ศูนย์เทคโนโลยีโลหะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า มุ่งคุณสมบัติลดการปล่อยก๊าซโลกร้อน เริ่มตั้งแต่เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายเป็นตัวถัง ขณะที่ชิ้นส่วนเน้นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ คาดยลโฉมรถต้นแบบ เม.ย. 2551 ราคาขายต่ำกว่า 2 แสน
ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ทีมวิจัยออกแบบรถไฟฟ้าต้นแบบ โดยเพิ่มประสิทธิภาพลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุโลกร้อนให้ได้มากกว่า 60% ขณะที่รถไฟฟ้าทั่วไปลดการปล่อยก๊าซได้ 40%
โครงสร้างรถต้นแบบจะทำจากอะลูมิเนียมที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือออกแบบให้ปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อยืดอายุชิ้นส่วน โดยที่การออกแบบข้างต้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพเครื่องยนต์
รถดังกล่าวจะมีสมรรถนะเทียบเท่ารถยนต์เล็ก 1,300 ซีซี ขนาด 2-4 ที่นั่ง น้ำหนัก 300-600 กก. วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อ ชม. ชาร์จแบตเตอรี่ 12 ชม. วิ่งได้ระยะทาง 100 กม. เอ็มเทคจะพัฒนาระบบชาร์จของรถต้นแบบให้เป็นแบบรวดเร็ว หรือลดจาก 12 ชม. เหลือเพียง 30 นาที ได้กำลังไฟ 80%
"การพัฒนารถยนต์ต้นแบบให้ได้มาตรฐานสากล ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้า จึงต้องมีระบบป้องกันไฟฟ้ารั่ว โดยรถต้นแบบต้องวิ่งผ่านน้ำ หรือขับขี่กลางสายฝนได้ ถือเป็นโจทย์ที่ทีมวิจัยต้องให้ความสำคัญ” หัวหน้าโครงการ กล่าว
นายสามารถ ดีพิจารณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีแทป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งร่วมโครงการพัฒนารถไฟฟ้าต้นแบบดังกล่าว กล่าวว่า รถต้นแบบน่าจะแล้วเสร็จราวเดือนเมษายน 2551 ราคาขายไม่เกิน 2 แสนบาท โดยผู้ขับขี่ในแถบยุโรปให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานสะอาดอย่างมาก จึงเหมาะเป็นตลาดรองรับรถไฟฟ้าของไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Friday, July 27, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment