Tuesday, July 24, 2007

กระจกรถเคลือบสารนาโนไล่ฝ้า เพิ่มทัศนวิสัยขับขี่ ก้านปัดน้ำฝนตกงาน

อุปกรณ์ที่ต้องทำงานหนักในช่วงหน้าฝนคงเป็นที่ปัดน้ำฝน คอยกวาดน้ำและเช็ดฝ้าที่เกาะอยู่หน้ากระจก อนาคตอุปกรณ์ปัดน้ำฝนอาจตกงาน เมื่อนักศึกษาจากจุฬาฯ ใช้อนุภาคนาโนเคลือบกระจกไล่ฝ้าและคราบน้ำ คว้ารางวัลนวัตกรรมนาโนปีล่าสุดจากไต้หวัน

นายศวิษฐ์ ณ สงขลา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงาน ได้ศึกษาเทคนิคนำสารเคลือบนาโนไล่ฝ้าที่คิดค้นโดยนักวิจัยชาวไต้หวัน มาใช้แก้ปัญหาฝ้าเกาะบริเวณกระจก เนื่องจากความชื้นและเกิดพร่ามัวเมื่อฝนตกหนัก มีผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ

สารเคลือบนาโนดังกล่าวมีคุณสมบัติสองชนิด ได้แก่ ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำจะถูกนำมาเคลือบเป็นจุดขนาดเล็กเพียง 0.1 มม. ลงบนกระจกรถสลับคั่นด้วยลวดนำไฟฟ้าบางขนาด 500 นาโนเมตร มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สายลวดนำไฟฟ้าดังกล่าวต่อเข้ากับชุดควบคุมอิเล็กทรอนิสก์จ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ ความร้อนจากเส้นลวดจะเปลี่ยนสารเคลือบนาโนให้แสดงคุณสมบัติไม่ชอบน้ำเวลาฝนตกเพื่อกันไม่ให้เกิดคราบน้ำฝนเกาะบนกระจก

หลังจากฝนหยุดตก อุณหภูมิในรถและนอกรถที่ไม่เท่ากันทำให้กระจกด้านหน้าเกิดเป็นฝ้า คุณสมบัติสารเคลือบชอบน้ำจะทำให้หยดน้ำแผ่กระจายออกอย่างสม่ำเสมอก่อนที่จะระเหยไป ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยด้านการขับขี่ให้ดีขึ้นประมาณ 33% เทียบกับกระจกหน้ารถที่ต้องคอยเปิดปิดสวิตช์ที่ปัดน้ำฝนไล่น้ำ

“เทคโนโลยีที่ออกแบบขึ้นจะทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุ่นค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษา เนื่องจากสารที่เคลือบมีอายุการใช้งานที่นานหลายปีเมื่อเทียบกับที่ปัดน้ำฝนแบบเดิมที่มีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น และยังไม่สามารถแก้ปัญหาพร่ามัว หรือการเกิดไอน้ำหลังฝนตกได้เลย” สมาชิกทีมวิจัย กล่าว

นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ที่เหมาะสมได้ เช่น การนำไปเคลือบบริเวณกระจกหน้าของเครื่องบิน หรือกระจกบางชนิดที่ต้องการคุณสมบัติดังกล่าว สำหรับเพิ่มทัศนวิสัยในด้านการมองเห็น

งานวิจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยี ภายใต้การสนับสนุนในโครงการเครือข่ายศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักในด้านกิจกรรมและงานวิจัยต่างๆ ด้านนาโนให้แก่เยาวชน

ศูนย์นาโนเทคโนโลยียังได้เปิดตัวเวปไซต์ www.thai-nano.com รวบรวมบทความนาโนที่เป็นประโยชน์ในทุกด้าน เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การแพทย์ การพลังงาน และสภาพแวดล้อม หรือยานยนต์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: