Thursday, July 5, 2007
กระทรวงวิทย์คัด 15 เด็กไทยเก่งวิทย์เรียนต่อถึงป.เอก
ทีเอ็มซี – กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประกาศผลพร้อมมอบทุนการศึกษาให้ 15 เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ได้เรียนต่อจบจบปริญญาเอกในประเทศ หลังเฟ้นหาทั่วประเทศจากผู้สมัครกว่า 2,000 คน
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานพิธีมอบทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: เจเอสทีพี) รุ่นที่ 9 ประจำปี 2550 ขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รอง ผอ.ทีเอ็มซี ประธานพิธีมอบทุนการศึกษา กล่าวว่า ผลการคัดเลือกปรากฏว่า จากยอดการสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,388 คน มีเด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรีผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการค่ายระยะยาวของเจเอสทีพีจำนวน 15 คนด้วยกัน โดยทุกรายจะได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจนจบปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาภายในประเทศ
เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 15 คน คือ น.ส.อาจรีย์ มงคลสิทธิศิลป์ ม.6 รร.ราชวินิต บางแก้ว นายพัชรพงศ์ ทังสุนันท์ ปี 1 คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ น.ส.ปณิสา จำปาศรี ม.5 รร.ดาราวิทยาลัย น.ส.ชนิดา กิจอุดมรัตน์ ม.5 รร.สตรีวิทยา นายธนพล สืบเชื้อ ม.6 รร.เตรียมอุดมศึกษา นายอิทธิกร เติมสารทรัพย์ ม.5 รร.อัสสัมชัญ น.ส.กนกเนตร สุภาศรี ม.5 รร.ดาราวิทยาลัย นายธรรมนูญ คำสาร ม.6 รร.ป่าตาลบ้านธิพิทยา
นายวเรศ จันทร์เจริญ ม.5 รร.อัสสัมชัญธนบุรี นายฐปน วรวุฒิวัฒน์ ม.5 รร.กรุงเทพคริสเตียน นายสุกฤต สุจริตกุล ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นายชัยวัฒน์ ศุภศิลป์ ม.6 รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ นายจารุพงษ์ แสงบุญมี ม.4 รร.ห้วยเม็กวิทยาคม นายชลกานต์ ธรรมมงกุฎ ม.3 รร.ภูเก็ตวิทยาลัย และนายนายปิยภัทร สราญฤทธิชัย ม.4 รร.มหิดลวิทยานุสรณ์
ตัวอย่างโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเช่น การผสมสีย้อมเพื่อให้ dye-sensitized solar cell ดูดกลืนแสงในช่วงคลื่นกว้าง, พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจากการถ่ายเทความร้อน, ดิจิตอล มิเตอร์, ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงามจากเปลือกผลแก้วมังกร, การหารากเชิงซ้อนทั่วไปของสมการในรูปแบบ ax = b และการพัฒนาพอลิเมอร์ที่สลายตัวทางชีวภาพสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ และทางการแพทย์
การมอบทุนการศึกษาระยะยาวดังกล่าวเป็นหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 เยาวชนที่ได้รับคัดเลือกจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ อาทิ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เกษตรศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000077997
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment