีข่าว "อุกาบาต" หรือ "ดาวเคราะห์น้อย" จะพุ่งชนโลก ทีไรก็ได้รับความสนใจจากชาวโลกไม่น้อย แท้จริงแล้ว...เราควรจะตกใจหรือตั้งสติและสืบค้นข้อมูลว่าวัตถุอวกาศนั้นถูกค้นพบมานานแค่ไหน เพราะวัตถุที่เพิ่งถูกค้นพบนั้นมักจะติดในบัญชีเสี่ยงชนโลก แต่มีความคลาดเคลื่อนสูงจนถูกถอดในภายหลังเมื่อมีข้อมูลสำรวจมากขึ้น

หลังจากมีข่าวดาวเคราะห์น้อย "อะโพฟิส" (Apophis) จะพุ่งชนโลกในอีก 29 ปี ซึ่งเม็กซิโกตอนเหนือคือเป้าหมายที่จะถูกพุ่งชนด้วยความแรงเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 870 เมกะตัน โดยจะเฉียดเข้าใกล้โลกที่ระยะ 34,400 กิโลเมตรหรือใกล้โลกมากกว่า 11 เท่าของวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งะจะเข้าใกล้โลก 2 ครั้งคือในวันที่ 13 เม.ย.2572 และวันที่ 13 เม.ย. 2579

"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้สอบถามไปยังวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้ให้ข้อมูลในข่าวดังกล่าวซึ่งเผยว่าได้อ้างอิงข้อมูลจากวารสารแอสโทรโนมี (Astronomy) ฉบับเดือนมิ.ย.2549 โดยเพิ่มเติมว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าใกล้โลกครั้งแรกในอีก 22 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องพิจารณาว่าแรงดึงดูดของโลกจะทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงเบนไปเท่าไหร่ พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าหากเป็นดาวพฤหัสบดีแล้วดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนดาวก๊าซยักษ์นั้นทันที

วรวิทย์กล่าวว่า นักดาราศาสตร์พยายามจับตาว่าถ้าอะโพฟิสเข้าใกล้โลกแล้วจะเบี่ยงเบนไปเท่าไหร่ โดยในการค้นพบครั้งแรกนักดาราศาสตร์คำนวณโดยวิเคราะห์จากภาพถ่ายด้วยกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่านกลาง 2.29 เมตรว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลก แต่เมื่อตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่าดาวเคราะห์น้อยแค่เฉียดโลกเท่านั้น

"ในครั้งแรกที่อะโพฟิสเฉียดใกล้โลกนั้น ไทยจะเห็นในช่วงหัวค่ำเป็นจุดที่มีความสว่าง -3 หรือสว่างมากกว่าดาวพฤหัสบดี โดยดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วปรากฏบนท้องฟ้า 42 องศาต่อชั่วโมง ซึ่งหากวัดคร่าวๆ ด้วยมือจะได้เท่ากับ 4 กำปั้นและ 1 นิ้วโป้ง" วรวิทย์ให้ข้อมูลการปรากฏของอะโพฟิสเมื่อเข้าใกล้โลกในปี 2572

อย่างไรก็ตาม นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลก (ลีซา) กล่าวถ้าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลกจริงต้องเป็นข่าวดังระดับตึกเวิร์ลเทรดในสหรัฐอเมริกาถล่ม แต่ข่าวนี้กลับไม่เป็นที่ทราบของคนในวงการดาราศาสตร์ อีกทั้งเขาเองก็มีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับการสำรวจวัตถุที่จะพุ่งชนโลก หากเป็นเรื่องจริงเขาคงได้รับแจ้งข้อมูลจากเพื่อนแล้ว

"(ถ้าจะเกิดขึ้นจริง) มันต้องเป็นข่าวในวงการ แต่นี่มันเหมือนข่าวโคมลอยว่าโลกจะแตก" น.อ.ฐากูรกล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่าดาวเคราะห์น้อยไม่พุ่งชนโลกแน่

ขณะที่วิภู รุโจปการ นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ แห่งหอดูดาวสตีวาร์ด (Steward Observatory) ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซนา (The University of Arizona) ก็ให้ความเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ต้องตื่นเต้นกับข่าวดังกล่าว เพราะมีดาวเคราะห์น้อยและอุกาบาตเฉียดใกล้โลกบ่อยมาก โดยเฉลี่ยเดือนละ 10-20 ดวง และมีวัตถุอวกาศที่อยู่ใกล้โลกประมาณกว่า 3 แสนชิ้น

วิภูได้อธิบายว่าในการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวครั้งแรกนั้นยังมีข้อมูลไม่มากนั้น และการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจากที่พบวัตถุเพียง 2-3 ครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนที่กว้างมาก แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นก็ทำให้ความคลาดเคลื่อนน้อยลงและพบว่าวัตถุนั้นจะไม่พุ่งชนโลก ไม่เพียงเฉพาะอะโพฟิสเท่านั้นแต่ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงที่พบในครั้งแรกแล้วนักดาราศาสตร์คาดว่าจะพุ่งชนโลก แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นก็พบว่าไม่ใช่

สำหรับระยะที่อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกมากกว่าวงโคจรของดวงจันทร์ถึง 11 เท่านั้น วิภูให้ความเห็นว่าเป็นระยะที่ค่อนข้างใกล้มากแต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวมีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งอะโพฟิสนี้ก็มีขนาดใหญ่พอสมควรแต่ไม่ใหญ่มาก โดยดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะที่ใหญ่สุดคือ "ซีเรส" (Ceres) ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดรองลงมาก็มีขนาดเพียง 200-300 เมตรเท่านั้น และนักดาราศาสตร์ก็พบวัตถุที่อยู่แถวๆ ดาวเคราะห์แคระพลูโตทุกดวงแล้ว

"โอกาสที่โลกจะถูกชนจนสิ่งมีชีวิตสูญพันธ์นั้นไม่มีแล้ว และคงต้องรออีกนาน แต่ชนแล้วเมืองสักแห่งหายไปก็อาจจะมี แต่ในรอบ 100-200 ปีนี้เราคงไม่โดนอย่างนั้นแน่ๆ" วิภูกล่าว

ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสได้รับการค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2547โดยนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแห่งชาติคิทต์พีค (Kitt Peak National Observation) ในอริโซนา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) สหรัฐอเมริกา และชื่อที่รู้จักในครั้งแรกคือ 2004 เอ็มเอ็น 4 (2004 MN4)

การจัดอันดับความเสี่ยงตามสเกลโทริโน (Torino Scale) ที่แบ่งความเสี่ยงของโอกาสที่วัตถุในท้องฟ้าจะพุ่งชนโลกไว้ตั้งแต่ 0-10 นั้น อะโพฟิสได้รับการจัดอันดับไว้ที่ 0

ทั้งนี้ 0 คือโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกและ 10 คือดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกและสร้างหายนะให้กับโลกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเคยถูกจัดอันดับโอกาสพุ่งชนไว้ที่ 4 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดเท่าที่เคยมี แต่ถูกลดอันดับหลังจากมีการสำรวจเพิ่มเติม

สำหรับวันที่ 13 เม.ย.2579 ที่อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกนั้นมีโอกาสพุ่งชนโลกประมาณ 1 ใน 45,000 และจากการประเมินล่าสุดในวันที่ 19 ต.ค.2549 ระบุว่าความน่าจะเป็นอยู่ที่ 1 ใน 12.3 ล้าน

ที่สำคัญ ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) มีโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object Program : NEO) เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่โลกจะถูกพุ่งชนและยังมีโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ "สำรวจพิทักษ์ในอวกาศ" (Spaceguard Survey) เพื่อติดตามวัตถุที่จะเข้าใกล้โลกหรือ "นีโอ" (NEO) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 กิโลเมตร โครงการเหล่านี้ทำให้นาซาต่อยอดสู่หลายโครงการอวกาศ อาทิ โครงการเนียร์ (Near Earth Asteriod Rendezvous: NEAR) ซึ่งศึกษาอุกาบาตที่เข้าใกล้โลก โครงการดีพอิมแพ็ค (Deep Impact) และโครงการสตาร์ดัสต์ (Stardust) เป็นต้น

ภายในโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลกนาซาได้เผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงที่โลกจะถูกพุ่งชนจากทั้งอุกาบาตและดาวเคราะห์น้อย โดยมักจะเป็นวัตถุที่เพิ่งค้นพบ

อย่างไรก็ดี นาซาก็ชี้แจงไว้ในเว็บไซต์ว่าวัตถุที่ค้นพบใหม่นั้นมักจะอยู่ในบัญชีอันตรายที่จะพุ่งชนโลก และเมื่อมีข้อมูลการสำรวจที่มากขึ้นวัตถุเหล่านั้นก็จะหลุดออกจากบัญชีเสี่ยงอันตรายในเวลาอันสั้นและมักจะเป็นเช่นนี้เสมอๆ

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลของนาซาเราก็ไม่พบอะโพฟิสอยู่บัญชีดังกล่าว ทั้งนี้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บเพจหน้า Impact Risk (http://neo.jpl.nasa.gov/risk/) ของโครงการนีโอที่ดูแลโดยห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (JPL) และมีการอัพเดทข้อมูลวัตถุใกล้โลก และที่คาดว่าจะเฉียดโลกให้ทราบล่วงหน้ากันทุกวัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อนก็มีความตื่นตระหนกในลักษณะเดียวกันนี้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2002 เอ็นที7 (2202 NT7) จะพุ่งชนโลกในวันที่ 1 ก.พ.2562 แต่หลังจากการสำรวจเพิ่มเติมดาวเคราะห์ดังกล่าวก็ถูกถอดออกจากบัญชีเสี่ยง ซึ่งดอน ยีโอแมนส์ (Don Yeomans) ผู้อำนวยการโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลกก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านเว็บไซต์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติที่เราคาดได้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าวัตถุที่เพิ่งค้นพบนั้นมีความเสี่ยงต่ำที่จะพุ่งชนโลกหรือไม่จนกว่าจะมีข้อมูลสำรวจเพิ่มเติม

ทั้งนี้นาซาก็มีแผนรับมือวัตถุพุ่งชนโลก 3 วิธี โดยวิธีแรกคือระเบิดด้วยนิวเคลียร์ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จมากว่า 10-100 เท่าของวิธีที่ 2 ที่ใช้การกระแทกเชิงจลศาสตร์โดยไม่ใช้นิวเคลียร์ (Non-Nuclear Kinetic Impact) และวิธีสุดท้ายคือ "การผลักช้าๆ" (Slow push) ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงและระดับความพร้อมทางเทคนิคในขณะนี้ยังค่อนข้างต่ำ

ส่วนวัตถุในอวกาศที่เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2547 อุกาบาต 2004 เอฟเอช (2004 FH) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เมตรได้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่ระยะ 43,000 กิโลเมตร และนักดาราศาสตร์ก็ตรวจพบเพียง 3 วันก่อนที่อุกาบาตดังกล่าวจะเคลื่อนเข้ามาใกล้โลก

จากนั้นอีกเพียง 2 อาทิตย์ 2004 เอฟยู162 (2004 FU162) อุกาบาตขนาดเล็กก็เข้าใกล้โลกเพียง 6,500 กิโลเมตรจากพื้นโลกหรือเพียง 1 ใน 60 เท่าของระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ แต่ด้วยขนาดที่เล็กเพียง 6 เมตร นักดาราศาสตร์จึงค้นพบวัตถุดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด และถ้าอุกาบาตขนาดเล็กนี้พุ่งชนโลกก็จะถูกทำลายไปภายในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะได้สร้างความเสียหายให้สิ่งมีชีวิตบนโลก

หลายคนอาจไม่ทราบว่าเมื่อ 20 ก.ค.ที่เพิ่งผ่านไปนั้นดาวเคราะห์น้อย 2003 เอชเอฟ2 (2003HF2) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 320-720 เมตรได้เข้าใกล้โลกที่ระยะ 17.69 ล้านกิโลเมตรด้วยความเร็ว 67,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลวัตถุที่เพิ่งเฉียดใกล้โลกได้ที่ http://neo.jpl.nasa.gov/ca/

นอกจากนี้นาซายังมีโครงการส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยและไขความลับของกำเนิดระบบสุริยะภายใต้ปฏิบัติการ "ดอว์น" (Dawn) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับซีเรสและเวสตา (Vesta) ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ 2 ดวงซึ่งเป็นที่รู้จักดีในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยมีกำหนดส่งยานในเดือน ก.ค.นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.ย.ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ จึงต้องต่อคิวส่งยานหลังปฏิบัติการส่งยานฟีนิกส์ (Phoenix Mars Lander) ไปสำรวจดาวอังคารในเดือน ส.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000085515

Sunday, July 22, 2007

"เกคเคล" ยอดกาวไอเดียตีนตุ๊กแก-หอยแมลงภู่ติดแน่นสุดๆ


ไซน์เดลี/บีบีซีนิวส์ – ลักษณะพิเศษของตีนตุ๊กแกและหอยแมลงภู่ที่มีความสามารถยึดติดได้อย่างเหนียวแน่นในทุกพื้นผิว จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์พยายามนำคุณสมบัติดังกล่าวมาพัฒนาเป็นวัสดุที่เหนียวสุดๆ และกันน้ำ ติดแปะกว่าพันครั้งก็ยังยึดติดได้ดีอยู่

ด้วยความสามารถพิเศษที่น่าอัศจรรย์ใจและไม่เหมือนสัตว์ชนิดไหนๆ ตุ๊กแก (Gecko) สามารถเกาะติดทุกพื้นผิวที่คืบคลานไปได้อย่างมั่นคงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีทีท่าว่าความเหนียวหนึบที่ฝ่าเท้าจะหมดไป กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ศ.ฟิลิป บี. เมสเซอร์สมิธ (Phillip B. Messersmith) และลูกศิษย์ เฮชิน ลี (Haeshin Lee) คิดประดิษฐ์วัสดุที่มีความเหนียว ติดทนนาน กันน้ำและใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

"ผมจินตนาการถึงเทปกาวที่มีประสิทธิภาพเหนียวนานทนทานแต่แกะออกง่าย ใช้ได้ดีทุกพื้นผิว ทั้งสภาพแห้งและเปียก และใช้ซ้ำหลายครั้งได้โดยที่ความเหนียวยังคงเดิมเหมือนเมื่อใช้ครั้งแรก อย่างเช่นแผ่นปิดแผลที่ไม่ลอกหลุดเวลาอาบน้ำ" คำให้สัมภาษณ์ของ ศ.เมสเซอร์สมิธ อาจารย์สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.นอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ชิคาโก สหรัฐฯ

จากงานวิจัยก่อนหน้า เคยมีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาความสามารถในการยึดเกาะของตุ๊กแก และพบว่าเท้าของตุ๊กแกประกอบไปด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายกับเส้นขนจำนวนมากมายมายมหาศาล เรียกเส้นขนเหล่านั้นว่า พิลลาร์ (Pillar) และแต่ละเส้นขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 200 นาโนเมตร

พิลลาร์จำนวนมากมายนี้ทำให้ประสิทธิภาพการเกาะติดของตุ๊กแกเป็นเลิศ โดยมันจะสร้างแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของพื้นผิวที่สัมผัสกับพิลลาที่เท้าของมัน เรียกว่า แรงแวนเดอร์วาลล์ (van der Waals) ซึ่งเป็นแรงอย่างอ่อนแต่เกาะติดแน่นเพราะมีจุดสัมผัสของพิลลาอยู่นับล้านๆ จุด

ทันทีที่ตุ๊กแกยกเท้าขึ้นแรงยึดติดก็จะหายไป เมื่อวางเท้าลงใหม่ก็เกิดแรงดึงดูดขึ้นอีกครั้ง แต่ความสามารถนี้จะลดลงเมื่อเป็นพื้นผิวเปียกน้ำ

“ผมเคยอ่านเจอในงานวิจัยเรื่งหนึ่ง เขาบอกไว้ว่าความสามารถในการยึดเกาะของตุ๊กแกจะลดลงเมื่ออยู่ใต้น้ำ ทีนี้ผมก็เลยนึกไปถึงงานวิจัยที่ผมเคยทำมาแล้วเกี่ยวกับการสังเคราะห์โพลิเมอร์ของโปรตีนในหอย 2 ฝา คิดว่าเราน่าจะเอาความรู้นั้นมาเสริม ทำให้ตุ๊กแกยังสามารถยึดเกาะได้ดีแม้อยู่ใต้น้ำ” ศ.เมสเซอร์สมิธ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เขาเคยศึกษาเกี่ยวกับการยึดเกาะของหอย 2 ฝาเมื่ออยู่ใต้น้ำ พบว่าหอยยึดเกาะได้ดีเพราะมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายกาว โปรตีนนี้มีกรดอะมิโน 3,4-แอล-ไดไฮดรอกซีฟีนิลอะลานีน หรือดีโอพีเอ (3,4-L-dihydroxyphenylalanine: DOPA) เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ทีมวิจัยได้ทดลองสร้างวัสดุที่ประกอบด้วยเส้นพิลลาจำนวนมาก เส้นพิลลาทำขึ้นจากซิลิโคน แต่ละเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 400 นาโนเมตร สูง 600 นาโนเมตร และเคลือบด้วยแผ่นโพลิเมอร์สังเคราะห์ของดีโอพีเอ ซึ่งทีมวิจัยเรียกวัสดุเลียนแบบเท้าตุ๊กแกนี้ว่า “เกคเคล” (Geckel)

เมื่อนำเกคเคลไปทดสอบประสิทธิภาพการยึดติดกับวัสดุต่างๆ พบว่าให้ผลดีทั้งพื้นผิวแห้งและเปียก ทั้งเรียบและขรุขระ และยังใช้หมุนเวียนได้ถึง 1,000 ครั้ง แต่เมื่อลอกโพลิเมอร์ดีโอพีเอ ประสิทธิภาพเกคเคลจะด้อยลงทันที แสดงว่าโพลิเมอร์ของกรดอะมิโนดีโอพีเอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การยึดเกาะติดแน่น

อย่างไรก็ดี วัสดุที่เรียกว่าเกคเคลโดยฝีมือของ ศ.เมสเซอร์สมิธ และคณะยังอยู่ในขั้นทดลองและปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) และองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งได้รายงานผลการวิจัยลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) และหวังว่าต่อไปจะสามารถพัฒนาจนนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์

ศ.เมสเซอร์สมิธ เพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักวิจัยพยายามสร้างวัสดุที่เลียนแบบความสามารถของตุ๊กแกมาแล้วมากมาย แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่ประสบผล ที่ผ่านมายังไม่มีวัสดุสังเคราะห์ไหนใช้เวียนได้เกิน 2 ครั้ง และใช้ได้ดีในน้ำเหมือนอย่างเจ้าเกคเคลนี้

"เป้าหมายของเราคือให้ได้แผ่นวัสดุที่มีประสิทธิภาพเหนียว ยึดติดได้ดีเหมือนเท้าตุ๊กแกทั้งแห้งและเปียก ส่วนความท้าทายอยู่ตรงที่การเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากขึ้นโดยที่ยังคงประสิทธิภาพดีดังเดิม" ศ.เมสเซอร์สมิธ กล่าว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000085174

Friday, July 20, 2007

“นาโนไทย” เว็บไซต์เพื่อคนไทยหัวใจรักนาโนฯ


นาโนเทคเปิดตัวเว็บไซต์ “ไทยนาโน” หวังเป็นช่องทางใหม่ของการเรียนรู้นาโนเทคโนโลยีสำหรับคนไทยทุกเพศทุกวัย เน้นรูปแบบสาระบันเทิง อาทิ นิทานและคลับนาโน เดินหน้าโปรโมทเว็บไซต์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปี 50 พร้อมอัพเดทข้อมูลสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

เชื่อว่าแม้หลายคนจะเคยได้ยินคำว่า “นาโน” มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังอาจจะมีบางคนที่ไม่เข้าใจความหมายของศัพท์คำนี้ดีนักว่าคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้างต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและชีวิตความเป็นอยู่ของเราในแต่ละวัน

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ “ไทยนาโน” (www.thai-nano.com) ขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.เป็นประธาน เป้าหมายเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ช่องทางใหม่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รู้จักนาโนเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แล้วนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผอ.นาโนเทค กล่าวว่า นาโนเทคได้ร่วมกับมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้ความรู้เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีสู่สาธารณะชนในวงกว้าง คู่ขนานไปกับเว็บไซต์ทางการของศูนย์นาโนเทค (www.nanotec.or.th) ซึ่งจะเน้นข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรและข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก โดยการจัดทำครั้งนี้จะมีรูปแบบที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ง่าย และได้รับทั้งสาระและความบังเทิงไปพร้อมๆ กัน

“การถ่ายทอดความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมได้รู้จักกับวิทยาการดังกล่าวดีขึ้น นอกเหนือจากช่องทางอื่นๆ ที่ได้จัดทำมาก่อนหน้าแล้ว อาทิ หนังสือแบบเรียนนาโนเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การประกวดและการให้ทุนการวิจัยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนในด้านนี้ต่อไป” ผอ.นาโนเทค กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดตัวแล้ว นาโนเทคจะจัดกิจกรรมโปรโมทเว็บไซต์ดังกล่าวตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในเดือนสิงหาคม และการจัดกิจกรรมที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมถึงการจัดตั้งนาโนคลับให้เกิดขึ้นด้วย

เว็บไซต์ไทยนาโนจัดทำขึ้นด้วยงบประมาณ 1.5 ล้านบาท ใน 1 ปีแรกจะดำเนินการโดยบริษัทไอเน็ต (INET) ก่อนที่นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคจะรับช่วงดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีจะรับผิดชอบในด้านเนื้อหาสาระที่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง

ภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยข้อมูลความหมายของนาโนเทคโนโลยี ประวัติความเป็นมา บทความที่กล่าวถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ การเกษตร อุตสาหกรรม การแพทย์ พลังงาน ฯลฯ ห้องข่าวนาโนเทคเพื่อรายงานกิจกรรมและข่าวคราวที่เกี่ยวข้อง นิทานนาโนสำหรับเด็ก ข้อมูลโครงการสนับสนุนวิจัยพัฒนานาโนเทคโนโลยี นาโนคลับ คำถามที่ถูกถามบ่อยเกี่ยวกับนาโนเทค กระดานข่าว และลิงก์เว็บไซต์ความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยี

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000084869

Thursday, July 19, 2007

นักบินอวกาศปลดทุกข์อย่างไร

เคยสงสัยหรือไม่ว่า นักบินอวกาศที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในยานอวกาศ พวกเขาเข้าห้องน้ำถ่ายทุกข์กันอย่างไร มีส้วมให้ใช้หรือเปล่า เป็นชักโครกหรือนั่งยอง แล้วกำจัดกากของเสียออกจากยานอวกาศอย่างไรในเมื่อยานมีสภาพไร้แรงโน้มถ่วง

ถ้าเป็นส้วมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแบบนั่งยอง หรือชักโครกบนโลกสามารถกำจัดของเสียให้ลงไปอยู่ข้างล่างได้ด้วยการน้ำราด หรือแรงกดน้ำแล้วแต่ชนิดของส้วม แต่เนื่องจากแรงดึงดูดในอวกาศที่สูงเหนือพื้นโลกไปมีแรงดึงดูดน้อย ส้วมในอวกาศจึงต้องใช้ระบบอากาศไหลเวียนนำของเสียจากการปลดทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะและอุจจาระขับออกไปนอกสถานีอวกาศ

ส้วมในยานอวกาศไม่ได้แบ่งเป็นส้วมสำหรับผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่โดยรูปลักษณ์แล้วไม่ได้แตกต่างจากส้วมทั่วไปนัก จะพิเศษก็ตรงที่มีสายรัดเหนือข้อเท้าและมีเหล็กวางกั้นบนต้นขาเพื่อให้แน่ใจว่านักบินอวกาศจะไม่ลอยจากโถส้วมระหว่างขับถ่าย

หมดปัญหาเรื่องถ่ายไป แต่เรื่องที่น่ากังวลต่อมาก็คือเรื่องปัสสาวะ เวลาดูภาพยนตร์สารคดีทางทีวี ผู้ชมมักเห็นนักบินอวกาศโชว์เทน้ำออกจากแก้ว ซึ่งน้ำจะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน บ้างก็เป็นหยดเล็กให้นักบินไล่งับเล่นสนุกสนาน แต่ถ้าเกิดฉี่ออกมาแล้วมันไม่พุ่งลงโถ แต่ลอยไปทั่วยานอวกาศคงไม่น่ามอง

ปัญหาข้อนี้ตัดไปได้ หากปวดฉี่ในห้องน้ำจริง คุณสามารถยืนฉี่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือถ้าอยากนั่งฉี่ก็ไม่มีใครห้าม ส้วมในอวกาศมีกรวยที่ต่อกับท่ออำนวยความสะดวกให้ นักบินอวกาศแค่เอากรวยเสียบเข้าไปในส้วมแค่นั้น

ห้องน้ำในสถานีอวกาศจะแยกของเสียที่เป็นน้ำกับกากออก ส่วนที่เป็นกากจะถูกอัดและเก็บไว้บนยานเพื่อนำไปทิ้งหลังลงจอดแล้ว ส่วนน้ำจะปล่อยทิ้งออกไปในอวกาศ องค์การนาซาหวังว่าสักวันจะ "รีไซเคิล" ปัสสาวะมาใช้ในยานอีก นอกจากนี้ ในยานอวกาศยังมีระบบกรอกอากาศเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และแบคทีเรียก่อนยานกลับมายังพื้นโลก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในแคนาดา กล่าวว่า หากนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่จะช่วยแก้ปัญหาให้โครงการสำรวจดาวอังคารในอนาคตที่มีแผนจะส่งมนุษย์ไปสำรวจหลังจากส่งไปแต่หุ่นยนต์

ส้วมบนสถานีอวกาศก็ใช้หลักการเดียวกัน เป็นระบบกำจัดของเสียด้วยแรงดันอากาศที่เก็บกากไว้ก่อน ส่วนปัสสาวะจะถูกดูดออกไปนอกยาน และเก็บไว้ในถังบรรจุขนาด 20 ลิตร แล้วป้อนส่งไปยังยานบำบัดและกำจัดของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ก่อนที่ยานส่วนนี้จะถูกสลัดออกไปยังอวกาศถูกแรงเสียดสีไหม้เป็นจุณ

ส่วนกากของเสียจากการขับถ่ายจะถูกแรงดันอากาศดูดมาเก็บไว้ในถุงพลาสติกที่ปากถุงเป็นยางรัด และส่งถุงอุจจาระไปเก็บไว้ในถังโลหะ เมื่อเสร็จธุระแล้ว ถุงพลาสติกใบใหม่จะเด้งออกมาสำหรับผู้ใช้รายต่อไป ของเสียพวกนี้จะถูกส่งไปยังยานบำบัดและกำจัดของเสียเช่นกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

มน.ประกวดซอฟต์แวร์ธุรกิจ ชูหัวข้อ 'ช่วยกิจการวิสาหกิจ'

ม.นเรศวรจัดประกวดซอฟต์แวร์ด้านธุรกิจระดับเยาวชนนักศึกษา เฟ้าหาซอฟต์แวร์เด่นที่มีบทบาทช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบวิสาหกิจ

อาจารย์ดาลิน อาภัสระวิโรจน์ หัวหน้าโครงการประกวดซอฟต์แวร์ด้านธุรกิจ คณะวิทยาศาสตร์การจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ 2 เพื่อกระตุ้นนิสิตนักศึกษาให้คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป ที่เหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ชิงทุนการศึกษากว่า 6 หมื่นบาท

การแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การประยุกต์ใช้งานซอฟต์แวร์ และเวปเซอร์วิส กำหนดนำเสนอผลงานและตัดสินผลการประกวดในวันที่ 17-18 สิงหาคมนี้ ที่คณะวิทยาการจัดการฯ คาดว่าจะได้ซอฟต์แวร์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน หรือให้ทุนในการสรรหาหรือพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูป เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ทั้งช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

ขณะที่สถาบันการศึกษาในประเทศ มีการเรียนการสอนทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และผลิตผลงานซอฟต์แวร์ออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แต่ผลงานที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่กลับไม่ถูกนำไปใช้งานในภาคธุรกิจ ดังนั้น กิจกรรมการประกวดข้างต้น จะเป็นการกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษานำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาโปรแกรมธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ดวงอาทิตย์ไม่เกี่ยวโลกร้อน มนุษย์เป็นตัวการสำคัญหลังอุตสาหกรรมบูม

นักวิทยาศาสตร์ปิดคดีพิสูจน์ทฤษฎีเจ้าปัญหา ดวงอาทิตย์ไม่ได้มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะหลังจากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี พบว่าดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานออกมาน้อยลง แต่อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นไม่ลดละ

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ออกมาวิจารณ์รายงานของคณะกรรมการสากลศึกษาปัญหาโลกร้อนที่ได้ตัดประเด็นรังสีคอสมิกมีส่วนทำให้โลกร้อนไว้ในรายงาน

ทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า รังสีคอสมิกซึ่งเป็นอนุภาคที่มีพลังงานมีกำเนิดจากนอกโลกมีบทบาทช่วยให้เมฆก่อตัวโดยอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น เมื่อเมฆก่อตัวอากาศในโลกจึงเย็นสบาย แต่สนามแม่เหล็กที่ปลดปล่อยออกมาจากปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์ขัดขวางไม่ให้รังสีคอสมิกส่องมายังชั้นบรรยากาศโลกได้เต็มที่ เมฆจึงก่อตัวได้น้อยลง และอุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ไมค์ ลอควูด นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการรูเธอฟอร์ด-แอพเพลตัน ของอังกฤษรายงานว่า ในอดีตรังสีจากดวงอาทิตย์อาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก แต่ยุคนี้ไม่เกี่ยว เขาเชื่อว่าข้อสรุปนี้คงช่วยให้เลิกเถียงกันเสียทีว่าโลกร้อนเป็นเพราะดวงอาทิตย์

เขาได้ใช้การวิเคราะห์อย่างง่ายๆ โดยดูความเข้มของพลังงานจากดวงอาทิตย์และรังสีคอสมิกช่วง 30-40 ปีก่อน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับกราฟที่บันทึกอุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยของพื้นโลก ซึ่งช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.4 องศาเซลเซียส
ข้อเท็จจริงที่เขาพบก็คือ การปล่อยพลังงานของดวงอาทิตย์มักแปรเปลี่ยนขึ้นสูงสุดลงต่ำสุดทุก 11 ปี แต่รอบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นระยะยาว ขณะที่ในคริสตศตวรรษที่ 20 พลังงานจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาก และเพิ่มในระดับที่คงที่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดใน พ.ศ. 2528 กลับตาลปัตรไปทางตรงกันข้าม ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมาน้อยลง แต่ช่วงดังกล่าวอุณหภูมิโลกยังร้อนขึ้นพอๆ กับช่วง 100 ปีที่แล้ว หมายความว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนนี้ช่วง 20-40 ปีก่อน ไม่ได้เป็นผลมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์บนดวงอาทิตย์ แต่เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์บนโลกดังที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสากลศึกษาปัญหาภาวะโลกร้อน (ไอพีซีซี) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

พอได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วพบว่า อิทธิพลจากดวงอาทิตย์ส่งผลต่อโลกจริง แต่เป็นยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่จะเอามาใช้กับโลกปัจจุบันไม่ได้แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, July 18, 2007

นายกฯปิ๊งไอเดียนำหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดลดการสูญเสีย

“สุรยุทธ์" ปิ๊งไอเดียนำหุ่นยนต์ติดกล้องมาใช้เก็บกู้ระเบิดลดการสูญเสีย จนท. สั่งก.วิทย์ ต่อยอดไอเดียเยาวชนที่ชะการแข่งขันเร่วนมาผลิตและใช้ในพื้นที่

18กค.) เวลา 10.30 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ว่า ในส่วนของหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นในการทำงาน อย่างเหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาก็ได้มีการโทรศัพท์เข้ามาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปในพื้นที่พร้อมกับสื่อมวลชนแสดงให้เห็นว่าเขามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเหตุร้ายยังคงมีอยู่ เราก็จำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้นในการทำงานเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด และไม่มีใครทราบว่าระยะที่ปลอดภัยควรจะอยู่ระดับไหน เพราะไม่ทราบว่าปริมาณของระเบิดที่มีอยู่จะครอบคลุมบริเวณกว้างแค่ไหน ทางที่ดีที่สุดคือจะต้องอยู่ให้ไกล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าไปดูแล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ( 17 ก.ค.) ได้เชิญเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติที่สามารถนำมาใช้ในการกู้ภัยมาพบและร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และคิดว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และหน่วยงานของเราจำเป็นต้องต่อยอดทางความคิดของเยาวชนเหล่านั้นในการใช้อุปกรณ์ทางเทคนิคเข้ามามีส่วนช่วย เพื่อที่จะช่วยชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเข้าไปเก็บกู้วัตถุระเบิดให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายรัฐก็จะนำมาทำเองและนำไปใช้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้รับรายงานหรือยังว่าผู้ก่อการครั้งนี้เป็นกลุ่มใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยที่ปฏิบัติงานได้รายงานมาแล้ว
เมื่อถามว่าคิดว่าสถานการณ์จะทวี ความรุนแรงเพื่อเป็นการตอบโต้ฝ่ายรัฐที่ได้ทำการกวาดล้างจนเหลือพื้นที่น้อยลงหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า คงต้องคอยติดตาม ทั้งนี้ก็อยู่ที่การดำเนินการของฝ่ายรัฐว่าจะสามารถควบคุมพื้นที่และทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าหากฝ่ายปฏิบัติสามารถเข้าไปดูแลพื้นที่ได้ดีขึ้น มีผู้ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น และเราสามารถควบคุมอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อการร้ายได้ดีขึ้นก็จะเป็นคำตอบว่าเหตุการณ์รุนแรงจะลดลงหรือมีเพิ่มขึ้น

ต่อข้อถามที่ว่านอกจากแนวความคิดการนำหุ่นยนต์ติดกล้องมาใช้ จะมีการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้อีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการกู้ภัยมีเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่มากพอสมควร เช่น การทำลายวัตถุระเบิดในระยะไกล แต่ในการเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นเรายังไม่มีเครื่องมือ ดังนั้นหุ่นยนต์บังคับที่จะนำมาใช้ก็จะทำการติดกล้องขนาดเล็กไว้ด้วย ก็จะสามารถมองภาพจากกล้องได้ว่ารถยนต์ที่นำมาจอดนั้นมีอะไรที่ผิดสังเกตบ้างเพื่อเป็นการลดการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ตนจะพยายามเข้าไปช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, July 17, 2007

ใช้หุ่นยนต์เป็นครูสอนมนุษย์เดิน ก้าวขึ้นทางลาดชันปรับจังหวะขาได้เอง

นักวิจัยชาวเยอรมันพัฒนาหุ่นยนต์เดินสองขาที่สามารถปรับรูปแบบการเดินให้สอดคล้องกับสภาพพื้นทางเดินแบบต่างๆ ได้ หวังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเคลื่อนไหวของมนุษย์ และสักวันหนึ่งอาจใช้ออกแบบขาเทียมให้ผู้พิการ และพัฒนาวิธีรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ให้เดินได้อีกครั้ง

หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า "รันบอต" สูงเพียงหนึ่งฟุต ก่อนหน้านี้เดินได้เฉพาะบนพื้นเรียบ และจะคว่ำหัวคะมำเมื่อเจอกับทางลาด แต่นักวิจัยได้ปรับปรุงความสามารถให้โดยติดตั้งตาอินฟราเรดสำหรับตรวจจับสภาพพื้นทางเดิน รันบอตสามารถเดินได้เร็ว 3-4 ก้าวต่อวินาที จัดว่าเดินเร็วกว่า 1.5-2.5 เท่า เมื่อเทียบกับเวลาคนทั่วไปดิน

ฟลอเรนติน โวแอร์โกตแทร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกตทินเกน ชาวเยอรมันที่ช่วยประดิษฐ์หุ่นยนต์ กล่าวว่า เจ้าหุ่นยนต์ที่เขาและทีมงามพัฒนาขึ้นมานี้ รู้จักลองผิดลองถูก มันลองอยู่สี่ถึงห้าครั้งจนรู้ว่าต้องทำอย่างไร เปรียบเทียบได้กับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กหัดเดิน ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมีท่วงท่าเดินเหมือนมนุษย์ กล่าวคือ รันบอตจะเอียงตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย และก้าวสั้นลงเมื่อเดินขึ้นที่ชัน

กุญแจสำคัญของเจ้าหุ่นรันบอตอยู่ที่เซ็นเซอร์อินฟราเรดที่ต่อสัญญาณเข้ากับแผงวงจรที่คอยบงการให้หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปแบบก้าวเดินเมื่อจำเป็น

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาจนรู้ว่าระบบควบคุมการเคลื่อนไหวในตัวมนุษย์ประกอบด้วยลำดับชั้นที่แบ่งเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังจะทำงานประสานกันเพื่อสั่งร่างกายเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องให้สมองมาบงการ เว้นแต่ถึงคราจำเป็นเท่านั้น

การทำงานที่ประสานกันนี้สามารถช่วยอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดคนพิการบางคนถึงสามารถก้าวขาได้เมื่อฝึกเดินบนสายพานออกกำลังกายโดยใช้สายพยุงตัวช่วย และเป็นกุญแจสำคัญของงานวิจัยนี้

งานวิจัยหุ่นยนต์นี้ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า เวลาที่มันก้าวเดิน ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างไร ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยได้ หรือนำไปช่วยออกแบบขาเทียมให้แก่ผู้พิการ หรือช่วยนักกายภาพบำบัดฝึกผู้ป่วยที่บาดเจ็บกระดูกสันหลัง หรือบาดเจ็บส่วนอื่นให้สามารถเดินได้อีกครั้ง

ชมคลิปวีโอหุ่นยนต์รันบอต ได้ที่ http://www.oknation.net/blog/Sci-tech

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

กทม.ผุดไอเดียเช่าที่คนรวยเพิ่มปอดคนกรุง-ลดโลกร้อน


ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ผุดโครงการเช่าที่ดินรกร้างของคนรวย – เอกชนทำสวนป่า สร้างพื้นที่สีเขียว-ต้านโลกร้อน ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนกรุงเทพฯ หงอย เหตุคนกรุงฯ ไม่ร่วมแสดงความเห็น

วันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มีแต่คนบ่นว่าโลกร้อนขึ้นมาทุกที ไม่เว้นแม้แต่มหานครใหญ่อย่าง “กรุงเทพฯ” ที่ประสบปัญหากับเขาด้วย ทั้งปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และปัญหาน้ำทะเลกลืนชายฝั่งบางขุนเทียน ฯลฯ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้จึงได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในงาน “ประชุมวิชาการระดับนักศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ครั้งที่ 1" ระหว่างวันที่ 17 -18 ก.ค. ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ

นายนิคม ไวยรัชพาณิช ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ เผยว่า เพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะนี้กรุงเทพฯ ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ.2550- 2555 ขึ้น โดยได้จัดทำร่างแผนดังกล่าวเสร็จแล้วและกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งร่างแผนจะมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ ลงให้ได้ร้อยละ 15 เป็นอย่างน้อยภายในปี 2555 จากปัจจุบันที่คนกรุงเทพฯ ผลิตก๊าซเรือนกระจกสูงถึง ร้อยละ 24 ของทั้งประเทศ หรือประมาณ 82 ล้านตันเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์/ปี ให้เหลือเพียง 70 ล้านตัน/ปี

“เราได้รณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนในการแก้ปัญหาด้วย เช่น การหันมาใช้หลอดประหยัดแทนหลอดไส้ การลดใช้พลังงาน และการรณรงค์ปลูกต้นไม้บนดาดฟ้าอาคารซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิในอาคารได้ถึง 2 องศาเซลเซียส จึงประหยัดการใช้พลังงานสำหรับระบบทำความเย็น อีกทั้งต้นไม้ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ซึ่งตลอดชีวิตต้นไม้ต้นหนึ่งจะดูดกลืนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ถึงต้นละ 1.8 กก.” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าว ซึ่งนอกจากนั้น กรุงเทพฯ ยังมีแนวคิดสร้างพื้นที่สีเขียวจากพื้นที่เอกชนที่ใม่ได้ใช้งานด้วย

“แนวคิดนี้เป็นเนวคิดใหม่ เป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างสวนป่าจากพื้นที่ที่คนมีฐานะและเอกชนมีอยู่แต่ไม่ได้ใช้งาน โดยความสมัครใจของเจ้าของที่ดินนั้นๆ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมเขตทั้ง 50 เขตเพื่อสำรวจดูในพื้นที่ของตัวเองว่ามีรายใดสนใจร่วมงานบ้าง ซึ่งเวลานี้มีผู้เริ่มทำแล้ว 6 ราย เช่นที่สนามหลวง 2” นายนิคม กล่าว สำหรับแนวคิดนี้จะเป็นการตกลงกันในระยะเวลา 5 ปีกับเอกชนในรูปของการเช่าที่ดินในราคาถูก เฉลี่ยไร่ละ 1 -2 บาท โดยเจ้าของที่ดินจะได้ประโยชน์จากการที่ที่ดินไม่ถูกบุกรุก และไม่รกร้างเป็นที่ทิ้งขยะ ขณะที่ยังเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวไปในตัว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนดังกล่าวน้อยมาก นายนิคม เผยว่า การแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นเพียงประมาณ 100 ความคิดเห็นและทางจดหมายอีกราว 400 -500 ฉบับ ทำให้ไม่สามารถจัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.ตามกำหนดการเดิม โดยในสุดสัปดาห์นี้ สำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดให้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรงขึ้น คาดว่าจะทำให้ร่างแผนดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ร่างแผนดังกล่าวมีกลยุทธ์ 5 ด้านคือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการปรับปรุงระบบจราจร การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก การปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในอาคาร การจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยร่างแผนนี้เป็นผลมาจากปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ณ กรุงเทพฯ และการลงนามร่วมเป็นหนึ่งในมหานครต่างๆ ทั่วโลกที่ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนเมื่อวันที่ 14 -17 พ.ค.ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพอากาศ ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนดังกล่าวสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ของกรุงเทพฯ www.bma.go.th หรือส่งทางโทรสารได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2245-3377 และ 0-2245-8432 หรือส่งไปยังสำนักงานเขตใกล้บ้าน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000083431

Friday, July 13, 2007

พบกาแลกซีเกิดหลังบิ๊กแบง 500 ล้านปีขยับใกล้ "ยุคมืด" แห่งเอกภพ


สเปซดอทคอม/เดอะไทม์/ไซแอนทิฟิกอเมริกัน- พบกาแลกซีไกลโพ้นที่ขอบเอกภพ ก่อเกิดหลัง "บิ๊กแบง" 500 ล้านปี นักดาราศาสตร์คาดอาจนำไปสู่ความเข้าใจ "ยุคมืด" แห่งจักรวาล

ทีมนักดาราศาสตร์สหรัฐและฝรั่งเศสเผยพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงกาแลกซีขนาดเล็ก 6 กาแลกซีที่อยู่ไกลสุดเท่าที่เคยตรวจพบ โดยคาดว่ากลุ่มกาแลกซีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเอกภพกำเนิดได้ 500 ล้านปีหรืออาจจะหลายร้อยล้านปีหลัง "บิ๊กแบง" (Big Bang)

แม้ว่าการค้นพบนี้จะเป็นเพียงข้อมูลใหม่ทางวิชาการแต่หากถูกต้องจริงจะถือเป็น "การถลกขอบจักรวาล" เลยทีเดียวตามความเห็นของริชาร์ด เอลลิส (Richard Ellis) นักดาราศาสตร์ผู้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยดังกล่าวจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียในพาซาเดนา (California Institute of Technology in Pasadena) หรือคาลเทค (Caltech) สหรัฐอเมริกา

"เราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์เพื่อหาวัตถุดังกล่าวยังสุดเขตเอกภพ" เอลลิสกล่าว โดยเขาและแดน สตาร์ก (Dan Stark) นักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาของเขาพร้อมด้วยทีมนักดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (Astrophysics Laboratory) ในเมืองมาร์กไซล์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสได้ใช้กล้องโทรทรรศน์เคค 2 (Keck II) ขนาด 10 เมตรบนยอดเขามัวนาคีในฮาวายกวาดหาแสงที่เฉียดกลุ่มกาแลกซีขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้กับกลุ่มกาแลกซีเก่าแก่เหล่านั้นเป็นเวลากว่า 3 ปี

เอลลิสกล่าวอีกว่าความเข้มแสงจากกาแลกซีที่พบสัญญาณนั้นทำให้ทราบว่ากาแลกซีในยุคแรกเริ่มของเอกภพมีขนาดเพียงหนึ่งในร้อยหรือหนึ่งในพันเท่าของขนาดกาแลกซีทางช้างเผือก โดยมีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 10 ล้านดวง ขณะที่กาแลกซีที่เราอาศัยอยู่นั้นมีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 1 หมื่นล้านดวง

แสงจากกลุ่มกาแลกซียุคโบราณเดินทางข้ามจักรวาลเป็นเวลานานกว่า 1.3 หมื่นล้านปี และถูกขยายขนาดขึ้น 20 เท่าจากปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ซึ่งเกิดเพราะการโค้งงอจากแรงโน้มถ่วงโดยมวลของกลุ่มกาแลกซีที่อยู่ใกล้ๆ

การขยายสัญญาณที่เปรียบเสมือนมีเลนส์โดยธรรมชาตินี้ได้เผยสัญญาณ 6 จุดบนท้องฟ้าให้ส่องสว่างในความยาวคลื่นของแสงย่านอินฟราเรด อีกทั้งเอกภพกำลังขยายตัวทำให้แสงที่เดินทางจากแหล่งกำเนิดถูกขยายจากความยาวคลื่นของแสงที่ตามองเห็นไปสู่รังสีอินฟราเรด เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า การเลื่อนไปทางสีแดง (redshift) หรือการเลื่อนของสเปกตรัมความยาวคลื่นที่ยาวกว่าซึ่งความยาวคลื่นที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับอายุของวัตถุนั้นๆ

ตามรายงานการศึกษาของทีมวิจัยในวารสารดิแอสโตรฟิสิคัล (The Astrophysical) พวกเขาพบการเลื่อนไปทางสีแดงของกาแลกซีทั้ง 6 ได้ 9 ซึ่งเท่ากับช่วงเวลาหลังการระเบิดครั้งใหญ่ประมาณ 500 ล้านปี

"เราได้จำแนกสัญญาณของกาแลกซีขณะที่เหล่าดวงดาวกำลังก่อรูปและมีที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับเอกภพขณะมีอายุเพียง 500 ล้านปีหรือเป็นเวลาเพียง 4% ของอายุเอกภพในปัจจุบัน" ฌอง-ปอล นีป (Jean-Paul Kneib) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในทีมวิจัยกล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย.ของปีที่แล้วทีมวิจัยที่นำโดย มาซาโนริ อิเย (Masanori Iye) นักดาราศาสตร์ญี่ปุ่นได้พบกาแลกซีที่มีการเลื่อนไปทางสีแดงไป 7 ซึ่งคำนวณได้ว่ากลุ่มดาวในกาแลกซีนั้นก่อตัวเมื่อประมาณ 1.27 หมื่นล้านปีที่แล้ว หรือ 750 ล้านปีหลังบิ๊กแบง

บรรดากาแลกซีเก่าแก่เหล่านั้นอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจปรากฏการณ์แตกตัวเป็นไอออน (reionization) ในยุคแรกของเอกภพที่นำไปสู่การขยายขนาดของกาแลกซีขนาดเล็กไปเป็นกาแลกซีขนาดใหญ่ และยังเผยสัญญาณความเข้าใจในยุคสั้นๆ ที่ดาวดวงแรกก่อตัวขึ้น

ทั้งนี้ภายหลังจากบิ๊กแบงยังไม่มีดวงดาวเกิดขึ้นในทันที แต่ในที่สุดหมอกหนาในยุคก่อเกิดก็ถูกเผาไหม้โดยความร้อนกลายเป็นดาวเกิดใหม่ และเป็นจุดจบของ "ยุคมืด" (Dark Ages) แห่งเอกภพ

"เราควรหากาแลกซีอันไกลโพ้นในบริเวณเล็กๆ ที่เราสำรวจซึ่งคาดว่ามีกาแลกซีอยู่จำนวนมาก เราประมาณว่าการแผ่รังสีของกลุ่มกาแลกซีเเหล่านี้รวมกันเพียงพอที่จะแตกสลายอะตอมของไฮโดรเจนในอวกาศขณะนั้นได้ และเป็นจุดสิ้นสุดของยุคมืด" สตาร์กนักศึกษาในทีมวิจัยกล่าว

"นี่เป็นตัวอย่างแรกที่น่าเชื่อถือของกาแลกซีเรดชิฟต์ 10 ซึ่งตรงกับ 500 ล้านปีหลังบิ๊กแบง แต่ก็ยังไม่ใช่บทสรุป" ความเห็นของ อับราฮัม เลียบ (Abraham Loeb) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ในเคมบริดจ์ แมสซาชูเสตต์ส สหรัฐ

เลียบเพิ่มเติมว่าการระบุอายุของกาแลกซีต้องอาศัยการวัดความเข้มของอินฟราเรดท่ามกลางช่วงความยาวคลื่นที่แม่นยำกว่านี้ เพราะการวัดในปัจจุบันยังค่อนข้างหยาบ และรุ่งอรุณของจักรวาลในช่วงที่ดาวกลุ่มแรกของเอกภพส่องสว่างน่าจะอยู่ในช่วง 200 ล้านปีหรือเร็วกว่านั้นหลังจากบิ๊กแบง ส่วนกาแลกซีที่ค้นพบครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นภายหลังยุคมืด

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000081681

Thursday, July 12, 2007

เด็กๆ อิสราเอลตาวาว ลุง "นีล อาร์มสตรอง" เล่าประสบการณ์อวกาศ


เอพี – นักบินอวกาศเป็นความใฝ่ฝันของเด็กๆ ทั่วโลกที่อยากจะออกไปค้นหาความลับของจักรวาลอันไกลโพ้น "อาร์มสตรอง" ในฐานะที่มนุษย์คนแรกที่ได้ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ก็ไม่รีรอที่จะแบ่งปันความรู้สึกให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงความตื่นเต้นที่หาไม่ได้แล้วในโลกใบนี้

นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) อดีตนักบินอวกาศสหรัฐฯ ตอบรับคำเชิญจากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศอิสราเอล เพื่อไปบรรยายความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เขาได้เป็นมนุษย์อวกาศคนแรกที่เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ โดยพบปะ พูดคุย และตอบข้อซักถามของเด็กๆ ชาวอิสราเอลอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. อาร์มสตรองได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและอวกาศ (Space and Technology Museum) ที่เมืองไฮฟา (Haifa) ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้จัดเวทีเล็กๆ สำหรับอาร์มสตรอง และให้เด็กๆ ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาอย่างใกล้ชิด พร้อมบันทึกวีดิโอเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของอิสราเอลด้วย

อาร์มสตรอง วัย 77 ปี เล่าความรู้สึกเมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปดวงจันทร์ครั้งแรกกับเพื่อนนักบินอวกาศอีก 2 นาย โดยมีเด็กๆ อิสราเอลฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและตื่นเต้นไม่น้อย

“ณ วินาทีที่ได้เหยียบลงไปบนพื้นผิวดวงจันทร์ ผมตื่นเต้นและยินดีอย่างที่สุด ที่ความพยายามเดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของพวกเราเป็นผลสำเร็จ” อาร์มสตรอง เล่า

อาร์มสตรองเล่าติดตลกกับเด็กๆ อีกว่า แม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ระบุไว้แล้วว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังหวังว่าจะได้เจออะไรสักอย่าง แต่สุดท้าย มันก็ไม่มีอะไรจริงๆ

ทั้งนี้ เหล่าเยาวชนตัวน้อยยังได้มีโอกาสซักถามข้อสงสัยต่อนักบินอวกาศในดวงใจของพวกเขา และอาร์มสตรองก็ตอบคำถามเด็กๆ อย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง เช่น ความรู้สึกเมื่อได้อยู่ในยานอวกาศ สิ่งที่ได้จากการเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ เป็นต้น

เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่งถามอาร์มสตรองว่า ถ้าอาร์มสตรองมีโอกาสได้เดินทางไปยังดวงจันทร์อีกเป็นครั้งที่สอง จะพาเขาไปด้วยได้ไหม อาร์มสตรองกระโดดลงจากเวทีตรงเข้าสวมกอดเด็กชายคนนั้นทันทีแล้วตอบว่า “ได้สิ เจ้าหนู”

สุดท้ายก่อนที่จะเดินทางกลับ อาร์มสตรองให้คำแนะนำดีๆ ต่อเด็กๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศในวันข้างหน้าว่าจะต้องตั้งใจเรียนให้มากๆ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นั้นสำคัญมากต่อการเป็นนักบินอวกาศ และหวังว่าในปีต่อๆ ไป พวกเขาและเธอทั้งหลายจะได้มีโอกาสออกไปผจญภัยนอกโลกดังที่เขาเคยไปมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาแห่งการบุกเบิกอวกาศ มีชาวอิสราเอลเพียงหนึ่งเดียวที่มีโอกาสเดินทางไปนอกโลก แต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตไปกับเหตุการณ์เศร้าสลดที่ยานโคลัมเบียระเบิดเมื่อครั้งกลับสู่โลก ในเดือน ก.พ. ปี 2546 พร้อมกับเพื่อนนักบินอวกาศอีก 6 นาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000081480

พบไอน้ำจากดาวนอกระบบสุริยะ


นักดาราศาสตร์พบไอน้ำในบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงใหญ่นอกระบบสุริยะ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่พบ แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้ร้อนเกินกว่าที่จะมีสิ่งมีชีวิตได้

คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนของอังกฤษ พบเรื่องนี้ในระหว่างใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังสูงสไปเซอร์สเปซของนาซา วัดรัศมีของดาวเอชดี 189733b เป็นดาวบริวารของดาวดวงหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มดาวสุนัขจิ้งจอก อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 64 ปีแสง

พวกเขาใช้ความยาวคลื่นที่แตกต่างกันวัดว่าในช่วงที่ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรผ่านดาวแม่ มันจะบดบังแสงของดาวแม่มากน้อยแค่ไหนเมื่อมองจากโลก สิ่งที่พบคือ ดาวเคราะห์ดวงนี้ดูใหญ่ขึ้นเมื่อใช้ความยาวคลื่นที่ตรงกับความยาวคลื่นของน้ำ บ่งชี้ว่ามีไอน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศของมัน

อย่างไรก็ดี แม้ดาวเอชดี 189733b มีน้ำแต่ก็มีสภาวะที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้ ดาวดวงนี้โคจรใกล้ดาวแม่อย่างมาก ใกล้กว่าวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ถึง 30 เท่า ทำให้อุณหภูมิด้านสว่างร้อนถึงขั้นลุกเป็นไฟคือสูงถึง 930 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิด้านมืดก็ร้อนไม่แพ้กันที่ 700 องศาเคลวิน สูงกว่าจุดกลายเป็นไอน้ำซึ่งอยู่ที่ 373.15 เคลวิน

ดาวเคราะห์ประเภทนี้เรียกกันว่า “ดาวพฤหัสบดีร้อน” คือเป็นดาวที่ประกอบด้วยกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัสในระบบสุริยะ

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่พบไอน้ำในบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเคยพบไอน้ำในบรรยากาศของพบดาวพฤหัสบดีร้อนครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์ตัวเดียวกัน และเผยแพร่ในวารสารเมื่อต้นปีนี้ เป็นดาวเคราะห์ชื่อเอชดี 209458b แต่บางคนแย้งว่า สิ่งดูเหมือนเป็นไอน้ำอาจเป็นผลจากกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้มากกว่า

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/2
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/12/WW54_5409_news.php?newsid=83740

แว่นตานาโนตรวจร่องรอยคนร้าย


"เจ้าคุณทหารลาดกระบัง" ประยุกต์ใช้นาโนเทคสร้างแว่นตาพิเศษ มองเห็นร่องรอยดีเอ็นเอ หรือสารคัดหลั่งในคดีข่มขืนและอาชญากรรม

นายอภิชาติ สังข์ทอง นักวิจัยจากสำนักวิจัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมงานใช้เทคโนโลยีนาโนเพื่อสร้างแว่นตาพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ในการตรวจหาคราบเลือดหรือสารคัดหลั่งในสถานที่เกิดเหตุ

คดีข่มขืนหรือคดีฆาตกรรม เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จะตรวจหาหลักฐานที่เป็นสารคัดหลั่ง โดยฉายรังสียูวีลงในพื้นที่ที่น่าจะมีสารคัดหลั่ง ซึ่งในสารคัดหลั่งมีโปรตีนที่ทำปฏิกิริยาเรืองแสงกับแสงยูวี และต้องใส่แว่นตาพิเศษจึงจะเห็นการเรืองแสงนั้น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้แว่นเฉพาะกิจต่างชนิดกันในการตรวจดูสารคัดหลั่งต่างชนิดกันระหว่างเลือด น้ำลาย และอสุจิ เป็นต้น

แว่นตาดังกล่าวไม่มีผลิตในประเทศไทย ต้องสั่งนำเข้าเท่านั้น และราคาสูงถึงหลักหมื่นบาทต่ออัน ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีการผลิตแว่นพิเศษที่นักวิจัยไทยคิดค้นขึ้นมา จะช่วยลดการนำเข้าแว่นดังกล่าว อีกทั้งต้นทุนการผลิตจะอยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาท แต่หากผลิตจำนวนมากราคาก็จะถูกลงไปอีก

ในการพัฒนาแว่นตาพิเศษของไทย นักวิจัยใช้ระบบระเหยสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมแว่นตาทั่วไป ควบคู่กับการเคลือบเลนส์แว่นโดยใช้ก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจน ซึ่งถูกทำให้มีอนุภาคเล็กขนาดนาโนเมตร เพื่อให้ตอบสนองต่อความยาวคลื่นแสงที่ต่างกัน ขณะที่เทคนิคการเคลือบด้วยอนุภาคนาโนนั้น ใช้ได้กับเลนส์ทั้งที่เป็นกระจกและพลาสติก

นอกจากแว่นตาสำหรับงานนิติวิทยาศาสตร์แล้ว เทคนิคเดียวกันนี้ยังใช้ผลิตแว่นตา ที่เน้นปกป้องดวงตาของแพทย์และคนไข้ให้ปลอดภัย จากการใช้รังสียูวี หรือลำแสงเลเซอร์เป็นส่วนประกอบการรักษา รวมทั้งการประยุกต์ใช้งานสำหรับช่างเชื่อม โดยใช้วิธีการเคลือบเลนส์นาโนกับหน้ากากช่างเชื่อม ก็จะช่วยให้มองเห็นแสงจ้าที่มีความเข้มสูง กลายเป็นแสงละมุนสบายตา

"ความคืบหน้าของโครงการวิจัยเลนส์แว่นตานาโนนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมลงนามความร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อนำแว่นตานาโนไปใช้สนับสนุนภารกิจของหน่วยงาน" นายอภิชาติ กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/2
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/12/WW54_5406_news.php?newsid=83723

Wednesday, July 11, 2007

ชวนดูราชาฝนดาวตก พร้อมพระจันทร์สีส้มแดงเดือน ส.ค.นี้

สมาคมดาราศาสตร์ไทยชวนชมปรากฏการณ์ราชาฝนดาวตก วันที่ 12-13 สิงหาคม ต่อด้วยจันทรุปราคาเต็มดวง หรือพระจันทร์สีส้มแดง 28 สิงหาคม เผยมี 25 ประเทศตอบรับร่วมแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกฯ ครั้งแรกในไทย

น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือน สิงหาคมนี้ มีปรากฏการณ์บนท้องฟ้าให้สังเกตการณ์ โดยวันที่ 12-13 สิงหาคม จะมีฝนดาวตกกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส เป็นราชาแห่งฝนดาวตก มีขนาดดวงใหญ่ สีสันสวยงามหลายสี โดยเฉลี่ยถ้าไม่มีแสงจันทร์รบกวนจะเห็นฝนดาวตกเพอร์ซิอัส 60 ดวงต่อชั่วโมง เริ่มเห็นตั้งแต่เวลา 22.00 น.วันที่ 12 สิงหาคมต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคม

ขณะที่ท้องฟ้าในยุโรปหรืออังกฤษ ซึ่งเวลาช้ากว่าไทย จะเกิดฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเฉลี่ยต่อชั่วโมง 100 ดวง เพราะเป็นช่วงฤดูร้อน ท้องฟ้าใสกว่าไทย จากนั้นวันที่ 28 สิงหาคม ในประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวง หรือพระจันทร์สีส้มแดง ซึ่งจะเริ่มเข้าตั้งแต่เวลา 16.52 น. แต่ยังไม่ค่ำดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า จึงจะได้เห็นในช่วงท้ายของปรากฏการณ์ ที่เกิดเต็มดวงในเวลา 18.22 น. และจันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดเวลา 19.24 น.

ส่วนความคืบหน้ากิจกรรมแข่งขันดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (ไอโอเอเอ) ครั้งที่ 1 ถือเป็นการแข่งขันครั้งแรกในระดับนานาชาติที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม ขณะนี้มีประเทศที่สนใจเข้าร่วม 25 ประเทศ เช่น แคนาดา กรีซ เคนยา ยูเครน ศรีลังกา เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล ลาว และพม่า เป็นต้น

กำหนดการแข่งขันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-9 ธันวาคม 2550 ที่ จ.เชียงใหม่ ต่อจากนั้นประเทศอินโดนีเซียและอิหร่านรับเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ

ทั้งนี้ เยาวชนตัวแทนประเทศไทย 5 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากศูนย์ของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ นายกฤตภาส ชาญชัยวรวิทย์ ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา นายปุณณวิช คงพิทักษ์สกุล และ นายสุวรรณ สุวรรณรัตน์ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย นายชญานนท์ ร่วมเจริญ ร.ร.ปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม และนายธีรสิทธิ์ อิสสรานนท์ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ขณะนี้อยู่ระหว่างการติวเข้ม ในการดูแลของอาจารย์หัวหน้าทีม คือ ดร.อรรุจี เหมือนวงศ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

นาซาเตรียมส่ง "ฟีนิกซ์" เจาะน้ำแข็งดาวแดงไล่ล่าหาชีวิตเล็กๆ


เอเจนซี/เอเอฟพี - นาซาเดินหน้าตามหา "ร่องรอยแห่งชีวิต" บนดาวแดง เตรียมส่งยานขุดเจาะพื้นผิว วิเคราะห์น้ำแข็ง หาคาร์บอนและสารประกอบเคมีที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ยังไม่ลดละความพยายามในการตามล่าหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร โดยล่าสุดมีโครงการส่งยานอวกาศลงไปเจาะพื้นผิวที่ราบน้ำแข็งทางตอนเหนือของดาวแดง

หลังจากนาซาส่งหุ่นยนต์ไปปฏิบัติภารกิจสำรวจหลุมและเนินต่างๆ บนพื้นผิวดาวอังคารมานานนับปี ตอนนี้ "ฟีนิกซ์ มาร์ส แลนเดอร์" (Phoenix Mars Lander) พร้อมออกเดินทางไปเจาะลึกใต้พื้นผิวของดาวแดง เพื่อนำดินมาวิเคราะห์ถึงร่องรอยแห่งชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ทั้งนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่างหวังว่าฟีนิกซ์จะได้ทดสอบและตรวจตรา เมื่อเจาะทะลุลงไปบริเวณที่ราบน้ำแข็งทางตอนเหนือของดาวอังคาร จะเห็นว่ามีการละลายของน้ำแข็งในบางช่วงบางขณะหรือไม่ และละลายถึงระดับที่จะทำให้บริเวณดังกล่าว เกิดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ได้หรือไม่

"ฟีนิกซ์จะช่วยโครงการสำรวจดาวอังคารให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เพราะนับเป็นครั้งแรกที่พวกเราจะได้สัมผัสและวิเคราะห์น้ำของดาวอังคาร น้ำที่ฝังอยู่ในรูปแบบน้ำแข็ง" ผู้อำนวยการโครงการสำรวจดาวอังคารของนาซาเผย

ทั้งนี้ ฟีนิกซ์จะทะยานออกจากฟลอริดาในช่วงเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้ โดยต้องเดินทางนานกว่า 9 เดือนกว่าจะถึงดาวอังคาร และเมื่อฟีนิกซ์สามารถลงจอดได้ในตำแหน่งที่ปลอดภัยบนพื้นผิวดาวอังคาร ยานเจาะไร้มนุษย์ก็จะส่งเครื่องอันล้ำสมัยมที่ไม่เคยใช้มาก่อนบนโลก ออกไปปฏิบัติภารกิจ

ตำแหน่งที่กำหนดให้ฟีนิกซ์ลงจอด คือบริเวณที่ราบน้ำแข็งขั้วเหนือ เปรียบเหมือนดินแดนอลาสกาทางตอนเหนือของโลกเรา ซึ่งบริเวณที่ลงจอด นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีอุณหภูมิประมาณ -100 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ฟีนิกซ์ได้รับการออกแบบให้สามารถตรวจสอบข้อมูลประวัติศาสตร์ของน้ำแข็งได้ โดยอาศัยการวิเคราะห์สารเคมี และแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ

ยานล้ำสมัยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ลำนี้ ติดแขนยนต์ยาว 2.3 เมตร จะดำเนินการตักดินในลักษณะแนวดิ่ง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการขุดน้ำแข็ง ที่เชื่อว่าจะลึกลงไปจากพื้นผิวดาวไม่กี่นิ้ว

แขนยนต์ดังกล่าวยังสามารถยกอุปกรณ์อีก 2 ชิ้นที่ติดอยู่ส่วนบนของยานออกมาใช้งานได้ โดยชิ้นหนึ่งคือเครื่องทำความร้อนที่ใช้ตรวจน้ำและวิเคราะห์สารประกอบเคมีที่มีคาร์บอนเป็นฐานเพื่อพิจารณาหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ส่วนอุปกรณ์อีกชิ้นทำหน้าที่วิเคราะห์สารเคมีในดิน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000080713

สจล.คิดแว่นนาโนกันยูวี นักนิติวิทย์ใส่มองหาร่องรอยอาชญากรรม

"เจ้าคุณทหารลาดกระบัง" สร้างแว่นตานาโน เพิ่มคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี เตรียมลงนามส่งผลงานนักนิติวิทยาศาสตร์ใส่ เพื่อตรวจหาร่องรอยดีเอ็นเอหรือสารคัดหลั่งในคดีข่มขืน หรืออาชญากรรม

นายอภิชาติ สังข์ทอง นักวิจัยจากสำนักวิจัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมงานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโน เพื่อสร้างแว่นตาพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ในการตรวจหาคราบเลือดหรือสารคัดหลั่งในสถานที่เกิดเหตุ

"คดีข่มขืนหรือคดีฆาตกรรม เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จะตรวจหาหลักฐานที่เป็นสารคัดหลั่ง โดยฉายรังสียูวีลงในพื้นที่ที่น่าจะมีสารคัดหลั่ง ซึ่งในสารคัดหลั่งมีโปรตีนที่ทำปฏิกิริยาเรืองแสงกับแสงยูวี เจ้าหน้าที่ต้องใส่แว่นตาพิเศษ จึงจะสามารถเห็นการเรืองแสงนั้น แว่นตาดังกล่าวยังไม่มีผลิตในไทย ต้องสั่งนำเข้าเท่านั้น และราคาสูงถึงหลักหมื่นบาท" นักวิจัย สจล. กล่าว

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของแว่นตานำเข้ายังไม่ครอบคลุมสารคัดหลั่งทุกประเภท ฉะนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องพกเลนส์พิเศษมากกว่า 1 เลนส์ ในการตรวจหาสารคัดหลั่งที่ต่างชนิดกันระหว่างเลือด น้ำลาย และอสุจิ เป็นต้น

ในการพัฒนาแว่นพิเศษของไทย นักวิจัยใช้ระบบระเหยสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมแว่นตาทั่วไป ควบคู่กับการเคลือบเลนส์แว่นตาโดยใช้ก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจน ซึ่งถูกทำให้มีอนุภาคเล็กขนาดนาโนเมตร เพื่อให้ตอบสนองต่อความยาวคลื่นแสงที่ต่างกัน ส่งผลให้แว่นตาสามารถมองเห็นสารคัดหลั่งได้มากกว่า 1 ประเภท ขณะที่เทคนิคการเคลือบด้วยอนุภาคนาโนนั้น ใช้ได้กับเลนส์ทั้งที่เป็นกระจกและพลาสติก

เลนส์แว่นตานาโนนี้ยังประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ ในกลุ่มที่ใช้รังสียูวีเป็นส่วนประกอบการรักษา เช่น โรคผิวหนัง โดยแว่นตาจะปกป้องดวงตาของแพทย์และคนไข้ให้ปลอดภัยจากรังสียูวี รวมทั้งการประยุกต์ใช้งานสำหรับช่างเชื่อม ซึ่งต้องเผชิญทั้งแสงยูวีและแสงที่มีความเข้มสูง หากใช้วิธีการเคลือบเลนส์นาโนกับหน้ากากช่างเชื่อม ก็จะช่วยให้มองเห็นแสงจ้าที่มีความเข้มสูง กลายเป็นแสงละมุนสบายตา

ความคืบหน้าของโครงการวิจัยเลนส์แว่นตานาโนนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมลงนามความร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำแว่นตานาโนไปใช้สนับสนุนภารกิจของหน่วยงาน ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาท หากผลิตจำนวนมาก ราคาเลนส์ดังกล่าวก็จะถูกลงอีก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, July 10, 2007

‘เนคเทค’เล็งตั้งทีมหนุนแอนิเมชัน

เนคเทคเผยแนวคิดดึงพันธมิตรเอกชนตั้งคอนซอร์เตียมดันตลาดแอนนิเมชันเชื่อมโยงครบวงจร ทั้งเดินหน้าเจรจาสถาบันการศึกษาญี่ปุ่น นำหลักสูตรแอนิเมชันระดับโลกสู่ห้องเรียนไทยดันสร้างฐานเทียบตลาดโลก

นายวิรัช ศรเลิศล้ำวานิช ผู้อำนวยการโปรแกรมซอฟแวร์เพื่อสารสนเทศและอุปกรณ์เคลื่อนที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคเตรียมจัดตั้งคอนซอร์เตียมแอนิเมชัน รวมกลุ่มพันธมิตรเอกชน ทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา ร่วมผลักดันการเติบโตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกราฟฟิกและภาพเคลื่อนไหว (แอนิเมชัน) ในประเทศให้เชื่อมโยงการทำงานได้อย่างครบวงจร

เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่างเนคเทค และซิป้าช่วยสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมไอทีทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังขาดความร่วมมือและการประสานงานที่ดี

ทั้งยังขาดการยอมรับจากคนในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างชาติมากกว่า 95% ส่งผลให้มูลค่าตลาดคงที่ หรือเติบโตน้อยมาก โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าตลาดแอนิเมชันไทยยังคงที่ระดับกว่า 1,000 ล้านบาท

“หากการจัดตั้งประสบความสำเร็จ ทำให้วงจรการพัฒนาแอนิเมชันบูรณาการได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่การคิด การพัฒนา จนถึงแผนการขาย โอกาสทางการตลาดและยังสามารถแชร์หลักสูตรการพัฒนาการเรียนการสอนด้านนี้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่ากลางปีงบประมาณหน้าน่าจะได้เห็น”เขา กล่าว

ล่าสุดเนคเทคเดินหน้าเจรจากับสถาบันการศึกษา 2 แห่งในญี่ปุ่นคือ “ดิจิทัล ฮอลลีวู้ด ยูนิเวอร์ซิตี้” และ “โอซากา อิเล็กทริค แอนด์ คอมมิวนิเคชัน” เพื่อนำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านแอนิเมชันระดับนานาชาติมาใช้ในไทย

ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนแอนิเมชันในไทยยังมีไม่มาก และคุณภาพอาจยังไม่เทียบเท่าหลักสูตรระดับนานาชาติ ประกอบกับที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยนำหลักสูตรของต่างชาติเข้ามาสอนให้นักเรียน นักศึกษา ซึ่งคาดว่า หากตกลงได้ จะนำร่องกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ก่อนต่อยอดสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่สนใจ

ทั้งนี้ ช่วงแรกจะเน้นหลักสูตรการออกแบบเนื้อหา การใช้เครื่องมือ 2 ดี และ 3 ดี และการทำโปรดักชั่น สำหรับการพัฒนางานแอนิเมชันบนมือถือเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ก.วิทย์จับคู่ภาคเอกชนผลิตสินค้านาโน ปีหน้าโชว์ 10 ผลงานนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าธุรกิจ

สำนักงานนวัตกรรมเดินเครื่องจับคู่งานวิจัยนาโนเทคโนโลยี ในรั้วมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปีหน้าผลิต 10 นวัตกรรมนาโน พร้อมเปิดตัวสองเอกชนนำร่องวิจัยนาโนเพิ่มมูลค่าธุรกิจ รายแรกผู้ผลิตเลนส์ประยุกต์นาโนทำเลนส์แว่นทนร่อยขีดข่วน อีกรายดึงนาโนทำฟิลเตอร์กรองน้ำกำจัดแบคทีเรีย

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานตระหนักถึงแนวโน้มในการใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีในอุตสาห-กรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในปี 2551 ตั้งเป้าที่จะต่อยอดผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย ผลิตเป็นนวัตกรรมส่งต่อให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการใช้งานนาโนเทคโนโลยี เช่น วัสดุลูกผสมในอุตสาหกรรม วัสดุ และระบบนำส่งในอุตสาหกรรมเวชสำอางและสมุนไพร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ สนช.ได้นำร่องสนับสนุนการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี 3 โครงการ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากเดิมหลายเท่าตัว ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเสื้อยืดนาโนซิลเวอร์ ป้องกันแบคทีเรีย ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดเกสรบัวหลวง ก่อให้เกิดรายได้ 52 ล้านบาท และโครงการผลิตเบตากลูแคนจากผนังเซลล์ของยีสต์ สร้างผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และครีมบำรุงผิว โดยสองโครงการหลังนี้อาศัยนาโนเทคโนโลยีนำส่งตัวยาในอนุภาคจิ๋ว ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท

“งบลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในบ้านเรา ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 900 ล้านบาท ใน 5 ปี ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณสนับสนุนในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐ ที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือแม้แต่เกาหลีที่ตั้งงบลงทุนวิจัยไว้ที่ 6 พันล้านบาท ดังนั้น เราจะต้องเร่งต่อยอดองค์ความรู้ส่งต่อผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำโดยตั้งเป้าปีหน้าจะผลักดันให้เกิด 10 นวัตกรรมนาโน” ผู้อำนวยการสนช. กล่าว

ทั้งนี้ สนช.ได้จัดการสัมธุรกิจนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย สู่ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยมีเอกชนร่วมสัมมนากว่า 150 บริษัท

นายธรณ์ ประจักษ์ธรรม ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเพิ่มประสิทธิภาพเลนส์แว่นตาให้คงทนต่อรอยขีดข่วน โดยค้นหานวัตกรรมวัสดุเคลือบเลนส์แว่นตา หรือออกไซด์บางตัวที่ออกฤทธิ์ได้ในระดับนาโน

“คุณสมบัติของเลนส์แว่นตาที่ต้องการ คือ พลาสติกที่ทนรอยขีดข่วน และมีค่าดัชนีการหักเหแสงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่หากพัฒนาสำเร็จจะสร้างมูลค่าและโอกาสในการแข่งขันได้มาก” นายธรณ์กล่าว และว่าปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวได้คืบหน้าไปมาก โดยบริษัทเตรียมทดลองผลิตต้นแบบเลนส์แว่นตาที่พัฒนาขึ้นในระดับโรงงานต้นแบบ ก่อนออกสู่ตลาด
ขณะที่ นายวิเชียร สวาทยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามคาสท์ ไนล่อน จำกัด กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการพัฒนาพลาสติกเชิงวิศวกรรมสูง โดยปัจจุบันบริษัทสามารถพัฒนาฟิลเตอร์กรองน้ำ สำหรับใช้ในเครื่องกรองน้ำดื่มให้มีคุณสมบัติกำจัดแบคทีเรียที่นำเข้า ซึ่งมีผลให้เครื่องกรองน้ำราคาแพง

“ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ พบว่าฟิลเตอร์กรองน้ำที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพดีกว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งผลิตจากสารเคมี ดังนั้นหากสามารถผลิตเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ถึง 70-80%” นายวิเชียรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ขุดน้ำแข็งขั้วโลกพบดีเอ็นเอเก่าแก่ที่สุด ชี้ร่องรอย "โลกร้อน" เมื่อแสนปีก่อน


เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – สำรวจชั้นน้ำแข็งกรีนแลนด์ พบดีเอ็นเอเก่าแก่ที่สุดในโลก ชี้บริเวณนั้นเคยปกคลุมด้วยผืนป่ามาก่อน นักวิจัยยันภาวะโลกร้อนเคยมีมาแล้วเมื่อหลายแสนปีก่อน แถมอุณหภูมิยังสูงกว่าปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส แต่ธารน้ำแข็งกลับไม่สะท้าน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างชั้นน้ำแข็งทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ พบใต้ชั้นน้ำแข็งลึกกว่า 2 กม. เต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตถูกฝังมายาวนาน บ่งชี้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นป่าเขียวชอุ่มก่อนที่จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ทั้งยังมีอุณหภูมิสูงกว่าในปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส หรือเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงโลกร้อน ดังเช่นสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยได้ตีพิมพ์รายงานลงในวารสารไซน์ (Science) และหวังใช้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาสิ่งที่อยู่ภายใต้ชั้นน้ำแข็งบริเวณอื่นๆ ทั่วโลกต่อไป

"การศึกษาตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้มาจากซากสิ่งมีชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็ง ทำให้เราสามารถจำลองสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเมื่อครั้งอดีตได้แม่นยำมากขึ้น" มาร์ติน ชาร์ป (Martin Sharp) ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) แคนาดา เปิดเผย

ซากสิ่งมีชีวิตที่พบใต้ชั้นน้ำแข็งยังไม่เน่าเปื่อยผุพัง ทำให้สกัดดีเอ็นเอบริสุทธิ์ได้ พบว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 450,000 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบัน ทีมสำรวจสันนิษฐานว่า ในอดีตธารน้ำแข็งกรีนแลนด์เคยถูกปกคลุมด้วยป่า ทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพด้วย โดยต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นพวกสนชนิดต่างๆ และเต็มไปด้วยแมลงหลากชนิด ทั้งผีเสื้อ แมงมุม เต่าทอง ด้วง เป็นต้น

ทั้งนี้ ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของกรีนแลนด์อยู่ในช่วง 450,000 – 900,000 ล้านปีก่อน และเป็นช่วงที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นในยุคนั้น หรือที่เรียกว่า ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (Interglacial Period) โดยอุณหภูมิขึ้นสูงสุด 10 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อน และต่ำสุด -17 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว ต่อมาเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงและเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งเมื่อราว 450,000 ปีก่อน ความหนาวเย็นและธารน้ำแข็งก็เข้าปกคลุมพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าว สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงถูกฝังและแช่แข็งอยู่ใต้ธารน้ำแข็งโดยไม่เน่าเปื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบฟอสซิลอายุ 2.4 ล้านปี ทางตอนเหนือของกรีนแลนด์ และเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าสภาพพื้นที่ของกรีนแลนด์เมื่อ 2.4 ล้านปีที่แล้ว เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน

นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย คือเมื่อ 116,000 – 130,000 ปีก่อน อุณหภูมิบริเวณธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ยังสูงกว่าในปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส แต่ธารน้ำแข็งที่หนา 1,000-1,500 เมตร กลับไม่หลอมละลายไปจนหมด ทั้งที่จากการวิจัย อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 3 องศาก็สามารถทำให้ธารน้ำแข็งหลอมเหลวได้แล้ว

“ชั้นน้ำแข็งที่เราขุดลึกกว่า 2 กม. ต่างจากกรีนแลนด์ที่เราเห็นในปัจจุบันมาก” ศาสตราจารย์เอสเก วิลเลอร์สเลฟ (Eske Willerslev) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในผู้ร่วมศึกษา กล่าวและเพิ่มเติมว่า ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์นี้มีเสถียรภาพมากกว่าที่คิดกันไว้เสียอีก

จากการศึกษานี้ ทำให้นักวิจัยทราบว่าปรากฏการณ์โลกร้อนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งยังร้อนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียอีก แต่ธารน้ำแข็งก็ยังคงตัวอยู่ได้ ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายลงรวดเร็วกว่าเมื่อครั้งอดีต โดยปี 2539 ละลายไป 100 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มขึ้นเป็น 220 ลูกบาศก์เมตรในปี 2548 หากธารน้ำแข็งละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 7 เมตร แต่ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อธารน้ำแข็งบริเวณหนึ่งละลายจนบางลง จะพบบริเวณอื่นหนาขึ้นมาแทน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งทีมวิจัยทางฝั่งยุโรปที่ดำเนินโครงการอีพีไอซีเอ (EPICA : European Project for Ice Coring in Antarctica) เพื่อสำรวจใจกลางชั้นน้ำแข็ง โดยพวกเขาได้ขุดธารน้ำแข็งบริเวณทิศตะวันออกของแอนตาร์กติกาลึกลงไปถึง 3,260 เมตร และศึกษาฟองอากาศของดิวเทอเรียม (ไอโซโทปของไฮโดรเจน) ที่ถูกกักอยู่ในชั้นน้ำแข็งมาเป็นเวลายาวนาน พบว่า บริเวณนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงกว้างตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิสูงสุด 15 องศาเซลเซียส และในช่วงปลายยุคน้ำแข็งซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ 11,000 ปีก่อน อุณหภูมิต่ำกว่าปัจจุบันถึง 10 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในอดีต พบว่ายุคน้ำแข็งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ซึ่งเมื่อยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลง อุณหภูมิโลกก็จะค่อยสูงขึ้น อากาศอบอุ่นขึ้น ที่เรียกว่า ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง โดยจะกินเวลานานนับหมื่นหรือแสนปีก่อนที่จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง และติดตามมาด้วยช่วงอบอุ่นที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่นี้อาจจะเป็นช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งที่หมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง เพียงแต่ในอดีตไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายเช่นในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000080122