Monday, November 27, 2006

ระบบตรวจคลื่นยักษ์"สึนามิ"

ไทย-สหรัฐร่วมติดตั้ง ระบบตรวจคลื่นยักษ์"สึนามิ"

ไทย-สหรัฐร่วมมือติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิครั้งแรกในมหาสมุทรอินเดีย โดยจะทำการติดตั้งระบบในวันที่ 1-7 ธันวาคมนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเลอันดามันและรอบมหาสมุทรอินเดีย

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แจ้งว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ (DART II) เป็นครั้งแรกในมหาสมุทรอินเดีย โดยจะทำการติดตั้งระบบดังกล่าวในน่านน้ำสากลที่ละติจูด 9 องศาเหนือ ลองจิจูด 89 องศาตะวันออก ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 ไมล์ ในระหว่างวันที่ 1-7 ธันวาคม

การติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียครั้งนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ตลอดจนประชาชนในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย การเกิดธรณีพิบัติภัยคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐ โดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) จะมอบทุ่น DART II จำนวน 1 ทุ่น พร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งทุ่นครั้งนี้ โดยขอให้ประเทศไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับเรือวางทุ่นและดูแลรักษาระบบดังกล่าวในระยะยาว

สำหรับการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียครั้งนี้ได้ขอรับการสนับสนุนเรือ M.V. SEAFDEC จากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรือจากกองทัพเรือเพื่อใช้ในการติดตั้งระบบดังกล่าว

สำหรับระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิแบบทุ่นลอย ประกอบด้วย เครื่องมือ 2 ส่วน

1. ส่วนที่เป็นแท่นใต้มหาสมุทร ติดตั้งอยู่ลึกลงไป 3,600 เมตรใต้ผิวน้ำทะเล ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันน้ำ เครื่องประมวลผล เครื่องส่งสัญญาณเสียงความถี่ต่ำและแบตเตอรี่

2. ส่วนที่เป็นทุ่นลอย ประกอบด้วยเครื่องรับคลื่นเสียงความถี่ต่ำจากแท่นใต้สมุทร เครื่องแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณดาวเทียม เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม และแบตเตอรี่พลังแสงอาทิตย์

เมื่อคลื่นสึนามิเคลื่อนผ่านแท่นใต้สมุทร ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่เครื่องวัดความดันน้ำ เครื่องจะแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณเสียงความถี่ต่ำ ส่งผ่านน้ำทะเลมายังทุ่นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ สัญญาณดังกล่าวจะถูกแปลงสัญญาณดาวเทียม และถูกส่งต่อไปยังดาวเทียม แล้วดาวเทียมจะถ่ายทอดสัญญาณไปที่สถานีต่างๆ บนภาคพื้นดิน และที่ศูนย์เตือนภัยสึนามิของโนอา ข้อมูลดังกล่าวจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอในรูปกราฟความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ เผยแพร่ในเว็บไซต์ และถ้าหากเป็นคลื่นสึนามิก็จะแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิและศูนย์เตือนภัยพิบัติต่างๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อาศัยข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล เป็นข้อมูลหลักในการเตือนภัยสึนามิ โดยการประเมินโอกาสในการเกิดคลื่นสึนามิ เนื่องจากความรุนแรงของแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นข้อมูลทางอ้อม การติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิแบบทุ่นลอยในครั้งนี้เป็นการวัดการเกิดคลื่นสึนามิโดยตรง จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิตามเวลาจริง สามารถประเมินขนาดของคลื่นและเวลาที่คลื่นจะเข้ากระทบฝั่งได้อย่างแม่นยำ ถูกต้อง ตามมาตรฐาน ทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมีความสามารถแจ้งเตือนภัยสึนามิได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อเพิ่มหลักประกันความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน

ที่มา: khaosod

No comments: