Monday, July 23, 2007

เด็กจุฬาฯ คว้ารางวัลอินเตอร์ "กระจกหน้ารถนาโน" ไม่ต้องพึ่งที่ปัดน้ำฝน


พูดถึงนาโนเทคโนโลยี หลายคนคงบอกว่ายากที่จะเชื่อมโยงให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ แต่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่านาโนเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ผ่านผลงาน “กระจกหน้ารถอัจฉริยะ” ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยนาโนเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 13 -15 มิ.ย. ณ ประเทศไต้หวัน มาครองได้

ทีมเยาวชนดังกล่าวประกอบด้วย นายวรรธกะ สีตบุตร นายณัฏฐพงษ์ ตันติอานนท์ น.ส.วริญญา เชมนะสิริ และนายศวิษฐ์ ณ สงขลา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ รั้วจามจุรี โดยพวกเขาได้รับโจทย์จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันให้สร้างสรรค์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีชนิดใหม่ขึ้น จากสารอนุภาคนาโนปริศนา 4 ชนิดเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีวี่แววว่าจะใช้งานจริงให้ได้มากที่สุด

น.ส.วริญญา สมาชิกหญิงคนเดียวในทีม เผยว่า หลังจากลองผิดลองถูกมาพักใหญ่ๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้คุณสมบัติ “ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ” ของสารปริศนา 1 ใน 4 ชนิด ซึ่งเป็นสารประกอบซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ให้ออกมาใช้งานได้ ในรูปของ “กระจกหน้ารถอัจฉริยะ” ที่ไม่จำเป็นต้องมีที่ปัดน้ำฝนก็จะไม่มีเม็ดฝนเกาะกระจก โดยกำลังอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการดังกล่าว

ด้วยการเคลือบฟิล์มบางของสารดังกล่าวให้กับกระจกที่ระดับความหนา 500 นาโนเมตร พร้อมแบ่งเป็นช่องเล็กๆ (grid) และต่อสายไฟโปร่งใสขนาดนาโนให้กับผิวด้านในกระจกหน้ารถ นายณัฏฐพงษ์ อธิบายว่า เมื่อป้อนกระแสไฟฟ้าจากไมโครคอนโทรลเลอร์เข้าไปแล้ว กระจกก็จะเปลี่ยนคุณสมบัติจากชอบน้ำไปเป็นไม่ชอบน้ำได้ตามรูปแบบที่เขียนโปรแกรมควบคุมทิศทางการไหลของน้ำไว้ ทำให้น้ำที่ติดอยู่กับกระจกในบริเวณนั้นๆ รวมตัวกันเป็นหยดและไหลลงไปจากกระจกหน้ารถเองโดยอัตโนมัติ แถมยังเป็นการทำความสะอาดกระจกไปในตัวด้วย

จากนั้น เมื่อฝนหยุดตกและหยุดป้อนกระแสไฟฟ้าแล้ว แผ่นฟิล์มบางบนกระจกก็จะกลับมาคงคุณสมบัติชอบน้ำดังเดิม ทำให้หยดน้ำที่ยังอาจหลงเหลืออยู่แพร่กระจายบนกระจกเป็นฟิล์มบาง แล้วค่อยๆ ระเหยเป็นไอน้ำ จนไม่ทำให้เกิดฝ้าบนกระจกในที่สุด

ขณะที่อีก 2 สมาชิกทีมคือ นายวรรธกะ และนายศวิษฐ์ กล่าวว่า ประโยชน์ของกระจกหน้ารถอัจฉริยะดังกล่าวจะช่วยให้ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเนื่องมาจากทัศนวิสัยไม่ดีระหว่างฝนตกได้ โดยทำให้ทัศนวิสัยดีขึ้นราว 33% การขับขี่จึงความปลอดภัยขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากมีการใช้งานจริงก็มีความเป็นไปได้ด้านราคาและมีอายุการใช้งานหลายปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนยางที่ปัดน้ำฝนทุกๆ 2 -3 ปี นอกจากนั้นยังอาจนำกระบวนการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับกระจกที่ต้องการความชัดเจนในยานพานะอื่นๆ ได้ด้วย

ทั้งนี้ โครงงานวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดส่งเข้าร่วมการแข่งขันตามที่เป็นเครือข่ายสภานาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอเอ็นเอฟ) มีผลงานที่ร่วมส่งไปด้วยอีก 4 ชิ้น แบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ชิ้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 ชิ้น และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียอีก 1 ชิ้น ซึ่งทีมพัฒนากระจกหน้ารถอัจฉริยะสามารถชิงรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000084952

No comments: