Monday, July 23, 2007

น่าตระหนกแค่ไหน? เมื่อนักดาราศาสตร์บอกว่า "ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก"


นาซา/ผู้จัดการออนไลน์- เมื่อมีข่าว "อุกาบาต" หรือ "ดาวเคราะห์น้อย" จะพุ่งชนโลก ทีไรก็ได้รับความสนใจจากชาวโลกไม่น้อย แท้จริงแล้ว...เราควรจะตกใจหรือตั้งสติและสืบค้นข้อมูลว่าวัตถุอวกาศนั้นถูกค้นพบมานานแค่ไหน เพราะวัตถุที่เพิ่งถูกค้นพบนั้นมักจะติดในบัญชีเสี่ยงชนโลก แต่มีความคลาดเคลื่อนสูงจนถูกถอดในภายหลังเมื่อมีข้อมูลสำรวจมากขึ้น

หลังจากมีข่าวดาวเคราะห์น้อย "อะโพฟิส" (Apophis) จะพุ่งชนโลกในอีก 29 ปี ซึ่งเม็กซิโกตอนเหนือคือเป้าหมายที่จะถูกพุ่งชนด้วยความแรงเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 870 เมกะตัน โดยจะเฉียดเข้าใกล้โลกที่ระยะ 34,400 กิโลเมตรหรือใกล้โลกมากกว่า 11 เท่าของวงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งะจะเข้าใกล้โลก 2 ครั้งคือในวันที่ 13 เม.ย.2572 และวันที่ 13 เม.ย. 2579

"ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้สอบถามไปยังวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้ให้ข้อมูลในข่าวดังกล่าวซึ่งเผยว่าได้อ้างอิงข้อมูลจากวารสารแอสโทรโนมี (Astronomy) ฉบับเดือนมิ.ย.2549 โดยเพิ่มเติมว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าใกล้โลกครั้งแรกในอีก 22 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องพิจารณาว่าแรงดึงดูดของโลกจะทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงเบนไปเท่าไหร่ พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าหากเป็นดาวพฤหัสบดีแล้วดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนดาวก๊าซยักษ์นั้นทันที

วรวิทย์กล่าวว่า นักดาราศาสตร์พยายามจับตาว่าถ้าอะโพฟิสเข้าใกล้โลกแล้วจะเบี่ยงเบนไปเท่าไหร่ โดยในการค้นพบครั้งแรกนักดาราศาสตร์คำนวณโดยวิเคราะห์จากภาพถ่ายด้วยกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่านกลาง 2.29 เมตรว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลก แต่เมื่อตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่าดาวเคราะห์น้อยแค่เฉียดโลกเท่านั้น

"ในครั้งแรกที่อะโพฟิสเฉียดใกล้โลกนั้น ไทยจะเห็นในช่วงหัวค่ำเป็นจุดที่มีความสว่าง -3 หรือสว่างมากกว่าดาวพฤหัสบดี โดยดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วปรากฏบนท้องฟ้า 42 องศาต่อชั่วโมง ซึ่งหากวัดคร่าวๆ ด้วยมือจะได้เท่ากับ 4 กำปั้นและ 1 นิ้วโป้ง" วรวิทย์ให้ข้อมูลการปรากฏของอะโพฟิสเมื่อเข้าใกล้โลกในปี 2572

อย่างไรก็ตาม นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลก (ลีซา) กล่าวถ้าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลกจริงต้องเป็นข่าวดังระดับตึกเวิร์ลเทรดในสหรัฐอเมริกาถล่ม แต่ข่าวนี้กลับไม่เป็นที่ทราบของคนในวงการดาราศาสตร์ อีกทั้งเขาเองก็มีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับการสำรวจวัตถุที่จะพุ่งชนโลก หากเป็นเรื่องจริงเขาคงได้รับแจ้งข้อมูลจากเพื่อนแล้ว

"(ถ้าจะเกิดขึ้นจริง) มันต้องเป็นข่าวในวงการ แต่นี่มันเหมือนข่าวโคมลอยว่าโลกจะแตก" น.อ.ฐากูรกล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่าดาวเคราะห์น้อยไม่พุ่งชนโลกแน่

ขณะที่วิภู รุโจปการ นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ แห่งหอดูดาวสตีวาร์ด (Steward Observatory) ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซนา (The University of Arizona) ก็ให้ความเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ต้องตื่นเต้นกับข่าวดังกล่าว เพราะมีดาวเคราะห์น้อยและอุกาบาตเฉียดใกล้โลกบ่อยมาก โดยเฉลี่ยเดือนละ 10-20 ดวง และมีวัตถุอวกาศที่อยู่ใกล้โลกประมาณกว่า 3 แสนชิ้น

วิภูได้อธิบายว่าในการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวครั้งแรกนั้นยังมีข้อมูลไม่มากนั้น และการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจากที่พบวัตถุเพียง 2-3 ครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนที่กว้างมาก แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นก็ทำให้ความคลาดเคลื่อนน้อยลงและพบว่าวัตถุนั้นจะไม่พุ่งชนโลก ไม่เพียงเฉพาะอะโพฟิสเท่านั้นแต่ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงที่พบในครั้งแรกแล้วนักดาราศาสตร์คาดว่าจะพุ่งชนโลก แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นก็พบว่าไม่ใช่

สำหรับระยะที่อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกมากกว่าวงโคจรของดวงจันทร์ถึง 11 เท่านั้น วิภูให้ความเห็นว่าเป็นระยะที่ค่อนข้างใกล้มากแต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวมีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งอะโพฟิสนี้ก็มีขนาดใหญ่พอสมควรแต่ไม่ใหญ่มาก โดยดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะที่ใหญ่สุดคือ "ซีเรส" (Ceres) ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดรองลงมาก็มีขนาดเพียง 200-300 เมตรเท่านั้น และนักดาราศาสตร์ก็พบวัตถุที่อยู่แถวๆ ดาวเคราะห์แคระพลูโตทุกดวงแล้ว

"โอกาสที่โลกจะถูกชนจนสิ่งมีชีวิตสูญพันธ์นั้นไม่มีแล้ว และคงต้องรออีกนาน แต่ชนแล้วเมืองสักแห่งหายไปก็อาจจะมี แต่ในรอบ 100-200 ปีนี้เราคงไม่โดนอย่างนั้นแน่ๆ" วิภูกล่าว

ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสได้รับการค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2547โดยนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแห่งชาติคิทต์พีค (Kitt Peak National Observation) ในอริโซนา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) สหรัฐอเมริกา และชื่อที่รู้จักในครั้งแรกคือ 2004 เอ็มเอ็น 4 (2004 MN4)

การจัดอันดับความเสี่ยงตามสเกลโทริโน (Torino Scale) ที่แบ่งความเสี่ยงของโอกาสที่วัตถุในท้องฟ้าจะพุ่งชนโลกไว้ตั้งแต่ 0-10 นั้น อะโพฟิสได้รับการจัดอันดับไว้ที่ 0

ทั้งนี้ 0 คือโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกและ 10 คือดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกและสร้างหายนะให้กับโลกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเคยถูกจัดอันดับโอกาสพุ่งชนไว้ที่ 4 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดเท่าที่เคยมี แต่ถูกลดอันดับหลังจากมีการสำรวจเพิ่มเติม

สำหรับวันที่ 13 เม.ย.2579 ที่อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกนั้นมีโอกาสพุ่งชนโลกประมาณ 1 ใน 45,000 และจากการประเมินล่าสุดในวันที่ 19 ต.ค.2549 ระบุว่าความน่าจะเป็นอยู่ที่ 1 ใน 12.3 ล้าน

ที่สำคัญ ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) มีโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object Program : NEO) เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่โลกจะถูกพุ่งชนและยังมีโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ "สำรวจพิทักษ์ในอวกาศ" (Spaceguard Survey) เพื่อติดตามวัตถุที่จะเข้าใกล้โลกหรือ "นีโอ" (NEO) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 กิโลเมตร โครงการเหล่านี้ทำให้นาซาต่อยอดสู่หลายโครงการอวกาศ อาทิ โครงการเนียร์ (Near Earth Asteriod Rendezvous: NEAR) ซึ่งศึกษาอุกาบาตที่เข้าใกล้โลก โครงการดีพอิมแพ็ค (Deep Impact) และโครงการสตาร์ดัสต์ (Stardust) เป็นต้น

ภายในโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลกนาซาได้เผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงที่โลกจะถูกพุ่งชนจากทั้งอุกาบาตและดาวเคราะห์น้อย โดยมักจะเป็นวัตถุที่เพิ่งค้นพบ

อย่างไรก็ดี นาซาก็ชี้แจงไว้ในเว็บไซต์ว่าวัตถุที่ค้นพบใหม่นั้นมักจะอยู่ในบัญชีอันตรายที่จะพุ่งชนโลก และเมื่อมีข้อมูลการสำรวจที่มากขึ้นวัตถุเหล่านั้นก็จะหลุดออกจากบัญชีเสี่ยงอันตรายในเวลาอันสั้นและมักจะเป็นเช่นนี้เสมอๆ

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลของนาซาเราก็ไม่พบอะโพฟิสอยู่บัญชีดังกล่าว ทั้งนี้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บเพจหน้า Impact Risk (http://neo.jpl.nasa.gov/risk/) ของโครงการนีโอที่ดูแลโดยห้องปฏิบัติการจรวดขับดัน (JPL) และมีการอัพเดทข้อมูลวัตถุใกล้โลก และที่คาดว่าจะเฉียดโลกให้ทราบล่วงหน้ากันทุกวัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อนก็มีความตื่นตระหนกในลักษณะเดียวกันนี้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2002 เอ็นที7 (2202 NT7) จะพุ่งชนโลกในวันที่ 1 ก.พ.2562 แต่หลังจากการสำรวจเพิ่มเติมดาวเคราะห์ดังกล่าวก็ถูกถอดออกจากบัญชีเสี่ยง ซึ่งดอน ยีโอแมนส์ (Don Yeomans) ผู้อำนวยการโครงการสำรวจวัตถุใกล้โลกก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านเว็บไซต์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติที่เราคาดได้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าวัตถุที่เพิ่งค้นพบนั้นมีความเสี่ยงต่ำที่จะพุ่งชนโลกหรือไม่จนกว่าจะมีข้อมูลสำรวจเพิ่มเติม

ทั้งนี้นาซาก็มีแผนรับมือวัตถุพุ่งชนโลก 3 วิธี โดยวิธีแรกคือระเบิดด้วยนิวเคลียร์ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จมากว่า 10-100 เท่าของวิธีที่ 2 ที่ใช้การกระแทกเชิงจลศาสตร์โดยไม่ใช้นิวเคลียร์ (Non-Nuclear Kinetic Impact) และวิธีสุดท้ายคือ "การผลักช้าๆ" (Slow push) ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงและระดับความพร้อมทางเทคนิคในขณะนี้ยังค่อนข้างต่ำ

ส่วนวัตถุในอวกาศที่เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2547 อุกาบาต 2004 เอฟเอช (2004 FH) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30 เมตรได้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่ระยะ 43,000 กิโลเมตร และนักดาราศาสตร์ก็ตรวจพบเพียง 3 วันก่อนที่อุกาบาตดังกล่าวจะเคลื่อนเข้ามาใกล้โลก

จากนั้นอีกเพียง 2 อาทิตย์ 2004 เอฟยู162 (2004 FU162) อุกาบาตขนาดเล็กก็เข้าใกล้โลกเพียง 6,500 กิโลเมตรจากพื้นโลกหรือเพียง 1 ใน 60 เท่าของระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ แต่ด้วยขนาดที่เล็กเพียง 6 เมตร นักดาราศาสตร์จึงค้นพบวัตถุดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด และถ้าอุกาบาตขนาดเล็กนี้พุ่งชนโลกก็จะถูกทำลายไปภายในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะได้สร้างความเสียหายให้สิ่งมีชีวิตบนโลก

หลายคนอาจไม่ทราบว่าเมื่อ 20 ก.ค.ที่เพิ่งผ่านไปนั้นดาวเคราะห์น้อย 2003 เอชเอฟ2 (2003HF2) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 320-720 เมตรได้เข้าใกล้โลกที่ระยะ 17.69 ล้านกิโลเมตรด้วยความเร็ว 67,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลวัตถุที่เพิ่งเฉียดใกล้โลกได้ที่ http://neo.jpl.nasa.gov/ca/

นอกจากนี้นาซายังมีโครงการส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยและไขความลับของกำเนิดระบบสุริยะภายใต้ปฏิบัติการ "ดอว์น" (Dawn) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับซีเรสและเวสตา (Vesta) ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ 2 ดวงซึ่งเป็นที่รู้จักดีในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยมีกำหนดส่งยานในเดือน ก.ค.นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.ย.ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ จึงต้องต่อคิวส่งยานหลังปฏิบัติการส่งยานฟีนิกส์ (Phoenix Mars Lander) ไปสำรวจดาวอังคารในเดือน ส.ค.นี้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000085515

No comments: