Tuesday, July 17, 2007

ใช้หุ่นยนต์เป็นครูสอนมนุษย์เดิน ก้าวขึ้นทางลาดชันปรับจังหวะขาได้เอง

นักวิจัยชาวเยอรมันพัฒนาหุ่นยนต์เดินสองขาที่สามารถปรับรูปแบบการเดินให้สอดคล้องกับสภาพพื้นทางเดินแบบต่างๆ ได้ หวังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเคลื่อนไหวของมนุษย์ และสักวันหนึ่งอาจใช้ออกแบบขาเทียมให้ผู้พิการ และพัฒนาวิธีรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ให้เดินได้อีกครั้ง

หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า "รันบอต" สูงเพียงหนึ่งฟุต ก่อนหน้านี้เดินได้เฉพาะบนพื้นเรียบ และจะคว่ำหัวคะมำเมื่อเจอกับทางลาด แต่นักวิจัยได้ปรับปรุงความสามารถให้โดยติดตั้งตาอินฟราเรดสำหรับตรวจจับสภาพพื้นทางเดิน รันบอตสามารถเดินได้เร็ว 3-4 ก้าวต่อวินาที จัดว่าเดินเร็วกว่า 1.5-2.5 เท่า เมื่อเทียบกับเวลาคนทั่วไปดิน

ฟลอเรนติน โวแอร์โกตแทร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกตทินเกน ชาวเยอรมันที่ช่วยประดิษฐ์หุ่นยนต์ กล่าวว่า เจ้าหุ่นยนต์ที่เขาและทีมงามพัฒนาขึ้นมานี้ รู้จักลองผิดลองถูก มันลองอยู่สี่ถึงห้าครั้งจนรู้ว่าต้องทำอย่างไร เปรียบเทียบได้กับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กหัดเดิน ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมีท่วงท่าเดินเหมือนมนุษย์ กล่าวคือ รันบอตจะเอียงตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย และก้าวสั้นลงเมื่อเดินขึ้นที่ชัน

กุญแจสำคัญของเจ้าหุ่นรันบอตอยู่ที่เซ็นเซอร์อินฟราเรดที่ต่อสัญญาณเข้ากับแผงวงจรที่คอยบงการให้หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปแบบก้าวเดินเมื่อจำเป็น

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาจนรู้ว่าระบบควบคุมการเคลื่อนไหวในตัวมนุษย์ประกอบด้วยลำดับชั้นที่แบ่งเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังจะทำงานประสานกันเพื่อสั่งร่างกายเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องให้สมองมาบงการ เว้นแต่ถึงคราจำเป็นเท่านั้น

การทำงานที่ประสานกันนี้สามารถช่วยอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดคนพิการบางคนถึงสามารถก้าวขาได้เมื่อฝึกเดินบนสายพานออกกำลังกายโดยใช้สายพยุงตัวช่วย และเป็นกุญแจสำคัญของงานวิจัยนี้

งานวิจัยหุ่นยนต์นี้ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า เวลาที่มันก้าวเดิน ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างไร ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยได้ หรือนำไปช่วยออกแบบขาเทียมให้แก่ผู้พิการ หรือช่วยนักกายภาพบำบัดฝึกผู้ป่วยที่บาดเจ็บกระดูกสันหลัง หรือบาดเจ็บส่วนอื่นให้สามารถเดินได้อีกครั้ง

ชมคลิปวีโอหุ่นยนต์รันบอต ได้ที่ http://www.oknation.net/blog/Sci-tech

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: