Monday, July 9, 2007

มช.ตั้งสถาบันศึกษาแผ่นดินไหว-น้ำท่วม


ม.เชียงใหม่จัดตั้งสถาบันพิภพวิทยาศึกษาการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินไหว น้ำท่วม โคลนถล่ม เป็นแห่งแรกในเอเชีย ระดมนักวิชาการ 5 สาขานำร่องทำวิจัยโคลนถล่มในพื้นที่เชียงใหม่และตาก

ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งสถาบันพิภพวิทยา (Earth Science Institute) ขึ้น เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งที่อยู่ใต้ดิน บนดิน และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยมีทีมอาจารย์จากหลายสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมคณะ เช่น สาขาธรณีวิทยา สาขาปฐพีวิทยา สาขาภูมิศาสตร์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ และสาขาสังคมศาสตร์

สถาบันพิภพวิทยาจะตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทำแผน โดยส่วนหนึ่งจะใช้งบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย และจะขออนุมัติงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนจึงจะสามารถสรุปตัวเลขงบประมาณที่จะยื่นของบประมาณได้

การจัดตั้งสถาบันแห่งนี้จะช่วยให้นักวิชาการ ผู้ที่สนใจ ตลอดจนประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของแหล่งข้อมูลทางวิชาการ การติดตามในส่วนของผลกระทบและการเปลี่ยนของโลกที่จะเกิดขึ้นด้วย

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันพิภพวิทยาถือเป็นสถาบันที่ศึกษาด้านธรณีพิบัติแห่งแรกของไทยและยังถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่สถาบันลักษณะเช่นนี้จะมีอยู่เพียงกลุ่มประเทศยุโรปเท่านั้น

จุดประสงค์หลักของการจัดตั้งสถาบันขึ้น เพื่อต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งในเรื่องของน้ำท่วม แผ่นดินไหว โคลนถล่ม ตลอดจนภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเบื้องต้นทำการศึกษาสำรวจครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด เนื่องจากเป็นที่สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและสถาบัน และยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่อาจารย์และทีมงานมีความเชี่ยวชาญอีกด้วย

"สำหรับบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินการนั้นเบื้องต้น จะเป็นการบูรณาการระหว่างอาจารย์จากภาควิชาและคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เกี่ยวข้อง ในระดับผู้บริหารสถาบันก็คงจะเป็นการคัดเลือกจากบุคลากรทั้งหมด โดยในระยะยาวจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาและมีความร่วมมือทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

แม้จะก่อตั้งสถาบันยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ แต่ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยแล้ว เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มของการเกิดโคลนถล่มในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งขณะนี้สามารถแยกแยะพื้นที่จุดเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ในอนาคตคาดว่าสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ระยะเวลาที่จะเกิดโคลนถล่มได้ล่วงหน้า

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/09/WW54_5401_news.php?newsid=83044

No comments: