Tuesday, July 24, 2007

พายุฝุ่นดาวอังคารทำ 2 มาร์สโรเวอร์เดี้ยงชาร์จไฟไม่ได้


เอเอฟพี/เอเยนซี/บีบีซีนิวส์ – ออพพอร์จูนิตีและสปิริต สองยานสำรวจบนดาวแดงเจอพายุฝุ่นกระหน่ำมาเป็นเดือนและบดบังแสงอาทิตย์ไว้จนทำให้ยานแทบชาร์จแบตเตอรีไม่ได้ นาซาหวั่นเกิดความเสียหายกับยานเลยต้องสั่งหยุดการทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีพลังงานเหลือพอสำหรับเครื่องทำความร้อน อุปกรณ์จำเป็นสุดสำหรับยาน

หลังจากเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารได้ 3 ปีกว่า 2 รถหุ่นยนต์สำรวจอวกาศ "ออพพอร์จูนิตี" (Opportunity) และ "สปิริต" (Spirit) ก็ต้องเผชิญพายุฝุ่นรุนแรงเป็นครั้งแรกและโหมกระหน่ำมานานนับเดือน จนทำให้ยานอยู่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติเพราะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เนื่องจากฝุ่นหนาที่ฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างปิดกั้นไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องถึงตัวยาน ซึ่งต้องอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยเฉพาะเครื่องทำความร้อนที่จำเป็นมากสำหรับประสิทธิภาพและความอยู่รอดของยาน

เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ออกมาเปิดเผยว่า พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นบริเวณเมอริเดียนิ (Meridiani) ใต้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารที่ยานออพพอร์จูนิตีสำรวจอยู่นั้นบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาบริเวณดังกล่าวถึง 99% ทำให้ยานออพพอร์จูนิตีชาร์จแบตเตอรีได้น้อยมาก เกรงว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานและสร้างความอบอุ่นให้กับตัวยาน ส่วนยานสปิริตก็เจอสถานการณ์เดียวกันแต่ไม่รุนแรงเท่า

"ทางเรากำลังหาหนทางช่วยกู้วิกฤติให้ยานทั้งสองอยู่ แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะว่ายานไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับสภาวะแบบนั้น" อลัน สเทิร์น (Alan Stern) ผู้ช่วยผู้บริหารของนาซากล่าว

ด้านจอห์น แคลลัส (John Callas) ผู้จัดการโครงการสำรวจ กล่าวว่า สภาวการณ์แบบนี้ทำให้ยานไม่สามารถผลิตพลังงานสำหรับเครื่องทำความร้อนได้เพียงพอ และอาจทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในที่ไม่ทนทานกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นเสียหายได้

ปกติแล้วยานทั้งสองผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 700 วัตต์ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ออพพอร์จูนิตีผลิตกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เพียง 148 วัตต์ชั่วโมง และลดลงอีกจนเหลือแค่ 128 วัตต์ต่อชั่วโมง นาซาจึงต้องสั่งหยุดการทำงานทุกอย่างของของยานทั้งสองและสื่อสารกับยานให้น้อยลงเพื่อเก็บรักษาพลังงานเอาไว้สำหรับวงจรหลักในเครื่องทำความร้อนเท่านั้น

แคลลัสยังบอกอีกด้วยว่าสภาวการณ์ย่ำแย่เช่นนี้ยังคงเป็นไปอีกหลายสัปดาห์ แต่คาดว่าอุณหภูมิก็ไม่น่าจะลดต่ำลงจนเป็นอันตรายต่อวงจรไฟฟ้าของยานได้หากยานเก็บสะสมพลังงานไว้เพียงพอ เพราะขณะนี้บริเวณที่ยานทั้ง 2 จอดอยู่เป็นช่วงฤดูร้อนบนดาวอังคาร แต่ก็ยังกังวลว่ายานจะใช้พลังงานจนหมดเสียก่อนที่พายุฝุ่นจะจางหายไป

ทั้งนี้ ยานออพพอร์จูนิตีและยานสปิริตลงจอดที่ดาวอังคารตั้งแต่ปี 2547 เพื่อสำรวจภูมิประเทศ ค้นหาแหล่งน้ำ และสัญญาณของสิ่งมีชีวิตมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับยาน และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของยานไม่สามารถทนทานสภาพอากาศที่หนาวเหน็บได้จึงต้องมีเครื่องทำความร้อนสำหรับให้ความอบอุ่นกับตัวยาน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000086051

No comments: