Tuesday, July 10, 2007

ก.วิทย์จับคู่ภาคเอกชนผลิตสินค้านาโน ปีหน้าโชว์ 10 ผลงานนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าธุรกิจ

สำนักงานนวัตกรรมเดินเครื่องจับคู่งานวิจัยนาโนเทคโนโลยี ในรั้วมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปีหน้าผลิต 10 นวัตกรรมนาโน พร้อมเปิดตัวสองเอกชนนำร่องวิจัยนาโนเพิ่มมูลค่าธุรกิจ รายแรกผู้ผลิตเลนส์ประยุกต์นาโนทำเลนส์แว่นทนร่อยขีดข่วน อีกรายดึงนาโนทำฟิลเตอร์กรองน้ำกำจัดแบคทีเรีย

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานตระหนักถึงแนวโน้มในการใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีในอุตสาห-กรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในปี 2551 ตั้งเป้าที่จะต่อยอดผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย ผลิตเป็นนวัตกรรมส่งต่อให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการใช้งานนาโนเทคโนโลยี เช่น วัสดุลูกผสมในอุตสาหกรรม วัสดุ และระบบนำส่งในอุตสาหกรรมเวชสำอางและสมุนไพร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ สนช.ได้นำร่องสนับสนุนการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี 3 โครงการ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากเดิมหลายเท่าตัว ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเสื้อยืดนาโนซิลเวอร์ ป้องกันแบคทีเรีย ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดเกสรบัวหลวง ก่อให้เกิดรายได้ 52 ล้านบาท และโครงการผลิตเบตากลูแคนจากผนังเซลล์ของยีสต์ สร้างผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และครีมบำรุงผิว โดยสองโครงการหลังนี้อาศัยนาโนเทคโนโลยีนำส่งตัวยาในอนุภาคจิ๋ว ก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท

“งบลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีในบ้านเรา ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 900 ล้านบาท ใน 5 ปี ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณสนับสนุนในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐ ที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือแม้แต่เกาหลีที่ตั้งงบลงทุนวิจัยไว้ที่ 6 พันล้านบาท ดังนั้น เราจะต้องเร่งต่อยอดองค์ความรู้ส่งต่อผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำโดยตั้งเป้าปีหน้าจะผลักดันให้เกิด 10 นวัตกรรมนาโน” ผู้อำนวยการสนช. กล่าว

ทั้งนี้ สนช.ได้จัดการสัมธุรกิจนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย สู่ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยมีเอกชนร่วมสัมมนากว่า 150 บริษัท

นายธรณ์ ประจักษ์ธรรม ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเพิ่มประสิทธิภาพเลนส์แว่นตาให้คงทนต่อรอยขีดข่วน โดยค้นหานวัตกรรมวัสดุเคลือบเลนส์แว่นตา หรือออกไซด์บางตัวที่ออกฤทธิ์ได้ในระดับนาโน

“คุณสมบัติของเลนส์แว่นตาที่ต้องการ คือ พลาสติกที่ทนรอยขีดข่วน และมีค่าดัชนีการหักเหแสงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่หากพัฒนาสำเร็จจะสร้างมูลค่าและโอกาสในการแข่งขันได้มาก” นายธรณ์กล่าว และว่าปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวได้คืบหน้าไปมาก โดยบริษัทเตรียมทดลองผลิตต้นแบบเลนส์แว่นตาที่พัฒนาขึ้นในระดับโรงงานต้นแบบ ก่อนออกสู่ตลาด
ขณะที่ นายวิเชียร สวาทยานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามคาสท์ ไนล่อน จำกัด กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการพัฒนาพลาสติกเชิงวิศวกรรมสูง โดยปัจจุบันบริษัทสามารถพัฒนาฟิลเตอร์กรองน้ำ สำหรับใช้ในเครื่องกรองน้ำดื่มให้มีคุณสมบัติกำจัดแบคทีเรียที่นำเข้า ซึ่งมีผลให้เครื่องกรองน้ำราคาแพง

“ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ พบว่าฟิลเตอร์กรองน้ำที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพดีกว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งผลิตจากสารเคมี ดังนั้นหากสามารถผลิตเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ถึง 70-80%” นายวิเชียรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: